คำสอนพระพุทธศาสนา ปฏิจจสมุปบาท ปฏิจจสมุปบาท 12 ประการ พุทธวจน

ปฏิจจสมุปบาท 12 ประการ มีอะไรบ้าง

พระพุทธเจ้าตรัสถึงหลักปฏิจจสมุปบาทนี้ไว้ว่า " …ปฏิจจสมุปบาทนี้ เป็นธรรมลึกซึ้ง ทั้งมีกระแสความลึกซึ้งเพราะไม่รู้ ไม่ตรัสรู้ ไม่แทงตลอดธรรมนี้ หมู่สัตว์นี้จึงเป็นเหมือนเส้นด้ายที่ยุ่ง เป็นเหมือนกลุ่มเส้นด้ายที่เป็นปม เป็นเหมือนหญ้ามุงกระต่ายและหญ้าปล้อง ย่อมไม่ผ่านพ้น อบาย ทุคติ วินิบาต สงสาร"

Home / ธรรมะ / ปฏิจจสมุปบาท 12 ประการ มีอะไรบ้าง

ปฏิจจสมุปบาท 12 ประการ มีอะไรบ้าง

ปฏิจจสมุปบาท 12 ประการ มีอะไรบ้าง

หนึ่งในคำสอนพระพุทธศาสนาอันเป็นธรรมลึกซึ้ง คือ หลักปฏิจจสมุปบาท ซึ่งความรู้เกี่ยวกับ ปฏิจจสมุปบาท 12 ประการ มีอะไรบ้าง ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจความหมายของคำว่า ปฏิจจสมุปบาท กันก่อน

ความหมายของปฏิจจสมุปบาท

ปฏิจจสมุปบาท มาจากคำว่า “ปฏิจฺจ” แปลว่า อาศัย “สํ” แปลว่า พร้อม และ “อุปฺปาท” แปลว่า เกิดขึ้น ความหมายคือ การเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรมทั้งหลายเพราะอาศัยกัน หรือ การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันจึงเกิดมีขึ้น เป็นหลักพุทธปรัชญาที่สำคัญ มีความหมายเท่ากับธรรมทั้งหมดที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ดังพุทธวจนะที่ว่า


“ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม
ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นปฏิจจสมุปบาท”

ปฏิจจสมุปบาทจึงเป็นศูนย์กลางแห่งคำสอนของพระพุทธศาสนา และยังถือว่าเป็นกฎแห่งชีวิตและกฎธรรมชาติ เป็นหลักความจริงที่มีอยู่แล้วโดยธรรมดา ไม่ว่าพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นหรือไม่ก็ตาม

พระพุทธรูป

ปฏิจจสมุปบาทมีองค์ประกอบ 12 ประการ

1.อวิชชา คือ ความไม่รู้จริง หรือ ความเขลา หมายถึง ความไม่รู้อย่างแจ่มแจ้งในอริยสัจ 4

2.สังขาร คือ ความนึกคิดหรือการตั้งเจตจำนง หมายถึง กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร

3.วิญญาณ คือ การรับรู้อารมณ์ต่างๆ หมายถึง การรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

4. นามรูป คือ นามและรูป

  • นาม หมายถึง เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ
  • รูป หมายถึง มหาภูตรูป 4 คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม และ อุปาทายรูป คือ รูปที่อาศัยมหาภูตรูป 4

5.สฬายตนะ คือ อายตนะภายใน 6 หมายถึง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

6.ผัสสะ คือ การกระทบของอายตนะภายใน ภายนอก และวิญญาณ หมายถึง การสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ

7.เวทนา คือ การเสวยอารมณ์สุข ทุกข์หรือเฉยๆ หมายถึง อารมณ์ที่เกิดจากการสัมผัส 6 ประการคือ

