วัคซีนโมเดอร์นา โควิด-19

เมื่อหลากหลายปัญหา ถาโถมเข้าใส่ “โมเดอร์นา”

ทั้งประเด็นการจำหน่ายวัคซีนส่วนใหญ่ให้กับประเทศที่ร่ำรวย - กำลังผลิตที่ไม่มากพอ ฯลฯ

Home / TELL / เมื่อหลากหลายปัญหา ถาโถมเข้าใส่ “โมเดอร์นา”

มุมมองที่น่าสนใจ

  • [NOTE] บทความนี้เป็นมุมมอง ความเห็น และการคาดการณ์จากสถานการณ์ในขณะนี้
  • โมเดอร์น่า กำลังถูกแรงกดดันจากหลายแหล่งด้วยกัน ทั้งจากองค์กรณ์ไม่หวังผลกำไร ที่มองว่า โมเดอร์นา กำลังค้ากำไร โดยการจำหน่ายวัคซีนส่วนใหญ่ให้กับประเทศที่ร่ำรวยเป็นหลัก
  • ในขณะที่หลายชาติ รวมถึงไทย ที่สั่งซื้อวัคซีนจากโมเดอร์นา ประสบปัญหา “โรคเลื่อน” จากการจัดส่ง
  • ทีมที่ปรึกษาปธน. สหรัฐฯ ส่งเสียงกดดันให้ “โมเดอร์นา” เร่งการผลิต รวมถึงการจัดส่งวัคซีนให้กับประเทศรายได้น้อยมากขึ้น
  • ทางโมเดอร์นา ประกาศเพิ่มกำลังผลิต ตั้งโรงงานในแอฟริกาเพิ่ม แต่ยังไม่ชัดเจนว่า จะเริ่มที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร
  • จากปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้แต่หวังว่า การจัดส่งวัคซีนโมเดอร์นาเข้ามาในประเทศไทย จะเป็นไปตามหวัง…

[ความคืบหน้าล่าสุด]

  • 4 พ.ย. 64 – โมเดอร์นารายงานผลประกอบการใน Q3 มีปรับเป้าในไตรมาสสุดท้าย ลดเป้าจัดส่งวัคซีน ซึ่งคาดว่าจะกระทบกับการจัดส่งวัคซีนบางส่วนอาจจะเลื่อนไปในต้นปี 2565
  • 1 พ.ย. 64 –โมเดอร์นา จัดส่งวัคซีนล็อตแรกถึงไทยแล้ว 5.6 แสนโดส และจะทยอยจัดส่งที่เหลือให้ครบ 1.9 ล้านภายในสิ้นปีนี้
  • 29 ต.ค. 64 –โมเดอร์นา ประกาศจะจัดส่งวัคซีนเข้าในโครงการของ COVAX เพิ่มขึ้น ในช่วง Q2 ของปี 2565 เพื่อช่วยเหลือประเทศกลุ่มที่มีรายได้น้อย
  • 26 ต.ค. 64 –โมเดอร์นา ประกาศบรรลุข้อตกลงในการจัดส่งวัคซีนให้กับประเทศในแถบแอฟริกาผ่าน COVAX
  • 26 ต.ค. 64 – เกาหลีใต้อนุมัติใช้งานฉุกเฉินสำหรับวัคซีนโมเดอร์นาที่ออกจากโรงงานของ Samsung Biologics จำนวน 2.44ล้านโดสแล้ว (รง.แห่งนี้เป็นเพียงโรงงานบรรจุ ยังไม่ได้มีการผลิตวัคซีนของโมเดอร์นาเต็ม)

ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 จากเชื้อกลายพันธุ์ในสายพันธุ์เดลต้า ที่ยังคงมีผู้ติดเชื้ออยู่เป็นจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง โดยเฉพาะวัคซีนในกลุ่มของ mRNA อย่าง Pfizer และ Moderna

