move2024 THE OPINION กัญชา กัญชาทางการแพทย์ กัญชาเสรี ปลูกกัญชา

‘กัญชาเสรี’ กว่าจะถึงวันนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย…?

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 พ.ศ.2565 ปลดกัญชาออกจากยาเสพติด หรือ ยส.5

Home / TELL / ‘กัญชาเสรี’ กว่าจะถึงวันนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย…?

ประเด็นน่าสนใจ

  • ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 พ.ศ.2565 ปลดกัญชาออกจากยาเสพติด หรือ ยส.5
  • มีผลบังคับใช้ใน 120 วันหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา ประชาชนสามารถปลูกได้ไม่จำกัดจำนวน แต่ต้องทำการจดแจ้งให้ถูกต้อง
  • ผลิตภัณฑ์ที่มีสารสกัด ที่มีค่า THC เกินกว่าร้อยละ 0.2 ถือเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมาย

หากพูดถึง ‘กัญชา’ ตามข้อมูลทางประวัติศาสตร์ มีข้อบ่งชี้ว่ามีการนำมาใช้เป็นยารักษาโรคมาตั้งแต่ยุคโบราณ และ ในปี พ.ศ 2481 สภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกา ได้ออกกฎหมายห้ามการใช้กัญชาทุกรูปแบบ ต่อมาในปีพ.ศ 2504 สหประชาชาติ หรือ UN ได้ลงนามในความสัญญาร่วมเพื่อปราบปรามยาเสพติด ส่งผลให้ ‘กัญชา’ เป็นสิ่งผิดกฎหมาย เป็นของต้องห้าม ไม่ใช่สมุนไพร

ต้นกัญชา : ภาพ / NickyPe

สำหรับในประเทศไทย มีประวัติศาสตร์การใช้กัญชาในตำรับยารักษาอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ มาตั้งแต่ยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา ในช่วงปีพ.ศ 2175-2231 ในตำหรับยาแผนโบราณของไทย มาอย่างต่อเนื่อง ในด้านการรักษาโรคต่าง ๆ หลายโรคด้วยกัน

ตำรับยา ‘กัญชา’ ทางการแพทย์

ข้อมูลตำรับยาในทางการแพทย์แผนไทยมีทั้งสิ้น 16 ตำรับ โดยทางสถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้เผยแพร่ข้อมูล อาทิ

‘ตำรับยาศุขไสยาสน์’ มีที่มาจากคัมภีร์ธาตุพระนารายณ์ โดยมีข้อมูลว่า มีการใช้ใบกัญชา เป็นส่วนผสมของตำรับยา สามารถช่วยให้นอนหลับ เจริญอาหาร ฟื้นฟูกำลังผู้ป่วยเรื้อรัง แต่มีข้อห้ามใช้ ในสตรีมีครรภ์ ผู้มีไข้สูง

‘ยาน้ำมันสนั่นไตรภพ’ มีที่มาจากตำรายาจารึกในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ข้อบ่งใช้ แก้กษัยเหล็ก ลดอาการแทรกซ้อนในผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ มะเร็งมดลูก มะเร็งตับในระยะเริ่มต้น และมีข้อห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคตับระยะสุดท้ายที่มีภาวะเส้นเลือดแตกเป็นใยแมงมุมห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีตับวายห้ามใช้ในผู้ป่วยที่ใช้ยาละลายลิ่มเลือด

สู่บัญชี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ

ต่อมา ประเทศไทยมีการออกพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษมาตั้งแต่ปี พ.ศ 2465 โดยบัญญัติให้กัญชาเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิตจำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ครอบครอง เว้นแต่รัฐมนตรีจะได้อนุญาต โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษเป็นราย ๆ ไป

