เมื่อความรู้คู่กับความชอบ ผนวกกับความคิดและความพยายามที่ไม่สิ้นสุด ทำให้วิตะ บุษดี นักศึกษาปริญญาเอกสาขาวิชา Translational medicine สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กลายเป็นผู้บริหารในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท สตีฟเวล คอร์ปอเรท จำกัด และที่สำคัญเขาคือผู้คิดค้นสเปรย์นาโนเทคโนโลยีป้องกันบาดเจ็บข้อต่อนักกีฬาที่ไม่เพียงแต่ตอบโจทย์ตลาดนักกีฬาไทยเท่านั้น แต่กำลังจะเติบโตและขยายตลาดไปสู่ระดับโลกด้วย
“ผมเป็นนักกีฬาฟุตบอลตั้งแต่สมัยเป็นเยาวชน เล่นฟุตบอลมาเรื่อยๆ ครับ เคยทำงานเกี่ยวกับทีมสโมสรฟุตบอล ทีมฟุตบอลอาชีพ ทั้งไทยลีกและ ทีมมหาวิทยาลัย เมื่อต้องทำงานวิจัยของปริญญาเอกผมจึงเลือกจากสิ่งที่ผมคุ้นเคยและความชอบมาผสมผสานกับความรู้ จุดเริ่มต้นของผมเกิดจาก Painpoint ที่ว่า เราใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อป้องกันการบาดเจ็บตัวเดิมมาเป็น 10 ปี เนื่องจากเป็นนักกีฬาเยาวชน ก็คิดว่าจะมีผลิตภัณฑ์อะไรดีกว่านี้ไหม จึงศึกษาเรื่องนักกีฬาฟุตบอลเกี่ยวกับการบาดเจ็บที่ข้อเท้า เพราะข้อเท้าเป็นส่วนที่เกิดการบาดเจ็บได้สูงสุดในกีฬาฟุตบอล แล้วก็คิด Solution ที่ว้าวๆ เว่อร์ๆ ผมก็ไม่รู้หรอกว่าจะมีใครว้าวไปกับเราด้วยหรือเปล่า ก็เลยตั้งโจทย์ในการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ วัสดุใหม่ การแก้ปัญหาด้วยวิธีการใหม่ๆ เกี่ยวกับนักกีฬา จนกลายมาเป็นสเปรย์นาโนเทคโนโลยีป้องกันการบาดเจ็บข้อต่อ มีคุณสมบัติช่วยซัพพอรต์ข้อต่อของนักกีฬา ก็ลองเอาไอเดียที่เกิดขึ้นนี้ไป Pitching ปรากฎว่าได้รางวัลทุกที่เลย ผมเจอนักลงทุนถามทุกเวทีทั้งไทยและต่างประเทศ พอผมได้ไอเดียสเตจที่สามารถต่อยอดได้ จึงเริ่มจดทะเบียนบริษัท และขอทุนต่างๆ เพื่อนำมาพัฒนางานวิจัยและผลิตภัณฑ์ครับ”
รางวัลมีความหมายแต่การพัฒนาไม่หยุดสำคัญกว่า
สเปรย์นาโนเทคโนโลยีป้องกันบาดเจ็บข้อต่อนักกีฬาเหมือนเป็นนวัตกรรมในวงการกีฬาที่ได้รับความสนใจไม่น้อย ไม่แปลกใจเมื่อทุกครั้งที่เขาร่วมส่งผลิตภัณฑ์เข้าประกวดในเวทีต่างๆ จะได้รับรางวัลและเงินทุนสนับสนุน กลายเป็นกำลังใจและการสร้างโอกาสที่ดี แต่รางวัลไม่ใช่เครื่องการันตีความสำเร็จ ความมั่นใจในผลิตภัณฑ์เกิดได้จากการพัฒนานวัตกรรมอยู่ตลอดเวลาต่างหาก
“ผมมีโอกาสได้เข้าแคมป์ Startup camp ของ Student Entrepreneur Development Academic หรือ SEDA ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อบ่มเพาะนักศึกษาให้เป็นผู้ประกอบการ ซึ่งผมได้รางวัลชนะเลิศมา ได้ไปดูงานต่างประเทศ ไปฮ่องกง จีน หลังจากนั้นก็ส่งผลิตภัณฑ์เข้าประกวดกับ NIA สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ แล้วก็ได้รางวัลเป็นเงินสนับสนุนจำนวนหนึ่งมาทำตัวโปรโตไทป์ (Prototype) มีการสนับสนุนตั้งแต่ให้คำปรึกษาProduct development กระทั่ง Idea Solution รวมทั้งการหา Market