ตั่วเหล่าเอี๊ย ศาลเจ้าจีน ศาลเจ้าพ่อเสือ ศาลเจ้าพ่อเสือ สามย่าน เจ้าพ่อเสือ

สักการะตั่วเหล่าเอี๊ย ศาลเจ้าพ่อเสือ สามย่าน จุดมูปังๆ ย่านจุฬาฯ

ศาลเจ้าพ่อเสือ สามย่าน เดิมเป็นศาลเจ้าขนาดเล็กประจำชุมชน สร้างขึ้นในราวรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมกันกับการกำเนิดขึ้นของชุมชน

Home / กรุงเทพมหานครฯ / สักการะตั่วเหล่าเอี๊ย ศาลเจ้าพ่อเสือ สามย่าน จุดมูปังๆ ย่านจุฬาฯ

ย่านจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีอาณาบริเวณกว้างขวางซึ่งมีจุดมูมากมายอยู่โดยรอบ บางจุดก็ประดิษฐานอยู่ในมหาวิทยาลัยเลยก็มี ซึ่งคนที่สอบแอดมิชชั่นจะรู้กันดีว่า ต้องไปขอพรกันที่ไหนบ้าง หากแต่จุดมูที่ MTHAI มาแนะนำกันในวันนี้ตั้งอยู่ในชุมชนสามย่าน ย่านจุฬาฯ นี่เองโดย ศาลเจ้าพ่อเสือ สามย่าน นี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มายาวนานตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกันเลยทีเดียว

ประวัติ ศาลเจ้าพ่อเสือ สามย่าน

ศาลเจ้าพ่อเสือ สามย่าน

ศาลเจ้าพ่อเสือ สามย่าน หรือ ศาลฮุกโจ้ว มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน เป็นที่นับถือสักการะของชุมชนชาวจีนในย่านนี้มาหลายยุคสมัย แต่เดิมพื้นที่ตั้งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ล้วนแต่เป็นพื้นที่ทางการเกษตรของหลวงที่เต็มไปด้วยชาวจีน ที่มาเช่าที่ดินเพื่อทำมาหากินเลี้ยงชีพ และทยอยเข้ามาอยู่อาศัยจนเกิดการรวมตัวเป็นชุมชนต่างๆ เช่น ชุมชนสะพานเหลือง ชุมชนสวนหลวง ชุมชนหัวลำโพง

ศาลเจ้าพ่อเสือ สามย่าน แต่เดิมตั้งอยู่ในชุมชนหัวลำโพง (หวัก ลัม คง เสีย) ชุมชนจีนเก่าแก่ที่อยู่ตรงข้ามกับวัดหัวลำโพง อันเป็นที่มาของชื่อชุมชน ซึ่งชุมชนมีบริเวณครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ คณะวิทยาศาสตร์ ตึกมหามกุฏถึงอาคารธรณีฯ – พฤกษศาสตร์, ศาลาพระเกี้ยว, คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และคณะเศรษฐศาสตร์ทั้งหมดจนถึงศูนย์การค้าจามจุรีสแควร์ในปัจจุบัน และยังกินพื้นที่ไปถึงฝั่งตรงข้ามถนนพญาไทจนจรดชุมชนสะพานเหลือง ภายหลังพื้นที่แถบนี้จะถูกเรียกขานในชื่อ “ชุมชนสามย่าน”