  • จักขุสัมผัสสชาเวทนา คือ อารมณ์เกิดจากการสัมผัสทางตา
  • โสตสัมผัสสชาเวทนา คือ อารมณ์เกิดจากการสัมผัสทางหู
  • ฆานสัมผัสสชาเวทนา คือ อารมณ์เกิดจากการสัมผัสทางจมูก
  • ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา คือ อารมณ์เกิดจากการสัมผัสทางลิ้น
  • กายสัมผัสสชาเวทนา คือ อารมณ์เกิดจากการสัมผัสทางกาย
  • มโนสัมผัสสชาเวทนา คือ อารมณ์เกิดจากการรู้ทางใจ

8.ตัณหา คือ ความดิ้นรนทะยานอยาก หมายถึง ความทะยานอยากในอารมณ์ทั้ง 6 ดังนี้

    • รูปตัณหา = ความทะยานอยากในรูป
    • สัททตัณหา = ความทะยานอยากในเสียง
    • คัณธตัณหา = ความทะยานอยากในกลิ่น
    • รสตัณหา = ความทะยานอยากในรส
    • โผฏฐัพพะตัณหา = ความทะยานอยากในสัมผัสทางกาย
    • ธัมมตัณหา = ความทะยานอยากในธรรมารมณ์ (เรื่องราว)

    9. อุปาทาน คือ ความยึดมั่น หมายถึง ความยึดมั่น 4 ประการ ดังนี้

      • กามุปาทาน คือ ยึดมั่นในกาม
      • ทิฏฐุปาทาน คือ ยึดมั่นในทิฐิ
      • สีลัพพตุปาทาน คือ ยึดมั่นในศีลและพรตหรือวัตร
      • อัตตวาทุปาทาน คือ ยึดมั่นในตัวตน

      10.ภพ คือ กระบวนการแห่งการเกิด หมายถึง กามภพ รูปภพ อรูปภพ
      11.ชาติ คือ ความเกิด หมายถึง การปรากฏแห่งขันธ์ การได้อายตนะต่างๆ
      12.ชรามรณะ คือ ความแก่ ความตาย หมายถึง ความทรุดโทรมแห่งอวัยวะต่างๆ (ชรา) และความสลายแห่งขันธ์ ความขาดชีวิตินทรีย์ (มรณะ)

        ปฏิจจสมุปบาทแบ่งออกเป็น 2 สาย

        ปฏิจจสมุปบาท มีอีกชื่อว่า ปัจจยาการ หมายถึง ปรากฏการณ์ทั้งหลายเกิดขึ้น เป็นไปเพราะปัจจัยต่างๆ และ อิทัปปัจจยตา หมายถึง เมื่อสิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น ดังข้อความว่า


        “เมื่อสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้นสิ่งนี้จึงเกิดขึ้น
        เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ”

        การที่สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัย และสิ่งต่างๆ นั้นจะไม่เกิด ถ้าหากไม่มีเหตุปัจจัย ปฏิจจสมุปบาทจึงแบ่งออกเป็น 2 สาย คือ

        1. สายเกิด เรียกว่า สมุทัยวาร หมายถึง ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์
        2. สายดับ เรียกว่า นิโรธวาร คือ ความดับไปแห่งกองทุกข์ทั้งมวล
        ธรรมะ

        พระพุทธเจ้าตรัสถึงปฏิจจสมุปบาททั้ง 2 สายนี้ไว้ว่า

        ” เราจักแสดงมิจฉาปฏิปทาและสัมมาปฏิปทา พวกเธอจงฟัง ปฏิปทาทั้ง 2 นั้น …เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ …. ความเกิดแห่งความทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ นี่เรียกว่า มิจฉาปฏิปทาฯ
        …. เพราะอวิชชานั่นแหละดับด้วยอาการสำรอกโดยไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ… ความดับแห่งทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ นี่เรียกว่า สัมมาปฏิปทาฯ”

        ปฏิจจสมุปบาทสายเกิด จึงมีชื่อว่า มิจฉาปฏิปทา หมายถึง ทางผิด หรือ การปฏิบัติผิด ส่วนสายดับนั้นมีชื่อว่า สัมมาปฏิปทา หมายถึง ทางถูกหรือการปฏิบัติชอบ ซึ่งทั้ง 2 สายมีรายละเอียดดังนี้

