วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร
วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร และเป็นพระอารามประจำรัชกาลที่ ๓ เพราะพระองค์ทรงสถาปนาขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม ปัจจุบันตั้งอยู่ริมคลองด่านด้านทิศตะวันตก มีคลองบางหว้าสกัดอยู่ทางด้านทิศเหนือ เป็นวัดโบราณ มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีชื่อเดิมว่า “วัดจอมทอง” เรียกกันโดยทั่วไปว่า “วัดราชโอรส”
ใน พ.ศ. ๒๓๖๓ สมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ได้ทรงทราบว่าพม่าจะยกทัพมาทางด่านเจดีย์สามองค์ จึงทรงให้พระราชโอรส คือกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ คุมกองทัพไปในครั้งนี้และทรงได้ยกทัพไปโดยทางเรือเข้ามาทางคลองบางกอกน้อย (ปัจจุบันคือ คลองบางหลวง) และได้หยุดประทับแรมที่วัดจอมทอง โดยกระทำพิธีเบิกโขลนทวาร คือพิธีการให้ขวัญกำลังใจแก่ทหารทั้งปวง เมื่อเสร็จพิธีกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์จึงทรงไปนมัสการเจ้าอาวาสวัดจอมทอง ได้รับพรว่าการศึกครั้งนี้จะไม่มีเหตุเภทภัยอะไรและจะได้รับความปลอดภัยกลับมา จึงทรงตรัสว่าหากเป็นจริงจะกลับมาสร้างวัดใหม่ เมื่อทรงยกทัพไปถึงด่านเจดีย์สามองค์ก็รอทัพพม่าข้าศึกอยู่หลายเดือน ปรากฏว่าไม่มีทัพพม่าเข้ามาจึงยกทัพกลับพระนคร
หลังจากเสด็จกลับพระนครแล้ว ก็ทรงเริ่มปฏิสังขรณ์วัดจอมทองขึ้นใหม่ทั้งวัด และได้เสด็จมาประทับคุมงานและตรวจตราการก่อสร้างด้วยพระองค์เองตลอดมา และได้น้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระอารามหลวง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดราชโอรส” หมายถึงว่าเป็นวัดที่พระราชโอรสทรงสถาปนา
สถาปัตยกรรมวัดราชโอรสาราม
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว คงจะทรงเห็นเป็นการส่วนพระองค์ มิได้เกี่ยวข้องกับทางราชการแต่อย่างใด จึงทรงพระดำริเปลี่ยนแปลงแบบอย่างศิลปกรรมขึ้นตามความพอพระราชหฤทัย เพราะขณะนั้นได้ทรงกำกับการกรมท่า ทำการค้าติดต่อกับประเทศจีน และทรงนิยมศิลปะแบบจีนมาก วัตถุสถานต่างๆ ที่พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นภายในวัดนี้จึงตกแต่งด้วยศิลปกรรมแบบจีนเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีศิลปกรรมแบบไทยผสมผสานอยู่ด้วยส่วนหนึ่ง
ศิลปกรรมไทยที่มีอยู่ในวัดนี้ พระองค์ได้สรรค์สร้างให้กลมกลืนงดงามยิ่งนักอย่างหาที่ติมิได้ เช่น ลายกระแหนะรูปเสี้ยวกางที่บานประตูหน้าต่างพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ นับเป็นครั้งแรกของสยามประเทศที่มีการประยุกต์ศิลปกรรมได้อย่างประณีตยิ่งนัก รูปทรงหลังคาพระอุโบสถ พระวิหารพระพุทธไสยาสน์ ตลอดถึงกุฏิ และนับเป็นครั้งแรกอีกเช่นกันที่มีการสร้างโบสถ์ วิหาร ที่ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ แต่ก็ยังคงรูปสิ่งเหล่านี้ไว้ให้เป็นสัญลักษณ์แห่งศาสนสถานได้อย่างสง่าและงดงาม
กิตติศัพท์วัดราชโอรสาราม
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่งได้ทรงสร้างและปฏิสังขรณ์พระอารามไว้เป็นจำนวนมาก ถึงกับกล่าวกันว่าในรัชกาลที่ ๓ ถ้าใครใจบุญชอบสร้างวัดวาอารามก็เป็นคนโปรด แต่วัดที่ทรงสร้างด้วยฝีมือประณีต มีแบบอย่างศิลปกรรมที่แปลกและงดงามเป็นพิเศษจนเป็นที่เลื่องลือกล่าวขวัญกันมาก เห็นจะไม่มีวัดไหนเสมอด้วยวัดราชโอรส
พระอุโบสถ
พระอุโบสถ มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมผสมระหว่างไทยและจีน หลังคาเป็นแบบจีนสองชั้นแต่มุงกระเบื้องสีแบบไทย ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันประดับกระเบื้องเคลือบสีต่างๆ สวยงาม แต่งเป็นรูปแจกันดอกเบญจมาศ มีรูปสัตว์มงคลตามคติของจีน คือ มังกร หงส์ และนกยูงอยู่รอบๆ แจกัน ตอนล่างเป็นภาพทิวทัศน์มีบ้านเรือน สัตว์เลี้ยง ภูเขา ต้นไม้ ตามขอบหลังคาประดับกระเบื้องสีและถ้วยชามโดยรอบ
