หลากเรื่องเล่าเสียงสะท้อนจากคนหลายวัย ต่างอาชีพ ในชุมชนย่านคลองสาน ถึงความคาดหวัง ประโยชน์ที่จะได้รับในแง่วิถีชีวิต การกระตุ้นทางเศรษฐกิจ รวมถึงรายได้ที่จะเพิ่มขึ้นของคนในชุมชน เมื่อมีการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีทอง ในวันที่ 16 ธันวาคม 2563
คลองสาน ถือเป็นอีกหนึ่งย่านสำคัญเก่าแก่ของกรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรี ทั้งยังเป็นศูนย์กลางทั้งการค้า ศาสนา และวัฒนธรรมต่าง ๆ ตลอดจนสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ และแม้จะมีความเจริญแทรกเข้ามาตามยุคสมัย แต่ทว่าความกลมกลืนระหว่างสิ่งเก่าและสิ่งใหม่ยังผสานไปด้วยกันอย่างลงตัว และเร็ว ๆ นี้ กำลังจะมีการพัฒนาด้านการคมนาคมที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่นี้อีกครั้ง กับการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีทอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางของประชาชนในการทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างสะดวกสบาย และปลอดภัย ตลอดจนในเรื่องของการท่องเที่ยว เพราะเมื่อการเดินทางเข้าถึงพื้นที่ทำได้ง่ายขึ้น นั่นก็หมายถึงจำนวนเม็ดเงินที่เข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งผู้ประกอบการรายเล็กและใหญ่ ซึ่งพลอยได้รับผลประโยชน์ด้วยเช่นกัน ในวันนี้เรามีประจักษ์พยานเสียงของคนในชุมชน สะท้อนถึงเรื่องราวดี ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นพร้อมกับการมาของรถไฟฟ้าสายสีทอง เปรียบเสมือนเป็นของขวัญกล่องใหญ่ต้อนรับเทศกาลปีใหม่ปลายปีนี้
แพทย์หญิงสิรินาถ เวทยะเวทิน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตากสิน
“รถไฟฟ้าสายสีทองจะเข้ามาสร้างประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งเจ้าหน้าที่ บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย และญาติผู้ป่วย ในแง่ของความสะดวกสบาย และมีตัวเลือกในการเดินทางมาโรงพยาบาลมากยิ่งขึ้น”
แพทย์หญิงสิรินาถ เวทยะเวทิน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตากสิน กล่าวถึงการเข้ามามีบทบาทของรถไฟฟ้าสายสีทอง พร้อมระบุด้วยว่า ในแต่ละวันโรงพยาบาลตากสิน ต้องรองรับผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยเฉลี่ยต่อวันเป็นจำนวนมากถึง 2,500 คน ในขณะที่ลานจอดรถในพื้นที่ของโรงพยาบาล 2 ตึก ได้แก่ อาคารสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มี 17 ชั้น และอาคารธนบุรีศรีมหาสมุทร มี 20 ชั้น สามารถจอดรถได้เพียง 120 คันเท่านั้น เรียกว่าค่อนข้างมีความแออัดเป็นอย่างมาก ดังนั้น การเปิดให้บริการรถไฟสายสีทอง จึงเป็นเหมือนความหวังที่จะสามารถเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระและแก้ไขปัญหาให้คลี่คลายลงในทางที่ดีขึ้นกับทุกๆ ฝ่าย ทั้งช่วยประหยัดเวลา และค่าใช้จ่าย ลดปัญหาที่จอดรถในโรงพยาบาลที่ไม่เพียงพอ
ทั้งนี้ ในส่วนของทางโรงพยาบาลก็ได้จัดเตรียมกำลังคนและสถานที่ พร้อมรับมือกับจำนวนผู้มาใช้บริการที่มากขึ้นในอนาคตด้วยเช่นกัน
