ค่ายบางกุ้ง วัดบางกุ้ง หลวงพ่อนิลมณี โบสถ์ปรกโพธิ์

วัดบางกุ้ง โบสถ์ปรกโพธิ์ โบสถ์ในต้นไม้แห่งเดียวในประเทศไทย

จุดเด่นความสวยงามของ วัดบางกุ้ง ที่แตกต่างจากวัดอื่นก็คือ โบสถ์ปรกโพธิ์ โบสถ์ของวัดถูกต้นไม้ใหญ่ 4 ชนิดปกคลุมอยู่ ได้แก่ ต้นโพธิ์ ต้นไทร ต้นไกร และต้นกร่าง ถือเป็นโบสถ์ในต้นไม้แห่งเดียวในประเทศไทย

Home / สมุทรสงคราม / วัดบางกุ้ง โบสถ์ปรกโพธิ์ โบสถ์ในต้นไม้แห่งเดียวในประเทศไทย

วัดบางกุ้ง เป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ราวๆ พ.ศ.2250 – 2300 ที่มาของชื่อวัดตั้งตามชื่อของหมู่บ้านโบราณแห่งนี้ เรียกกันว่า “บ้านบางกุ้ง” เนื่องจากย่านนี้มีกุ้งชุกชุม จึงกลายเป็นอาชีพของชาวบ้านที่มักจะมาจับกุ้งเพื่อทำกะปิขายอยู่ทั่วไปจึงเรียกว่าบ้านบางกุ้ง แต่เดิมวัดบางกุ้งมี 2 วัดใกล้เคียงกัน คือวัดบางกุ้งน้อย และ วัดบางกุ้งใหญ่ สร้างขึ้นโดยสองพี่น้องที่มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ต่อมาภายหลังวัดบางกุ้งน้อยกลายเป็นวัดร้าง จึงได้ผนวกเนื้อที่ของวัดทั้ง 2 แห่งเข้าเป็นพื้นที่เดียวกัน กลายเป็นวัดบางกุ้งมาจนถึงปัจจุบัน

วัดบางกุ้ง

วัดบางกุ้ง

จุดเด่นความสวยงามของวัดบางกุ้ง ที่แตกต่างจากวัดอื่นก็คือ โบสถ์ปรกโพธิ์ โบสถ์ของวัดถูกต้นไม้ใหญ่ 4 ชนิดปกคลุมอยู่ ได้แก่ ต้นโพธิ์ ต้นไทร ต้นไกร และต้นกร่าง ถือเป็นโบสถ์ในต้นไม้แห่งเดียวในประเทศไทย และคาดว่าน่าจะมีอายุราว 200 กว่าปีเลยทีเดียว เชื่อกันว่าโบสถ์แห่งนี้เป็นโบสถ์มหาอุตม์ที่มีการลงคาถาอาคมเพื่อพรางตาจากศัตรูผู้คิดร้าย

โบสถ์ปรกโพธิ์
โบสถ์มหาอุตม์
ต้นไม้

ภายในโบสถ์ปรกโพธิ์ ยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังโบราณอันงดงาม แสดงเรื่องราวพุทธประวัติ ขณะพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม และภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่ในซุ้ม ขนาบข้างด้วยอัครสาวกนั่งพนมมือ

หลวงพ่อนิลมณี (หลวงพ่อดำ)

หลวงพ่อดำ

ภายในอุโบสถเป็นที่ประดิษฐาน หลวงพ่อนิลมณี (หลวงพ่อดำ) พระพุทธรูปปางมารวิชัย สมัยอยุธยาตอนปลาย พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่เคารพบูชาของชาวบ้าน เชื่อกันว่าหากมีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจ ให้มากราบขอพรจากหลวงพ่อ จะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา จิตสงบ เกิดความร่มเย็นเป็นสุข ขอเพียงให้คิดดี ทำดี พูดดี มีจิตศรัทธาแรงกล้า จะอธิษฐานขอสิ่งใดก็ประสบผลสำเร็จ โดยชาวบ้านมักจะนำข้าวต้มมัดมากราบไหว้แก้บนหลวงพ่อนิลมณีนั่นเองค่ะ

บทสวดบูชาหลวงพ่อนิลมณี (หลวงพ่อดำ วัดบางกุ้ง)

(ตั้งนะโม 3 จบ)

อะหัง พุทธนิลมณี สิระสา
นะมามิ ชะยะ ตุภะวัง
สัพพะ ศัตรู วินาศสันติ

ข้าพเจ้าขอนอบน้อม หลวงพ่อนิลมณี ด้วยเศียรเกล้า
ขอให้มีชัยชนะเหนือหมู่มาร อีกทั้งศัตรูภัยพาล จงวินาศสิ้นเทอญ

<a href=คาถาบูชาหลวงพ่อนิลมณี” class=”wp-image-317214″/>
วัดบางกุ้ง
โบสถ์ต้นไม้

ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ไทย

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ช่วง พ.ศ.2308 กองทัพพม่ายกเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าเอกทัศ จึงรับสั่งให้หัวเมืองปากใต้* ยกกองทัพเรือมาตั้งค่ายสร้างกำแพงล้อมวัดบางกุ้ง ที่ตำบลบางกุ้ง เมืองสมุทรสงคราม เรียกว่า ค่ายบางกุ้ง

