เด็กและเยาวชน คืออนาคตของชาติ 20 กันยายน วันเยาวชนแห่งชาติ

วันเยาวชนแห่งชาติ ได้เริ่มมีขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2528 ภายใต้คำขวัญว่า "ร่วมแรงแข็งขัน ช่วยกันพัฒนา ใฝ่หาสันติ”

Home / TREND / เด็กและเยาวชน คืออนาคตของชาติ 20 กันยายน วันเยาวชนแห่งชาติ

เด็กและเยาวชนในวันนี้ คืออนาคตของชาติในวันข้างหน้า เด็กและเยาวชนจึงเป็นกลุ่มคนที่เป็นพลังสำคัญต่อสังคมในอนาคต จึงควรส่งเสริมให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาตนเอง ชุมชน สังคม ดังนั้นองค์การสหประชาชาติจึงได้กำหนดตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2528 เป็นปีเยาวชนสากล 

วันเยาวชนแห่งชาติ

วันเยาวชนแห่งชาติ ได้เริ่มมีขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2528 ภายใต้คำขวัญว่า “Participation, Development and Peace” ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า “ร่วมแรงแข็งขัน ช่วยกันพัฒนา ใฝ่หาสันติ” เพื่อที่จะมุ่งเน้นให้เยาวชน ซึ่งหมายถึงหนุ่มสาวที่มีอายุตั้งแต่ 18-25 ปี  ได้ตระหนักถึงความสำคัญของตนเองที่จะเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ     ในอนาคต และสามารถช่วยสร้างเสริมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม 

โดยยึดถือวันคล้ายวันพระราชสมภพของยุวกษัตริย์สองพระองค์เป็นมงคลอันอุดม คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396) และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 (ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468) ซึ่งทั้งสองพระองค์นี้ ได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติในขณะที่ยังทรงพระเยาว์อยู่นั้นเอง จึงถือได้ว่าเป็นวันสิริมงคล ที่เยาวชนควรสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้าทั้งสองพระองค์ เยาวชนจึงควรกระตือรือร้นในการพัฒนาตนเองและประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และประเทศชาติ เฉกเช่นยุวกษัตริย์ทั้งสองพระองค์

ดังนั้นสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ (สยช.) ในขณะนั้น จึงได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อขอความเห็นชอบให้มีวันเยาวชนแห่งชาติ ซึ่งคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2528 กำหนดให้ วันที่ 20 กันยายนของทุกปี เป็นวันเยาวชนแห่งชาติ

คำขวัญวันเยาวชนแห่งชาติ

คำขวัญวันเยาวชนแห่งชาติ ใช้คำขวัญเดียวกันกับคำขวัญปีเยาวชนสากล คือ “Participation Development and Peace” ถอดความเป็นภาษาไทยว่า “ร่วมแรงแข็งขัน ช่วยกันพัฒนา ใฝ่หาสันติ” ซึ่งมีความหมายต่อเยาวชนทุกคนสามารถยึดถือและนำไปปฏิบัติ ดังนี้

ร่วมแรงแข็งขัน (Participation) หมายถึง เยาวชนรวมกลุ่มกันเพื่อแสดงพลังสร้างสรรค์กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง สังคม และประเทศชาติ

ช่วยกันพัฒนา (Development) หมายถึง เยาวชนควรพัฒนาตนเองทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสติปัญญาให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพของสังคมในอนาคต และบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม และประเทศชาติ

ใฝ่หาสันติ (Peace) หมายถึง เยาวชนต้องช่วยกันสร้างสันติ โดยเริ่มจากตนเอง ครอบครัวของตนแล้ว ขยายไปยังชุมชน และประเทศชาติ

เครื่องหมายเยาวชนแห่งชาติ

https://2.bp.blogspot.com/-4Xm8oTK0L6A/WbH12ypHa6I/AAAAAAAABC8/UoIYfrxGjTEg8-24rQh_p-dwzCE-fn_ngCLcBGAs/s1600/Logo%2B%25E0%25B9%2580%25E0%25B8%25A2%25E0%25B8%25B2%25E0%25B8%25A7%25E0%25B8%258A%25E0%25B8%2599.jpg