        มิจฉาปฏิปทา (สายเกิด)

        1.เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี
        2.เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
        3.เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี
        4.เพราะนามรูปเป็นปัจจัย อายตนะ 6 จึงมี
        5.เพราะอายตนะ 6 เป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
        6.เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
        7.เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
        8.เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี
        9.เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
        10.เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติ (ความเกิด) จึงมี
        11.-12. เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี

        ความเศร้าโศก คร่ำครวญ ความทุกข์ ความคับแค้นใจจึงเกิดมีขึ้นพร้อมกับความทุกข์

        สัมมาปฏิปทา (สายดับ)

        1.เพราะอวิชชาสำรอกออกไปโดยไม่เหลือ สังขารจึงดับ
        2.เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
        3.เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
        4.เพราะนามรูปดับ อายตนะ 6 จึงดับ
        5.เพราะอายตนะ 6 ดับ ผัสสะจึงดับ
        6.เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ
        7.เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
        8.เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
        9.เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
        10. เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
        11.-12.เพราะชาติดับ ชรามรณะจึงดับ

        ความเศร้าโศก คร่ำครวญ ความทุกข์ ความคับแค้นใจก็ดับ ความทุกข์ทั้งมวลก็ดับลง

        เมรุ

        พระพุทธเจ้าตรัสถึงหลักปฏิจจสมุปบาทนี้ไว้ว่า ” …ปฏิจจสมุปบาทนี้ เป็นธรรมลึกซึ้ง ทั้งมีกระแสความลึกซึ้งเพราะไม่รู้ ไม่ตรัสรู้ ไม่แทงตลอดธรรมนี้ หมู่สัตว์นี้จึงเป็นเหมือนเส้นด้ายที่ยุ่ง เป็นเหมือนกลุ่มเส้นด้ายที่เป็นปม เป็นเหมือนหญ้ามุงกระต่ายและหญ้าปล้อง ย่อมไม่ผ่านพ้น อบาย ทุคติ วินิบาต สงสาร”

        ศาสนาพุทธ

        หลักปฏิจจสมุปบาท อธิบายถึงการปรากฏของสิ่งต่างๆ ว่าทั้งสิ้นล้วนมีปัจจัย โดยอธิบายได้ดังนี้

        1.อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร
        หมายถึง ความไม่รู้ ไม่เข้าใจ หรือ การไม่รู้แจ้งในข้อเท็จจริง (อวิชชา) บุคคลย่อมเกิดความคิด มีความมุ่งหมายเกิดขึ้น มีความอยากเป็น อยากได้ในสิ่งต่างๆ

        2.สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ
        หมายถึง ความอยาก ความมุ่งหมาย (สังขาร) เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รส การสัมผัสและความคิด

        3.วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป
        แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ นามและรูป

        • วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนาม หมายถึง วิญญาณเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความรู้สึก (เวทนา) ความจำได้ (สัญญา) และความคิดต่างๆ (สังขาร)
        • วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดรูป หมายถึง วิญญาณเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดร่างกาย สิ่งนี้มองเห็นได้ยาก แต่พระพุทธเจ้าสอนว่าร่างกาย (รูป) นั้นเกิดขึ้นพร้อมกับนาม ทั้งสองนั้นเป็นของคู่กัน คือ กายและจิต โดยมีเหตุที่ทำให้เกิด คือ วิญญาณ

        4.นามรูปเป็นปัจจัยให้เกิดสฬายตนะ
        หมายถึง เวทนา สัญญา สังขาร (เจตสิก) และรูป (ร่างกาย) เป็นปัจจัยให้เกิดอวัยวะ เครื่องติดต่อทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ

        5.สฬายตนะเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ
        หมายถึง ประสาทสัมผัสทั้ง 6 ซึ่งเป็นอายตนะภายในเกิดการกระทบกับสิ่งภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธัมมารมณ์

        6.ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา
        หมายถึง การกระทบกับสิ่งภายนอกก่อให้เกิดความรู้สึกสุข ทุกข์หรือเฉยๆ

        7.เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา
        หมายถึง ความรู้สึกเป็นสุขในสิ่งที่ได้พบเห็น ได้สัมผัส ย่อมก่อให้เกิดความทะยานอยาก ที่จะให้ได้มาในสิ่งนั้น ได้แก่ อยากเห็นรูปที่สวยงามนั้นอีก อยากดมกลิ่นหอมนั้น อยากสัมผัสในสิ่งที่นุ่มนวล เป็นต้น หรือความรู้สึกที่เป็นทุกข์ต่อสิ่งที่ได้สัมผัสย่อมก่อให้เกิดการหลีกหนี

        8.ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน
        หมายถึง ความทะยานอยากก่อให้เกิดความยึดมั่น มีความคิดผูกพันในสิ่งนั้น เช่น ความรักแบบชู้สาว อันมีตัณหาประกอบย่อมก่อให้เกิดความผูกพัน ยึดมั่นในรัก ยึดมั่นในกาม รวมทั้งการเกิดทิฐิ เกิดความยึดมั่นในตัวตน

        9.อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิดภพ
        หมายถึง ความยึดมั่นทำให้ภาวะต่างๆ เกิดขึ้น (สภาวะทางจิตใจ) เช่น มีความกำหนัดยินดี เป็นพื้นฐานก่อให้เกิดกามภพ คือ ภาวะแห่งความใคร่ หรือมีจิตใจที่เป็นกุศลสงบนิ่ง (ฌาณ) ก็ก่อให้เกิดรูปภพ หรือการมีจิตใจสงบอย่างสูง (เข้าถึงอรูปฌาณ) ก็ก่อให้เกิดอรูปภพ

        10.ภพเป็นปัจจัยให้เกิดชาติ
        หมายถึง เมื่อมีภาวะของจิตใจอยู่ในภพใดก็ย่อมมีการเกิด (ชาติ) หรือ การปรากฏแห่งขันธ์ขึ้น อาทิ มนุษย์มีจิตใจอยู่ในกามภพ ก็เปรียบดั่งทารกอยู่ในครรภ์มารดา การคลอด (ชาติ) หรือ ร่างกายย่อมเกิดขึ้นตามมา

        11.- 12.ชาติเป็นปัจจัยให้เกิดชรามรณะ
        หมายถึง เมื่อมีสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น การเปลี่ยนแปลง ความทรุดโทรม (ชรา) ย่อมเป็นสิ่งที่ติดตามมาและมีการสูญสลาย (มรณะ) ไปในที่สุด เมื่อเป็นเช่นนี้ ความเศร้าโศก คร่ำครวญรำพัน ความทุกข์ย่อมเกิดขึ้น

        อย่างไรก็ตาม อวิชชา ไม่ได้เป็นสาเหตุแรกของกระบวนการทั้งหมด แต่เพราะเริ่มต้นอธิบายด้วยอวิชชา ดังนั้นจึงจบลงด้วยอวิชชา ความจริงแล้วอวิชชาเองก็ยังมีเหตุปัจจัยให้เกิดเช่นกัน คือ อาสวะ เป็นปัจจัยให้เกิดอวิชชา

        โดยสรุปแล้ว หลักปฏิจจสมุปบาท คือ ความรู้ในเรื่องความทุกข์ และการแก้ปัญหาความทุกข์ หรือการขจัดอวิชชา ซึ่งเป็นสาเหตุของความทุกข์

        ภาพโดย MTHAI TEAM

        ที่มา ; พุทธปรัชญา,บทที่ 5 : ปฏิจจสมุปบาท : หลักญาณวิทยา, มหาวิทยาลัยรามคำแหง