กองทัพพม่า ยกทัพเข้ามาตามลำน้ำแม่กลอง และบุกลงมาจนถึงค่ายบางกุ้ง โดยที่กองทัพของกรุงศรีอยุธยาไม่สามารถต้านทานไว้ได้ค่ายบางกุ้งจึงแตก หลังจากพม่าตีกรุงศรีอยุธยาแตกในปี พ.ศ.2310 ค่ายบางกุ้งก็ตกอยู่ในสภาพค่ายร้าง

ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้กู้เอกราชและสถาปนากรุงธนบุรีแล้ว โปรดให้ชาวจีนรวบรวมสมัครพรรคพวกมาตั้งเป็นกองทหารรักษาค่ายเก่าที่บางกุ้ง จึงเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า ค่ายจีนบางกุ้ง นั่นเอง ทำให้ที่แห่งนี้เป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชอันงดงามอีกแห่งในจังหวัดสมุทรสงครามที่ควรค่าแก่การมากราบสักการะสักครั้ง

อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

จากประวัติศาสตร์อันยาวนาน…กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียน “วัดบางกุ้ง” เป็นโบราณสถานของชาติในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 113 ตอนพิเศษ 50 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2539

หมายเหตุ : ในเอกสารเก่า “หัวเมืองปากใต้” หมายถึง หัวเมืองที่อยู่ทางใต้ของรัฐอยุธยารอบปากอ่าวไทย (ไม่ใช่ปักษ์ใต้ที่อยู่ภาคใต้) ได้แก่ เมืองสมุทรปราการ, เมืองสมุทรสาคร, เมืองสมุทรสงคราม, เมืองนครชัยศรี (นครปฐม), เมืองราชบุรี, เมืองเพชรบุรี ฯลฯ

[คำอธิบายเชิงอรรถบทที่ 1 ในหนังสือการเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2529]

ข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับเหล่าอดีตเจ้าอาวาสแห่งวัดบางกุ้ง

อดีตเจ้าอาวาสวัดบางกุ้งหลายๆ รูป มีความสามารถที่หลากหลายแตกต่างกันไป โดยจะขอกล่าวถึงอดีตเจ้าอาวาสวัดดังต่อไปนี้

  • หลวงปู่พระอุปัชฌาย์แย้ม (พ.ศ. 2398) มีความสามารถด้านเล่นแร่แปรธาตุ เป็นผู้สร้างตำรับฆ่าปรอทได้สำเร็จ มรณภาพ พ.ศ. 2444
  • หลวงพ่อเพิ่ม (พ.ศ.2444) เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางศิลปะหลายสาขา เช่น การเขียนภาพเหมือน การวาดภาพวิจิตรต่างๆ ภาพฝาผนัง การปั้นรูปเหมือนต่างๆ รวมไปถึงมีความสามารถด้านการทำดอกไม้ไฟ และวิชาการช่าง
  • หลวงพ่ออธิการรอด (พ.ศ. 2460) หลวงพ่อรอดมีความรู้เชี่ยวชาญทางแพทย์แผนไทยด้านเวชกรรม เช่น ยาเขียว ยาหอม ยาธาตุโสฬส ยาธาตุบรรจบ ยาสำหรับเด็ก เช่น ยามหานิลแท่งทอง ยาเทพมงคล ยากวาดเม็ดแดง ซึ่งกลายเป็นยาตำราหลวงในเวลาต่อมา นอกจากนี้ท่านยังช่วยกวาดยาเด็ก สูญฝี เป่ากระหม่อมเด็ก จนเป็นที่เคารพเลื่อมใสอย่างมาก ท่านมรณภาพเมื่อ พ.ศ. 2470
  • พระอาจารย์เยื่อ ฉตฺตโป (พ.ศ. 2503) มีชื่อเสียงโด่งดังด้านการเทศน์มหาชาติ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2520 มีพระบรมราชโองการให้เป็น “พระครูสมุทรสัททาภรณ์” มรณภาพเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ.2536 อายุ 80 ปี

ที่อยู่ : บ้านค่าย หมู่ 4 ตำบลบางกุ้ง อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม
พิกัด : https://goo.gl/maps/23Q9i17FArPSuVJCA
เปิดให้เข้าชม : 08.00-16.30 น.

ภาพโดย SUTEE

แหล่งอ้างอิง
สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสมุทรสงคราม

หนังสือการเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี, นิธิ เอียวศรีวงศ์, พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2529

เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

เทคนิค วิธีไหว้เจ้าที่ พร้อมบทสวดขอพรให้ดูแลคุ้มครองบ้าน

บทพาหุงมหากา บทสวดชนะมาร เภทภัยทั้งปวง

วัดบางจาก กราบหลวงพ่อโต พระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สุดใน จ. นนทบุรี