ผ่านพ้นปีใหม่มาได้ไม่กี่วัน เตรียมตัวกันให้พร้อมกันต่อเลยกับเทศกาล ตรุษจีน 2567 ที่ใกล้เข้ามาทุกที โดยในปีนี้จะตรงกับวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งวันตรุษจีนก็คือ วันขึ้นปีใหม่ตามปฎิทินจีน นั่นเองค่ะ โดยก่อนจะถึงวันตรุษจีนชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนจะเตรียมความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ปีใหม่ด้วยการเก็บกวาดทำความสะอาดบ้านเรือนครั้งใหญ่ เตรียมชุดเสื้อผ้าใหม่ เตรียมเงินก้อนไว้จับจ่าย ใส่อั่งเปา เตรียมของไหว้ และเตรียมตัวเที่ยวกัน โดยชาวจีนมักจะหยุดงานกันในช่วงตรุษจีนเพื่อกลับไปหาครอบครัว ใช้เวลาล้อมวงกินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตา ซึ่งวันตรุษจีนมีที่มาที่ไปจากการจัดขึ้นเพื่อเป็นการฉลองฤดูใบไม้ผลิ หลังจากที่ประเทศจีนถูกหิมะปกคลุม ทำให้ไม่สามารถเพาะปลูกได้ และเมื่อเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ จึงจะสามารถเพาะปลูกได้ตามปกติ ชาวจีนจึงกำหนดให้วันแรกของฤดูใบไม้ผลิในแต่ละปีเป็น “วันตรุษจีน”
ตรุษจีนถือเป็นช่วงเวลามงคล เป็นช่วงเวลาแห่งความสุข ตามธรรมเนียมจีนแล้ว จะแบ่งวันในช่วงตรุษจีน เป็น 3 วันตามปฏิทินจีนดังนี้
1.วันจ่าย คือวันเลือกซื้อของไหว้ต่างๆ เช่น ปลา เป็ด ไก่ เนื้อสัตว์ ผลไม้มงคล กระดาษไหว้เจ้า ฯลฯ เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการไหว้ในวันถัดไป ซึ่งวันจ่ายในปีนี้ตรงกับวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567
2.วันไหว้ คือวันที่ไปไหว้ที่ศาลเจ้า ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบ้าน และไหว้บรรพบุรุษ โดยเวลาไหว้ เริ่มตั้งแต่เที่ยงคืน ยาวไปถึง 9 โมงเช้าของอีกวัน (ตามแต่ละสถานที่) ซึ่งวันไหว้ในปีนี้ตรงกับวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567
3.วันเที่ยว คือวันที่หลังจากวันไหว้ที่คนจีนจะใช้เวลานี้ไปเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ ไปหาครอบครัวญาติพี่น้องและแจกอั่งเปาเด็ก ๆ คนไทยเชื้อสายจีนจะนิยมให้เงินในซองอั่งเปาเป็นเลขคู่ เพราะถือเป็นตัวเลขมงคล ซึ่งวันเที่ยวในปีนี้ตรงกับวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567
สำหรับวันไหว้ (วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567) ตามธรรมเนียมจีนจะแบ่งออกเป็น 4 ช่วงเวลาดังต่อไปนี้
ช่วงเช้า 06.00-07.00 น. เป็นต้นไป : ไหว้เจ้าที่ ไหว้เจ้าตามศาลต่างๆ
- ไหว้ 3 อย่าง (ชุดซาแซ) หรือ ไหว้ 5 อย่าง (ชุดโหงวแซ)
- ขนมไหว้ ขนมถ้วยฟู สื่อถึงความเฟื่องฟู เจริญรุ่งเรือง
- ขนมจันอับ หมายถึงพืชพรรณอุดมสมบูรณ์ มีกิน มีใช้ และซาลาเปาสีชมพู แต้มจุดสีแดง หมายถึง มีโชค
- ขนมเข่ง หมายถึงมีเพื่อนมาก ขนมเทียน หมายถึงชีวิตสว่างสดใส รุ่งเรือง
- ผลไม้มงคล เช่น ส้ม กล้วยทั้งหวี (เลือกแบบสีเขียวที่ยังดิบอยู่) องุ่น แอปเปิ้ล เป็นต้น
- เครื่องดื่ม ได้แก่ น้ำชา 5 ที่ อาจมีเหล้าด้วยอีก 5 ที่
- กระดาษเงิน กระดาษทอง ชุดไหว้เจ้า (หงิ่งเตี๋ย) 5 ชุด
- เทียนแดงก้านไม้แบบจีน 1 คู่ พร้อมเชิงเทียน
- กระถางธูป
- ธูปสำหรับไหว้
- แจกันดอกไม้
ตำแหน่งการจัดของไหว้เจ้าที่ ก็เป็นเรื่องสำคัญ ตามธรรมเนียมจีนแล้วให้ถือปฏิบัติดังนี้
- น้ำชา 5 ถ้วย วางเรียงแถวหน้ากระดาน
- ชุดไหว้ของคาว วางด้านขวามือของผู้ไหว้
- ชุดไหว้ผลไม้ วางด้านซ้ายมือของผู้ไหว้
- ชุดขนมและของหวาน วางต่อด้านหลังจากชุดผลไม้
- ส่วนกระดาษเงินกระดาษทองให้ใช้ถาดชุดขนมวางทับไว้
- ธูปเทียนปักตามปกติ
ใช้เทียน 1 คู่ เจ้าที่ตี่จู่เอี๊ยใช้ธูป 5 ดอก เจ้าที่อื่นๆ ใช้ธูป 3 ดอก เจ้าที่หรือเทพเจ้าประตู (หมึ่งซิ้ง) ใช้ธูป 2 ดอก โดยปักจุดละ 1 ดอก เริ่มปักฝั่งซ้ายก่อน แล้วค่อยปักฝั่งขวา เพื่อบอกกล่าวขออนุญาตให้ท่านเปิดทางให้ดวงวิญญาณบรรพบุรุษของเราเข้ามารับของไหว้ได้ในวันตรุษจีน
ช่วงสาย 10.00-11.00 น.( ต้องไม่เกินเที่ยง ) : ไหว้บรรพบุรุษ
- ไหว้ 3 อย่าง ( ชุดซาแซ )หรือ ไหว้ 5 อย่าง (ชุดโหงวแซ )
- ขนมถ้วยฟู สื่อถึงความเฟื่องฟู เจริญรุ่งเรือง
- ขนมจันอับ หมายถึงพืชพรรณอุดมสมบูรณ์ มีกิน มีใช้ และซาลาเปาสีชมพู แต้มจุดสีแดง หมายถึง มีโชค
- ขนมเข่ง หมายถึงมีเพื่อนมาก ขนมเทียน หมายถึงชีวิตสว่างสดใส รุ่งเรือง
- ผลไม้มงคล เช่น ส้ม กล้วยทั้งหวี (เลือกแบบสีเขียวที่ยังดิบอยู่) องุ่น แอปเปิ้ล ชมพู่ สาลี่ เป็นต้น
- กับข้าว 5 อย่าง
- ข้าวสวยตักใส่ถ้วยพูนๆ พร้อมตะเกียบ ตามจำนวนบรรพบุรุษ
- เครื่องดื่ม ได้แก่ น้ำชา 5 ที่ อาจมีเหล้าด้วยอีก 5 ที่
- กระดาษเงิน กระดาษทอง จะต้องมีอ่วงแซจิ่วสำหรับเป็นใบเบิกทางบรรพบุรษให้ลงมารับของไหว้
- ทองแท่งสำเร็จรูป แบงค์กงเต็ก ค้อซี/ก๊อซี ฯลฯ ปริมาณตามสะดวก
- เทียนแดงก้านไม้แบบจีน 1 คู่ พร้อมเชิงเทียน
- กระถางธูป
- ธูปสำหรับไหว้
- แจกันดอกไม้
ตำแหน่งการจัดของไหว้และวิธีไหว้บรรพบุรุษ วันตรุษจีน
- น้ำชา 5 ถ้วย วางเรียงแถวหน้ากระดาน
- ชุดไหว้ของคาว วางด้านขวามือของผู้ไหว้
- ข้าวสวย ตั้งเรียงแถวหน้ากระดาน พร้อมด้วยตะเกียบ โดยให้ด้ามตะเกียบหันไปที่รูปของบรรพบุรุษ
- กับข้าว 5 อย่าง ตั้งเรียงแถวหน้ากระดาน
- ผลไม้และขนมวางอยู่ในแถวเดียวกัน
- จากนั้นจึงจะเป็นเครื่องกระดาษต่างๆ ที่ต้องการจะส่งให้บรรพบุรุษ
- จุดธูปเทียนตามปกติ ใช้เทียน 1 คู่ ธูปคนละ 3 ดอก โดยให้ผู้อาวุโสที่สุดเป็นผู้จุดก่อน
ช่วงบ่าย 14.00-16.00 น. : ไหว้สัมภเวสี
- เสื่อสำหรับปูรองของไหว้ที่พื้น
- จัดเตรียมคล้ายของไหว้บรรพบุรุษตามกำลังทรัพย์
- ควรเปลี่ยนจากน้ำชาเป็นน้ำเปล่าแบบขวด และเหล้าใช้แบบขวดเช่นกัน
- กระดาษเงินกระดาษทอง ตามกำลังทรัพย์
- เกลือและข้าวสารเตรียมแยกไว้สำหรับสาดบริเวณบ้านหลังไหว้เสร็จ
- ประทัดสำหรับจุดหลังไหว้เสร็จ
การจัดของไหว้และวิธีไหว้ทำทานให้สัมภเวสี ในวันตรุษจีน
- จัดเตรียมข้าว ขนม น้ำเปล่า (แบบขวด) เหล้า (แบบขวด) กระดาษเงิน กระดาษทอง โดยวางบนเสื่อปูที่พื้นด้านนอกตัวบ้าน และหันออกนอกตัวบ้าน
- จุดธูป 1 ดอก เวลาไหว้ให้ยืนไหว้ไม่ต้องคุกเข่า
- เมื่อไหว้เสร็จและเก็บของแล้ว ให้สาดเกลือเม็ดกับข้าวสารไปทั่วบริเวณ และจุดประทัด เพื่อไม่ให้มีอะไรตกค้างในบ้าน และเป็นการปัดเป่าสิ่งไม่เป็นมงคลต่างๆ
ช่วงค่ำ 23.00 – 02.59 น. : ไหว้เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ย (เทพเจ้าโชคลาภ)
โดยให้ตั้งโต๊ะสักการะหน้าบ้านหันไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเพื่ออัญเชิญเทพเจ้าแห่งโชคลาภมาประทานพรเพื่อความเป็นสิริมงคล
ของไหว้เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ย (เทพเจ้าแห่งโชคลาภ) วันตรุษจีน
1.แจกันดอกไม้สด 1 คู่
2. เทียนแดงก้านไม้แบบจีน 1 คู่ พร้อมเชิงเทียน
3.กระถางธูป
4.ธูปสำหรับไหว้ 3 หรือ 5 ดอก
5.น้ำชา 5 ถ้วย
6.ขนมอี๊(สาคูสีแดง) 5 ถ้วย หรือข้าวสวย 5 ถ้วย
7.ขนมจันอับ
8.ผลไม้มงคล 5 อย่าง
9.เจไฉ่ หรือของเจ 5 อย่าง เช่น ดอกไม้จีน ฟองเต้าหู้ วุ้นเส้น เห็ดหอม เห็ดหูหนู
10. ชุดกระดาษไหว้ไฉ่ซิงเอี๊ย ประกอบด้วย หงิ่งเตี๋ย 12 ชุด กิมหงิ่งเต้า 1 คู่ เทียงเถ้าจี๊ 1 ชุด เทียบเชิญแดง 1 แผ่น กระดาษสีเขียว 1 แผ่น (เทียบเชิญสีเขียว) สิ่งสำคัญคือ “เทียบเชิญสีแดง” และ “เทียบเชิญสีเขียว” ต้องเขียนชื่อและที่อยู่ลงไป รวมถึงเขียนเชิญ องค์ไท้ส่วย (ไฉ่ซิงเอี๊ย) ด้วยนะคะ
11.กระเป๋าสตางค์ใส่แบงก์ใหม่เรียงสวยๆ
12. รูปหรือรูปปั้นเทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ยสำหรับกราบไหว้ (จะมีหรือไม่มีก็ได้)
จากนั้นให้ จุดธูป และกล่าวชื่อ สกุลของตัวเอง และครอบครัว กล่าวว่า
“ขออัญเชิญองค์ไฉ่ซิงเอี้ย เสด็จมารับเครื่องเซ่นไหว้ และประทับที่ (พูดชื่อบ้านเลขที่) และตามด้วยคำอธิษฐานขอพรที่จะนำมาซึ่งความสุข มั่งมี และโชคดีตลอดปี” เสร็จแล้วให้กล่าวว่า “บ่วงสื่อหยู่อี่ หมื่นคำอธิษฐานสมปรารถนา”
บทสวดบูชา เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี้ย
ตั้งนะโม 3 จบ แล้วกล่าวว่า
“โอม ชัมภาลา จาเลนไน เยโซฮา” (สวด 3 จบ 9 จบ หรือ 12 จบ ก็ได้)
ข้อสำคัญคือผู้ที่เกิดในปีชง (ปีจอ) ไม่ควรเป็นคนไหว้คนแรก สำหรับ ปีชง 2567 ได้แก่ ปีจอ ชง 100% ปีมะโรง ชงร่วม 50% ปีฉลู ชงร่วม 50% ปีมะแม ชงร่วม 50%
ข้อห้ามวันตรุษจีน
ตรุษจีนก็มีข้อห้ามที่ไม่ควรทำอยู่หลายข้อด้วยกัน โดยเชื่อว่าหากทำแล้ว จะเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ด้วยความอัปมงคล เป็นการนำคำอวยพรดีๆ ออกจากบ้าน ส่งผลกระทบต่อความมั่งคั่ง และความราบรื่นตลอดทั้งปี
- ห้ามกวาดบ้าน
- ห้ามทำของแตก
- ห้ามสระผม/ตัดผม
- ห้ามพูดคำหยาบคาย
- ห้ามสวมเสื้อผ้าสีขาว-ดำ
- ห้ามใช้ของแตกร้าว ผุ พัง
- ห้ามทวงหนี้
- ห้ามร้องไห้
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
9 ผลไม้มงคล สำหรับไหว้ขอพรในงานพิธีต่างๆ