โควิด-19

1 ปีโควิด-19 ในไทย จาก 1 ถึงหมื่นราย

สรุปเหตุการณ์ที่ผ่านมา 1 ปีหลังจากที่ไทยพบเคสผู้ป่วยรายแรกในประเทศ

Home / TELL / 1 ปีโควิด-19 ในไทย จาก 1 ถึงหมื่นราย

ประเด็นน่าสนใจ

  • ครบ 1 ปีของการพบผู้ป่วยโควิด-19 รายแรกในประเทศไทย และนับเป็นผู้ป่วยนอกประเทศจีนรายแรกของโลกด้วย
  • ประเทศไทยมีผู้ป่วยโควิด-19 เกิน 1 หมื่นรายไปแล้ว
  • กลุ่มก่อนการระบาดใหญ่ ๆ ที่ผ่านมาประกอบด้วยกลุ่มนักท่องเที่ยว, กลุ่มสถานบันเทิง, กลุ่มสนามมวย, กลุ่มบ่อนไก่-บ่อนการพนัน, กลุ่มแรงงานต่างด้าว
  • วัคซีนโควิด-19 ยังคงอยู่ในระหว่างการทดสอบ และรอการอนมัติจากอย. ซึ่งในเร็ว ๆ นี้น่าจะได้มีฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยงแล้ว

นับตั้งแต่มีการพบการระบาดของโรคปอดอักเสบ ไม่ทราบสาเหตุในประเทศจีน นำไปสู่การค้นพบเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 และไทย ก็เป็นประเทศแรกในโลกที่มีการพบผู้ป่วยโรคนี้นอกพื้นที่ประเทศจีน ผ่านมาแล้วกว่า 1 ปีในขณะนี้สถานการณ์ในประเทศไทยมีผู้ป่วยโควิด-19 ทะลุ 1 หมื่นรายไปแล้ว ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยเป็นอย่างไรกันบ้าง วันนี้เอ็มไทย จะมาทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน 1 ปีที่ผ่านมาเกี่ยวกับโรคโควิด-19 กันอีกครั้ง

ผู้ป่วยโควิด-19 รายแรกในไทย

หลังจากที่สถานการณ์การระบาดในประเทศจีนเริ่มลุกลามมากขึ้นจนมีการเปิดเผยรายงานการพบ โรคปอดอักเสบ โดยไม่ทราบสาเหตุในช่วงเดือน ธ.ค.ปี 2019 และมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้หลาย ๆ ประเทศในขณะนั้นเริ่มวิกตกกังวลกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเดินทางมาท่องเที่ยวของกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นจำนวนมาก จึงทำให้กรมควบคุมโรค ได้มีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปสูงการตั้งโต๊ะเพื่อตรวจคัดกรองผู้ที่มีอาการไข้/ป่วยที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองตั้งแต่ 3 ม.ค. 2563 และในวันที่ 12 ม.ค. 2563 ผลตรวจสอบในห้องปฏิบัติการยืนยันพบผู้ป่วยหญิง จำนวน 1 ราย เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ในวันที่ 8 ม.ค. และมีอาการไข้

นับเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศไทยรายแรก และทำให้ไทยเป็นชาติแรกในโลกที่พบผู้ป่วยโควิด-19 นอกแผ่นดินจีน

การระบาด

ม.ค. – มี.ค. 63

ในการระบาดในช่วงแรกของไทยนั้น พบผู้ป่วยในช่วงแรกเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน ที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ซึ่งในช่วงนั้นเป็นช่วงที่กำลังเข้าสู่ช่วงวันหยุดยาวในช่วงวันตรุษจีน ทำให้พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นระยะ ๆ แต่ยังคงเป็นการนำเชื้อเข้าประเทศไทย

ก่อนที่จะมีการพบการติดเชื้อในประเทศครั้งแรก ในช่วงปลาย ม.ค. 63 เป็นคนขับแท็กซี่ ไม่มีประวัติเดินทางไปต่างประเทศ แต่เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวชาวจีน และตามมาด้วยกลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิดกับกลุ่มนักท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่

กลางเดือน มี.ค. 63 ประเทศไทยเริ่มต้นสถานการณ์การระบาดที่มากขึ้น โดยพบกลุ่มก้อนใหญ่ ๆ 3 กลุ่ม คือ

