แก๊สหุงต้ม คือสิ่งที่ไม่อาจขาดได้ในทุกครัวเรือน ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานตามบ้าน หรือร้านค้าปลีก ปริมาณการใช้งานแก๊สหุงต้มถือเป็นมาตรวัดระดับเศรษฐกิจของประเทศที่สำคัญในทางหนึ่ง และการหมุนเวียนการส่งแก๊สหุงต้มของผู้ให้บริการ ก็คือสิ่งที่ขับเคลื่อนให้กระบวนการเหล่านี้ เดินหน้าไปอย่างไม่ติดขัด
อย่างไรก็ตาม แม้เป็นปัจจัยที่สำคัญ แต่ระบบการจัดการการนำส่งแก๊สหุงต้มกลับมีรูปแบบที่ไม่ชัดเจน หลายครั้งขาดประสิทธิภาพ จะดีกว่าหรือไม่ ถ้าทุกสิ่งถูกทำให้ ‘ง่าย’ สำหรับผู้ประกอบการร้านแก๊ส ตรวจวัดได้ ส่งครบถ้วนไม่ขาดตก
และด้วยความปรารถนาที่จะทำให้ทุกสิ่งง่ายขึ้นเช่นนี้เอง ที่เป็นแรงผลักดันให้ คุณกิตติพงศ์ สินทร อดีตนักศึกษาจากรั้วศิลปากร สู่การออกแบบแพลทฟอร์ม ‘Ezy Gas’ ระบบจัดการหลังบ้านของร้านแก๊ส ที่จะทำให้การคิดคำนวณปริมาณการจัดส่ง รวมถึงการขนส่ง เป็นไปได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และ ‘ง่าย’ กว่าที่เคยมีมา
คุณกิตติพงศ์ สินทร ประธานกรรมการบริษัท Ezy Groups
สิ่งจำเป็น ที่ไม่เคยถูกคิดให้ ‘ง่าย’
คุณกิตติพงศ์ สินทร ประธานกรรมการบริษัท Ezy Groups ผู้พัฒนาแพลทฟอร์ม Ezy Gas สำหรับบริหารจัดการร้านแก๊สหุงต้ม เจ้าของรางวัล Startup Thailand League จากเวทีประกวดของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA คือผู้หนึ่งที่มีหัวใจแห่งผู้ประกอบการ และมองหนทางแห่งธุรกิจ Startup ที่จะช่วยเหลือผู้คนเป็นแนวทางหลัก หากแต่ในช่วงแรก การนำเสนอแนวคิดยังอาจจะไม่แหลมคมพอ
“ผมเริ่มทำธุรกิจตั้งแต่เป็นนักศึกษาปี 2017 โดยตอนนั้น คิดและพัฒนาแพลทฟอร์ม ‘Ezy Pet’ ที่ให้บริการสัตว์เลี้ยง และเสนอบนเวทีประกวดของ NIA แต่ยังไม่ผ่าน จึงกลับมาพิจารณาหาสิ่งที่น่าจะตอบโจทย์ของสังคมอีกครั้ง”
และเมื่อคิดต่อไปอีกนิด คุณกิตติพงศ์พบสิ่งสำคัญที่ใกล้ตัวนั่นคือ ‘แก๊สหุงต้ม’ และจุดซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่เคยถูกแก้ไข
“ธุรกิจแก๊สหุงต้มคือสิ่งจำเป็น แต่ไม่เคยมีการจัดการระบบที่ดี รวมถึงปัญหาด้านการขนส่งที่เป็นสิ่งที่หลายร้านมีร่วมกัน เมื่อพิจารณาจนได้ไอเดีย จึงเกิดเป็นแนวคิดของแพลทฟอร์ม Ezy Gas ขึ้น”
หน้างานที่มากกว่ากระดานคิด หัวใจแห่งธุรกิจ Startup
การคิดพิจารณาเพื่อหาไอเดีย การพูดคุยกับเพื่อนร่วมทีม และการพัฒนาระบบ คือสิ่งที่ธุรกิจ Startup ไม่สามารถขาดไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงก่อรูปร่างเป็นแพลทฟอร์มที่จะใช้งานจริง แต่คุณกิตติพงศ์ได้เสริมจากประสบการณ์ว่า ‘เสียงตอบรับ’ ของผู้ใช้งาน สำคัญกว่าสิ่งที่อยู่บนกระดานมากนัก
“การเปลี่ยนแนวคิดมาเป็นแพลทฟอร์มที่ใช้งานจริง เริ่มจากการตั้งโจทย์ ระดมความคิดคนในทีม และลงมือพัฒนา ทั้งหมดต้องกลั่นสิ่งที่ดีที่สุดออกมา แต่เมื่อผ่านช่วงระดมทุนและเป็นระบบที่ใช้งานจริง ผมจะให้ความสำคัญกับเสียงตอบรับของผู้ใช้งานเสมอ เพราะนั่นคือสิ่งที่เกิดจากการใช้งาน และเป็นสิ่งที่ต้องนำมาปรับปรุง ไม่ว่าจะคิดเห็นอย่างไร”
และนอกเหนือจากนั้น การทำงานในธุรกิจ Startup ไม่ใช่เพียงการคิดแค่เพียงในทีม เพราะคุณกิตติพงศ์ได้เสริมว่า การพูดคุยสื่อสารกับผู้ใช้งาน หรือว่าที่ผู้ใช้งาน คืออีกหนึ่งส่วนสำคัญ
“การทำธุรกิจ Startup คือการสร้างสิ่งใหม่ ภายใต้โจทย์ความต้องการของลูกค้า แต่แน่นอนว่า ลูกค้าย่อมไม่ทราบว่าจะออกมาหน้าตาอย่างไร จึงเป็นหน้าที่ของเรา ที่ต้องรับเอาความต้องการนั้น มาพัฒนา นำเสนอ ปรับปรุง และนำเสนอ จนกว่าจะถึงจุดสุดท้ายที่ลงตัว”
