ประวัติ วัดหนัง ราชวรวิหาร กรุงเทพฯ
วัดหนัง ราชวรวิหาร สร้างขึ้นประมาณปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ไม่ปรากฏผู้สร้าง วัดนี้เป็นวัดโบราณ เป็นวัดร้างมากว่า 200 ปีก่อนจะได้รับการบูรณะใหม่ ตั้งอยู่ฝั่งเหนือคลองด่าน แขวงบางค้อ เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร เดิมเป็นวัดราษฎร์ มีสืบมาแต่โบราณ มีนามว่าวัดหนังมาแต่เดิม และได้รับการสถาปนาเป็นพระอารามหลวงเมื่อปี พ.ศ. 2460 เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ. 2367 ในสมัยของพระองค์ท่าน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ทำการฉลองวัดหนัง ณ วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2380 นั่นเอง การเริ่มสถาปนาคงอยู่ในระหว่าง พ.ศ. 2367 ถึง พ.ศ. 2378 ที่มาของชื่อวัดหนัง ไม่ปรากฏแน่ชัด บ้างก็ว่า มาจากแถวนี้เคยเป็นย่านทำหนังกลอง หนังสัตว์อยู่มาก บ้างก็ว่าเป็นเพราะมีการฉายหนังใหญ่กันที่นี่
ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของวัดหนัง ราชวรวิหาร
วัดนี้มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นอย่างมาก โดย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสมากราบหลวงปู่เอี่ยมที่นี่ ก่อนจะเสด็จประพาสยุโรป หลวงปู่เอี่ยมได้ทำนายดวงชะตาว่าการเสด็จประพาสในครั้งนั้นจะเป็นไปด้วยดี หากแต่จะมีเชื้อพระวงศ์ทางยุโรปจะลองพระทัย ด้วยการให้พระองค์ประทับม้าที่พยศ แต่พระองค์จะทรงปลอดภัย หลวงปู่เอี่ยมจึงได้ให้พระคาถามงกุฎพระพุทธเจ้าไป โดย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงนำพระคาถานี้ไปใช้เสกหญ้าก่อนให้ม้ากิน ม้าก็สงบโดยอัศจรรย์จากนั้นจึงทรงประทับม้าขี่โดยสะดวก ทำให้ที่นี่มี พระบรมรูปทรงม้าของพระองค์ประดิษฐานอยู่ภายในวัดเช่นกัน
พระบรมรูปทรงม้า
หลังจากนั้นหลวงปู่เอี่ยม สุวัณณสโร ก็ได้รับนิมนต์มาอยู่วัดหนัง ด้วยเหตุที่วัดนี้เสื่อมโทรมลงไปมาก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ที่จะบูรณะวัดนี้เสียใหม่ ด้วยเป็น วัดที่สมเด็จพระศรีสุราลัย พระบรมราชชนนี หรือ เจ้าจอมมารดาเรียม พระราชมารดาของ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้สถาปนาขึ้นใหม่ทั้งวัดในระหว่าง พ.ศ. 2367 – 2378 เพราะพื้นที่บริเวณนี้เป็นนิวาสถานหรือบ้านเดิมของท่านเพ็ง พระอัยยิกาของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั่นเอง หากหลวงปู่เอี่ยมย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสที่นี่ บารมีหลวงปู่เอี่ยมจะนำพาลูกศิษย์ลูกหาเข้ามาช่วยกันทำนุบำรุงวัดกันเป็นจำนวนมาก และก็เป็นดังนั้นจริง หลวงปู่เอี่ยมดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดหนังตราบจนมรณภาพด้วยโรคชรา
ภายในวัดหนังประกอบด้วย อุโบสถ,หลวงพ่อสุโข, พระบรมรูปทรงม้า, มณฑปพระพุทธบาท, วิหารพระภาวนาโกศลเถร, พระปรางค์, พระเจ้าห้าพระองค์ในพระวิหาร, พระวิหาร, เขามอ และพิพิธภัณฑ์แสดงภาพถ่ายของ หลวงปู่เอี่ยม หรือ พระภาวนาโกศลเถระ พระเกจิชื่อดังของวัด พร้อมกับสิ่งของพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ถวายให้หลวงปู่ด้วย พิพิธภัณฑ์นี้จึงทำให้เราได้เรียนรู้ทั้งเรื่องราวของชุมชนโดยรอบ
อุโบสถ
ภายในอุโบสถ ประดิษฐาน พระประธานสมัยสุโขทัย อายุ 600 ปีเศษ นามว่า หลวงพ่อสุโข บนฐานชุกชีสูงที่พระพุทธประติมากรประดิษฐานอยู่สูงจนพระรัศมีของพระประธานแทบจะชนเพดาน ยังมีรูปของพระสาวกอยู่ด้วย ตามปกติมี 2 รูป ซึ่งหมายถึงพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตร พระอัครสาวกของพระพุทธเจ้า แต่ของที่วัดหนังมี 5 รูป ซึ่งหมายถึง ปัญจวัคคีย์ สาวกกลุ่มแรกของพระพุทธเจ้า ประกอบด้วย พระอัญญาโกญทัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ
หน้าบันแกะสลักลายดอกโบตั๋นสีแดง ลายดอกไม้ยอดฮิตที่ใช้ประดับแทบทุกส่วนในงานศิลปะสมัยรัชกาลที่ 3
ภายในอุโบสถผนังเป็นลายดอกมณฑารพ กระจกเดิมมิใช่กระจกเงา แต่เดิมเป็นภาพเขียนลายจีนที่มีอายุเก่าแก่กว่า 200 ปี แต่ก็ลั่นแตกเสียหาย เสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา ทางวัดจึงเปลี่ยนมาใส่กระจกเงาแทน
พระวิหาร
พระประธานภายในวิหารทำจากหินทรายแดง สมัยอู่ทอง ลงรักปิดทอง ส่วนด้านล่าง ประดิษฐานพระอดีตพุทธเจ้า 5 พระองค์แทน ซึ่งมีพระกกุสันโธ พระโกนาคมโน พระกัสสโป พระโคตโม และพระเมตเตยโยแทน
พระปรางค์องค์ใหญ่ สูง 22 เมตร
หมายเหตุ : พระอุโบสถและพระวิหารของวัดเปิดเฉพาะช่วงที่มีการประกอบพิธีทางศาสนาหรืองานเทศกาลของวัด แต่เข้าไปเดินชมตัวอาคารจากภายนอกได้ ดังนั้นแนะนำให้ไปวัด วันพระใหญ่ หรือ เทศกาลสำคัญๆ ต่างๆ
ภาพโดย แพรว
ที่อยู่ : 200 ซอยวุฒากาศ 42 ถนนวุฒากาศ แขวงบางค้อ เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร 10150
Google map : https://maps.app.goo.gl/554SJoBAMugnsRHt9
เวลาเปิด – ปิด : 06.00 น. – 18.00 น.
เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ขอพรการเงิน วัดราชโอรส วัดประจำรัชกาลที่ ๓ วัดสวยย่านฝั่งธน
ทริกขอพรความรัก วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร พระอารามหลวง ร. ๓
คาถามงกุฎพระพุทธเจ้า หลวงปู่เอี่ยม ป้องกันสิ่งชั่วร้าย เมตตามหานิยม