อาจารย์ ดร.วิสิทธิ์ โพธิวัฒน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาออกแบบกราฟฟิกและอินโฟร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
“การมีรถไฟฟ้าสายสีทองเข้ามาเชื่อมโยงการสัญจร ย่อมทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยที่เคยค้าขายแต่เดิม มีโอกาสที่จะพบปะกับลูกค้ารายใหม่ และเจอลูกค้าที่มีกำลังซื้อมากขึ้น เป็นสัญญาณที่ดีของการขยายตัว ทั้งทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวภายในพื้นที่ชุมชน”
อาจารย์ ดร.วิสิทธิ์ โพธิวัฒน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาออกแบบกราฟฟิกและอินโฟร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เผยมุมมองประโยชน์ของรถไฟฟ้าสายสีทองไว้ 2 ประการด้วยกัน คือ
ประการแรก : ในแง่ของการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังชุมชน ด้วยเพราะย่านคลองสานและเจริญนครเป็นพื้นที่เชิงวัฒนธรรม มีทั้งความงดงามของศิลปะ การทำมาค้าขาย อาหารการกิน การมีรถไฟฟ้าสายสีทอง เข้ามาเชื่อมโยงการสัญจร ย่อมทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยที่เคยค้าขายแต่เดิมมีโอกาสที่จะพบปะกับลูกค้ารายใหม่ และเจอลูกค้าที่มีกำลังซื้อมากขึ้น เป็นสัญญาณที่ดีของการขยายตัวทั้งทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวภายในพื้นที่ชุมชน
ประการที่สอง : ในส่วนของมหาวิทยาลัย รถไฟฟ้าสายสีทองจะทำให้ทุกคนได้รับผลประโยชน์ทุกฝ่าย นักศึกษาที่อาศัยฝั่งพระนคร ก็เดินทางมาเรียนสะดวกขึ้น ลดความแออัดของการจราจรบนท้องถนนบริเวณสี่แยกบ้านแขก บริเวณถนนประชาธิปกตัดกับถนนอิสรภาพ ในทางกลับกัน เมื่อความแออัดน้อยลง ย่อมนำมาซึ่งมลภาวะทางอากาศที่ดีขึ้นตามไปด้วย และสิ่งสำคัญที่สุดคือ การลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ด้วยระบบรถไฟฟ้าสายสีทอง มีความปลอดภัยสูงมาก มาตรฐานเทียบเท่ากับระบบรถไฟฟ้าที่โอไดบะ ประเทศญี่ปุ่น จึงเป็นการยกระดับมาตรฐานทั้งในแง่คุณภาพและความปลอดภัยให้กับทุกชีวิตที่ใช้บริการ
คุณเฉลียว ปรีกราน นายกสมาคมการค้าธุรกิจในแม่น้ำเจ้าพระยา
“รถไฟฟ้าสายสีทองก็จะเป็นอีก 1 ปัจจัย ที่จะเข้ามาช่วยเติมเต็มและเชื่อมต่อการเดินทางด้วยทางเรือและทางบก ทั้งระบบรางและล้อให้เข้าถึงกันได้อย่างสะดวกครบวงจรมากยิ่งขึ้น”
หากกล่าวถึงการคมนาคมที่เชื่อมต่อรถ ราง เรือ ในมุมมองของผู้คร่ำหวอดธุรกิจริมน้ำ คุณเฉลียว ปรีกราน แสดงถึงทัศนะเกี่ยวกับบทบาทของรถไฟฟ้าสายสีทอง กับการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ ว่า รถไฟฟ้าสายสีทองจะทำหน้าที่เชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจระหว่างผู้ประกอบการในพื้นที่และผู้ลงทุน ให้เป็นไปอย่างสะดวกและครบวงจรมากยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะชุมชน ร้านค้าริมทาง โรงแรม และที่พัก ต่างก็ได้รับประโยชน์ร่วมกันหมดทุกฝ่าย ซึ่งในพื้นที่ย่านคลองสานเองก็มีที่เที่ยวหลากหลาย เช่น ชุมชนกุฎีจีน, วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร, วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร และโบสถ์ซางตาครู้ส เป็นต้น รถไฟฟ้าสายสีทองจะเป็นประตูคอยเปิดรับคนนอกพื้นที่ให้เข้ามาทำความรู้จักสถานที่เหล่านี้มากขึ้น ในขณะที่กรมเจ้าท่าก็จะทำการพัฒนาท่าเรือให้สวยงาม เพื่อต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองที่มีแพลนแวะเข้ามาเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ ด้วยความยินดี
