หากใครเป็นแฟนคลับซีรี่ส์อินเดีย หรือ เคยเดินทางไปอินเดียมาก่อน หากสังเกตดีๆ อาจจะเคยได้เห็นชาวอินเดียแทบทุกบ้านปลูกต้นกะเพราแดงไว้กลางบ้าน และจะทำการบูชาทุกวันเช้า – เย็น เหตุที่เป็นเช่นนั้น นั่นก็เพราะว่า…จากเอกสารคัมภีร์ปุราณะ (Purana) ส่วน “เทวีภาควัต” (Devi-Bhagavata Purana) ตามความเชื่อดั้งเดิมของชาวฮินดู เชื่อกันว่า กะเพรา เป็นร่างอวตารร่างหนึ่งของพระนางลักษมี ผู้เป็นพระชายาของพระวิษณุ หนึ่งในองค์มหาเทพของศาสนาฮินดู เนื่องจากพระลักษมีนั้นถูกพระนางสุรัสวดี 1 ในบรรดาภรรยาของพระวิษณุสาปให้มาเกิดเป็นต้นไม้บนโลกมนุษย์ด้วยความหึงหวงเพื่อให้พูดไม่ได้อีก โดยมีชื่อว่า “ตุลสี” (Tulsi) ซึ่งในภาษาฮินดู หมายถึง “กะเพรา” เมื่อเชื่อว่ากะเพราคือพระนางลักษมี ผู้ที่นับถือบูชาพระวิษณุจึงนับถือบูชา กะเพรา พืชศักดิ์สิทธิ์ ไปด้วย
กะเพรา พืชศักดิ์สิทธิ์ ของชาวฮินดูที่ต้องบูชาทุกวัน
บางตำนานเล่าว่าเกิดจากพระนางตุลสีสวดวิงวอนขอพรให้ได้เป็นชายาอีกคนของพระนารายณ์หรือพระวิษณุ ทำให้พระแม่ลักษมีชายาของพระนารายณ์หรือพระวิษณุหึง ลงมาสาปพระนางตุลสีเป็นต้นกะเพรา นั่นเลยเหมือนกึ่งๆ แสดงว่าคำขอล่วงรู้ไปถึงเทพ ชาวอินเดียเลยถือว่าพระนางตุลสีเป็นชายาอีกคนของพระนารายณ์หรือพระวิษณุไปเลย ชาวอินเดียเชื่อกันว่า กิ่งกะเพรากิ่งเดียวบูชาพระนารายณ์หรือพระวิษณุ มีค่ามากกว่า นำวัวร้อยตัวพันตัวไปบูชา
และยังมีอีกหลายๆ ตำนาน Tulsi อีกหลากหลายเรื่องเล่าซึ่งหากเล่าในที่นี้ก็คงจะเล่าไปไม่จบ (แอดขอติดไว้ก่อน เพราะเรื่องเล่ายาวและหลากหลายที่มามากกกกค่ะ )
ดังนั้นชาวฮินดูจึงถือว่ากะเพราเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์ นิยมบูชาต้นกะเพรากันทุกบ้านต้องมี บางแห่งจะปลูกกะเพราไว้บูชาแถววัดที่มีการบูชาพระวิษณุ หรือปลูกไว้บูชาในบ้าน ตามความเชื่ออินเดียแล้ว ห้ามนำสิ่งสกปรกไปรดต้นกะเพราเด็ดขาด และยังห้ามตัดกิ่งหรือถอนต้นกะเพราอีกด้วย ต้องปล่อยให้ตายไปตามธรรมชาติเท่านั้น ซึ่งต้นกะเพราที่แห้งตายก็อาจเอามาทำเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้อีก สามารถใช้กะเพราในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ตั้งแต่แรกเกิดจนตาย เช่น พิธีศพตามวัฒนธรรมของพราหมณ์ชาวฮินดู ที่เชื่อว่าหากผู้ตายได้ดื่มน้ำจากใบกะเพราในพิธีศพจะได้ไปจุติในสวรรค์, พิธีแต่งงาน, พิธีฉลองเด็กแรกเกิดที่เป็นชายเพื่อให้เด็กแข็งแรง อุดมสมบูรณ์, ภรรยาที่บูชาต้นกะเพราจะทำให้สามีร่ำรวย และประสบความสำเร็จ หรือแม้กระทั่งนำกะเพราไปทำยา โดยเฉพาะในอินเดียถือว่ากะเพราใช้รักษาโรคได้ทุกโรคเลยทีเดียว แต่จะไม่นำมาประกอบอาหารโดยเด็ดขาด ในทางคุณไสยแล้วยังเชื่อว่ากะเพรามีฤทธิ์อำนาจป้องกันภูตผีหรือสิ่งเลวร้ายมิให้มากล้ำกรายบ้านเรือนและผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณบ้านนั้นด้วย
นอกจากนั้นแล้ว Frederick Simmons ได้เล่าไว้ในหนังสือ Plants of life, Plants of death (1998) ว่าหญิงสาวในอินเดียบางพื้นที่จะสักการะบูชาต้นกะเพรา เพื่อขอให้เธอได้พบเจอกับสามีที่ดีในอนาคต อีกด้วยเอ้า ….สาวโสดอย่ารอช้า เรามาชาบู เอ๊ย บูชาต้นกะเพรากันเถิด เผื่อจะเกิดผล!
นอกจากชาวฮินดูแล้ว ชาวคริสต์บางกลุ่มในประเทศกรีกก็เชื่อว่ากะเพราเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์ ด้วยเป็นพืชที่ผลิขึ้นบนหลุมฝังพระศพของพระเยซู จนทำให้มี Saint Basil’s Day หรือวันนักบุญกะเพราขึ้นเฉลิมฉลองเช่นเดียวกับ Saint Valentine’s Day หรือ วัน(นักบุญ)วาเลนไทน์ ที่เรารู้จักกันในนามวันแห่งความรัก 14 กุมภาพันธ์ นั่นเอง เมื่อถือว่ากะเพราเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์ จึงเรียกชื่อกะเพราในภาษาอังกฤษว่า Holy Basil หรือ Sacred Basil ส่วนในภาษาฮินดีเรียกว่า Tulsi หรือ Tulasi ซึ่งแปลว่า “ไม่มีสิ่งใดเปรียบเทียบได้” แสดงถึงฐานะอันสูงส่งของกะเพราในวัฒนธรรมคริสต์และฮินดูได้อย่างชัดเจน
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ Plants of life, Plants of death ; Frederick Simmons,1998
เอกสารคัมภีร์ปุราณะ ส่วน “เทวีภาควัต”
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
13 ความเชื่อเรื่อง โชคลาง บอกเหตุของอินเดีย แบบนี้ก็มีด้วยนะนายจ๋า
แจ๊ส สรวีย์ นำเที่ยวสายมู ชมมนต์เสน่ห์แห่งอินเดีย ต้นกำเนิดศาสนาโลก กับรายการ “รูทเตลู” (ROUTELU)
ทำไมต้อง ไข่ต้มแก้บน ความเชื่อมโยงของไข่กับขวัญจากความเชื่อทั่วโลก