เพื่อสุขภาพที่ดีต้องกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เรื่องนี้เราคงคุ้นหูกันมาดีตั้งแต่เด็กจนโต วันนี้จะกล่าวถึง แคมเซียม หนึ่งในบรรดาสารอาหารและแหล่งโภชนาการที่จำเป็นต่อร่างกายแบบสุดๆ บทบาทของมันคือการสร้างมวลกระดูก และชะลอการผุกร่อน ไปพร้อมๆ กับเสริมความแข็งแรงของโครงสร้างร่างกายในตัว หรือก็คือร่างกายคนเราไม่ว่าจะวัยไหน ล้วนแต่ต้องการแร่ธาตุอย่าง แคลเซียม (Calcium) ด้วยกันทั้งนั้น
เมื่อคนเราขาด แคลเซียม จะเป็นอย่างไร?
แคลเซียม คือแร่ธาตุสุดสำคัญที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง แต่ด้วยความที่มนุษย์เราไม่สามารถมองเห็นกระดูกในร่างกายได้ (ถ้าไม่นับที่ฟัน) จึงทำให้มีคนจำนวนไม่น้อยละเลยการเสริมแคลเซียมให้กับร่างกาย พอรู้ตัวอีกที มวลกระดูกที่แข็งโป๊กมาตลอด กลับส่งสัญญาณร้องบอกให้เห็นอาการที่น่าเป็นห่วงเข้าเสียแล้ว
เมื่อคนเราขาดแคลเซียม ร่างกายจะส่งเสียงผ่านสารพัดอาการ ทั้งความอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย นอนไม่หลับ ผิวแห้ง เล็บเปราะ หรือที่ร้ายแรงกว่านั้น คือโรคเกี่ยวกับกระดูกจะถาโถมมาแบบไม่ทันตั้งตัว ไม่ว่าจะเป็น อาการปวดตามข้อ กระดูกอ่อนอักเสบ หรือกระทั่ง “โรคกระดูกพรุน” ซึ่งทางสถิติบ่งชี้ว่า เมื่ออายุแตะเลข 30 ปี มวลกระดูกจะเริ่มสูญสลายไป และจะมีผู้หญิงไทยร้อยละ 50 รวมถึงผู้ชายอายุมากกว่า 65 ปี ร้อยละ 20 ที่มีอาการของโรคกระดูกพรุน
ความน่ากลัวของโรคกระดูกพรุนและอาการขาดแคลเซียม
คืออันตรายที่เป็นภัยเงียบอย่างแท้จริง เพราะปกติแล้วในช่วงอายุระหว่าง 30-35 ปี ร่างกายจะมีทั้งขั้นตอนของการ “สร้างและสลายกระดูก” ที่สมดุลกัน แต่เมื่อวันเวลาล่วงเลยจนเข้าสู่ช่วงอายุ 40 ปี ขั้นตอนการสลายกระดูกจะเริ่มมีมากกว่าการสร้างอย่างชัดเจน หรือพูดได้ว่า “ครึ่งชีวิตของเรา ล้วนอยู่กับขั้นตอนการสลายกระดูกตลอดเวลา”
ขั้นตอนต่อมา เมื่อกระดูกสลายไปเรื่อยๆ เราจะเริ่มรับรู้ถึงสภาพโครงสร้างแสนจะเปราะบางในตัว เพียงการกระแทกเบาๆ หรือการไอ-จาม จนเกิดบิดเอี้ยวตัวกะทันหัน ก็มากพอที่จะทำให้กระดูกแตกหักได้แล้ว และยังมีโอกาสสูงมากที่จะเกิดการแตกหักครั้งที่ 2 หรือ 3 ตามมา สิ่งเดียวที่มนุษย์สามารถชะลออาการธรรมชาตินี้ได้ จึงมีเพียงการเสริมแคลเซียมให้กระดูกเท่านั้น
แล้วเราจะไปหาแคลเซียมมาจากไหนล่ะ? จริงๆ แล้วแร่ธาตุแคลเซียมเป็นอะไรที่อยู่ใกล้ตัวกว่าที่เราคิด อย่างแรกที่หลายคนนึกออกคงจะเป็น “นมและผลิตภัณฑ์จากนม” ซึ่งมีปริมาณแคลเซียมที่สูงและยังหาได้ง่าย แต่หากใครไม่สะดวกดื่มนม ก็อาจเลือกแก้ไขได้ด้วยอาหารชนิดอื่น อย่าง พวกปลาตัวเล็ก ผักใบเขียว หรือธัญพืชบางชนิด เช่น งาดำ เป็นต้น
แต่ละวัยต้องการแคลเซียมเท่าไรถึงพอต่อความต้องการของร่างกาย
