Omicron THE OPINION สายพันธุ์โอมิครอน โควิด-19

โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน แพร่ได้เร็ว แต่อาจจะรุนแรงน้อยกว่า

เปิดรายงานในจ.กัวเต็ง ประเทศแอฟริกาใต้ ใจกลางการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน

Home / TELL / โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน แพร่ได้เร็ว แต่อาจจะรุนแรงน้อยกว่า

ประเด็นสำคัญ

  • จากการค้นพบโควิด-19 ในสายพันธุ์กลายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งในขณะนี้ค่อนข้างชัดเจนว่า มีความสามารถในการแพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์อื่นก่อนหน้านี้
  • อย่างไรก็ตาม ในรายงานในประเทศแอฟริกาใต้ พบว่า แม้จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • แต่จำนวนผู้ป่วยหนัก ที่มีอาการรุนแรง และผู้ป่วยที่ต้องเข้าโรงพยาบาลกลับไม่พุ่งสูงขึ้นตามที่ประเมินไว้
  • ส่งผลให้นักวิจัย มองว่า โควิด-19 ในสายพันธุ์โอมิครอนนี้ อาจจะสามารถแพร่ระบาดได้เร็วก็จริง แต่ความรุนแรงของโรคอาจจะไม่ได้รุนแรงเท่ากับสายพันธุ์ก่อนหน้านี้
  • อย่างไรก็ตาม ก็ยังถือเป็นข้อมูลชุดแรก ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ จึงยังไม่สามารถดีใจ หรือวางใจได้ทั้งหมด

จากกระแสความหวั่นวิตกของการพบโควิด-19 ในสายพันธุ์ใหม่ โอไมครอน ที่หลายฝ่ายคาดการณ์กันว่า เชื้อในสายพันธุ์นี้ น่าจะมีความสามารถในการแพร่ระบาดได้เร็ว ทำให้ติดเชื้อกันได้ง่าย และเป็นวงกว้าง ซึ่งสถานการณ์ในขณะนี้ พบการระบาดไปมากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก และมีผู้ป่วยที่ยืนยันผลการตรวจสายพันธุ์แล้ว เกือบ 1 พันราย และยังมีอีกจำนวนมากที่ไม่ได้ตรวจสายพันธุ์ โดยเฉพาะในพื้นที่การระบาดอย่างประเทศแอฟริกาใต้

หลังจากการประกาศการค้นพบสายพันธุ์กลายพันธุ์ B.1.1.529 ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา และพบการกลายพันธุ์ในหลายตำแหน่ง ทำให้นักวิทยาศาสตร์ นักระบาดวิทยา รวมถึงผู้เกี่ยวข้องต่างมีความกังวลเป็นอย่างมากจากตำแหน่งของการกลายพันธุ์จำนวนมากกว่า 50 ตำแหน่ง และ 32 ตำแหน่งเป็นการกลายพันธุ์ที่สไปร์โปรตีน หรือโปรตีนในส่วนหนามของไวรัส มากกว่าที่เกิดขึ้นในสายพันธุ์เดลต้าเท่าตัว

การเกิดการกลายพันธุ์ในหลายตำแหน่งจำนวนมาก ทำให้สร้างความกังวลไปทั่วโลกว่า น่าจะมีการระบาดเกิดขึ้นได้เร็ว – ติดซื้อซ้ำ – เลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดี และยังไม่แน่ใจว่า จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการหนักขึ้นหรือไม่

จากความกังวลทั้งหมดที่เกิดขึ้น เมื่อฝุ่นเริ่มจางลง ข้อมูลมีมากขึ้น ทำให้การมาของสายพันธุ์โอมิครอนนี้ จะไม่รุนแรงอย่างที่คิด และนักวิชาการบางส่วนตั้งข้อสังเกตว่า หรือนี่ อาจจะเป็นอีกจุดเปลี่ยนให้โควิด-19 กลายเป็นโรคที่ไม่น่ากังวลอีกต่อไป

คำถามคือ “เพราะอะไร” ถึงคิดแบบนั้น

สถิติในพื้นที่ระบาดหนัก แต่ผู้ป่วยไม่หนัก

จากการรายงานครั้งแรกที่พบในจังหวัดกัวเต็ง ของประเทศแอฟริกาใต้ ที่พบการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในสายพันธุ์กลายพันธุ์ที่ชื่อว่า โอมิครอนนี้ พบว่า มีอัตราการระบาดที่ค่อนข้างรวดเร็ว และทำให้มีการพบผู้ป่วยโควิด-19 ในสายพันธุ์นี้พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก และกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่มีการระบาดในประเทศแอฟริกาใต้ ได้เพียงไม่กี่วัน

จากเดิมในช่วงของการระบาดที่ผ่านมา สัดส่วนของการพบเชื้อโควิด-19 ในสายพันธุ์เดลต้าจะพบเป็นสายพันธุ์หลัก ราว 70-80% ในช่วงเดือน กันยายน – ตุลาคม แต่พอมาถึงในเดือน พฤศจิกายน สายพันธุ์ที่พบการระบาดหลัก กลับกลายเป็นสายพันธุ์โอมิครอนไปแล้ว

