วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร หนึ่งในวัดสวยกรุงเทพย่านฝั่งธนฯ ติดกับชุมชนวัดฝรั่งกุฎีจีน พระอารามหลวงนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2371 ในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) แต่เดิมชาวบ้านเรียกกันว่า “วัดรั้วเหล็ก” เพราะกำแพงวัดทำด้วยรั้วเหล็ก จากประเทศอังกฤษ ดูแปลกตา โดยนอกจากรั้วเหล็กอันเป็นจุดเด่นของวัดแห่งนี้แล้วยังเป็นที่ประดิษฐาน พระบรมธาตุมหาเจดีย์ ซึ่งได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 1 หรือ Award of Excellence จากโครงการประกวดรางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ประจำปี 2556 จากองค์การยูเนสโก เคยเป็นที่อยู่อาศัยของหมอบรัดเลย์และยังเป็นโลเคชั่นถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง บุพเพสันนิวาส 2 อีกด้วย
วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
นอกเหนือไปจากความงดงามวิจิตรบรรจงทางสถาปัตยกรรมและจิตรกรรมในแต่ละจุดแต่ละองค์ประกอบของศาสนสถานโบราณแห่งนี้แล้ว ที่วัดแห่งนี้ยังเต็มไปด้วยจุดมูอีกมากมายที่เหล่าสายมูไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง !
พระบรมธาตุมหาเจดีย์ รางวัลอนุรักษ์จากยูเนสโก
พระบรมธาตุมหาเจดีย์ เจดีย์องค์ใหญ่สีขาวทรงลังกาซึ่งถูกสร้างขึ้นที่วัดนี้เป็นแห่งแรกในยุครัตนโกสินทร์ โดยมี 18 เจดีย์องค์เล็กอยู่รายรอบ องค์เจดีย์ทรงกลมสัณฐานรูปโอคว่ำสูง 60.525 เมตร ฐานล่างส่วนนอกวัดโดยรอบได้ 162 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 50 เมตร มีช่องคูหาเรียงรายล้อมรอบชั้นล่างพระเจดีย์ 54 คูหา ซึ่งเจดีย์องค์ใหญ่นี้สร้างโดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์แต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จ ก็ถึงแก่พิราลัยเสียก่อน ต่อมาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) บุตรชายคนโต ดำเนินการสร้างต่อจนเสร็จสมบูรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 4 แล้วจึงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในองค์เจดีย์ และใช้เป็นที่เก็บอัฐิของคนในสายสกุลบุนนาคอีกด้วย
พระพุทธรูปหินหยกขาวปางปฐมเทศนา
ในพ.ศ. 2414 พระเจดีย์องค์ใหญ่ถูกฟ้าผ่าจนยอดพระเจดีย์หักไม่ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์เป็นเวลานานถึง 47 ปี จนกระทั่ง พ.ศ. 2461 พระธรรมไตรโลกาจารย์ (อยู่ อุตฺตรภทฺโท) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหารในขณะนั้น ได้จัดการบูรณะปฏิสังขรณ์ยอดพระเจดีย์ขึ้นอีกครั้ง
และด้วยการบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุมหาเจดีย์และพรินทรเปรียญปริยัติธรรมศาลาอย่างตระหนักถึงคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมชุมชนนี่เอง พระบรมธาตุมหาเจดีย์จึงได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 1 หรือ Award of Excellence จากการประกวดโครงการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ประจำปี 2556 จากองค์การยูเนสโกนั่นเอง
เสาครู จุดมู คนดวงตก ชีวิตติดขัด
ด้านบนของ พระบรมธาตุมหาเจดีย์ จะมีประตูเล็กๆ เปิดเข้าไปด้านในเจดีย์องค์สีขาวขนาดใหญ่ได้ เมื่อเข้าไปจะเห็นโครงสร้างการก่อสร้างเจดีย์แบบในสมัยอยุธยาดั้งเดิมที่กลางเจดีย์มีลักษณะกลวงและมีเพียงเสาแกนกลางหรือ เสาครู กว้างด้านละ 2 เมตร สูง 18 เมตร หนัก 144 ตันค้ำยันไว้ ซึ่งในประเทศไทยเหลือเพียงที่วัดนี้แห่งเดียวเท่านั้นที่ยังคงอนุรักษ์เทคนิคการก่อสร้างแบบช่างอยุธยาพร้อมด้วยอิฐก้อนเดิมที่ยังคงอยู่ และจากมุมด้านบนนี้สามารถมองเห็นวิวชุมชนกุฎีจีนได้อย่างชัดเจน
สำหรับใครที่กำลังดวงตก การเงินไม่ดี การงานติดขัด แนะนำให้กราบไหว้เสาครู เสาเดียวที่เหลืออยู่ในกรุงเทพมหานคร เชื่อกันว่า เสาครูจะค้ำชีวิตมิให้ตกต่ำ จากนั้นก็ไหว้พระบรมสารีริกธาตุ ขอพรพระประจำวันเกิด และที่สำคัญก่อนลงจากพระบรมธาตุมหาเจดีย์ให้ไปลอดซุ้มทางออก ด้วยเชื่อกันว่า การลอดอุโมงค์วัดประยุรฯ เป็นการสะเดาะเคราะห์หนุนดวง โดยในขณะที่ลอดให้ตั้งจิตอธิษฐานเป็นสมาธิ