Channel จนถึงตอนนี้ก็ยังมีการติดต่อช่วยเหลือกับเครือข่ายในกลุ่มสตาร์ทอัพด้วยกันอยู่ครับ แต่ถ้าถามว่า ได้รางวัลมาหลายเวทีทำให้รู้สึกว่ามั่นใจกับสิ่งที่ทำอยู่ไหม ก็ระดับหนึ่งครับ แต่ไม่ได้รู้สึกว่าผลิตภัณฑ์ของเราดีขนาดนั้น ยังต้องไปรีเสริชไปดูนวัตกรรมตัวอื่นๆ เรื่องพวกนี้ต้องใช้เวลาครับ อาจจะหนึ่งปี สองปี เวลาเจอกับคนในแวดวงการแพทย์ วงการกีฬา ทั้งทีมนักกายภาพ แพทย์ ที่ดูแลนักกีฬาในทีม ผมจะใช้การพูดคุยแชร์ไอเดียว่าเขาคิดยังไง ก็จะได้มุมมองคำถามใหม่ๆ มา ผมก็นำไอเดียเหล่านั้นมาพัฒนางานที่เราทำ ถึงจะมีคนบอกว่ามันน่าจะเป็นไปได้ หรือมันน่าจะดี สุดท้ายก็ต้องเอามาทดลอง มาทำดูก่อน ต้องลองพัฒนาไปเรื่อยๆ ครับ”
ทีมที่เข้าขา คนที่เข้าใจ ทำให้ก้าวต่อไปได้ไกลกว่าจุดเริ่มต้น
แม้วิตะจะเป็นเจ้าของสุดยอดไอเดียนวัตกรรมเพื่อป้องกันการบาดเจ็บในนักกีฬา แต่ผลงานเหล่านี้เขาไม่เคยคิดว่าเป็นของเขาคนเดียว ที่สำคัญ การพัฒนาและต่อยอดเพื่อให้ไปได้ไกลนั้นเขามองว่าการร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมทุน ล้วนแต่สำคัญที่ทำให้ทุกก้าว ไปต่อได้และไปได้ไกลกว่าจุดเริ่มต้นหลายเท่าตัว
“ผมไม่ได้ทำงานคนเดียวครับ ที่ผ่านมาผมมีทีมพี่น้องคอยช่วยเหลือยู่ เราทำคนเดียว เราทำไม่ได้หรอก ก็พยายามหาคนที่เข้าใจกัน คุยกันรู้เรื่อง เราเป็นนักกีฬาสายการแพทย์ก็จริง แต่เรื่องวัสดุเราไม่สามารถไปดีไซน์ หรือทำการทดลองได้ เพราะไม่ได้มีความรู้ตรงนั้น ก็เลยต้องมีน้องที่สนใจในเรื่องเดียวกัน แต่เชี่ยวชาญด้านฟิสิกส์ Material Science มาช่วยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ผมก็ทำหน้าที่อธิบายเล่าเรื่อง แชร์ไอเดียว่าอยากได้อะไร ต้องการอะไร ก็ต้องใช้เวลานานเหมือนกันกว่าจะลงตัว แต่เป็นเพราะเราเล่นฟุตบอล ชอบฟุตบอลเหมือนกันก็เลยคุยกันง่าย มีใจที่จะช่วยกันทำ ตอนนี้ก็เหมือนเราได้โปรโตไทป์ เป็นก้าวแรกแล้ว ก้าวต่อไปก็ต้องพัฒนานำไปทดลองใช้ในกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เป็นนักฟุตบอล ที่มีการบาดเจ็บข้อเท้าหรือคนที่ชอบพันข้อต่อเพื่อป้องกันเกี่ยวกับการบาดเจ็บ ให้ช่วยซัพพอร์ต หลังจากนั้นก็คือการ Validation ไปดูสเปคของวัสดุที่จะใช้ผลิต กระบวนการเหล่านี้ก็เป็นขั้นเป็นตอนเรียกว่าทำตามชุดการทดลองครับ ถ้าถามว่าจะใช้เวลานานแค่ไหนกว่าจะสามารถปล่อยสเปรย์ออกสู่ท้องตลาดได้ ผมยังไม่สามารถบอกได้แต่คาดไว้ที่ 12-18 เดือน เพราะถ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับคน มันจะมีขั้นตอนที่ต้องได้มาตรฐานตามที่รัฐบาลกำหนด แต่สิ่งที่ผมทำได้คือ ผมได้จดลิขสิทธิ์ไปแล้วครับ เป็นอนุสิทธิบัตรให้บริษัททางกฎหมายมาจดให้ และเมื่อปลายปีที่ผ่านมามีบริษัทมาร่วมลงทุนใน Early เรียบร้อยแล้วครับ ตอนนี้ก็อยู่ในช่วงเพิ่มวัสดุผสมเข้าไปในตัวสเปรย์ เนื่องจากบริษัทที่เข้ามานั้นเป็นบริษัทที่ทำเกี่ยวกับวัสดุสารประกอบต่างๆ ก็เรียกว่าเป็นการร่วมทุนเพื่อต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ในช่องทางกีฬาอื่นด้วยครับ”