  • กลุ่มผู้ที่เดินทางกลับจากเกาหลีใต้ ทั้งจากการเดินทางไปอย่างถูกกฎหมาย และผิดกฎหมาย เดินทางกลับมายังประเทศไทย และไม่ได้มีการกักตัวอย่างถูกต้อง ยังคงทำกิจกรรมสังสรร ตามปรกติ ทำให้เกิดการระบาดในกลุ่มก้อนนี้ รวมทั้งเกิดความวิตกกังวลกันอย่างมาก เนื่องจากพฤติกรรมการเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ ในหลายจังหวัด ของผู้ที่เดินทางกลับมาจากเกาหลีใต้
    .
  • กลุ่มสถานบันเทิงย่านทองหล่อ เกิดขึ้นไล่เลี่ยกลุ่มแรก โดยในกลุ่มนี้ค่อนข้างเป็นกลุ่มที่ใหญ่กว่า เนื่องจากมีการเดินสายเที่ยวกับในหลายแห่งในพื้นที่โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร นำไปสู่การติดต่อไปยังพนักงานร้าน และดีเจที่มาทำงานในร้าน
    .
  • กลุ่มสนามมวย โดยในกลุ่มนี้ ถือเป็นกลุ่มก้อนที่มีใหญ่ที่สุดในการระบาดในระลอกแรก และมีกระจายไปยังพื้นที่ในหลาย ๆ จังหวัด และกระจายไปยังในหลายกลุ่มก้อนอื่น ๆ ที่เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดกับกลุ่มเซียนมวย

เม.ย. – มิ.ย. 63

สถานการณ์ของกลุ่มก้อนหลัก ๆ ทั้ง 3 กลุ่มยังคงมีการพบเชื้อต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มสนามมวยนั้นกว่ากลุ่มก้อนที่จะไม่พบผู้ป่วยนั้นต่อเนื่องยาวนานกันมากกว่า 1 เดือน ซึ่งในช่วงปลายเดือน มี.ค. 63 ได้มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ การห้ามการเดินทาง รวมถึงการประกาศเคอร์ฟิว ในมาตรการอย่างเข้มข้น ทำให้ภาพรวมของสถานการณ์ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แต่ก็มีการพบกลุ่มก้อนผู้ที่เดินทางกลับจากอินโดนีเซีย – มาเลเซีย ซึ่งเป็นกลุ่มก้อนใหม่ที่สร้างความกังวลอีกครั้ง แต่สถานการณ์ก็สามารถควบคุมการระบาดได้ในที่สุด ทำให้มีการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ที่เคยเข้มงวดลงอย่างต่อเนื่อง

ก.ค. – ก.ย. 63

สถานการณ์เริ่มดีขึ้น เป็นช่วงที่ประเทศไทยไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ในประเทศอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงไตรมาสก่อนหน้า มีการผ่อนคลายมาตรการจนสามารถกลับมาดำเนินกิจกรรม – กิจการต่าง ๆ ได้ แต่ก็ยังคงมียอดผู้ป่วยที่พบในสถานที่กักตัวของรัฐอย่างต่อเนื่อง

ต.ค. – ธ.ค. 63

สถานการณ์ค่อนข้างดีมาโดยตลอด จนกระทั่งในช่วงเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา หลังพบการกลุ่มก้อนที่เป็นผู้ลักลอบเข้าประเทศไทย จากทางฝั่งประเทศเมียนมา โดยเฉพาะในกลุ่มที่เชื่อมโยงกับสถานบันเทิงในจ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา สถานการณ์เหมือนจะดีอยู่ได้ไม่นาน ก็มาส่งท้ายปลายปีกันด้วยกลุ่มก้อนที่พบการระบาดในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ที่ถือว่าเป็นกลุ่มก้อนใหญ่มาก สร้างความตื่นตกใจอีกครั้ง

หลังจากนั้นก็มีการพบกลุ่มก้อนที่กระจายเพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพ่อค้า-แม่ค้าอาหารทะเล ที่มีประวัติเชื่อมโยงกับการระบาดในสมุทรสาคร, กลุ่มเซียนพนันในพื้นที่ภาคตะวันออก และกลุ่มบ่อนไก่ในโซนภาคกลาง ทำให้สถานการณ์ที่นำไปสู่ความยอดผู้ป่วยเกิน 1 หมื่นรายเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