โดยเฉพาะในจังหวัดกัวเต็ง ของประเทศแอฟริกาใต้ แนวโน้มการระบาดในระลอกใหม่ที่กำลังมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นนั้นเป็นสายพันธุ์โอมิครอนเป็นส่วนใหญ่ และรายงานในสัปดาห์ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ที่ผ่านมา พบว่า ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดเป็นผู้ป่วยสายพันธุ์โอมิครอนแล้ว ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น

ซึ่งยอดล่าสุด ( 5 ธ.ค.) ยอดผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทสแอฟริกาใต้พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก เป็นการยืนยันความสามารถในการระบาดของโควิด-19 ในสายพันธุ์ Omicron นี้

แต่จากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มสูงขึ้น จากรายงานของ South African Medical Research Council (SAMRC) ที่ได้ทำการเก็บข้อมูลผู้ป่วยโควิด-19 ในสายพันธุ์โอมิครอน ในเขต Tshwane จังหวัดกัวเต็ง ของแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการระบาดของโควิด-19 ในสายพันธุ์โอมิครอน พบว่า

ยอดผู้ป่วยในเขต Tshwane นั้น เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงไม่กี่วันหลังจากการยืนยันการพบโควิด-19 ในสายพันธุ์โอมิครอน และสูงมากทีเดียวเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา และแม้ว่า ในทุกเคสที่พบในเขต Tshwane จะไม่ได้มีการตรวจหาสายพันธุ์ แต่จากข้อมูลในการสุ่มตรวจที่เกิดขึ้น คาดการณ์ได้ว่า จำนวนผู้ป่วยส่วนใหญ่ในเขต Tshwane นี้ น่าจะเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ในสายพันธุ์โอมิครอนเกือบทั้งสิ้น

จากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น ทางทีมสำรวจได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลผู้ป่วยที่เข้ารักษาตัวในSteve Biko Academic and Tshwane District Hospitals (SBAH/TDH) ซึ่งเป็นสถานบริการที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 166 ราย ในช่วง 14 -29 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในพื้นที่แล้ว พบว่า

มีผู้ป่วยจำนวน 42 รายที่จำเป็นต้องแอดมินเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ไม่จำเป็นต้องให้ออกซิเจนแต่อย่างใด สามารถรักษาตัวได้ในวอร์ดปรกติ มีผู้ป่วยโควิด-19 เพียง 9 รายเท่านั้นที่จำเป็นต้องให้อ๊อกซิเจน นอกจากนี้ ผู้ป่วยจำนวน 28 รายที่อยู่ในห้องปรกติ หรือ On Room Air นั้น เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีอาการป่วยใด ๆ แต่จำเป็นต้องเข้ารักษาตัวด้วยอาการ หรือเหตุผลทางการแพทย์อื่น ๆ เช่น รอการผ่าตัด

นอกจากนี้ในกลุ่มผู้ป่วย 4 รายที่จำเป็นต้องให้ออกซิเจนด้วยเหตุผลอื่น เช่น ผู้ป่วยมีภาวะหัวใจล้มเหลว(จากอาการอื่น) โรคปอดอักเสบจากการติดเชื้ออื่น (Pneumocystis Pneumonia)

ซึ่งเมื่อแยกผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาตัวอยู่ในวอร์ดต่าง ๆ จำนวน 38 ราย ตามประวัติการได้รับวัคซีนพบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีน

จากข้อมูลที่เกิดขึ้น ทีมวิจัยระบุว่า เป็นภาพที่ไม่เคยเห็นในรอบก่อนหน้าทั้ง 3 ระลอก เนื่องจากมีผู้ป่วยที่ต้องดูแลใกล้ชิด 4 ราย และมีผู้ป่วย ICU เพียง 1 รายเท่านั้น โดยแพทย์-เจ้าหน้าที่ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ ระบุว่า ถือว่ามีจำนวนผู้ป่วยน้อยกว่าหากเทียบในระลอกที่ผ่าน ๆ มา ในขณะที่ช่วง 14 วันที่ผ่านมามีผู้ป่วย COVID ICU เพียง 2 รายเท่านั้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่ สามารถรักษาตัวในวอร์ดทั่วไปได้

ซึ่งในการสำรวจในโรงพยาบาลอื่น ๆ ในกัวเต็ง เช่นที่ Helen Joseph Hospital มีผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 37 รายรักษาตัวอยู่ โดย 31 รายอยู่ในหอผู้ป่วยปรกติ (Room Air) , Dr George Mukhari Academic Hospital มีผู้ป่วย 80 ราย มีเพียง 14 รายที่ต้องให้ออกซิเจน และมี 1 รายที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ

ผลการสำรวจข้อนี้ ทำให้ผู้สำรวจได้สรุปรายงาน โดยระบุว่า จำนวนของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาอาการปอดอักเสบจากโควิด-19 ในระลอกใหม่นี้ มีจำนวนที่ค่อนข้างน้อยกว่าที่ผ่านมา วมไปถึงจำนวนผู้ป่วยอาการหนักและผู้ป่วยในห้องไอซียูนั้น ที่แตกต่างจากการระบาดในระลอกก่อนหน้าค่อนข้างชัดเจน

ซึ่งในรายงานข่าวในช่วงที่ผ่านมาของการพบโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนนั้น ในหลายประเทศก็มีรายงานส่วนใหญ่ไปในทิศทางเดียวกันคือ พบผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเบา เป็นหลัก (สรุปข่าวย้อนหลังเกี่ยวกับโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ) ไม่ว่าจะเป็น อินเดีย, สหราชอาณาจักร, เนเธอร์แลนด์, สหรัฐฯ

ผู้ป่วยโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนส่วนใหญ่ ไม่มีอาการ หรืออาการเบา

ยอดติดเชื้อเพิ่ม อัตราตายไม่พุ่ง

นอกจากนี้ ตัวบ่งชี้ความรุนแรงของโรคอย่างหนึ่งคือ อัตราการเสียชีวิต ซึ่งในการระบาดในระลอกใหม่นี้ ในจังหวัดกัวเต็ง “ยังไม่พบผู้เสียชีวิตที่เสียชีวิตจากโควิด-19” อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยคาดว่า อาจจะมีความล่าช้าที่เกิดขึ้นจากยอดผู้ป่วยรายใหม่ กับยอดผู้เสียชีวิต ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าก็ได้

แต่ในเวลานี้ ทางองค์การอนามัยโลก ระบุว่า แม้โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน จะมีความสามารถในการแพร่ระบาดได้เร็ว แต่ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ในายพันธุ์โอมิครอน

เช่นเดียวกับนายแพทย์แอนโทนี เฟาซี หัวหน้าคณะทำงานเฉพาะกิจด้านการควบคุมโรคโควิด-19 ก็ได้กล่าวถึงประเด็นนี้เช่นกัน ผ่านทาง CNN ดดยระบุว่า จากข้อมูลที่มีในขณะนี้ พบว่า สายพันธุ์โอมิครอน น่าจะไม่รุนแรงเช่นสายพันธุ์อื่น ๆ

เบาใจได้ แต่วางใจไม่ได้

แม้ในรายงานจากหลายประเทศ และหลายแหล่ง ระบุไปในทิศทางเดียวกันว่า เชื้อในสายพันธุ์โอมิครอนนี้ ยังไม่มีผู้เสียชีวิต ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง แต่อาจจะเป็นการสรุปที่เร็วไป เนื่องจาก

  • จำนวนข้อมูลของผู้ป่วยที่พบในขณะนี้ ยังไม่มากพอ โดยเฉพาะข้อมูลในกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุ กลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ
  • การระบาดเพิ่งเริ่มเกิดขึ้น และอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ในภายหลัง หากมีการระบาดมากขึ้น

ดังนั้น ณ ข้อมูลที่มีอยู่ในเวลานี้ จึงสามารถเบาใจได้ระดับหนึ่ง แต่ยังวางใจทั้งหมดไม่ได้ และมาตรการป้องกันส่วนบุคคลไม่ว่าจะเป็น การเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ รวมถึงการรับวัคซีน ยังคงเป็นทางเลือกที่สำคัญ และจำเป็นสำหรับการเผชิญหน้ากับโควิด-19 ในสายพันธุ์โอมิครอน รวมถึงสายพันธุ์กลายพันธุ์อื่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตอีกด้วย

นอกจากนี้ ในหลายประเทศยังคงกังวลกับจำนวนผู้ป่วยที่อาจจะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งแม้ว่าเชื้ออาจจะไม่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง แต่ในกลุ่มเปราะบาง รวมถึงกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ หากมีจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น และถึงระดับที่ระบบสาธารณสุขไม่สามารถรองรับการระบาดได้ทัน ก็อาจจะนำมาสู่อัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้นได้ด้วยเช่นกัน

ซึ่งสถานการณ์ในแอฟริกาใต้ที่กำลังเผชิญอยู่ แม้ว่าจำนวนผู้ป่วยอาการรุนแรงนั้นมีอัตราส่วนไม่เยอะ แต่จากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็ทำให้จำนวนผู้ป่วยกำลังเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่ยังไม่ได้รับวัคซีน คิดเป็นราวกว่า 70% ของผู้ป่วยที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล


ที่มา

  • https://www.samrc.ac.za/news/tshwane-district-omicron-variant-patient-profile-early-features
  • https://www.nicd.ac.za/latest-confirmed-cases-of-covid-19-in-south-africa-5-december-2021/
  • https://www.nicd.ac.za/wp-content/uploads/2021/12/Update-of-SA-sequencing-data-from-GISAID-3-Dec-21-Final.pdf
  • https://www.thelancet.com/journals/lancet/article/PIIS0140-6736(21)02758-6/fulltext#