ความชอบและรักในสิ่งที่ทำคือภูมิคุ้มกันความลำบาก
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ตลอดระยะเวลาของการลงมือทำ ลองผิดลองถูก จะเกิดความย่อท้อ เบื่อหน่าย และภูมิคุ้มกันความผิดหวังของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน สำหรับวิตะแล้วเหตุผลที่ทำให้เขามีภูมิคุ้มกันและไม่ล้มเลิกนั้นแสนเรียบง่าย เพราะเขารักในสิ่งที่ทำ “เรื่องแรกเลยที่ทำให้สเปรย์นาโนตัวนี้สำเร็จน่าจะเป็นเพราะความพยายามครับ แต่ต้องบอกก่อนว่า เราอยากทำมันเรื่อยๆ ก็จริง แต่ก็มีช่วงเบื่อบ้าง จังหวะที่ทำการทดลองหนึ่งครั้ง สองครั้ง สามครั้งแล้วไม่ได้ตามที่เราตั้งสมมติฐานมันก็จะเกิดความคิดว่าแล้วจะต้องทำยังไงต่อดี ไปทางไหนดี แต่สุดท้ายก็ยังทำต่อ ผมคิดว่าที่เราไม่ล้มเลิกน่าจะเป็นเพราะสิ่งที่เราทำอยู่นั้นเกี่ยวข้องกับฟุตบอล ซึ่งเป็นการใช้ประสบการณ์ในกีฬาที่ตัวเองชอบ ทำให้เราอยู่กับเรื่องนี้ได้นาน ถ้าไม่ชอบน่าจะวางไปแล้ว และน่าจะเกิดจากพื้นฐานของนิสัยส่วนตัวที่ว่า ถ้าทำอะไรแล้วไม่อยากให้มันล้มเหลวไปง่ายๆ จะเรียกว่าเป็นคนประเภทภูมิคุ้มกันความลำบากสูง อดทนสูงก็ได้ครับ”
เมื่อเริ่มต้นแล้วให้ลงมือทำ แต่สุดท้ายต้องไปให้ถูกทาง
สเปรย์นาโนเทคโนโลยีป้องกันบาดเจ็บข้อต่อนักกีฬาคือผลลัพธ์ที่อยู่สุดสายของเส้นทางการทดลอง เมื่อมันออกมาเป็นรูปเป็นร่าง ก็เหมือนนักวิ่งที่เข้าใกล้เส้นชัยความสำเร็จเข้าไปทุกที หากใครเฝ้ามองเพียงแค่ช่วงเวลานี้ อาจจะดูง่ายและเป็นไปได้ หากต้องย้อนไปตั้งแต่จุดเริ่มต้น ไม่มีใครรู้ว่าหนักหน่วงและเหน็ดเหนื่อยแค่ไหน สำหรับนักธุรกิจหรือผู้ที่กำลังจะก้าวเข้ามาเป็นนักธุรกิจ วิตะในฐานะผู้ที่ผ่านมาก่อน เขามองว่าเส้นทางสายนี้ทั้งยาวไกลและหนักหน่วง สิ่งสำคัญคือการเข้าใจรันเวย์ธุรกิจและการลงมือทำ
“สตาร์ทอัพต้องลองเข้าร่วม Startup Camp จากกิจกรรมที่เกี่ยวกับการพัฒนาผู้ประกอบการครับ เราต้องพาตัวเองไปอยู่จุดนั้นให้ได้ก่อน ถึงจะเข้าใจว่าธุรกิจมีรันเวย์อย่างไรบ้าง ความยากของการเป็นผู้ประกอบการตอนเริ่มต้นคือการหา Painpoint ให้เจอ รวมทั้งการหา Idea Solution ถ้ายังตอบคำถามทั้งสองข้อนี้ไม่ได้ ยังไม่ต้องไปพูดถึงการตลาดเลยครับ และที่สำคัญคือการรู้จัก Design Thinking ก็ต้องประกอบกันด้วย ต้องเข้าใจทั้งหมดนี้ถึงจะไปถูกทาง บางคนคิดว่าตัวเองชอบและคิดว่าจะไปเลือกรันเวย์ธุรกิจนี้ แต่ผ่านไปได้ครึ่งปีก็หยุดก็แปลว่าไม่ได้ชอบจริงๆ อย่างไรก็ตาม ก็ต้องลองลงมือทำดู ไม่อย่างนั้นก็ไม่เกิดอะไรขึ้น ได้ไม่ได้ไม่รู้ ถามที่ปรึกษาก็ไม่มีใครรู้ ต้องลองลงมือทำข้อนี้สำคัญที่สุดครับ”
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Startup Thailand Marketplace ของ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)