ถ้าอย่างนั้น ในเมื่อแหล่งแคลเซียมอยู่ใกล้ตัวขนาดนี้ แล้วทำไมเราจึงต้องกังวลว่าร่างกายจะขาดแคลเซียมอีก คำตอบคือ ในอาหาร 3 มื้อ ที่เราทานไปแต่ละวันนั้น เฉลี่ยแล้วเท่ากับเราได้รับแคลเซียมเพียงวันละ 361 มิลลิกรัมเท่านั้น เทียบกับปริมาณแคลเซียมที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน คือ
- วัยเด็ก ต้องการแคลเซียมประมาณ 800 มิลลิกรัม/วัน
- วัยรุ่น ต้องการแคลเซียมประมาณ 1,300 มิลลิกรัม/วัน
- วัยผู้ใหญ่ ต้องการแคลเซียมประมาณ 1,000-1,200 มิลลิกรัม/วัน หรือคิดโดยเฉลี่ยตลอดช่วงชีวิตของคนเรา “ต้องการปริมาณแคลเซียมประมาณ 1,000 มิลลิกรัม/วัน” นั่นเอง
นั่นบ่งบอกได้ว่า ถ้าเราใช้ชีวิตสบายๆ ทานอาหารปกติ เราจะขาดแคลเซียมในปริมาณที่ร่างกายควรจะได้ไปเฉลี่ยวันละ 640 มิลลิกรัมเลยทีเดียว หรือเท่ากับเราต้องดื่มนมเพิ่ม อย่างน้อยๆ วันละไม่ต่ำกว่า 3 แก้ว จึงจะได้แคลเซียมเพียงพอต่อความต้องการ …มาถึงตรงนี้ ถ้าใครมีอาการขยาดดื่มนม อาจดูเหมือนจะเจอความลำบากเข้าเสียแล้ว แต่โชคดีที่ชีวิตก็ไม่ได้ยากขนาดนั้น เพราะอย่าลืมว่าในโลกนี้ มีสิ่งประดิษฐ์จากวิทยาศาสตร์สุดล้ำค่า ที่เรียกว่า “ยา” อยู่ด้วย
การพูดถึงยา ไม่ได้หมายความว่าเราแนะนำให้เกิดอาการขาดแคลเซียมแล้วค่อยใช้ยารักษาหรอกนะ (เพราะมันรักษาไม่ได้อยู่แล้ว) แต่ยาในที่นี้หมายถึง “แคลเซียมคาร์บอเนตแบบเม็ด” หรือเคมีที่ช่วยเสริมแคลเซียมให้ร่างกายโดยวิธีการทานยาแต่ต่างกันตรงที่ไม่ได้ทานยาเพราะป่วย แต่ทานเพราะว่า “ยาไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อแค่รักษาเท่านั้น แต่ยังสามารถป้องกันก่อนป่วยได้ด้วย”
แคลเซียมคาร์บอเนต คือ รูปแบบของเกลือแคลเซียมแบบเม็ด ที่จะแตกตัวด้วยกรดในกระเพาะอาหารเมื่อถูกทานเข้าไป และจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายในแบบแร่ธาตุแคลเซียม ที่สำคัญแคลเซียมคาร์บอเนตยังสามารถให้แคลเซียมกับร่างกายได้ถึง 40% ต่อปริมาณ พูดง่ายๆ คือแคลเซียมคาร์บอเนต 1 เม็ด ในปริมาณ 1,000 มิลลิกรัม จะให้แคลเซียมมากถึง 400 มิลลิกรัม หรือเท่ากับว่าการทานแคลเซียมคาร์บอเนตแบบเม็ด วันละ 1-2 เม็ด ก็สามารถชดเชยปริมาณแคลเซียมขาดหายไป ได้ครบถ้วน
สุดท้ายนี้ แม้ปัจจุบันจะมีบริษัทยาคนไทย ที่ค้นคว้าแคลเซียมแบบเม็ดให้เราได้ทานกันอย่างง่ายๆ แล้ว แต่อย่าลืมว่าการจะรักษามวลกระดูก ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอาหารการกินเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ขึ้นกับการดูแลตัวเองในด้านอื่น ทั้ง การออกกำลังกาย การลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรืออาจรวมถึงการเสริมวิตามินต่างๆ ที่ช่วยลดการสูญเสียแคลเซียม เพราะหากแคลเซียมถูกสะสมอย่างเพียงพอ มวลกระดูกจะได้รับการป้องกันเต็มที่ จะอายุ 30 40 หรือ 50 ปี ก็ขีดฆ่าความเสี่ยงกระดูกพรุนออกจากใบตรวจสุขภาพไปได้เลย
ที่มา: จรูญเภสัช