จากความเนื้อหอมของความต้องการเหล่านี้ ทำให้การสั่งซื้อวัคซีนไปยังผู้ผลิตทั้งสองรายเป็นจำนวนมาก หลายประเทศได้มีการสั่งซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของไฟเซอร์ และโมเดอร์นาเพิ่มขึ้น จากความต้องการในการใช้เป็นวัคซีนกระตุ้น หรือ Booster Dose ในเข็มที่ 3

และจากยอดคำสั่งซื้อ และการฉีดบูสเตอร์โดสที่เกิดขึ้น ทำให้อีกหลายประเทศ รวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด้านการสาธรณสุขมองว่า การที่ประเทศร่ำรวยสั่งซื้อวัคซีนดี ๆ เพื่อไปกระตุ้นในโดสที่ 3 แต่ในขณะที่อีกหลายประเทศไม่แม้แต่จะมีวัคซีนฉีดให้กับประชาชนในกลุ่มเสี่ยงเลยแม้แต่น้อย

อัตราการฉีดวัคซีนในกลุ่มประเทศร่ำรวยสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก

ทำให้หลายฝ่ายมุ่งเป้าไปที่ 2 ผู้ผลิตอย่างไฟเซอร์และโมเดอร์น่า อย่างเลี่ยงไม่ได้ และดูหลายประเทศมุ่งเป้าไปหลักไปที่ โมเดอร์น่า เช่น ความเห็นจาก Dr. Tom Frieden อดีตผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ หรือ CDC ของสหรัฐฯ ที่ได้แสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา วัคซีนทั้งสองค่ายนี้ โดยระบุว่า ทั้ง Pfizer, Moderna ควรแชร์เทคโนโลยีไปยังโรงงานผลิตอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อเร่งกำลังการผลิตให้มากขึ้น เพื่อจะที่การระบาดของโควิด-19 นี้จะได้เข้าใกล้จุดจบเสียที

หลายฝ่ายมุ่งเป้าหลักไปที่ Moderna

แม้ว่าในขณะนี้ วัคซีน mRNA ที่มีการใช้งานกันหลัก ๆ จะมีอยู่ด้วยกัน 2 ค่ายอย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น คือ Pfizer และ Moderna แต่ดูเหมือนเป้าหลัก จะกลายเป็น Moderna ที่ถูกตั้งคำถามมากกว่า

ทำไม?

The New York Times รายงานว่า โมเดอร์น่าถือเป็นหนึ่งในวัคซีนที่ถูกระบุว่า มีประสิทธิภาพดีที่สุด ในการต่อสู้กับโควิด-19 แต่วัคซีนที่ผลิตได้ส่วนใหญ่ถูกส่งไปขายยังประเทศที่ร่ำรวยมากกว่า จะส่งไปยังประเทศที่ยากจน ทั้ง ๆ ที่โมเดอร์น่าได้รับการสนับสนุนการเงินจากสหรัฐฯ เช่นเดียวกับผู้ผลิตอื่น เช่น Pfizer

แต่วัคซีนของโมเดอร์นา มีเพียง 1 ล้านโดสเท่านั้นที่ถูกจัดส่งไปยังประเทศที่มีรายได้ต่ำ ต่างจากไฟเซอร์ที่มีการจัดส่งไปแล้วกว่า 8.4 ล้านโดส และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ที่จัดส่งไปแล้วราว 25 ล้านโดส

ภาพ : scien.org
(Source: Airfinity.CREDIT: ASHLEY MASTIN/SCIENCE TRANSLATIONAL MEDICINE.)