วัคซีนโควิด-19

หลังจากสถานการณ์การระบาดมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ทำให้หลาย ๆ ประเทศทั้งภาครัฐและเอกชนต่างเร่งกันผลิตวัคซีนกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีการเริ่มต้นกันตั้งแต่ช่วง ม.ค. 2563 ไม่กี่วันหลังจากที่มีการถอดรหัสพันธุกรรม (Genome) ของเชื้อได้

โดยในขณะนั้น ทางองค์การอนามัยโลกคาดว่า หลังจากถอดรหัสพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 จะสามารถใช้เวลาราว 18 เดือนจึงจะมีวัคซีนใช้งาน แต่จากสิ่งที่เกิดขึ้น รวมแล้วระยะราว 10 เดือนหลายประเทศมีวัคซีนใช้งานกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สำหรับในประเทศการพัฒนาวัคซีนมีสองส่วนด้วยกันคือ

  • การพัฒนา-วิจัยภายในประเทศ
  • การลงทุน/จัดซื้อวัคซีนจากต่างประเทศ

ซึ่งในประเด็นของกการจัดซื้อนั้น ประเทศไทยได้มีการลงนามสั่งซื้อวัคซีนโควิด-19 จาก AstraZeneca-Oxfords โดยเป็นการซื้อเทคโนโลยีและให้ทางสยามไบโอซน์ เป็นผู้ดำเนินการในการผลิต ซึ่งในช่วงเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมาได้มีการทดสอบการผลิตวัคซีนโควิด-19 ไปแล้ว จำนวน 2 รอบการผลิตด้วยกัน เหลือการทดสอบผลิตอีก 3 รอบการผลิตก่อนที่จะมีการสรุปผลการผลิต-มาตรฐาน และเสนอต่ออย. ในการอนุมัติรับรองเพื่อการผลิตวัคซีนใช้งานภายในประเทศต่อไป โดยมีกำลังผลิตได้ปีละ 200 ล้านโดส ซึ่งในล็อตแรกจะส่งมอบได้ในช่วงเดือน พ.ค. 2564 นี้

| What We Know : วัคซีนโควิด-19 ที่เรารู้และอยากให้คุณรู้ >>>

นอกจากนี้ ยังคงมีการสั่งซื้อวัคซีนโควิด-19 ของ ShinoVac อีกจำนวน 2 ล้านโด๊ส สำหรับใช้งานเป็นการเร่งด่วน ซึ่งจะส่งมอบให้ได้ภายใน ก.พ. – เม.ย. 2564 นี้

ในขณะการวิจัยและพัฒนาวัคซีนในประเทศยังคงมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะเริ่มเข้าสู่การทดสอบทางคลินิคในระยะที่ 3 ได้ภายในปีนี้ และหากสำเร็จก็จะถือเป็นอีกส่วนหนึ่งในการมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไว้ใช้ภายในประเทศ

การกลายพันธุ์

นับตั้งแต่มีการค้นพบเชื้อไวไรรัสไวรัสโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 ก็มีการพบเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 นี้ ในหลาย ๆ สายพันธุ์ย่อย กระจายไปทั่วโลก โดยในการจัดกลุ่มสายพันธุ์ตามศูนย์ข้อมูลสากล GISAID มีทั้งหมด 7 สายพันธุ์ คือ L, O, V, S, G, GH และ GR

โดย สายพันธุ์ดั้งเดิม ที่พบที่อู่ฮั่นคือ สายพันธุ์ L และหลังจากนั้นก็กลายเป็นสายพันธุ์ S, V, G และสายพันธุ์ ก็แตกสายเป็น GH, GR เพิ่มเติม

โดยในช่วงของการระบาดในช่วงแรกของไทยนั้น พบ มี 3 สายพันธุ์หลัก คือ S, G และ V จากนั้นเริ่มมีการพบสายพันธุ์ G ในประเทศไทย โดยเฉพาะในรอบหลังคือ กลุ่มผู้ป่วยที่เดินทางมาจากทางฝั่งท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา

ในขณะที่เชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 ซึ่งมีการกลายพันธุ์ เป็นสายพันธุ์ใหม่ (VOC 202012/01 หรือ B.1.1.7) หรือที่รู้จักกันใน สายพันธุ์กลายพันธุ์จากอังกฤษ มีรายงานการพบในสถานที่กักตัวของรัฐ จากผู้ที่เดินทางมาจากประเทศอังกฤษ แต่ยังไม่มีรายงานการพบการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์นี้ในผู้ป่วยในประเทศแต่อย่างใด