ตั่วเหล่าเอี๊ย

ศาลเจ้าพ่อเสือ สามย่าน เดิมเป็นศาลเจ้าขนาดเล็กประจำชุมชน สร้างขึ้นในราวรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมกันกับการกำเนิดขึ้นของชุมชน ภายในประดิษฐาน เทวรูปเทพเจ้า “ตั่วเหล่าเอี๊ย” หรือที่คนไทยมักเรียกว่า “เจ้าพ่อเสือ” ซึ่งมีผู้อัญเชิญมาจากศาลศักดิ์สิทธิ์ที่ภูเขาเหี่ยวบู๊ เมืองซัวบ๊วย แต้จิ๋ว ประเทศจีน ทั้งยังได้เชิญผงธูปจากทั้งที่แต้จิ๋ว และศาลเจ้าพ่อเสือ เสาชิงช้า มาประดิษฐานอีกด้วย จึงเป็นเหตุให้ศาลเจ้าแห่งนี้มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า “ศาลฮุกโจ้ว” (ฮุก โจ้ว ซัน) ตามพระนามที่ชาวแต้จิ๋วนิยมเรียกเทพเจ้าตั่วเหล่าเอี๊ยว่า “เหี่ยงบู๊ซัวฮุกโจ้ว” ซึ่งเป็นความเชื่อท้องถิ่นที่มีการผสมผสานระหว่าง ศาสนาเต๋า และ ศาสนาพุทธ

ศาลเจ้าอยู่เคียงคู่กับชุมชนตลอดมา พร้อมกันกับเมืองที่เจริญเติบโตขึ้น จากชุมชนเรือกสวนก็ค่อยๆ กลายเป็นชุมชนหนาแน่น จนถึงราว พ.ศ. 2508 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขอขยายเขตการศึกษา เพื่อสร้างคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี รวมถึงอาคารเรียนในคณะวิทยาศาสตร์ และ ศาลาพระเกี้ยว จึงได้ขอให้ชุมชนและศาลเจ้าย้ายออกจากพื้นที่ โดยทางมหาวิทยาลัย ได้บริหารจัดการพื้นที่ผลประโยชน์ใหม่ ด้วยการสร้างเป็นอาคารพาณิชย์คอนกรีต 3 ชั้น บนสองฝั่งถนนพญาไท ดังที่เรียกกันต่อมาว่า “สามย่าน” ชุมชนจึงได้ย้ายออกจากที่ตั้งเดิมมาอาศัยในอาคารพาณิชย์เกิดเป็น ชุมชนการค้าใหม่ในชื่อ “ชุมชนสามย่าน” ที่แวดล้อมไปด้วย ตลาดสามย่าน โรงภาพยนตร์ ร้านอาหารชื่อดังต่างๆ พร้อมกันนั้น คนในชุมชนจึงพร้อมใจกัน อัญเชิญศาลเจ้าจากตำแหน่งเดิมออกมาสร้างใหม่ ณ ที่ดินใจกลางชุมชนสามย่านนี้ ซึ่งก็คือพื้นที่ตั้งศาลในปัจจุบัน โดยก่อสร้างเป็นศาลเจ้าขนาดใหญ่ที่มีความงดงามตามหลักสถาปัตยกรรมแต้จิ๋วทุกประการ และได้ทำการก่อสร้างจนแล้วเสร็จพร้อมอัญเชิญเทพเจ้ามาประดิษฐานในวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2509 ( 1 ค่ำ เดือน 11 ตามปฏิทินจีน)

จากวันนั้นศาลเจ้าจึงถูกเรียกชื่อใหม่ จาก “ศาลเจ้าพ่อเสือ หัวลำโพง” เป็น “ศาลเจ้าพ่อเสือ สามย่าน” โดยคำว่าหัวลำโพง ยังคงปรากฎอยู่ในชื่อศาลเจ้าภาษาจีน และชื่อสมาคมภาษาจีนที่ยังคงเรียกว่า “หวัก ลัม คง เสีย” อยู่ จากประวัติของศาลเจ้าแสดงให้เห็นว่า ถึงแม้ชุมชนจะเปลี่ยนไป แต่องค์เจ้าพ่อเสือยังคงความศักดิ์สิทธิ์ เป็นศูนย์รวมจิตใจ คุ้มครองปกปักรักษาชุมชนและผู้คนทั้งหลายที่มาสักการะตลอดมาและตลอดไป