ในขณะที่ประเทศรายได้ปานกลางจำนวนหนึ่ง ที่ได้บรรลุข้อตกลงสั่งซื้อวัคซีนกับโมเดอร์น่าแล้ว แต่กลับยังไม่ได้รับวัคซีนแต่อย่างใดทั้งที่ประเทศเหล่านั้น จ่ายเงินซื้อวัคซีนของโมเดอร์นาสูงกว่า สหรัฐฯ หรือสหภาพยุโรป ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้นด้วย

รายงานของโมเดอร์นาในช่วง Q2

ซึ่งจากรายงาน Business Updates Second Quarter 2021 Financial Results จะเห็นว่า ประเทศส่วนใหญ่ที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนของโมเดอร์น่า เป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง-สูง แทบทั้งสิ้น

ในขณะที่วัคซีนอย่างไฟเซอร์ แม้ว่าจะมีประเด็นคล้ายคลึงกัน แต่ด้วยวัคซีนของไฟเซอร์ที่ต้องจัดเก็บในอุณหภูมิต่ำมากทำให้ประเทศในกลุ่มที่ยากจน ไม่สามารถจัดหาตู้เย็นเพื่อเก็บรักษา และกระจายวัคซีนได้ ทำให้การได้รับบริจาควัคซีนจากไฟเซอร์จึงเป็นการยากลำบากกว่า เมื่อเทียบกับวัคซีนอย่างโมเดอร์นา ที่ใช้การจัดเก็บในอุณหภูมิที่สูงกว่าได้ดีกว่า

วัคซีน Pfizerวัคซีน Moderna
การจัดเก็บเก็บได้ 6 เดือน
อุณหภูมิ -90 ถึง -60  °C
เก็บได้ 7 เดือน
อุณหภูมิ -25 ถึง -15  °C
การขนส่งวัคซีน-25 ถึง -15  °C
ครั้งเดียว – ไม่เกิน 2 สัปดาห์
วัคซีนที่ละลายจากการแช่แข็งแล้ว (รวมถึงการขนส่ง)– เก็บได้ 1 เดือน
อุณหภูมิ 2 ถึง 8  °C
– เก็บได้ 1 เดือน
อุณหภูมิ 2 ถึง 8  °C
ขวดวัคซีนที่ยังไม่ได้เปิดใช้2 ชั่วโมง
อุณหภูมิสูงถึง 30  °C
24 ชั่วโมง
อุณหภูมิ 8 ถึง 25  °C

Moderna กับ Covax

ทางโครงการ Covax Facility ที่คนไทยรู้จักกันดี ก็ได้มีข้อตกลงกับทางโมเดอร์นาเช่นเดียวกัน เตั้งแต่เมื่อช่วงมิ.ย. 64 ที่ผ่านมา ว่าจะจัดหาวัคซีนให้กับโควิดในปีนี้ จำนวน 34 ล้านโดส แต่ในขณะนี้ ทางโมเดอร์นาเอง ก็ยังคงไม่ได้มีการจัดส่งให้กับทาง โดยกำหนดคือจะมีการจัดส่งในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2564 นี้ และก็ยังคงรอการส่งมอบจากโมเดอร์นา เช่นเดียวกับไทย

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดทางโมเดอร์นาระบุว่า ทาง Covax ได้ทำการขอจัดซื้อวัคซีนของโมเดอร์นาเพิ่มเติมในช่วงปี 2565 อีกด้วย

ซึ่งจากปัญหาภาพลักษณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ทีมที่ปรึกษาของโจ ไบเดน ปธน.สหรัฐฯ ได้แสดงท่าทีค่อนข้างชัดเจนต่อโมเดอร์นา ถึงการผลิตที่ควรจะต้องเพิ่มขึ้น เพื่อการส่งมอบวัคซีนให้กับโครงการของ Covax มากขึ้นกว่าเดิม และยังเอ่ยถึงประเด็นการจำหน่ายวัคซีนให้กับประเทศที่ร่ำรวยของโมเดอร์นาอีกด้วย และชัดเจนว่า ได้มีการพูดถึง “เงินสนับสนุน” ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้สนับสนุนให้กับโมเดอร์นา จำนวนหลายล้านเหรียญ ที่ถูกใช้ในการพัฒนาวัคซีน mRNA ของโมเดอร์นาด้วย

