การแต่งงาน ฤกษ์แต่งงาน โชคลาง โชคลางการแต่งงาน

8 ความเชื่อเรื่อง โชคลางการแต่งงาน ของชาวตะวันตก

ชาวอังกฤษยุคก่อนมีความเชื่อว่า แมงมุมเป็นสัตว์มงคลนำโชค หากพบแมงมุมที่ยังมีชีวิตอยู่ในชุดเจ้าสาว จะทำให้ชีวิตหลังแต่งงานมีความสุขแบบ Ever After หรือตลอดไปนั่นเองค่ะ

Home / ไลฟ์สไตล์ / 8 ความเชื่อเรื่อง โชคลางการแต่งงาน ของชาวตะวันตก

วันแต่งงาน ถือเป็นวัน Big Day วันสำคัญอีกวันในชีวิต เป็นการเริ่มต้นชีวิตคู่ที่จะเปลี่ยนชีวิตคนเราไปตลอดกาล ใช่แค่ฝั่งซีกโลกตะวันออกอย่างไทยเราเท่านั้นที่เชื่อเรื่องโชคลาง ฝั่งประเทศทางซีกโลกตะวันตกเขาก็มีเรื่องให้ถือสา เป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันมาตั้งแต่โบร่ำโบราณเช่นกัน ซึ่งในพิธีการงานแต่งงานพิธีคริสต์แบบฝรั่งนั้น ก็มีรายละเอียดความเชื่อเรื่อง โชคลางการแต่งงาน ที่น่าสนใจไม่น้อยทีเดียวค่ะ

ฤกษ์แต่งงาน

ฤกษ์ดีวันแต่งงาน

ฝรั่งเค้าก็มีความเชื่อเรื่องฤกษ์แต่งงานเช่นกันค่ะ โดยเดือนที่นิยมจัดงานแต่งงานคือ เดือนมิถุนายน เชื่อว่าหากคู่รักแต่งงานในเดือนนี้จะนำพาความโชคดีมาให้ เนื่องมาจาก ชื่อเดือน June นั้นมีที่มาจาก เทพี Juno เทพีในตำนานเทพปกรณัมโรมัน เป็นเทพีแห่งการแต่งงานและการถือกำเนิด

และวันที่คู่รักสายฝ. มักจะนิยมจัดงานแต่งงานกันก็มักจะจัดกันในวันจันทร์,อังคาร และวันพุธ โดยมีความเชื่อกันว่า หากแต่งงานในวันจันทร์จะร่ำรวย หากจัดงานในวันอังคารก็จะสุขภาพแข็งแรง และหากจัดงานในวันพุธก็จะโชคดีอย่างที่สุด ทั้งนี้ชาวยิวเชื่อว่าหากแต่งงานในวันอังคารจะเป็นโชคดีของบ่าวสาว

งานแต่งงาน

5 สิ่งของมงคลในชีวิตคู่

“Something old, Something new,

Something borrowed, Something blue,

And a silver sixpence in her shoe.”

ถือเป็นธรรมเนียมที่เจ้าสาวต้องมี 5 สิ่งนี้ในวันแต่งงานตามพิธีคริสต์ เป็นการแก้เคล็ดให้ชีวิตคู่และงานแต่งงานเป็นไปอย่างราบรื่น โดย Something old คือของเก่าแก่จากครอบครัวที่เจ้าสาวต้องติดตัวมาเข้าพิธี ,Something new คือของใหม่ที่ไม่เคยใช้งานมาก่อน, Something borrowed คือของที่หยิบยืมมาจากผู้ที่แต่งงานแล้วและมีชีวิตที่ราบรื่น รักใคร่กลมเกลียว, Something blue คือ อะไรก็ได้ที่เป็นสีฟ้า และ a silver sixpence in her shoe ก็คือเหรียญ 6 เพนนีของอังกฤษที่ต้องใส่ไว้ในรองเท้าเจ้าสาว เหล่านี้จะเป็นเครื่องรางป้องกันเจ้าสาวนั่นเอง

ชุดแต่งงาน

เจ้าบ่าวกับเจ้าสาวห้ามเจอกันก่อนแต่งงาน

เนื่องจากในสมัยก่อน ชาวตะวันตกก็มีประเพณีการคลุมถุงชนไม่ต่างจากฝั่งชาวตะวันออก จึงห้ามมิให้เจ้าบ่าวกับเจ้าสาวเจอกันก่อนแต่งงาน เพื่อป้องกันการปฏิเสธงานแต่งของทั้งคู่ นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่า ถ้าเจ้าบ่าวได้เห็นชุดเจ้าสาวก่อนเข้าพิธีจะทำให้เกิดเรื่องไม่ดีขึ้น

ชุดแต่งงาน

แมงมุม สัตว์มงคลนำโชค

ชาวอังกฤษยุคก่อนมีความเชื่อว่า แมงมุมเป็นสัตว์มงคลนำโชค หากพบแมงมุมที่ยังมีชีวิตอยู่ในชุดเจ้าสาว จะทำให้ชีวิตหลังแต่งงานมีความสุขแบบ Ever After หรือตลอดไปนั่นเองค่ะ และถ้าหากเผลอไปฆ่าแมงมุมเข้าล่ะก็จะทำให้ดวงการเงินตกต่ำโดยทันที (พูดจริง! เจ้าสาวอาจจะร้องไห้แล้ว)

