ดาวหางนีโอไวส์

ภาพถ่ายระยะใกล้ ดาวหางนีโอไวส์ อีก 7,000 ปี พบกันใหม่อีกครั้ง!

รับชมภาพถ่ายล่าสุดของ ดาวหางนีโอไวส์ ซึ่งถือว่าเป็นภาพส่งท้ายก่อนที่จะกลับมาให้ได้เห็นในอีก 7,000 ปี

Home / TRAVEL / ภาพถ่ายระยะใกล้ ดาวหางนีโอไวส์ อีก 7,000 ปี พบกันใหม่อีกครั้ง!

รับชมภาพถ่ายล่าสุดของ ดาวหางนีโอไวส์ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2563 ซึ่งถือว่าเป็นภาพส่งท้ายก่อนที่จะกลับมาให้ได้เห็นในอีก 7,000 ปี

ภาพถ่าย ดาวหางนีโอไวส์ ที่จะได้เห็นกันนี้เป็นการถ่ายระยะใกล้จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ที่ได้บันทึกไว้หลังจากที่ดาวหางโคจรผ่านดวงอาทิตย์และกำลังเดินทางออกไปยังระบบสุริยะชั้นนอก โดยแสดงให้เห็นโคมา (Coma) ของดาวหางที่ปกคลุมไปด้วยฝุ่นและแก๊ส

นอกจากนี้ภาพถ่ายของฮับเบิลยังแสดงให้เห็นส่วนของกลุ่มแก๊สและฝุ่นขนาดใหญ่ที่ห่อหุ้มนิวเคลียสซึ่งคือใจกลางของดาวหางมีขนาดใหญ่ถึง 18,000 กิโลเมตร พุ่งออกมาจากนิวเคลียสคล้าย ๆ กับไอพ่น ปรากฏให้เห็นเป็นรูปกรวยของฝุ่นและแก๊ส จากนั้นจะโค้งเป็นโครงสร้างคล้ายพัดที่กว้างขึ้นเรื่อย ๆ จากการหมุนของนิวเคลียส นี่ถือว่าเป็นครั้งแรกที่กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลได้ถ่ายภาพ ดาวหางนีโอไวส์ ด้วยความละเอียดสูงสุด

ซึ่งในด้านประโยชน์นั้น อาจจะช่วยอธิบายว่าความร้อนจากดวงอาทิตย์ส่งผลต่อโครงสร้างของฝุ่นที่โคมาของดาวหางอย่างไร ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถระบุคุณสมบัติที่แท้จริงของดาวหางได้ ซึ่งอาจเป็นองค์ความรู้สำคัญที่จะอธิบายสภาพแวดล้อมของระบบสุริยะในยุคแรกเริ่ม ซึ่งนักวิจัยของ NASA กำลังจะหาข้อมูลเพิ่มเติมอื่น ๆ ว่าจะมีอะไรยืนยันได้อีกบ้างจากภาพถ่ายของฮับเบิลในครั้งนี้

เกร็ดความรู้เพิ่มเติม

  • ดาวหางนีโอไวส์ (C/2020 F3 NEOWISE) เป็นดาวหางที่สว่างที่สุดทางซีกโลกเหนือ
  • ดาวหางนีโอไวส์ กำลังมุ่งหน้าออกสู่ระบบสุริยะชั้นนอกด้วยความเร็ว 232,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และจะไม่กลับมาเข้าใกล้ดวงอาทิตย์อีกอย่างน้อย 7,000 ปี
  • นิวเคลียส คือ ใจกลางของดาวหาง เป็นน้ำแข็งที่มีขนาดเล็กเกินกว่าที่ฮับเบิลจะมองเห็น ก้อนน้ำแข็งมีความยาวประมาณ 5 กิโลเมตร

ขอบคุณที่มาจาก :

ธราดล ชูแก้ว – เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.
https://www.spacetelescope.org/news/heic2015/
www.nasa.gov/feature/goddard/2020/hubble-snaps-close-up-of-celebrity-comet-neowise