คุณ Heidi Kleine-Moeller, General Manager Millennium Hilton Bangkok
“ต่อจากนี้ไปเราสามารถประกาศได้อย่างเต็มตัวแล้วว่า โรงแรม Millennium Hilton Bangkok ตั้งอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าในระยะที่ขบวนโดยสารวิ่งตรงมายังโรงแรม (Direct Connectivity) ทำให้ทุกอย่างเชื่อมต่อเป็นโครงข่ายไปด้วยกันหมด”
ในส่วนของผู้ประกอบการโรงแรมขนาดใหญ่อย่าง Millennium Hilton Bangkok มองว่าการมีรถไฟฟ้าอยู่ใกล้กับโรงแรมนั้นจะช่วยสร้างประโยชน์ให้กับธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะโรงแรมเป็นอย่างมาก โดยก่อนหน้านี้หลายคนมักคิดว่าโรงแรมของเราตั้งอยู่ริมแม่น้ำในย่านฝั่งธนบุรี และไกลจากตัวเมืองค่อนข้างมาก เหล่านี้นำมาซึ่งข้อกังวลต่าง ๆ ของผู้มาใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางและที่จอดรถ ดังนั้น การมีรถไฟฟ้าสายสีทอง จึงเป็นการขยายโอกาสให้กับทางโรงแรมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการดึงดูดจำนวนนักท่องเที่ยว เพราะกลุ่มลูกค้าที่พักในเมืองส่วนใหญ่มักเลือกที่จะพักโรงแรมที่อยู่ใกล้หรือติดกับสถานีรถไฟฟ้าเป็นอันดับแรก นับว่าเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมไมซ์ (MICE business) ซึ่งนักเดินทางกลุ่มไมซ์ถือเป็นกลุ่มลูกค้าหลักรายใหญ่ของทางโรงแรม
การมาของรถไฟฟ้าสายสีทอง จะเข้ามาสร้างความสะดวกสบายในแง่ของไลฟ์สไตล์ ซึ่งสามารถเดินทางไปช้อปปิ้ง ICONSIAM รวมถึงแวะเที่ยวสถานที่สำคัญต่าง ๆ อย่างพระบรมมหาราชวัง วัดพระแก้วฯ วัดโพธิ์ และสถานที่สำคัญริมแม่น้ำต่าง ๆ เหล่านี้ช่วยเสริมให้ธุรกิจการค้าในแถบนี้คึกคักยิ่งขึ้น เตรียมรองรับนักท่องเที่ยวที่กำลังจะกลับมาในอนาคตอันใกล้ ต่อไปฝั่งธนบุรีจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่ผู้คนอยากจะมาเยือนเพื่อสำรวจวิถีการท่องเที่ยวริมแม่น้ำในรูปแบบใหม่ที่เข้าถึงได้ง่ายกว่าเดิม
คุณอรพิณ วิไลจิตร ผู้ประกอบตลาดพลูโฮสเทล และคุณธนกร สิงห์ทอง เจ้าของ DayDream Boutique Home
“เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์เอง เพราะเมื่อทุกอย่างจบ วันหนึ่งหากเขาได้ลองใช้ แล้วจะรู้เลยว่ามันคุ้มค่าสมกับการรอคอย” (คุณอรพิณ วิไลจิตร)
คุณอรพิณ วิไลจิตร หนึ่งในผู้ทำธุรกิจรายย่อยในเขตธนบุรี เผยให้เห็นถึงความรู้สึกดีใจกับการมาเยือนของรถไฟฟ้าสายสีทอง ถึงแม้ว่าในตอนแรกอาจจะหลีกเลี่ยงไม่ได้กับความรู้สึกหงุดหงิดต่าง ๆ ในช่วงระหว่างการก่อสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับปัญหารถติด แต่ถึงอย่างนั้นเมื่อรู้ถึงข่าวดีว่ารถไฟฟ้าสายสีทอง จะเปิดให้บริการในเร็ว ๆ นี้แล้ว กลับกลายเป็นว่าเปลี่ยนความคิดของตัวเองไปทันที เหตุผลอย่างแน่นอนที่สุด นั่นคือ ลูกค้าสามารถเดินทางไปยังโฮสเทลได้โดยสะดวก สุดท้ายทุกคนก็แฮปปี้ได้รับประโยชน์กันถ้วนหน้า
