งานนวราตรี 2567 นวราตรี พระแม่ลักษมี วัดแขก สีลม วันวิชัยทัสมิ

ข้อควรทำและข้อห้ามทำ ใน งานนวราตรี 2567

งานนวราตรี 2567 ณ วัดแขก สีลม มีกำหนดการจัดขี้นระหว่างวันที่ 3-12 ต.ค. 67 ดังนี้

Home / พิธีกรรม / ข้อควรทำและข้อห้ามทำ ใน งานนวราตรี 2567

ประวัติ งานนวราตรี 2567

งานนวราตรี 2567

งานนวราตรี 2567 ณ วัดแขก สีลม มีกำหนดการจัดขี้นระหว่างวันที่ 3-12 ต.ค. 67 ดังนี้

3 ต.ค. 67 วันเริ่มงาน อัญเชิญธงสิงห์ขึ้นเสา
4 – 5 ต.ค. 67 พิธีบูชาพระแม่ทุรคา
6 – 8 ต.ค. 67 พิธีบูชาพระแม่ลักษมี
8 – 10 ต.ค. 67 พิธีสยุมพรพระแม่อุมา และ พระศิวะ
11 ต.ค. 67 พิธีบูชาพระแม่สรัสวดี
12 ต.ค. 67 เวลา 19.30 น. เริ่มขบวนงานแห่ใหญ่ประเพณีประจำปี ปิดเส้นทาง ถนนปั้น ถึง สีลมเป็นต้นไป

ซึ่งที่มาของ นวราตรี เป็นเทศกาลสำคัญทางศาสนาฮินดูที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองเทิดพระเกียรติแด่พระแม่ทุรคาเป็นประจำทุกปี กินระยะเวลา 9 คืนในเดือนอัศวินตามปฏิทินฮินดู (กันยายน-ตุลาคม) คำว่า นวราตรี มาจากภาษาสันสกฤต คำว่า นว แปลว่า 9 และ ราตรี แปลว่าค่ำคืน จึงแปลรวมกันว่า ” 9 ค่ำคืน” ซึ่งพิธีกรรมไฮไลท์จะอยู่ที่ขบวนแห่วันวิชัยทัสมิในค่ำคืนวันที่ 10 นั่นเอง

ในแถบตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย นวราตรี มีความหมายเดียวกับทุรคาบูชา ในฐานะการเฉลิมฉลองชัยชนะของพระทุรคาเหนืออสูรควาย มหิษาสูร เพื่อกู้คืนมาซึ่งธรรมะ ส่วนในแถบอินเดียใต้จะเฉลิมฉลองชัยชนะของพระทุรคาหรือพระกาลี ในรัฐคุชราต นวราตรีจะประกอบด้วยการประกอบอารตี ตามด้วยนาฏกรรม ครรพ์ ในทุกกรณีของการฉลองนวราตรี มีรูปแบบร่วมกันคือชัยชนะของความดีเหนือความชั่วร้าย โดยมีรากฐานมาจากมหากาพย์หรือตำนาน เช่น เทวีมหัตมยะ

การแต่งกายร่วมงานนวราตรีและงานแห่วันวิชัยทัสมิ

ด้วยสภาพอากาศและจำนวนคนที่มาร่วมงานเป็นจำนวนมาก อาจทำให้อึดอัดและเป็นลมได้ จึงขอแนะนำให้เลือกชุดที่สวมใส่สบาย ไม่อึดอัด แต่ยังคงสุภาพ งดสวมใส่สีดำ ม่วง หรือน้ำเงินเข้ม แต่สวมใส่สีขาว หรือสีสันสดใสได้ หรือจะสวมใส่ส่าหรี หรือชุดพื้นเมืองอินเดียก็ได้เช่นกัน

การแต่งตัว นวราตรี

สำหรับสุภาพสตรี เพื่อความสะดวกในการลุก – นั่งเผื่อต้องคุกเข่าหรือนั่งลงกับพื้นเพื่อรอรับผงเจิมศักดิ์สิทธิ์ หากสวมกระโปรงอาจจะทำให้นั่งได้ลำบาก จึงแนะนำให้สวมกางเกง

การจัดถาดบูชา

ถาดบูชา นวราตรี

ผู้ที่ตั้งซุ้มในงานแห่ กรุณาจัดถาดบูชา อันประกอบด้วย กล้วย มะพร้าว พลู หมากแห้ง การบูร ผลไม้อื่น ๆ ตามกำลังศรัทธา และพวงมาลัย (งดนำมะพร้าวที่จุดไฟการบูรแยกมาถวายเดี่ยว ๆ ให้จัดรวมอยู่ในถาดบูชาเท่านั้น) ทั้งนี้ ในการจัดถาดบูชา ควรจัดจำนวน 8 ถาด เพื่อสำหรับ 8 ขบวนด้วยกัน ได้แก่ คนทรง 3 ขบวน และรถแห่อีก 5 ขบวน