ประโยชน์ของช่อดอกไม้เจ้าสาว

ชาวตะวันตกยุคโบราณเชื่อว่า การแต่งงานก็คือช่วงเวลาของความสุข ที่จะมีปิศาจร้ายคอยมาขัดขวาง หากเจ้าสาวถือช่อดอกไม้เข้าพิธีจะช่วยขับไล่โชคร้ายและโรคภัยไข้เจ็บที่จะเข้ามาทำร้ายเจ้าสาวได้ เพราะกลิ่นดอกไม้และสมุนไพรในช่อจะขับไล่ปีศาจที่จะเข้ามากล้ำกรายเจ้าสาวนั่นเอง ซึ่งหากใครได้รับช่อดอกไม้เจ้าสาวก็เป็นลางบอกเหตุว่าจะได้เป็นเจ้าสาวคนต่อไปอีกด้วย

ย้อนกลับไปในยุคโรมัน เจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะมีพวงมาลัยคล้องคอ เป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นชีวิตใหม่ ความหวังและความศรัทธา ซึ่งยังคงมีให้พบเห็นในพิธีงานแต่งงานแถบเกาะเขตร้อนชื้นบางแห่ง

ผ้าคลุมหน้าเจ้าสาว

ผ้าคลุมหน้าเจ้าสาวมีไว้เพื่อการนี้

จากหนังสือ The End of the Fairy-Tale Bride: For Better or Worse เขียนโดย Cornelia Powell กล่าวถึงที่มาของผ้าคลุมหน้าเจ้าสาว ว่าได้เกิดขึ้นในยุคโรมัน เพื่อป้องกันเจ้าสาวจากสิ่งชั่วร้ายที่จะเข้ามาทำร้ายในช่วงเวลาแสนสุขของชีวิตและเพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อเทพทั้งปวง

เพื่อนเจ้าสาว

เพื่อนเจ้าสาวก็เป็นเครื่องรางอีกรูปแบบหนึ่ง

ในสมัยโบราณกาล เพื่อนเจ้าสาวจะสวมใส่ชุดแบบเดียวกันกับเจ้าสาว พร้อมผ้าคลุมหน้าที่ทั้งหนาและหนัก เพื่อเป็นการล่อหลอกพรางตาปีศาจร้ายรวมไปถึงชายผู้จะมาชิงตัวเจ้าสาวในงานพิธี

โชคลางการแต่งงาน

ธรรมเนียมเจ้าบ่าวอุ้มเจ้าสาวเข้าประตูบ้านก็เพื่อ….?

ชาวตะวันตกมีธรรมเนียมเจ้าบ่าวอุ้มเจ้าสาวเข้าประตูบ้าน เพื่อป้องกันเจ้าสาวจากสิ่งชั่วร้าย ด้วยวิญญาณปีศาจร้ายที่คอยริษยาคู่บ่าวสาวที่กำลังมีความสุขและกำลังก้าวเข้าสู่เรือนหอ ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้รังสีของความชั่วร้ายของปีศาจสามารถสัมผัสถึงฝีเท้าของเจ้าสาว เจ้าบ่าวจึงต้องรวบเท้าของเธอก้าวผ่านธรณีประตูไป ส่วนอีกทฤษฎีหนึ่งกล่าวกันว่า เป็นเพราะในอดีต ญาติพี่น้อง ของฝ่ายเจ้าบ่าวจะทาขอบประตูด้วยน้ำผึ้งซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของคำว่า ฮันนีมูน (honeymoon) และถือเป็นการเริ่มต้นของชีวิตคู่ที่หวานชื่นดั่งน้ำผึ้งพระจันทร์ ดังนั้นเจ้า บ่าวจึงจำเป็นต้องอุ้มเจ้าสาวขึ้นโดยการรวบชายกระโปรงยาวเพื่อไม่ให้ความเหนียวของน้ำผึ้งที่ทาไว้ ติดชายกระโปรงนั่นเองค่ะ

ความเชื่อเหล่านี้บางส่วนก็วิวัฒนาการส่วนผสมทางวัฒนธรรมปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา บางความเชื่ออาจเลือนหาย บางความเชื่ออาจยังคงอยู่ อย่างไรก็ดี เหล่านี้คือรากเหง้าทางวัฒนธรรรมของมนุษย์ที่ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เหมือนสายใยที่คอยเกี่ยวคล้องกันเอาไว้ ให้เราได้ยังเชื่อมโยงกับสิ่งที่บรรพบุรุษส่งต่อมาผ่านทางพิธีกรรมในวันสำคัญของชีวิต ให้เราได้ทำความเข้าใจว่า อย่างน้อยๆ ในวันสำคัญ ผู้หลักผู้ใหญ่ก็มีเจตนาดี มีความตั้งใจที่จะให้เราไปเริ่มต้นสร้างครอบครัวได้อย่างราบรื่น ปลอดภัย ผ่านทางความเชื่อเหล่านี้นี่เองค่ะ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

9 สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ไหว้ขอลูก พร้อมเคล็ดลับการขอลูกให้สมหวัง

ฤกษ์แต่งงาน 2566 ฤกษ์มงคลชีวิตคู่ครบทั้ง 12 เดือน

เลือกอัญมณีตามวันเกิด เสริมพลังดึงดูดเสน่ห์