“การมีแนวรถไฟฟ้าจะช่วยส่งเสริมให้คนในพื้นที่ได้มีอาชีพ ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับที่ดิน สร้างความได้เปรียบให้กับธุรกิจ ทำให้คนแถวนี้มีรายได้ มีความสุข เพิ่มค่าครองชีพ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” (คุณธนกร สิงห์ทอง)
สอดคล้องกับคุณธนกร สิงห์ทอง เจ้าของ DayDream Boutique Home ที่เล็งเห็นประโยชน์จากการทำธุรกิจดังกล่าว หวังให้เป็นทั้งที่พักและที่เที่ยว ที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์สมัยใหม่ เน้นเช็กอินลงโซเชียลมีเดีย บวกกับสถานที่ติดกับรถไฟฟ้าสายสีทอง น่าจะเป็นโอกาสดีทั้งต่อธุรกิจและแขกที่เดินทางมาเข้าพัก ซึ่งล้วนแล้วแต่ได้รับผลประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย
รวิพล เส็นยีหีม (น้องบู) เยาวชนในชุมชนมัสยิดสุวรรณภูมิ
“ทุกคนเฝ้ารอและเตรียมพร้อมที่จะต้อนรับการมาของนักท่องเที่ยวทุกรูปแบบ ซึ่งน่าจะเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนแห่งนี้ให้ดีขึ้น และบูมยิ่งขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน”
ชุมชนมัสยิดสุวรรณภูมิ หนึ่งในชุมชนมุสลิมเก่าแก่ของกรุงเทพฯ ย่านฝั่งธนบุรี บนความต่างทางวัฒนธรรม นำมาซึ่งเอกลักษณ์ที่น่าค้นหา นับตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน เวลาได้นำพาความเปลี่ยนแปลงมาสู่ชุมชน และนี่คือเสียงสะท้อนความรู้สึกของเยาวชน “น้องบู” กับความเปลี่ยนแปลงต่อการพัฒนาในพื้นที่มากขึ้นตามลำดับ การมาเยือนของรถไฟฟ้าสายสีทอง น่าจะเป็นอีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่ทั้งตัวเขาและชุมชนต้องเผชิญ หากนั่นก็เต็มไปด้วยข้อดีต่าง ๆ มากมาย ทั้งการเดินทางที่สะดวกสบายมากขึ้น วางแผนการเดินทางอย่างทันท่วงที ตลอดจนการกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยว เหล่านี้สร้างความรู้สึกตื่นเต้นและคึกคักให้กับคนในละแวกพื้นที่รวมถึงตัวเขา ที่จะได้รับผลประโยชน์มากมายจากรถไฟฟ้าสายสีทอง
คุณเศรษฐพงศ์ ชูชัย หรือ พี่เทพ วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง
“เมื่อใดที่รถไฟฟ้าสายสีทองเปิดให้บริการน่าจะส่งผลดี เพราะคนนอกพื้นที่จะสามารถเข้าถึงแหล่งต่าง ๆ ของย่านนี้ได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งเท่ากับช่วยขยายฐานลูกค้าให้กับบรรดาวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างทั้งหลาย ทั้งเพิ่มและช่วยกระจายรายได้ไม่ให้กระจุกตัวสั้น ๆ อยู่แค่ช่วงเช้าเพียงระยะเวลาเดียวเท่านั้น”
ถ้อยคำจากวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างบริเวณปากซอยเจริญนคร 6 ที่แวะเวียนรับ-ส่งลูกค้าในพื้นที่ย่านคลองสานจนชำนาญ ในชั่วโมงเร่งด่วนของแต่ละวัน จะมีลูกค้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อพ้นช่วงเวลานั้นไปแล้ว จำนวนลูกค้าก็จะลดลงตามลำดับ เป็นปกติธรรมดาในแต่ละวัน แต่เมื่อมีรถไฟฟ้าสายสีทอง น่าจะเป็นโอกาสดีที่พี่เทพจะได้ลูกค้าเพิ่มมากขึ้น เพราะคนนอกพื้นที่จะสามารถเข้าถึงย่านนี้ได้ง่ายมากขึ้น เท่ากับว่านอกจากจะเป็นการขยายกลุ่มลูกค้าแล้ว ในแง่หนึ่งพี่เทพและวินมอเตอร์ไซค์คนอื่น ๆ จะมีรายได้เฉลี่ยต่อวันที่เพิ่มมากขึ้น นับเป็นการกระจายรายได้ต่อสายป่านให้กับอาชีพนี้อีกทางหนึ่งด้วย
คุณบุณยนิธย์ สิมะเสถียร ผู้ดูแลศาลเจ้าเกียนอันเกง
“เมื่อรถไฟฟ้าสายสีทองเปิดให้บริการแล้วผมเชื่อมั่นว่าทั้งหมดนี้จะช่วยสร้างประโยชน์ให้กับประชาชน ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยพื้นที่ในเขตธนบุรี-คลองสาน จะได้รับการยกระดับให้เป็นทำเลทอง และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวโซนใหม่ ซึ่งคาดว่าจะได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ทั้งจากชาวไทยและชาวต่างชาติ”
ย่านกุฎีจีน ย่านเก่าแก่ของกรุงเทพฯ ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวประวัติศาสตร์ชุมชนหลากเชื้อชาติ ทั้งชาวไทย จีน ฝรั่ง ญวน และมอญ ถือว่าพื้นที่แห่งนี้มีความหลากหลายของชาติพันธุ์ ทำให้คนยุคใหม่มีโอกาสได้เข้ามาสัมผัสและเรียนรู้เรื่องราวเชิงประวัติศาสตร์แถบนี้ได้ง่ายขึ้น เพราะเข้าถึงได้อย่างสะดวก เหล่านี้เป็นเสน่ห์ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างแวะเวียนเข้ามาค้นหา และเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ทั้งวัดซางตาครู้ส, ศาลเจ้าเกียนอันเกง, วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร และมัสยิดบางหลวง ตลอดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
ทั้งนี้ คุณบุณยนิธย์ สิมะเสถียร ผู้จัดการศาลเจ้าเกียนอันเกง มีมุมมองต่อการมาของรถไฟฟ้าสายสีทอง ซึ่งมีส่วนอย่างมากต่อการอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว เพราะเมื่อลงจากรถไฟฟ้าสายสีทอง สถานีคลองสาน สามารถใช้เส้นทางจากวัดทองนพคุณ เดินต่อมาที่ล้ง 1919 ไม่ไกลก็จะถึงสวนสมเด็จย่า จากนั้นสามารถเดินทะลุซอยลอดใต้สะพานพุทธ สะพานพระปกเกล้า แล้วเดินเลียบแม่น้ำผ่านมาเพื่อแวะสักการะองค์พระโพธิสัตว์ที่ศาลเจ้าเกียนอันเกงได้ หรือจะแวะเติมพลังด้วยการหาของกินอร่อย ๆ ระหว่างทาง ก็มีให้เลือกไม่อั้นเช่นกัน
ทั้งหมดนี้นับเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าของระบบรางรถไฟฟ้า ที่ช่วยสนับสนุนการเดินทางให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นกว่าสมัยก่อน ทำให้คนที่ต้องการเดินทางมาไหว้ที่ศาลเจ้าแห่งนี้มีทางเลือกในการเดินทางที่หลากหลาย ที่สำคัญลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว และหันมาใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้นนั่นเอง
หลากหลายเสียงสะท้อนของคนในพื้นที่ชุมชน กลายเป็นประจักษ์พยานที่ทำให้รู้ว่า รถไฟฟ้าสายสีทองที่พร้อมเปิดให้บริการในวันที่ 16 ธันวาคม 2563 นั้น ได้นำมาซึ่งประโยชน์ให้กับผู้คนหลายฝ่ายเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางที่ทั้งสะดวกและปลอดภัย การท่องเที่ยวรูปแบบวิถีชุมชน ตลอดจนการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในระดับจุลภาคและมหภาค ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาอันใกล้นี้แล้ว