ทั้งนี้ตั้งซุ้มหรือโต๊ะบูชาบนพื้นที่ทางเท้าเท่านั้น ห้ามล้ำลงมาบนถนนหรือพื้นผิวจราจร เนื่องจากต้องเว้นพื้นที่ไว้สำหรับเลนรถฉุกเฉินในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน

โปรดให้ความร่วมมืองดพ่นสีและขีดเขียนลงบนทางเท้าและผิวการจราจรตลอดเส้นทางขบวนแห่ผ่าน เนื่องจากเป็นการกระทำผิดกฎหมาย

เมื่อมีเจ้าหน้าที่มาแจ้งว่าขบวนคนทรงและขบวนรถแห่มาถึง กรุณาถอดรองเท้าไว้ที่ซุ้มของท่าน และถือถาดบูชาเดินตามเจ้าหน้าที่เข้าไปถวาย เพื่อให้คนทรงหรือพราหมณ์ประจำขบวนประกอบพิธีให้เสร็จแล้วรับถาดบูชากลับ เป็นอันเสร็จพิธี

ถวายถาด
รอรับผงเจิม

การรอรับผงเจิม

เมื่อขบวนคนทรงใกล้เข้ามาถึง เจ้าหน้าที่จากทางวัดจะให้เรานั่งลงกับพื้น เพื่อรอรับผงเจิม เมื่อคนทรงมาถึงก็ให้ตั้งใจอธิษฐานขอพรจากท่าน หากต้องการกล่าวคำสรรเสริญก็สามารถทำได้ ดังนี้

รอรับผงเจิม
  • คนทรงพระแม่ศรีมหาอุมาเทวี ก็กล่าวคำว่า “โอม ศักติ โอม” หรือ “โอม ศักติ”
  • คนทรงพระขันธกุมาร ก็กล่าวคำว่า “โอม เวล เวล” หรือ “เวล”
  • และคนทรงพระแม่กาลี ก็กล่าวคำว่า “โอม กาลี โอม” หรือ “โอม ศักติ โอม”

ข้อไม่ควรทำในงานนวราตรี 2567

  • งดรดน้ำคนทรงในขบวนแห่ และไม่ต้องเตรียมขันน้ำมนต์มา
  • ระหว่างที่ขบวนแห่เคลื่อนผ่าน ห้ามเดินฝ่าขบวนหรือกระทำการใดใด อันเป็นการกีดขวางขบวนแห่โดยเด็ดขาด
  • ห้ามขว้างปาพวงมาลัยใส่คนทรงหรือเทวรูปที่ประดิษฐานบนรถแห่เป็นอันขาด เนื่องจากผิดประเพณีในการบูชา แต่หากมีความประสงค์จะถวายพวงมาลัย กรุณาแจ้งเจ้าหน้าที่รถแห่แต่ละขบวน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้

ข้อควรทำ

การเดินทางมาร่วมงาน ควรใช้บริการขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้า รถแท็กซี่ รถสามล้อ หรือรถเมล์ ไม่ควรนำรถส่วนตัวมา เพราะจะหาที่จอดรถยาก

หากต้องการจะทุบมะพร้าวเพื่อเป็นการบูชา สามารถทำได้ที่รถคันที่ 5 เพียงคันเดียวเท่านั้น ซึ่งเป็นรถแห่ขององค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี พระแม่มหาลักษมี และพระแม่มหาสรัสวตี (คันสุดท้ายของขบวนแห่ ซึ่งจะถึงช้า โปรดรอขบวน) กรุณาอย่าทุบมะพร้าวในขบวนอื่นเป็นอันขาด เพื่อความคล่องตัวในการเคลื่อนขบวนและเป็นการผิดประเพณีด้วย

หลังขบวนแห่ผ่านไปหมดแล้ว แนะนำให้แวะเข้ากราบสักการะด้านในวัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก สีลม) เพื่อขอความเป็นสิริมงคลอีกครั้งก่อนเดินทางกลับ (ในวันงานแห่ วัดจะเปิดตลอดทั้งคืน)

ทั้งนี้โปรดระวังโจรล้วงกระเป๋าหรือกรีดกระเป๋า หากพบเห็นมิจฉาชีพให้แจ้งเจ้าหน้าที่วัดหรือตำรวจประจำขบวนทันที

ด้วยพิธีเทศกาลนวราตรี ไม่ได้จำกัดเพศ เชื้อชาติ ศาสนา ทุกคนสามารถเข้าร่วมพิธีได้ตามปกติอย่างเท่าเทียมกัน

เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

พระแม่กาลี ขอพรเรื่องอะไร แจกคาถาบูชาพระแม่กาลี
ชวนมูก่อนแมส พระแม่ลักษมี เซ็นทรัลลาดพร้าว ขอพรขลังๆ มูรัก มูเงิน
วิธีไหว้วัดแขก ให้ปัง มูร้อยครั้งสำเร็จร้อยครั้ง