นอกจากนี้ ยังได้มีการออกพระราชบัญญัติกัญชา พ.ศ. 2477 โดยกำหนดห้ามผู้ใดปลูก นำเข้า ซื้อขาย หรือครอบครองกัญชาโดยเด็ดขาด เนื่องจากในยุคสมัยนั้นมีการนำกัญชามาใช้อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นการใช้เพื่อการรักษาโรคตามตำหรับยาแผนโบราณของไทย การใช้เป็นในการเป็นเครื่องปรุงอาหารในเมนูพื้นบ้านต่าง ๆ ที่เป็นที่รู้จัก รวมถึงการใช้เพื่อการสันทนาการด้วย

กระทั่งในปี พ.ศ.2522 รัฐบาลไทยก็ได้ออกพระราชบัญญัติยาเสพติด โดยกัญชาถูกจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ซึ่งมีโทษทางอาญากับผู้เสพและผู้ครอบครอง และไม่มีการอนุญาตให้นำมาใช้ในทางการแพทย์แต่อย่างใด

กระแสการผลักดัน ‘กัญชาเสรี’ จากนโยบายของพรรคการเมือง

นับตั้งแต่ปี 2522 เป็นต้นมา กัญชา ถูกจัดให้เป็นยาเสพติดและการมีไว้ใช้ในครอบครองนั้นเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย แต่ในขณะเดียวกัน ผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ก็พบว่า การใช้กัญชานั้นมีผลในทางการแพทย์ในหลาย ๆ ด้านที่น่าสนใจ ควรแก่การนำมาวิจัย พัฒนา ใช้งานในวงกว้างมากขึ้น

กระแสโลกที่เปลี่ยนไป ทำให้หลายประเทศ “ปลดล็อคกัญชา” อนุญาตให้มีการใช้กัญชาเพื่อการสันทนาการได้ ซึ่งแตกต่างกันไปตามแต่ละข้อกำหนดของแต่ละประเทศเช่น บางประเทศเปิดเสรี เช่น แคนาดา แอฟริกาใต้ ที่เปิดทางให้มีการใช้เพื่อการแพทย์ – สันทนาการ มีไว้ในครอบครองได้โดยไม่ผิดกฎหมาย

แต่ในขณะที่อีกหลายประเทศ ยังอยู่ภายใต้เงื่อนไข – ข้อจำกัดบางอย่างเช่น สหรัฐ สเปน ออสเตรีย เบลเยียม บราซิล ในกลุ่มนี้อนุญาตให้ใช้เพื่อการสันทนาการได้ แต่มีการจำกัดปริมาณการใช้ หรือบางประเทศเช่น เนเธอร์แลนด์ นั้นกัญชาไม่ใช่สิ่งที่ถูกกฏหมาย แต่มีการอนุญาตในบางประเด็นเช่น การสูบร้านขายที่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือการครอบครองจำนวนไม่เกิน 5 กรัม และไม่ใช่เพื่อการค้า รวมถึงการไม่อนุญาตให้ปลูกได้เองด้วย

การปลดล็อคทำให้ ‘กัญชาเสรี’ ถูกนำมาพูดถึงเป็นวงกว้างจากการผลักดันของพรรคการเมืองต่าง ๆ ได้นำเสนอออกมาเป็นนโยบายเพื่อให้กัญชาถูกกฎหมาย เน้นการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งพรรคภูมิใจไทยในฐานะพรรคฝั่งรัฐบาลเป็นอีกหนึ่งพรรคการเมืองที่พยายามผลักดันกัญชาเสรีมาอย่างต่อเนื่อง

นโยบายกัญชาเสรี พรรคภูมิใจไทย

รวมไปถึงการเสนอให้มีการปลูกกัญชาในบ้าน 6 ต้นต่อครัวเรือน สร้างความหวังให้กับเกษตรกร และประชาชนที่สนใจหันมาศึกษาการเพาะปลูกกัญชามากยิ่งขึ้น เพื่อผลักดัน ‘กัญชา’ ให้เป็นพืชเศรษฐกิจในอนาคต

ซึ่งรวมไปถึงเสียงจากกลุ่มผู้ใช้ทางการแพทย์ และคณะแพทย์ที่วิจัยเกี่ยวกับกัญชา เพื่อจะผลักดันในการใช้กัญชาเพื่อทางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ก้าวแรกของการปลดล็อกกัญชา