ในแง่การบริหารธุรกิจก็เป็นอีกจุดที่คุณกิตติพงศ์ให้ความสำคัญ รวมถึงกระบวนการเรียนรู้ระหว่างทางที่ต้องบ่มเพาะ ใช้เวลา และค่อยๆ เติบโตจากประสบการณ์
“ด้วยความที่ทีมของผมยังค่อนข้างใหม่ ในช่วงแรกทิศทางจะยังไม่ชัดเจนมากนัก ความสามารถในการพัฒนาแพลทฟอร์ม การทำธุรกิจ อาจจะมีการประเมินคลาดเคลื่อน แต่ด้วยการทำงานจริง มีการประเมินผลอยู่ตลอด ทำให้ค่อยๆ พัฒนาศักยภาพ จนความผิดพลาดลดลง”
วิกฤติโรคร้าย การขายหน้างาน และการ ‘groom’ ว่าที่ผู้ใช้งาน
แต่ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 นั้น ธุรกิจ Ezy Gas ของคุณกิตติพงศ์เองก็ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ นั่นเพราะแนวทางที่ต้องพูดคุยกับเจ้าของร้านแก๊สแบบเห็นหน้าค่าตากัน การถูกจำกัดการเดินทางก่อให้เกิดความลำบากในการติดต่อสื่อสาร และ ‘การขาย’ ที่จะตามมา
“ช่วง COVID-19 ด้วยความที่ทีมของผมมีต้นทุนไม่ได้สูงมากนัก แต่ค่าใช้จ่ายยังมี ก็ต้องเดินหน้าต่อ แต่การขายหน้างานทำได้ยากเพราะการแพร่ระบาด ในจุดนี้ พอได้เสนอกับว่าที่ผู้ใช้งานหรือผู้มุ่งหวังของเรา ว่าต้องพูดคุยผ่านระบบออนไลน์หรือ Video Call นะ ร้านแก๊สหลายแห่ง ก็เกิดความไม่คุ้นเคย อาจจะรู้สึกยุ่งยาก และบอกผ่านไม่ใช้บริการของเรา”
แต่ในวิกฤติ คุณกิตติพงศ์ก็ยังมองว่ามีข้อดี เพราะคือการ ‘groom’ ผู้ใช้งานในระดับหนึ่งด้วย
“นอกเหนือจากค่าเดินทางที่ลดลงเพราะไม่สามารถออกไปไหนได้ตามปกติแล้ว ถ้าเจอลูกค้าที่พร้อมจะพูดคุยออนไลน์ นั่นบ่งบอกถึงการที่เขามีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยี และอาจจะมีโอกาสที่จะเปิดใจรับกับบริการแพลทฟอร์มของเราครับ”
ความเป็นไปได้ การสนับสนุนภาครัฐ และก้าวต่อไป
ภายใต้เศรษฐกิจที่ซบเซาแม้การแพร่ระบาดของโรคจะทุเลาลงไป อาจจะดูเป็นสถานการณ์ที่มืดแปดด้านสำหรับคนที่คิดอยากจะเริ่มทำธุรกิจใหม่ๆ แต่คุณกิตติพงศ์กลับมองว่า ธุรกิจ Startup สามารถเติบโตได้ภายใต้สภาพการณ์ดังกล่าว
“สถานการณ์ใหม่ๆ ก่อให้เกิดปัญหาใหม่ๆ ที่รอให้แก้ไขนะ และการทำธุรกิจ Startup ก็คือการสร้างหนทางเพื่อแก้ไขปัญหา ตราบเท่าที่ยังสามารถนำเสนอทางแก้ไขได้ ธุรกิจนี้ก็จะยังไปได้”
แต่ในส่วนการสนับสนุนของภาครัฐก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจขาดได้เช่นกัน
“ผมเคยไปประกวดแผนธุรกิจที่สิงคโปร์ แนวคิดเขาต่างจากเราพอสมควรครับ คือเขาพร้อมจะเป็น Early Adopter หรือผู้ทดลองใช้งาน คือถ้ามีอะไรใหม่ๆ ที่จะช่วยให้ธุรกิจและชีวิตง่ายขึ้น เขาไม่ติดขัดที่จะสนับสนุน แต่ในประเทศเรา บางครั้งผมโทรไป ถูกหาว่าเป็นแก๊งส์ call center ก็มี (หัวเราะ) ก็อยากจะฝากไปถึงภาครัฐว่า อยากให้สนับสนุนในด้านเงินทุนและการหาตลาดให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งในการประกวดของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติหรือ NIA ก็ช่วยเราได้มาก’
สุดท้ายนี้ คุณกิตติพงศ์มีความตั้งใจกับแพลทฟอร์ม Ezy Gas ไว้ที่เป้าหมายร้านแก๊สทั่วประเทศกว่า 50,000 แห่ง ที่แม้เป็นโจทย์ที่ยาก แต่ก็เป็นความท้าทายที่เขาพร้อมจะเข้าไปทำให้ ‘ง่าย’
‘ผมอยากให้แพลทฟอร์มครอบคลุมร้านแก๊สกว่า 50,000 แห่ง และปณิธานสูงสุด คือการทำธุรกิจแบบยุติธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งกับผู้ประกอบการ ผู้บริโภค และทางบริษัทของเราครับ’
“กัดไม่ปล่อย ท้าทายทุกความเป็นไปได้ในทุกอย่าง ทั้งปัญหา การสื่อสาร และการพัฒนา เพื่อให้ทุกสิ่งดียิ่งขึ้น”
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Startup Thailand Marketplace
ของ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)