ท่าทีของทีมไบเดน ที่กล่าวถึง “เงินสนับสนุน” ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ให้กับโมเดอร์นาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นพัฒนาวัคซีน ดูไม่ต่างจากการ “ทวงหนี้” ให้โมเดอร์นากลับมามีบทบาทในฐานะวัคซีนที่เข้าถึงได้ แทนภาพลักษณ์วัคซีนของคนรวยอย่างชัดเจน

ปัญหา โรงงาน – สูตรยา – สิทธิบัตร

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้มีประเด็นในเรื่องของ “การสละสิทธิ์ในการคุ้มครองสิทธิบัตร” เพื่อให้หลาย ๆ ประเทศสามารถเข้าถึงการผลิตวัคซีนได้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศยากจน ในขณะที่กลุ่มผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยา ระบุว่า การสละสิทธิ์ในสิทธิบัตรเหล่านี้ จะกระทบต่อการลงทุน – แรงจูงใจในการคิดค้นยา-วัคซีนใหม่ ๆ

ซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมา โมเดอร์นาเผชิญปัญหาในเรื่องของการผลิตวัคซีนที่ไม่เพียงพอกับคำสั่งซื้อที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่นในประเทศเกาหลีใต้ ที่มีการสั่งซื้อวัคซีนจำนวน 40 ล้านโดสจากโมเดอร์นา แต่ในช่วงที่ผ่านมา ก็ไม่ได้เป็นไปตามความคาดหมาย

ในช่วงเดือน ส.ค. 64 ตามกำหนดการเดินโมเดอร์นาจะจัดส่งวัคซีนให้กับเกาหลีใต้ จำนวน 8.5 ล้านโดส แต่สุดท้ายก็มีการเลื่อนการจัดส่ง จนทำให้ต้องมีข้อเรียกร้องไปยังโมเดอร์นา ทำให้มีการจัดส่งวัคซีนให้กับเกาหลีใต้ รวมแล้วในเดือน ส.ค. ราว 6.7ล้านโดส น้อยกว่าข้อตกลงที่กำหนดไว้

ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามไปยังโมเดอร์นา ว่า ท่ามกลางสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและความต้องการวัคซีนที่เพิ่มขึ้น เหตุใด จึงไม่มีการเพิ่มโรงงานผลิต หรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

โมเดอร์นาขยับ แต่ยังไม่เห็นเส้นชัย

หลังจากที่โดนข้อครหาต่าง ๆ โหมกระหน่ำไปยังโมเดอร์น่า ทั้งปัญหาเรื่องของการขายวัคซีนให้กับชาติที่ร่ำรวย การจัดส่งวัคซีนที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลง ทำให้ล่าสุด ในช่วงเดือน ต.ค. นี้ มีความเคลื่อนไหวจากทางโมเดอร์นา โดยได้ประกาศว่า ได้ออกแถลงการ ระบุว่า โมเดอร์นาพร้อมสนับสนุนวัคซีนทั่วโลก แต่ด้วยที่โมเดอร์นาเป็นบริษัทขนาดเล็ก จึงมีข้อจำกัดในการผลิตที่เกิดขึ้น

ในขณะที่การบริจาควัคซีนนั้นได้มีการทำงานร่วมกับรัฐบาลสหรัฐฯ ในการบริจาควัคซีนไปยังประเทศต่าง ๆ ผ่านโครงการ Covax ( บริจาควัคซีนผ่าน รบ.สหรัฐฯ ในนามของโครงการ Covax ) ซึ่งที่ผ่านมา ทางโมเดอร์นามีเป้าหมายที่ผลิตวัคซีนให้ได้ 1 พันล้านโดส ด้วยโรงงานของตนเอง แต่ด้วยความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้จำเป็นต้องเพิ่มการผลิต และขยายการผลิตเพิ่มขึ้น

โดยเตรียมสร้างโรงงานผลิตวัคซีนของ Moderna ในแอฟริกา โดยมีกำลังผลิตได้ถึง 500 ล้านโดสต่อปี เพื่อให้ประเทศในภูมิภาคแอฟริกาได้เข้าถึงวัคซีนมากขึ้น ในปี 2565

