ประเด็นน่าสนใจ
- ประชาชนและนักท่องเที่ยวต่างเดินทาง กราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ขอพร ‘วัดใหญ่ชัยมงคล’ จ.พระนครศรีอยุธยา
- ”พระเจดีย์ชัยมงคล” เจดีย์ที่สูงที่สุดในอยุธยา ความสูงองค์เจดีย์จากฐานถึงยอดได้ 62.10 เมตร
- สามารถเดินทางมาเยือนวัดใหญ่ชัยมงคลได้ทุกวัน เปิดตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. โดยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด
หลังมีเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางจาก 63 ประเทศเข้ามาโดยไม่ต้องกักตัวผ่านไปกว่าแล้ว 1 เดือน โดยช่วงนี้ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย เริ่มมีอากาศหนาวเย็น โดย “วัด” เป็นอีกสถานที่ที่นักท่องเที่ยวนิยมเลือกเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยว แม้ไม่ใช่ช่วงเทศกาลยังมีประชาชนและนักท่องเที่ยวเลือกที่จะเดินทางเข้าวัดทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
โดยเฉพาะที่ ‘วัดใหญ่ชัยมงคล’ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะอยุธยา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีประชาชนและนักท่องเที่ยวต่างเดินทาง กราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอพรต่าง ๆ ทั้งการงาน การเงิน สุขภาพ ความรัก และเที่ยวชมชมโบราณสถาน รวมถึงเรื่องราวทางประวัติศาตร์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา และสถาปัตยกรรมที่งดงาม
พระเจดีย์ชัยมงคล
ทั้งนี้จุดเด่นของวัดใหญ่ชัยมงคลที่นักท่องเที่ยวและพุทธศาสนิกชนต้องไม่พลาดแวะชมและสักการบูชา คือ”พระเจดีย์ชัยมงคล” อนุสรณ์แห่งชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งองค์เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานทักษิณสี่เหลี่ยม กว้างด้านละ 32.40 เมตร สูง 15 เมตร และมีเจดีย์ทิศตั้งอยู่สี่มุม สูงองค์ละ 12 เมตร ถัดจากฐานจะเป็นฐานแปดเหลี่ยมจนถึงองค์ระฆัง
ซึ่งรวมความสูงองค์เจดีย์จากฐานถึงยอดได้ 62.10 เมตร บริเวณฐานทิศตะวันออกและทิศตะวันตกถูกลักลอบขุดค้นเข้าไปถึงแกนกลางพระเจดีย์ ทำให้องค์พระเจดีย์เกิดความเอียงไปทางทิศตะวันตกเล็กน้อยจากการสำรวจด้านใน โดยกรมศิลปากร พบมีพระเจดีย์องค์เดิมอยู่ด้านใน ซึ่งถูกสร้างก่อหุ้มไว้ และยังพบกรุกระดานหินชนวน สำรวจแล้วพบแต่หัวกะโหลกลิง 1 หัวเท่านั้น ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่าพระเจดีย์ประธานนี้ เดิมสร้างเจดีย์ขนาดเล็กก่อน ครั้นพอสมเด็จพระนเรศวรมหาราชก็ทำการก่อหุ้มสร้างเสริมพระเจดีย์ให้สูงใหญ่ขึ้นเช่นทุกวันนี้
อีกทั้งยังมี พระพุทธไสยาสน์ หรือ ‘พระนอน’ ลักษณะเป็นสีขาว ห่มคลุมด้วยจีวรตลอดทั้งร่าง ประดิษฐานอยู่บนพื้นที่เดิมของพระวิหารเก่าในอดีต นอกจากนี้ด้านหลังวัดใหญ่ชัยมงคลยังมี “พระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” และมีพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์ให้กราบสักการะเพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของพระองค์ด้วย รวมถึงนั่งพักผ่อนรอบๆ บริเวณ นอกจากนี้ยังมีสวนหย่อมที่สวยงามให้นั่งพักผ่อนก่อนเดินทางออกจากวัด