การแก้ไขประมวลบทกฎหมาย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562 โดยมีการเผยแพร่ประกาศดังกล่าวผ่านเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2562 โดยใจความสำคัญระบุให้ ‘กัญชา’ สามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์เพื่อรักษาโรคได้

กระทั่งทางกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศปลดล็อกกัญชาไม่เป็นยาเสพติด ยกเว้นช่อดอก ใบติดช่อดอก และเมล็ดกัญชา ซึ่งทางเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศ ณ วันที่ 15 ธ.ค.63

โดยมีสาระสำคัญคือ กัญชา (cannabis) พืชในสกุล Cannabis และวัตถุหรือสารต่าง ๆ ที่มีอยู่ในพืชกัญชา เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตในประเทศ ไม่จัดเป็น ยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 อาทิ

  • เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน และราก
  • ใบ ซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย
  • สารสกัดที่มีสารแคนนาบิไดออล (cannabidiol, CBD) เป็นส่วนประกอบและต้องมี
    สารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก
  • กากหรือเศษที่เหลือจากการสกัดกัญชาและต้องมีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก

นำไปสู่ “บุรีรัมย์ โมเดล” ต้นแบบการปลูกกัญชาร่วมกับวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ เก็บผลผลิตส่งโรงพยาบาลคูเมือง ผลิตยาทั้งแพทย์แผนไทยและแผนปัจจุบันกระจายสู่โรงพยาบาลในเขตสุขภาพที่ 9 (นครชัยบุรินทร์) ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์

โดยรับเมล็ดพันธุ์กัญชาจากโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และเก็บผลผลิตที่ได้ส่งให้กับโรงพยาบาลคูเมืองนำไปผลิตเป็นยากัญชา ทั้งในรูปแบบยาแผนไทยและแผนปัจจุบันกระจายสู่โรงพยาบาลภายในเขตสุขภาพ “Khumuang Hospital Medical Cannabis”

ซึ่งได้สร้างเป็นต้นแบบบุรีรัมย์โมเดล ปลูกและผลิตยากัญชาและส่งต่อความรู้ด้านการปลูกสู่วิสาหกิจชุมชนอื่นๆ ร่วมมือกับโรงพยาบาลในเขตสุขภาพที่ 9

‘กัญชา’ ทางการแพทย์

โครงการผลิตสารสกัดต้นแบบ ‘กัญชา’ ทางการแพทย์ขององค์การเภสัชกรรม ซึ่งเป็นการปลูกกัญชาทางการแพทย์ที่ถูกต้องตามกฎหมายแห่งแรกของอาเซียน ได้ดำเนินการปลูกกัญชาทางแพทย์สำหรับเป็นวัตถุดิบนำมาสกัดเป็นสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ เพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยาจากกัญชาชนิด น้ำมันหยดใต้ลิ้น (Sublingual Drop) สำหรับนำไปใช้ในการทดลองทางคลินิกในผู้ป่วยที่ร่วมโครงการวิจัย

‘กัญชา’ ทางการแพทย์ขององค์การเภสัชกรรม

บนพื้นที่ 100 ตารางเมตร ขององค์การเภสัชกรรม อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ซึ่งจะทำให้ได้สารสกัดต้นแบบกัญชา ที่มีคุณภาพสูง มีปริมาณและสัดส่วนของสารสำคัญที่ใช้ในการออกฤทธิ์ คือ THC และ CBD เป็นไปตามความต้องการใช้ของแพทย์ในแต่ละโรคที่จะทำการศึกษาวิจัย

ซึ่งการปลูกกัญชาเพื่อใช้ในทางการแพทย์นั้น ถือว่า มีข้อจำกัดที่ค่อนข้างมากในการปลูกไม่น้อยทีเดียว เนื่องจากจำเป็นจะต้องการปนเปื้อนของสารอื่น ในกัญชา

ก้าวสำคัญของการ ‘ปลดล็อกกัญชา’

เมื่อวันที่ 8 ก.พ.65 เป็นอีกหนึ่งประวัติศาตร์สำคัญของการปลดล็อกกัญชา โดยทางนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เซ็นลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 พ.ศ.2565 ปลดกัญชาออกจากยาเสพติด หรือ ยส.5 หลังผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (บอร์ด ป.ป.ส.)

อนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ปลดล็อกกัญชา : 8 ก.พ.65

โดยจะมีการควบคุมสารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชา หรือ กัญชง ยกเว้นสารสกัดที่มี THC ไม่เกินร้อยละ 0.2 ขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์ที่มีสารสกัด ที่มีค่า THC เกินกว่าร้อยละ 0.2 ถือเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมาย ต้องมีการดำเนินคดี

การปลดล็อกกัญชาในประเทศไทยไม่ได้ขัดกับอนุสัญญาของ UN เนื่องจากใช้ในทางการแพทย์ ใช้เพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพ โดยประกาศนี้จะมีผลบังคับใช้ใน 120 วันหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา นายอนุทิน กล่าว

อย่างไรก็ตามประกาศของทางกระทรวงสาธารณสุขฉบับดังกล่าวนั้น เป็นการปลดล็อกกัญชา กัญชง ออกจากยาเสพติดให็โทษประเภทที่ 5 (ยส.5) โดยเจตนารมณ์หลักคือ การใช้เพื่อการแพทย์ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการใช้กัญชาเพื่อรักษาสุขภาพของตนเอง และการต่อยอดให้เป็นพืชเศรษฐกิจ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ประชาชน

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : คู่มือการขออนุญาตปลูก ‘กัญชา’ สำหรับเกษตรกร

แม้ปลดล็อก ไม่ใช่อยู่ ๆ จะปลูกได้

หลังจากราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศปลด ‘กัญชา’ ออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 จะมีผลทันทีหลังจากประกาศ 120 วันนี้ ประชาชนจะสามารถปลูกในครัวเรือนได้ไม่จำกัดแต่จะต้องมีการจดแจ้ง ซึ่งจะมีการผลักดันให้สามารถจดแจ้งผ่านแอปพลิเคชันได้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน

แต่ในช่วงระหว่าง 120 วัน หลังประกาศ ประชาชนสามารถปลูกโดยรวมตัวกันในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน 7 คนขึ้นไปได้ ซึ่งต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของทางกระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้

การคลายล็อกกัญชาในครั้งนี้ จะมีกฎหมายเฉพาะออกมาควบคุมกัญชากัญชง ทั้งการปลูก การนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ การรักษาตนเอง การต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและการวิจัย

ในขณะเดียวกัน ยังคงมีข้อห้ามในการจำหน่ายกัญชา โดยห้ามในการจำหน่ายให้กับ ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี, สตรีมีครรภ์ หรือให้นมบุตร หรือ ผู้ที่ทางกระทรวงประกาศกำหนดไว้

กัญชาเสรี (ทางการแพทย์-เศรษฐกิจ)

แม้การปลดล็อกกัญชาจะเป็นข่าวดี แต่นั้นคือการปลดล็อกเพื่อทางการแพทย์ และเศรษฐกิจ ไม่นับรวมการนำไปใช้อย่างผิดวิธี เช่นการสูบเพื่อสันทนาการ ก็ยังถือว่าผิดกฎหมายอยู่ แต่กระนั้นก็ถือว่าเป็นก้าวสำคัญของ ‘กัญชา’ ในประเทศไทย ที่จะลบภาพหรือความคิดว่ากัญชาเป็นยาเสพติด

แต่กัญชานั้นมีประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งในอนาคตเราอาจได้เห็นงานวิจัยต่าง ๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์จากกัญชามากยิ่งขึ้น


ข้อมูล

  • http://www.medcannabis.go.th
  • http://www.wongkarnpat.com
  • http://cannabis.fda.moph.go.th
  • https://www.dtam.moph.go.th