ประเด็นสำคัญ
- ในการประชุม COP26 ที่ได้บรรลุข้อตกลงหลายอย่าง เพื่อการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อโลกของเรา เช่น ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ภัยแล้ง ฝนตกหนัก
- หลังจากประชุมมาเกือบ 2 สัปดาห์ จำนวนเกือบ 200 ประเทศเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้
- แต่ในข้อตกลงที่เกิดขึ้น มีความน่าผิดหวัง เช่น การเปลี่ยนจากการ “ยุติ” การใช้เชื้อเพลิงถ่านหินในปี 2030 เป็นเพียง การ “ลด” การใช้เท่านั้น
- การดำเนินการเรื่องของเงินทุนสนับสนุนให้กับประเทศที่ยากจน – ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศยังคงคืบหน้า
- หลายฝ่ายมองว่า นี่เป็นเพียงการประชุมเพื่อหาทางประนีประนอม ที่เกิดความคืบหน้าไม่มากพอที่จะเปลี่ยนแปลงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสภาพอากาศได้
…
การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ หลังจากที่จัดขึ้นเป็นเวลาหลายวันที่ผ่านมา และมีตัวแทนเกือบ 200 ประเทศทั่วโลกในการเข้าร่วมการประชุม เพื่อหาทางออกและสู้กับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ซึ่งกำลังส่งผลกระทบหลาย ๆ อย่างกับโลก สภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่
โดยในท้ายที่สุด ข้อตกลงฉบับใหม่ของการประชุมได้ข้อสรุปแล้ว แต่หลายฝ่ายกลับมองว่าเป็นเพียงข้อตกลงดูมีความคืบหน้า แต่กลับไม่ใช่สิ่งที่คาดหวังไว้
COP26 คืออะไร
การประชุมภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถูกจัดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่โลกเผชิญกับปัญหาสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น จากการมลภาวะทางอากาศที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิสชนิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ถ่านหิน รวมถึงการเผาสิ่งที่ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในกิจกรรมต่าง ๆ ส่งต่อสภาพอากาศของโลกที่เรากำลังเผชิญกันอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็น ฝนที่ตกหนักมากขึ้น ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น จากน้ำแข็งขั้วโลกที่ละลายมากขึ้น
ซึ่งปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ นับวันจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น นั่นจึงทำให้หลาย ๆ ชาติต้องหันหน้าเข้ามาพูดคุยข้อตกลงร่วมกัน เพื่อหาทาง “ลด” ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับโลกใบนี้นั่นเอง
โดยตัวย่อ COP ย่อมาจาก “Conference of the Parties” หมายถึงการประชุมร่วมกันของชาติต่าง ๆ ส่วนเลข 26 มาจากครั้งที่ 26 ซึ่งครั้งนี้เลื่อนมาจากกำหนดการเดิมที่จะมีการจัดประชุมในปี 2563 แต่เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้จำเป็นต้องเลื่อนการจัดงานออกมาในปีนี้แทน
เป้าหมาย-ข้อตกลงมีอะไรบ้าง
เป้าหมายของการจัดประชุม COP26 ในครั้งนี้ก็เพื่อร่วมกันหารือข้อตกลง แผนการลดการปล่อยคาร์บอนในปี 2030 ของทุกประเทศในโลก เพื่อลดการสร้างมลพิษที่ส่งผลต่อสภาพอากาศของโลกให้มากขึ้น ให้สามารถจำกัดอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิด 1.5 องศาเซลเซียส ระดมเงินทุนจากประเทศที่ร่ำรวย ในการช่วยเหลือประเทศรายได้ต่ำที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่เกิดขึ้น รวมถึงเป้าหมายในปี 2050 ที่จะต้องการลดการปล่อยคาร์บอน ให้เหลือ 0 อีกด้วย