เครื่องหมายเยาวชนนี้ได้รับพระราชทาน และพระบรมราชานุญาตให้ใช้พระมหาพิชัยมงกุฎบนส่วนยอดของเครื่องหมาย เพื่อเป็นมิ่งขวัญ กำลังใจ และสิริมงคลแก่ชีวิตของเยาวชน 

รูปลักษณะของเครื่องหมายนี้ เป็นรูปโล่สีธงชาติ มีอักษรคำว่า “เยาวชน” สีขาวอยู่ในวงกลมพื้นสีเขียว เบื้องบนเป็นรูปพระมหาพิชัยมงกุฎ มีรัศมี อุณาโลม เบื้องล่างมีอักษรสีแดงว่า พลัง พัฒนา ชาติ รองรับด้วยรวงข้าว 9 รวง แยกอยู่ทางด้านขวา 5 รวง ด้านซ้าย 4 รวง ซึ่งสัญลักษณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ อธิบายได้ดังนี้ คือ

  1. พระมหาพิชัยมงกุฎ เป็นเครื่องหมายแทนองค์พระมหากษัตริย์องค์ประมุขสูงสุดของประเทศ ซึ่งทรงเป็นที่เคารพ สักการะ และเป็นจุดรวมน้ำใจของทั้งประเทศ
  2. รัศมีที่พระมหาพิชัยมงกุฎ หมายถึง พระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งหมายความว่าเยาวชนไทยนั้น อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือได้รับพระบารมี ปกเกล้าฯ (คำอธิบายของกรมศิลปากร) 
  3. อุณาโลม หมายถึง หว่างพระขนงของพระพุทธเจ้า ใช้เป็นเครื่องหมายแทนศาสนา
  4. อักษรเยาวชนสีขาวในพื้นวงกลมสีเขียวบนรูปโล่สีธงชาติ หมายถึง พลังอันบริสุทธิ์แห่งความสามัคคี เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของเยาวชนไทย อันจะนำไปสู่ความสำเร็จ การเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาการกสิกรรม อันเป็นพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
  5. รวงข้าวทั้ง 9 รวง มีความหมายถึง เป้าหมายในการพัฒนาเยาวชนทั้ง 9 ประการ ตามนโยบายเยาวชนแห่งชาติ  โดยที่รวงข้าว หมายถึง ความเติบโตงอกงาม ฉะนั้นคุณลักษณะ 9 ประการ ที่จะปลูกฝังให้เกิดขึ้นในตัวเยาวชน จึงเปรียบเสมือนคุณสมบัติที่จะงอกงามขึ้นตามตัวเยาวชน
  6. อักษรว่า พลัง พัฒนา ชาติ เป็นคำขวัญเพื่อเตือนใจเยาวชนให้ตระหนักว่า พวกเขานั้น มีพลังบริสุทธิ์อันหนักแน่น จริงจัง ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้มากในการช่วยพัฒนา

เป้าหมายของวันเยาวชนแห่งชาติ

  1. เพื่อให้เยาวชนช่วงอายุ 18 – 25 ปี ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาตนเอง พัฒนาชุมชน พัฒนาประเทศ
  2. เพื่อให้ประชาชนทั่วไป ได้ตระหนักถึงความสำคัญต่อประเทศชาติทั้งในด้านคุณภาพคุณธรรม
  3. เพื่อให้นโยบายส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง สัมฤทธิ์ผล


ดังนั้นใน วันเยาวชนแห่งชาติ ของทุกปี เด็กและเยาวชน กลุ่มเด็กและเยาวชน หน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน องค์กรเครือข่ายด้านเด็กและเยาวชน จึงได้มีการจัดกิจกรรมต่างๆ ขึ้นทุกปี เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เยาวชนได้ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของตน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และวัฒนธรรม เพื่อปลูกฝัง และพัฒนาตนเองให้เป็นผู้ที่มีค่านิยมที่ถูกต้องแล้ว ก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ดีมีคุณภาพ สามารถสร้างคุณประโยชน์ต่อประเทศได้ในอนาคต