บริเวณหน้าประตูทางเข้าพระอุโบสถยังมี “นายทวารบาล” ตุ๊กตากระเบื้องเคลือบ ๓ ตัวขนาดใหญ่กว่าคนจริง เป็นรูปชาวจีนหน้าตาดุดันยืนเฝ้าประตูอยู่ดูน่าเกรงขาม ซึ่งทำขึ้นใหม่เนื่องจากเศียรตุ๊กตาจีนเดิมถูกตัดไป จึงหล่อกระเบื้องขึ้นใหม่เป็นเศียรตุ๊กตาแทน
ซุ้มประตูและซุ้มหน้าต่างประดับกระเบื้องสีปูนปั้นเป็นลวดลายดอกเบญจมาศ บานประตูด้านนอกลงรักประดับมุกลายมังกรดั้นเมฆ ฝีมือละเอียดประณีตและสวยงามเป็นอย่างยิ่ง ถือว่ามีแห่งเดียวของวัดในประเทศไทย ผนังด้านในพระอุโบสถเขียนเป็นลายเครื่องบูชาและสิ่งมงคลแบบจีน บางช่วงมีความหมายในการให้พร ฮก ลก ซิ่ว ตามคติของจีน บนเพดานเขียนดอกเบญจมาศทองบนพื้นสีแดง เหนือช่องกรอบประตูหน้าต่างมี “กระจกโบราณ” ทั้งหมด ๔๕ บาน เป็นกระจกเงาซึ่งเป็นสิ่งมงคลและให้ความสว่างไสวเพื่อเป็นพุทธบูชา พร้อมแฝงปริศนาธรรม เพื่อส่องสำรวจตนเอง
พระประธานในพระอุโบสถ มีนามว่า “พระพุทธอนันตคุณอดุลญาณบพิตร” เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ หน้าตักกว้างประมาณ ๑ วา ๒ ศอก หรือประมาณ ๓.๑๐ เมตร สูงประมาณ ๒ วา ๑ ศอก หรือประมาณ ๔.๕๐ เมตร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ประดิษฐานไว้ที่ผ้าทิพย์ใต้ฐานพระประธาน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ประดิษฐานนพปฎลมหาเศวตฉัตร (ฉัตร ๙ ชั้น) เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๔ พระพุทธรูปองค์นี้กล่าวกันว่า เป็นพระพุทธรูปที่สร้างได้งดงามกว่าพระพุทธรูปองค์อื่นที่สร้างในสมัยเดียวกัน
ขอพรความรัก จาก พระพุทธอนันตคุณอดุลญาณบพิตร
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงมีพระราชประสงค์ตรัสไว้ว่า “เมื่อฉันตาย ฉันจะมาอยู่ที่นี่ ” ด้วยเหตุนี้ จึงได้อัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารของพระองค์มาประดิษฐานยังฐานพระพุทธรูปพระประธานปางสมาธิ ในพระอุโบสถวัดราชโอรสาราม พระประธานที่พระอุโบสถนี้ มีความแตกต่างจากวัดอื่นทั่วไปที่มักจะเป็นปางมารวิชัย เนื่องจากที่นี่เป็นปางสมาธิ พระพุทธรูปปางประจำวันพฤหัสบดี ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั่นเอง
พระพุทธรูปองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระนามถวายว่า ” พระพุทธอนันตคุณอดุลญาณบพิตร” หน้าตักกว้าง ๓.๑ เมตร สูง ๔.๕ เมตร หล่อด้วยโลหะ โดยนิยมมากราบไหว้ขอพรให้เป็นที่รัก ขอพรเมตตา
ทริกการขอพร พระพุทธอนันตคุณอดุลญาณบพิตร
ทริกคือ เตรียมแผ่นทองมาเขียนชื่อ วัน เดือน ปีเกิด เมื่อสักการะพระประธานเสร็จแล้วให้นำถวายแผ่นทองเป็นพุทธบูชาและอธิษฐานจิตเจริญพระพุทธมนต์ สวดมนต์บทบูชาพระรัตนตรัย หรือตั้งนะโม ๓ จบ ตั้งจิตแน่วแน่ อธิษฐานจิต “ขอให้ข้าพเจ้าจงเป็นที่รัก ที่เมตตาแก่สรรพสัตว์ทั้งปวง” จากนั้นนำแผ่นทองมาประดิษฐานยังเก๋งหินหน้าพระอุโบสถ เมื่อรวบรวมแผ่นทองได้มากพอ ทางวัดจะนำไปหล่อพระพุทธรูปเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่มาสักการะกราบไหว้ต่อไป
ยังไม่จบการมู ณ วัดราชโอรสารามแต่เพียงเท่านี้ ภายในวัดแห่งนี้ ยังมีจุดมูที่มีความสำคัญ ความงดงามทางพุทธศิลป์ และประวัติศาสตร์อีกมากให้ค้นพบได้ที่นี่ ในบทความถัดไป เราจะแนะนำจุดมูขอพรการเงิน และ จุดมูความสำเร็จกันค่ะ
ภาพโดย แพรว
ที่อยู่ : ๒๕๘ แขวงบางค้อ เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร
Google map : https://maps.app.goo.gl/HzTcBzC237NtThtQ6
เวลาทำการ : ๐๖.๐๐ น. – ๑๘.๐๐ น.
เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ไหว้ให้ได้แฟน ขั้นตอนขอพรความรัก พระตรีมูรติ
มูความรัก ขอพร พระตรีมูรติ ให้ถูกองค์ต้องไหว้ที่ไหน
ขอพรความรักที่ไหน ให้มีคู่เสียที 5สถานที่ศักดิ์สิทธิ์นี้ ที่จะช่วยให้คุณสมหวัง