ร่างข้อตกลงในครั้งแรกนั้น มีแนวโน้มและทิศทางที่ดี หลังข้อตกลงที่ชัดเจน และท้าทายมากพอที่จะช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมได้ ประกอบไปด้วย
- ยุติการตัดไม้ ในปี 2030 – เนื่องจากต้นไม้เป็นสิ่งสำคัญในการกักเก็บคาร์บอนในอากาศที่เป็นสาเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
- ลดการปล่อยมีเทน ลง 30% ในปี 2030 – เนื่องจากเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลต่อภาวะโลกร้อน ซึ่งเกิดจากปศุสัตว์ และของเสียต่าง ๆ เป็นส่วนใหญ่
- ยุติการใช้ถ่านหิน ในปี 2030 – เนื่องจากเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาผลกระทบต่อสภาพอากาศมากที่สุด หลายประเทศใช้ถ่านหินเป็นพลังงานในการผลิตไฟฟ้า
- สนับสนุนเงินทุนให้กับพลังงานสะอาด – โดยมีสถาบันการเงินมากกว่า 400 แห่ง เข้าร่วมการสนับสนุนเงินทุนให้การพัฒนา ใช้งานเทคโนโลยีพลังงานสะอาด
และการประนีประนอมในวินาทีสุดท้าย
ในการประชุม COP26 ตลอดหลายวันที่ผ่านมา มีสัญญาณหลายอย่างที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการที่จีน และสหรัฐฯ เข้าร่วมในการประชุมนี้อย่างจริงจัง เพื่อหาทางออกในการลดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก เนื่องจากทั้งสองประเทศนี้ เป็นหนึ่งในส่วนสำคัญที่ปล่อยคาร์บอนสู่อากาศคิดเป็น 40% ของทั้งหมดที่เกิดขึ้นในโลก
นอกจากนี้ ในหลายเรื่อง หลายประเทศมีความเห็นตรงกันต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลกในขณะนี้ และหลายประเทศก็กำลังเผชิญอยู่ ทำให้ข้อตกลงหลายอย่าง เช่น การยุติการตัดไม้นั้น หลายฝ่ายมีความเห็นไปในทิศทางที่ตรงกัน โดยมีประเทศที่ลงนามในข้อตกลงนี้กว่า 140 ประเทศโดยเฉพาะประเทศที่มีผืนป่าขนาดใหญ่ อย่างรัสเซีย และบราซิล ซึ่งทั้งสองประเทศนี้มีพื้นที่ป่ารวมกันกว่า 30% ของป่าที่มีอยู่บนโลกนี้
แต่ความผิดหวังในข้อตกลงที่เกิดขึ้นในการประนีประนอมในช่วงสุดท้ายของการประชุมเกือบ 2 สัปดาห์อย่างต่อเนื่อง ได้มีการเปลี่ยนแปลงบางข้อความในข้อตกลงที่ทำให้หลายฝ่ายผิดหวังกับสิ่งที่เกิดขึ้นในท้ายที่สุด
ลดการใช้ถ่านหิน แต่ไม่ได้ยุติ
ในการประชุมช่วงแรกข้อตกลงไปในทิศทางของการมีแนวทางร่วมกันคือการ “ยุติ” การใช้ถ่านหินในปี 2030 ซึ่งเป็นตัวการของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ซึ่งถ่านหินส่วนใหญ่ถูกใช้ในการสร้างกระแสไฟฟ้าให้กับหลายประเทศ ซึ่งทำให้ข้อตกลงนี้ดูไม่ง่าย แม้ว่าหลายประเทศจะพยายามผลักดันพลังงานทางเลือกอย่าง พลังงานแสงอาทิตย์ก็ตาม
หลายประเทศยินยอมในข้อตกลงที่จะ “ยุติ” การใช้ถ่านหิน แต่หลายฝ่ายก็เริ่มเห็นแววว่า อาจจะไม่ผ่าน เนื่องจากประเทศผู้ใช้ถ่านหินรายใหญ่ ๆ ของโลกต่างเบือนหน้านี้ในเรื่องนี้ และท้ายที่สุดในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการได้ข้อสรุป ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงข้อความในข้อตกลงจากคำว่า “Phase out” หรือ “ยุติ” การใช้ถ่านหินเป็นคำว่า “Phase down” ในการใช้ถ่านหินแทน
โดยมีประเทศที่ร่วมลงนามในข้อตกลงดังกล่าว เพียง 40 ประเทศเท่านั้น ในขณะที่ประเทศผู้ผลิต และผู้ใช้งานถ่านหินรายใหญ่ ๆ อย่าง จีน อินเดีย สหรัฐฯ ออสเตรเลีย ต่างนิ่งเฉยกับประเด็นนี้ ทางด้านของสถาบันการเงินได้ร่วมให้คำมั่นด้วยในการยุติการจัดหาเงินทุนให้กับพลังงาน