พรินทรปริยัติธรรมศาลา
พิพิธภัณฑ์ของวัด ศาลาแห่งนี้สร้างขึ้นโดยเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ซึ่งสร้างต่อจากมุขพระบรมธาตุมหาเจดีย์ขึ้นเพื่อเป็นที่ศึกษาพระปริยัติธรรมของพระภิกษุสามเณร เป็นสถาปัตยกรรมตึกชั้นเดียวสไตล์ตะวันตก ศาลาแห่งนี้ยังถูกใช้เป็นห้องอ่านหนังสือสำหรับประชาชนแห่งแรกของไทย และได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของกรมศิลปากรอีกด้วย ปัจจุบันจัดเป็นพิพิธภัณฑ์เก็บรวบรวมของล้ำค่าที่พบในกรุบนองค์เจดีย์ และสิ่งของต่างๆ ที่มีผู้ถวายสมทบภายหลังด้วย
พระพุทธรูปหินทรายปางนาคปรก (สูง 150 เซนติเมตร)
ศิลปะบายน (ขอม) พุทธศตวรรษที่ 17
กราบขอพรบริวาร พระพุทธธรรมวิเชษฐศาสดา ที่อุโบสถ
ภายในอุโบสถ เป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธธรรมวิเชษฐศาสดา ขนาดหน้าตัก 2 เมตร หล่อด้วยโลหะปางมารวิชัย พระพุทธรูปองค์แรกของไทย ที่ได้ช่างชาวญี่ปุ่นมาลงรักปิดทอง ซึ่งเป็นที่นิยมมากราบขอพรเรื่องบริวารกันที่นี่
วิหาร
ภายในวิหาร ประดิษฐาน พระพุทธนาค และ พระศรีศากยมุนี
คาถาขอพรหลวงพ่อพระพุทธนาค
นะโม พุทธายะ พุทโธ มัง รักขะติฯ
นะโม พุทธายะ ธัมโม มัง รักขะติฯ
นะโม พุทธายะ สังโฆ มัง รักขะติฯ
นะโม พุทธายะ พรัหมา มัง รักขะติฯ
นะโม พุทธายะ อินโท มัง รักขะติฯ
นะโม พุทธายะ ยะโม มัง รักขะติฯ
นะโม พุทธายะ มาตา มัง รักขะติฯ
เขามอ แรงบันดาลใจจาก “หยดเทียนขี้ผึ้ง” ถาวรวัตถุสำคัญของชาติ
คำว่า “มอ” มาจากคำว่า “ถมอ” ในภาษาเขมร แปลว่า ก้อนหิน คำว่า “เขามอ” จึงหมายถึงภูเขาจำลองที่ก่อขึ้นจากหินจนมีรูปทรงคล้ายคลึงกับภูเขา
เขามอในต้นกรุงรัตนโกสินทร์แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
- เขามอขนาดเล็ก ที่ประดับอยู่ในกระถาง ซึ่งเป็นศิลปะการจัดสวนรูปแบบหนึ่งที่นิยมทำคู่กับการเล่นไม้ดัด
- เขามอขนาดใหญ่ เป็นเขามอที่ก่อลงบนพื้นดินหรือกลางสระน้ำ โดยจำลองยอดเขาสูงและใส่ต้นไม้ประดับไม่ต่างจากภูเขาจริง เขามอแบบนี้ใช้ประดับตกแต่งเฉพาะพระราชอุทยานของพระมหากษัตริย์เท่านั้น ซึ่งนิยมมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
จนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 นิยมสร้าง เขามอ ขึ้นภายในวัด ถวายเป็นพุทธบูชาด้วยมีพระราชประสงค์ให้เป็นสถานที่พักผ่อนดึงดูดพุทธศาสนิกชนทุกเพศทุกวัยให้เข้าวัดเพื่อที่จะได้ทำบุญฟังธรรมกันมากขึ้น
เขามอแห่งนี้สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างวัดประยุรฯ ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก “หยดเทียนขี้ผึ้ง” ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ผู้สร้างวัด หยดเทียนขี้ผึ้งดังกล่าวเกิดจากน้ำตาเทียนที่พระองค์ทรงจุดขณะประทับอยู่ในห้องสรงภายในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เมื่อน้ำตาเทียนละลายก็ทับถมเป็นก้อนชั้นขนาดใหญ่ เนื่องจากทรงจุดต่อเนื่องมาหลายปี ดูแล้วให้นึกถึงภูเขาธรรมชาติที่เทือกเขาสลับซับซ้อนกันไปมา และเมื่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ได้รับพระราชทานหยดเทียนขี้ผึ้งมา ก็ได้นำเค้าโครงของหยดเทียนขี้ผึ้งนี้มาเป็นแบบสำหรับสร้างภูเขาจำลอง หรือเขามอ ที่วัดประยุรฯ
ทั้งนี้กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนภูเขาจำลองหรือเขามอแห่ง วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เป็นถาวรวัตถุสำคัญของชาติ
ภาพโดย MTHAI TEAM
ที่อยู่ : 24 ถนน ประชาธิปก แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร 10600
Google Map : https://maps.app.goo.gl/QfQYSo4SYZj3xesY6
เวลาเปิด – ปิด : 07.00 น. -18.00 น.
เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ขายที่ขายบ้านให้ปังต้องมา สะดือเมือง วัดสระเกศ
วิธีกระซิบหูหนูมุสิกะ ขอพรพระพิฆเนศ ให้สัมฤทธิ์ผลทันใจ
ขอพรการงาน บริวารดีๆ ที่ ศาลเจ้าพ่อหนู ริมคลองบางลำพู