ประวัติ ‘วัดใหญ่ชัยมงคล’
โดยข้อมูลประวัติศาสตร์เล่าขานสืบต่อกันกล่าวว่า วัดใหญ่ชัยมงคล เดิมชื่อ “วัดป่าแก้ว” หรือ “วัดเจ้าพระยาไท” อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำป่าสัก สันนิษฐานว่า “สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง” พระมหากษัตริย์ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยา ทรงสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น เมื่อ พ.ศ.1900 สำหรับเป็นสำนักของพระสงฆ์ที่ไปบวชเรียนจากสำนักรัตนมหาเถระ ประเทศศรีลังกา
ซึ่งมีชื่อเรียกนิกายนี้ว่า “คณะป่าแก้ว” ต่อมาคณะสงฆ์นิกายนี้เป็นที่เคารพ เลื่อมใส ศรัทธาของชาวกรุงศรีอยุธยาเป็นอันมาก ผู้คนต่างมาบวชเรียนในสำนักสงฆ์แห่งนี้กันมากขึ้น สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง จึงทรงตั้งอธิบดีสงฆ์นิกายนี้เป็นสมเด็จพระวันรัตน มีตำแหน่งเป็นพระสังฆราชฝ่ายขวาคู่กับสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นสังฆราชฝ่ายคันถธุระ
ในปี พ.ศ.2135 เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทำศึกยุทธหัตถีชนะ มังกะยอชวาพระมหาอุปราชของหงษาวดีแห่งพม่า ที่ตำบลหนองสาหร่าย เมืองสุพรรณบุรี ทรงสร้างพระเจดีย์ใหญ่ขึ้นที่วัดแห่งนี้เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะ ซึ่งพระเจดีย์นี้ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าสร้างเสริมจากพระเจดีย์เดิม หรือสร้างใหม่ทั้งองค์ และถูกขนานนามว่า “พระเจดีย์ชัยมงคล” แต่ราษฎรในยุคนั้นเรียก “พะระเจดีย์ใหญ่” ต่อมาเรียกชื่อเป็น “วัดใหญ่ชัยมงคล”
และในปี พ.ศ.2310 หลังเสียกรุงครั้งที่ 2 วัดใหญ่ชัยมงคลถูกทิ้งร้างนับตั้งแต่นั้น กระทั่งมีพระภิกษุ สามเณร รวมทั้งแม่ชีกลุ่มหนึ่ง โดยการนำของพระฉลวย สุธมโม เข้ามาดูแลวัดที่ถูกทิ้งร้างแห่งนี้ เพื่อใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม ต่อมาพระครูภาวนาพิริยคุณ เจ้าอาวาสของวัดยม อำเภอบางบาล เข้ามารับช่วงดูแลต่อ วัดใหญ่ชัยมงคลจึงเปลี่ยนสถานะจากวัดร้างมาเป็นวัดราษฎร์ ในปี พ.ศ.2500 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาเยือนวัดใหญ่ชัยมงคลได้ทุกวัน เปิดตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. โดยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด จากกระทรวงสาธารณสุขกาหนดอย่างเคร่งครัด และเพื่อแสดงความเคารพและให้เกียรติสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ นักท่องเที่ยวควรแต่งกายให้สุภาพ ผู้หญิงควรสวมเสื้อมีแขน ไม่ควรใส่เสื้อแขนกุด หรือกางเกงขาสั้น ควรสวมกระโปรงหรือกางเกงขายาว นอกจากนี้ไม่ควรกระทำสิ่งใด ๆ ที่ไม่เหมาะสม เป็นอันตราย หรือสร้างความเสียหายต่อตัวโบราณสถาน เช่น ปีนป่าย เข้าไปในพื้นที่ห้าม
ภาพ : วิชาญ โพธิ