ซึ่งนั้นหมายถึงว่า การใช้งานถ่านหินเป็นพลังงานในประเทศต่าง ๆ ยังคงมีอยู่ เพียงแต่ลดลงเท่านั้นเอง โดยอินเดียเป็นผู้เสนอในประเด็นนี้ ระบุว่า ยังมีประเด็นในเรื่องของการพัฒนา-การขจัดความยากจนในประเทศ ทำให้อินเดีย ยังมีความจำเป็นต้องใช้ถ่านหินและเชื้อเพลิงฟอสซิสต่าง ๆ อยู่อีกมาก ในขณะที่จีน ก็ให้มีการแก้ไขด้วยเช่นกัน ซึ่งทั้งสองประเทศถือเป็นประเทศอันดับต้น ๆ ที่มีการใช้ถ่านหินเป็นจำนวนมาก
เงินทุนช่วยเหลือประเทศที่ได้รับผลกระทบ
สำหรับประเด็นในเรื่องเงินสนับสนุนรายปี เคยมีข้อตกลงกันเมื่อ 10 ปีก่อน ในการที่ให้บรรดาประเทศที่ร่ำรวยจ่ายเงินสนับสนุนให้กับประเทศต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น เพื่อช่วยให้ประเทศที่ยากจนให้สามารถเผชิญกับผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ แต่สิ่งเหล่านี้กลับไม่เป็นผล
หลายฝ่ายมองว่า สิ่งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สะท้อนความล้มเหลวของการประนีประนอมให้ชาติที่พัฒนาแล้วยังคงใช้ทรัพยากรโลกต่อไปได้ โดยให้ประเทศที่ยากจนเผชิญผลกระทบต่อไป
1.5 องศาเซลเซียสที่ยากขึ้น
แม้ในข้อตกลงร่วมกันที่ทั่วโลกจะช่วยกันลดการปล่อยคาร์บอนสู่บรรยากาศของโลก เพื่อจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เหมือนที่ผ่านมา แต่หลายฝ่ายกลับมองว่า ในข้อตกลงเกี่ยวกับการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างถ่านหิน มีการประนีประนอมที่จะเป็นการ “ลด” แต่ไม่ใช่การ “เลิก” ใช้
ทำให้การตั้งเป้าหมาย จำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส กลายเป็นเรื่องที่ยากมากขึ้น ซึ่งเป้าหมายนี้ ก็ยังคงอยู่ในกรอบเดิมของข้อตกลงปารีสปี 2015 ที่ครอบคลุมในการจำกัดภาวะโลกร้อนไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส โดยในข้อตกลงนี้ มีราว 140 ประเทศที่ร่วมลงนามในข้อตกลง
ลดการปล่อยก๊าซมีเทนก็ประนีประนอมเช่นกัน
สำหรับปีนี้ ถือเป็นปีแรกในการเสนอการลดการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งส่วนใหญ่มาพบว่า มาการกิจการปศุสัตว์ และกระบวนการของเสียที่เกิดขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับคนเกือบทั้งหมด โดยมีจำนวนราว 100 ประเทศ จากผู้เข้าร่วมเกือบ 200 ประเทศ ร่วมลงนามในครั้งนี้ ว่าจะลดการปล่อยก๊าซมีเทนอย่างน้อย 30%
อย่างไรก็ตาม จากการปศุสัตว์นั้นถือเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคของประชากรในหลาย ๆ ประเทศ การเข้าถึงเนื้อสัตว์-โปรตีน ถือเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตจึงไม่ง่าย ท่ามกลางจำนวนประชากรในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง
และเช่นเดียวกัน ในข้อตกลงนี้ ประเทศที่ปล่อยก๊าซมีเทนมากที่สุดอย่าง จีน รัสเซีย อินเดีย ไม่ได้ร่วมลงนามนี้อีกเช่นกัน
…
ซึ่งทำให้หลายฝ่ายมองว่า ความคืบหน้าที่เกิดขึ้นในข้อตกลง COP26 ในครั้งนี้ ไม่มากพอที่จะลดทอนผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศได้มากนัก โดยทุก ๆ 1.5 องศาฯ ที่เพิ่มขึ้นนั้น จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้งที่เกิดขึ้นได้นานขึ้น, ปริมาณฝน-พายุฝนที่ตกหนักมากขึ้น, ระดับน้ำทะเลที่หนุนสูงมากขึ้น ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อสภาพชีวิตของคนบนโลกใบนี้มากขึ้น
และตัวเลข 1.5 องศาฯ นี้เป็นตัวเลขที่คาดการณ์กันว่า เป็นเพียงตัวเลขที่ยอมรับได้เท่านั้นว่า หากเราร่วมกันจำกัดไว้ได้ การเกิดผลกระทบรุนแรงก็จะไม่เข้าขั้นเลวร้าย แต่อยู่ในเกณฑ์ที่ยังพอรับได้เท่านั้นเอง
ทั้งหมดนี้ จึงทำให้หลายฝ่ายมองว่า ข้อตกลง COP26 เป็นเพียงการประนีประนอม และความคืบหน้าเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง