ยาพ่น เป็นโรคหอบ โรคทางเดินหายใจ โรคหอบหืด

เลือกใช้ยาพ่น ให้เหมาะสมกับ โรคหอบหืด ช่วยลดความรุนแรงของโรคได้

การดูแลตนเองเบื้องต้นเมื่อมีอาการหืดกำเริบเฉียบพลัน ผู้ป่วยและครอบครัวของคนที่เป็นโรคนี้ ควรมียาพ่นบรรเทาอาการ พกไว้ติดตัวเสมอเพื่อใช้ในการบรรเทาอาการให้ทันท่วงที

Home / HEALTH / เลือกใช้ยาพ่น ให้เหมาะสมกับ โรคหอบหืด ช่วยลดความรุนแรงของโรคได้

หลอดลมของผู้ป่วยโรคหืด ไวต่อสิ่งกระตุ้นมากผิดปกติ เมื่อสัมผัสสิ่งกระตุ้น หลอดลมจึงหดตัวตีบแคบลง ส่งผลให้เกิดอาการหอบ หายใจลำบาก ผู้ป่วยโรคหืดในภาวะปกติจะมีอาการไอในตอนเช้า และตอนกลางคืนมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล โดยทุก2ใน3ราย มักมีโรคภูมิแพ้หูคอจมูกร่วมด้วย แต่ใน ภาวะจับหืดเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการไอเป็นชุดๆ หายใจลําบากชัดเจนแม้ขณะพัก หายใจเสียงดังหวีด แน่นหน้าอก หายใจหน้าอกบุ๋ม

ในรายที่รุนแรงมากอาจไม่สามารถพูดเป็นประโยคปกติได้ พูดได้เป็นคําๆ หรือวลีสั้นๆเท่านั้น มีการใช้กล้ามเนื้อช่วยหายใจมากขึ้น ความรู้สึกตัวลดลง ซึมลงหรือสับสน หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีอาจเสียชีวิตได้ เนื่องจากสมองและอวัยวะสำคัญขาดออกซิเจน

เราไม่สามารถรู้ได้ว่า อาการหอบหืดแบบเฉียบพลันจะเกิดขึ้นตอนไหน ดังนั้น ผู้ป่วยโรคหืดทุกคนควรมีแผนปฏิบัติการเมื่อมีอาการหืดกำเริบเฉียบพลัน ซึ่งประกอบด้วย อาการของหืดกำเริบ การดูแลตนเองเบื้องต้นเมื่อมีอาการหืดกำเริบเฉียบพลัน และเมื่อไหร่ต้องมาโรงพยาบาล ผู้ป่วยและครอบครัวของคนที่เป็นโรคนี้ ควรมียาพ่นบรรเทาอาการ พกไว้ติดตัวเสมอเพื่อใช้ในการบรรเทาอาการให้ทันท่วงที และลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตจากภาวะหอบหืดเฉียบพลันได้ในกรณีที่ไปรักษาที่โรงพยาบาลไม่ทัน

การใช้ยาแบบพ่นสูด (nebulizer) มีข้อดีคือพ่นยาได้ง่าย ไม่ต้องอาศัยเทคนิคและความร่วมมือจากผู้ป่วยและตัวยาจะเข้าสู่ตำแหน่งทางเดินหายใจโดยตรง ทำให้ช่วยลดอาการจับหืดและมีผลข้างเคียงน้อย ควรให้ความสำคัญกับการพิจารณาขนาดอนุภาคของละอองยาที่พ่นออกจากเครื่องพ่นมา พร้อมกับปริมาณยาที่ได้รับจากการพ่น ว่ามีประสิทธิภาพในการลดการตกค้างของตัวยาในกระบอกยาได้มากเพียงใด ขนาดอนุภาคของละอองยาที่เหมาะสมกับตำแหน่งบนทางเดินหายใจที่อนุภาคตกเกาะ คืออยู่ในช่วง 2-5 ไมครอน และควรหลีกเลี่ยงวาล์วที่มีส่วนประกอบของซิลิโคน เพราะทำให้เกิดเชื้อราได้ง่าย เสี่ยงติดเชื้อต่างๆ และยากต่อการทำความสะอาด

ดูแลสภาพแวดล้อมให้ปราศจากสิ่งกระตุ้น ที่มักทำให้ผู้ป่วยโรคหืดมีอาการกำเริบ ได้แก่ ขนสัตว์ ไรฝุ่น เชื้อรา ต้นไม้หรือละอองเกสรดอกไม้ และสิ่งระคายเคืองอื่นๆ เช่น สารเคมี กลิ่นฉุน ควันบุหรี่ และมลภาวะ เลี่ยงการการออกกำลังกายหักโหม ระวังตัวไม่ให้ติดเชื้อโรคหวัดหรือมีการติดเชื้อทางเดินหายใจ

โรคหอบหืด ยังไม่มีการรักษาโรคให้หายขาดได้ เป้าหมายของการรักษาผู้ป่วย จึงเป็นการลดความรุนแรงของโรคด้วยการใช้ยาให้เหมาะสมเพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ

อ้างอิงข้อมูลจาก ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง อรพรรณ โพชนุกูล ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านโรคภูมิแพ้ โรคหืด และระบบหายใจ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์