อย่างไรก็ตาม ทางโมเดอร์นา ยังไม่ได้ระบุว่า โรงงานจะสามารถเปิดสายการผลิตวัคซีนจำนวน 500 ล้านโดสนี้ เมื่อไหร่ และที่ใด

รายงานล่าสุดสำหรับดีลของเกาหลีใต้และโมเดอร์นา ที่จะมีโรงงานเพิ่มเติมในเกาหลีใต้ ซึ่งทางโมเดอร์นาได้มีการรับรองคุณภาพการผลิตจากโรงงานของ Samsung Biologics ที่ได้ลงทุนไปกว่า 1.5 พันล้านเหรียญ แต่ในขณะนี้ ยังคงเป็นโรงงานที่ใช้สำหรับการ “บรรจุ” วัคซีนเท่านั้น ยังไม่ใช่การผลิตวัคซีนแต่อย่างใด

ซึ่งคาดว่าโรงงงานผลิตที่ลงทุนไปแล้วนั้นน่าจะสามารถผลิตได้วัคซีนของโมเดอร์น่าได้ในช่วงปี 2566 ซึ่งจะเป็นโรงานผลิตวัคซีนที่ใหญ่ลำดับต้น ๆ ของโลกในการผลิตวัคซีนชนิดต่าง ๆ ด้วยเงินลงทุนหลายล้านวอน

ส่วนข้อตกลงที่ทางโมเดอร์น่าทำกับรัฐบาลแคนาดาในการสร้างโรงงานผลิตผลิตวัคซีนในแคนาดานั้น ก็เพิ่งบรรลุข้อตกลงกันไปเมื่อช่วงเดือน ส.ค. 64 ที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่ชัดเจนเช่นกันว่า ท้ายที่สุดแล้วจะมีการผลิตวัคซีนได้เมื่อใด

อนาคตของไทย กับวัคซีนโมเดอร์นา

จากสิ่งที่เกิดขึ้น แม้ว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีรายชื่อการจัดซื้อวัคซีนของโมเดอร์นา และมีกำหนดที่จะส่งมอบกันในปลายปีนี้ แต่จากการเลื่อนการส่งมอบที่เกิดขึ้นในช่วงเดือน ต.ค. 64 ทำให้หลายคนไม่มั่นใจว่า จะได้วัคซีนหรือไม่?

อาจจะปลอบใจตัวเองได้ว่า อย่างน้อย เกาหลีใต้ก็ยังโดนเลื่อนเหมือนกัน แต่นั่นดูจะไม่ใช่ทางแก้ไข และแม้ว่า ทางโมเดอร์นา ระบุว่า มีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิต แต่ส่วนใหญ่ เป็นแผนในปีหน้า และยังไม่ชัดเจนว่า จะส่งผลให้ไทยได้รับวัคซีน “เร็วขึ้น” แต่อย่างใด

และการเร่งกดดันของรัฐบาลสหรัฐฯ ต่อภาพลักษณ์ของโมเดอร์นา อาจจะเป็นปัญหาที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการจัดส่งวัคซีนของโมเดอร์นาให้กับประเทศไทย ก็เป็นได้ หากสหรัฐฯ ต้องการให้วัคซีน “โมเดอร์นา” มีบทบาทในฐานะวัคซีนดี ๆ ที่เข้าถึงได้ทั่วโลก มากกว่า “วัคซีนดี ๆ ของคนมีเงิน

เพราะหากโมเดอร์น่าไม่สามารถเพิ่มกำลังผลิตได้ตามเป้าที่สหรัฐฯ คาดหวัง และมีการบริจาควัคซีนมากขึ้น นั่นย่อมหมายถึงวัคซีนที่โมเดอร์น่าจะจัดส่งมอบได้ ก็คงไม่ได้ตามเป้าก็เป็นได้


อ้างอิง