หนึ่งจุดมูสำคัญอันทรงคุณค่าทางโบราณสถานและประวัติศาสตร์ ที่เหล่านักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาตินิยมมากราบไหว้ขอพรและชมพระบารมีขององค์พระพุทธสิหิงค์ในช่วงเทศกาลปีใหม่และเทศกาลสงกรานต์ของไทย ก็คือ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ นี่เอง
พระที่นั่งพุทไธสวรรย์
เดิมเรียกว่าพระที่นั่ง “สุทธาสวรรย์” หรือ ” พระที่นั่งพุทธาสวรรย์” สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ ราว พ.ศ. 2330 หลังจากสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทสวรรคต ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปประดิษฐานยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระที่นั่งพุทไธสวรรย์จึงใช้เป็นพระที่นั่ง ท้องพระโรงและทำการพิธีพิเศษต่างๆ มีพิธีตรุษสารทและโสกันต์ เป็นต้น ได้เป็นที่ตั้งพระศพสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ ในรัชกาลที่ 2 และ เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธี
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพทรงได้บูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ การปฏิสังขรณ์ใหม่ครั้งนั้นแก้ไขของเดิมหลายอย่าง สังเกตได้โดยแบบอย่างฝีมือช่างที่ทำคือ รื้อเครื่องบนทำใหม่หมด เปลี่ยนหลังคาพาไลของเดิมต่อเป็นเฉลียงเสาลอยไว้ ผนังข้างบนเป็นคอสองรอบ ทำซุ้มพระแกลใหม่ทั้งหมด แต่ปฏิสังขรณ์อย่างน่าชม คือ ของเดิมสิ่งใดดี รักษาไว้ได้อย่างหมดทุกอย่าง เป็นต้นว่า เครื่องไม้กรอบและบานพระแกล ทวยที่รับชายคา ใช้ของเดิม ข้างในลายที่เขียนผนังและลายเพดานก็ได้รักษาของเดิมไว้ เป็นแต่ซ่อมที่ชำรุดจึงยังแลเห็นของเดิมที่ทำโดยประณีตบรรจงมาได้จนบัดนี้ ลักษณะภายนอกจึงเป็นแบบสถาปัตยกรรมร่วมสมัยรัชกาลที่ 3 ฝาผนังข้างบนเขียนภาพเทพชุมนุม ระหว่างพระบัญชรเขียนเรื่องปฐมสมโภชน์ เป็นฝีมือช่างเขียนสมัยรัชกาลที่ 1 ซึ่งยังคงรักษาไว้จนถึงบัดนี้
ต่อมาในรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับมาประดิษฐานในพระที่นั่งองค์นี้ดังเดิม พร้อมทั้งเปลี่ยนนามเป็น ” พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ” และขยายชาลาด้านทิศตะวันออกสร้างพระที่นั่งทรงปราสาทแห่งแรกในวังหน้า คือ “พระที่นั่งคชกรรมประเวศ” เป็นเครื่องเฉลิมพระเกียรติยศพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมารื้อไปในสมัยรัชกาลที่ 5 ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังครั้งรัชกาลที่ 1 เขียนภาพเทพชุมนุมและพุทธประวัติ ซึ่งนับว่ามีคุณค่าด้านฝีมือช่างจิตรกรรมเป็นอย่างสูง
ครั้นถึง พ.ศ. 2476 พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ทรุดโทรมมาก กรมศิลปากรจึงได้จัดการซ่อมและเมื่อพ.ศ. 2501 กรมศิลปากรก็ได้ซ่อมพระที่นั่งองค์นี้อีก และได้ลงรักปิดทองประตูดังที่เห็นอย่างทุกวันนี้
พระพุทธสิหิงค์
พระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปโบราณหล่อด้วยสำริดหุ้มทองปางสมาธิสูง 79 เซนติเมตร หน้าตักกว้าง 63 เซนติเมตร เป็นศิลปะแบบลังกา ตามประวัติกล่าวว่า พระเจ้าสีหฬะ พระมหากษัตริย์แห่งลังกาทวีปทรงสร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 700 ต่อมาเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ได้ไปขอมาถวายพระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย เมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 แห่งกรุงศรีอยุธยาได้กรุงสุโขทัยเป็นเมืองขึ้น จึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่กรุงศรีอยุธยา ต่อมาได้มีผู้นำไปไว้ที่เมืองกำแพงเพชรและเชียงรายตามลำดับ เมื่อพระเจ้าแสนเมืองมา เจ้านครเชียงใหม่ยกทัพไปตีเมืองเชียงราย จึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่เมืองเชียงใหม่พร้อมกับพระแก้วมรกต ต่อมาเมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชตีเมืองเชียงใหม่ได้เมื่อ พ.ศ. 2205 จึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปไว้ที่วัดพระศรีสรรเพชญ์กรุงศรีอยุธยาเป็นเวลานานถึง 105 ปี
เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 แก่พม่าใน พ.ศ. 2310 ชาวเชียงใหม่ก็ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับไปยังเชียงใหม่อีกครั้ง ต่อมาเมื่อมณฑลพายัพได้กลับมารวมเป็นส่วนหนึ่งของสยามในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทได้เสด็จไปราชการทัพยังเชียงใหม่ จึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมายังกรุงเทพมหานครฯ เมื่อ พ.ศ. 2338 และขอพระราชทานประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์อยู่ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคลตั้งแต่นั้นมา
ภาพจิตรกรรมฝาผนัง
นอกจากภาพจิตรกรรมเทพชุมนุมแล้ว ยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์อันทรงคุณค่าทางพุทธศิลป์และประวัติศาสตร์อีกมาก โดยเฉพาะผนังที่เขียนเรื่องพุทธประวัติ ซึ่งมีทั้งหมด 32 ผนัง ผนังที่ 25 ตอนพระนางยโสธรานิพพานฯ ผนังที่ 27 ตอน พระยามารทูลเตือนให้เสด็จสู่ปรินิพพาน ผนังที่ 28 ตอนพระราหุลนิพพาน ภาพทั้ง 3 ผนังที่ยกมา เป็นภาพที่มีวิธีการเขียนตามแบบคตินิยมสมัยอยุธยาตอนปลาย
พระนารายณ์ทรงปืน
พระนารายณ์ คือ ชื่อที่คนไทยนิยมเรียกพระวิษณุ เทพเจ้าผู้คุ้มครองในศาสนาฮินดู พระองค์อวตารเป็นพระรามและทรงธนูเป็นสัญลักษณ์ เหตุที่ใช้คำว่า ” ทรงปืน ” เพราะในสมัยโบราณอาวุธที่ยิงด้วยวัตถุพุ่งไปข้างหน้า เรียกว่า “ปืน” อาวุธลักษณะแบบหน้าไม้หรือธนู ใช้ยิงด้วยลูกศรอาบยาพิษเรียกว่า “ปืนยา” อาวุธที่ใช้ไฟหรือดินระเบิดอัดตันด้วยลม (ดินปืน) หรือลูกกระสุนยิงออกไปเรียกว่า “ปืนไฟ”
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2411 – 2453 ) โปรดเกล้าฯ ให้นายอัลฟอนโซ ทอร์นาเรลลี ประติมากรชาวอิตาลี ซึ่งเข้ามารับราชการในรัชสมัยของพระองค์ หล่อประติมากรรมสำริด ” พระนารายณ์ทรงปืน ” นี้ขึ้น เพื่อนำไปประดิษฐานหน้าพระตำหนัก ณ พระรามราชนิเวศน์ (พระราชวังบ้านปืน) จังหวัดเพชรบุรี แต่ยังดำเนินการค้างอยู่ มาสำเร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 (พ.ศ. 2453 – 2468) และนำมาประดิษฐาน ณ เกยพระคชาสาร หน้าพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
พระที่นั่งคชกรรมประเวศ
“คชกรรมประเวศ” มีความหมายว่า “การเข้ามาสู่ช้าง” ณ บริเวณชาลาหน้ามุขพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เดิมเป็นที่ตั้งของพระที่นั่งคชกรรมประเวศ ซึ่งเป็นพระที่นั่งเครื่องไม้ทรงปราสาทมีเกยสำหรับทรงพระคชาสาร (ช้างทรง) อยู่ทางด้านหน้า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 (พ.ศ. 2394 – 2411 ) โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นเป็นพระเกียรติยศเฉพาะพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว คราวที่ทรงรับพระบวรราชาภิเษกเสมอด้วยพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2 และเสด็จมาประทับที่พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) แห่งนี้ นับเป็นพระที่นั่งทรงปราสาทเพียงองค์เดียวที่สร้างขึ้นในพระราชวังบวรสถานมงคล
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2411 – 2453 ) พระที่นั่งคชกรรมประเวศ เคยเป็นที่ประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในเวลาต่อมาพระที่นั่งองค์นี้ชำรุด ยากแก่การบูรณปฏิสังขรณ์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อลง ยังคงเหลือเพียงส่วนฐานกับเกยพระคชาสาร (เกยช้าง) ตราบเท่าทุกวันนี้
ภาพโดย : MTHAI TEAM
ที่อยู่ : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เลขที่ 4 ถนนหน้าพระธาตุ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
Google map : https://maps.app.goo.gl/Q1UcDthF2GY3hmBP6
เวลาเปิด – ปิด : วันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 09.00-16.00 น.
(ยกเว้นเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์)
เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
เลขเด็ดฝันเห็นพระพุทธสิหิงค์ ทำนายฝันพระพุทธสิหิงค์ แม่นๆ
ไหว้พระทำบุญ -พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ยามค่ำคืน
338 ปี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ พระอารามหลวงแรกกรุงรัตนโกสินทร์