ไหว้เจ้า

ขั้นตอนการสักการะศาลเจ้าพ่อเสือ สามย่าน

  1. เตรียม ธูป เทียน จัดของไหว้ใส่ถาด (ใช้ธูป 30 ดอก)
    จะจัดเตรียมมาเองก็ได้ หรือ จะซื้อธูปเทียน ของไหว้จากทางศาลเจ้าก็ได้เช่นกันค่ะ ราคาเริ่มต้น 30 บาท ขึ้นไป
  2. ตั้งของไหว้ที่จัดแล้วหน้าโต๊ะไหว้ (ถ้ามี)
  3. จุดเทียนก่อนแล้วจึงจุดธูป โดยให้จุดที่ตะเกียงน้ำมัน
  4. ไหว้สักการะตามจุดทั้ง 9 โดยเริ่มจากจุดที่ 1 ทีกง เทพฟ้าดิน (ข้างนอกกลางแจ้งหน้าศาล) โดยให้สักการะไล่ตามป้ายที่มีหมายเลขบอกเป็นการไหว้ตามลำดับขั้น

คำแนะนำการอธิษฐานขอพร : ให้ตั้งจิตเป็นสมาธิ บอก ชื่อ นามสกุล วัน เดือน ปีเกิด และบอกสิ่งที่ต้องการ จากนั้นขอพรจากเทพเจ้า

  1. เมื่อไหว้ครบทั้ง 9 จุดแล้ว ให้ลากระดาษไหว้ไปเผา และ ลาของไหว้ไปรับประทานเป็นสิริมงคล
  2. สามารถเติมตะเกียงน้ำมัน เสี่ยงเซียมซี หรือบริจาคทรัพย์ บำรุงศาลตามกำลังศรัทธา (ในกรณี บริจาคทรัพย์ ให้ตีกลอง เคาะระฆัง อย่างละ 3 ครั้งเพื่อเป็นการบอกเทพเจ้าด้วย)
ทางเข้า

นอกจากนี้ งานประจำปีศาลเจ้าพ่อเสือ สามย่านก็นับเป็นอีกหนึ่งสีสันทางวัฒนธรรมจีนของสามย่าน ที่น่ามาเดินชม แวะมูองค์เทพจีนกันสักครั้งทีเดียวค่ะ

ศาลเจ้าจีน

ปฏิทินงานประจำปี ศาลเจ้าพ่อเสือ สามย่าน

เทศกาลหง่วงเซียว : 14 – 16 ค่ำ เดือน 1 ตามปฏิทินจีน ( 23 – 25 ก.พ. 2567)
วันประสูติตั่วเหล่าเอี๊ย (เจ้าพ่อเสือ) : 3 ค่ำ เดือน 3 ตามปฏิทินจีน ( 10 – 11 เม.ย. 2567)
วันบรรลุธรรมตั่วเหล่าเอี๊ย (เจ้าพ่อเสือ) : 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีน ( 11 ต.ค. 2567)
เทศกาลขอบคุณเทพเจ้า (เสี่ยซิ้ง) : 30 ค่ำ เดือน 10 ,1 ค่ำ และ 2 ค่ำ เดือน 11 ตามปฏิทินจีน (31 ต.ค. – 2 พ.ย. 2567)

ภาพโดย MTHAI TEAM

ที่อยู่ : 260 ซอยจุฬาลงกรณ์ 50 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน จังหวัดกรุงเทพมหานคร 10330
Google map : https://maps.app.goo.gl/diYZH8mzgC4568Ed9
เวลาทำการ : 08.00 น. – 17.30 น. ,ช่วงจัดงานเทศกาล 08.00 น. – 21.00 น.

เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

11 เม.ย. 67 วันประสูติ ตั่วเหล่าเอี๊ยกง ขอพรโชคลาภ การเงิน ความร่ำรวย
วิธีขอพรการงาน การเงิน แก้ปีชง ขอลูก ณ ศาลเจ้าพ่อเสือ
ชวนผู้ที่เกิดปีขาลและผู้ที่เกิดวันเสาร์ ไหว้หลวงพ่อเสือ วัดแดงธรรมชาติ