พระธาตุศรีจอมทอง วัดต้นเกว๋น วัดอินทราวาส

วัดต้นเกว๋น วัดสวยเชียงใหม่ ความงามที่ต้องไปเห็นด้วยตาสักครั้งในชีวิต

ตัวอาคารเป็นศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมล้านนาแบบโบราณที่กล่าวกันว่าสมบูรณ์ที่สุดและเป็นแบบล้านนาแท้ๆ สร้างด้วยไม้และมุงกระเบื้องดินขอเผาแบบล้านนาโบราณอันเป็นเอกลักษณ์

Home / เชียงใหม่ / วัดต้นเกว๋น วัดสวยเชียงใหม่ ความงามที่ต้องไปเห็นด้วยตาสักครั้งในชีวิต

วัดอินทราวาส หรือ “วัดต้นเกว๋น” ตั้งอยู่ ต.หนองควาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นประมาณ พ.ศ.2399 – 2412 สมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เป็นเจ้าปกครองเมืองเชียงใหม่ โดยที่มาของชื่อวัดมาจากชื่อไม้ “เกว๋นคือตะขบป่า” ด้วยบริเวณที่ตั้งวัดนี้เมื่อก่อนมีต้นเกว๋นอยู่ ปัจจุบันเหลืออยู่ 1 ต้น ต่อมาวัดได้มีชื่อใหม่ว่า “อินทราวาส” มาจากชื่อเจ้าอาวาสรูปหนึ่งที่ปรับปรุงพัฒนาวัดนี้ให้เจริญรุ่งเรืองและสวยงาม

วัดต้นเกว๋น

วัดอินทราวาส

ปัจจุบันเป็นวัดที่ไม่มีพระอยู่จำพรรษา สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่พักแรมของขบวนพระบรมธาตุศรีจอมทองในประเพณีแห่พระเจ้าเข้าเวียง ถือเป็นประเพณีโบราณที่เจ้าหลวงเชียงใหม่จะโปรดตั้งการพิธีในทุกๆ ปี เพื่อให้ชาวเมืองได้สรงน้ำสักการะพระบรมธาตุฯ ก่อนที่จะเชิญพระบรมธาตุไปประทับยังวัดสวนดอกและวัดพระธาตุดอยสุเทพตามลำดับ ประเพณีนี้ในปัจจุบันจะจัดขึ้นในโอกาสครบรอบสถาปนาเวียงเชียงใหม่ตามวาระเท่านั้น โดยพิธีแห่ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในพ.ศ. 2559 ในโอกาสครบรอบ 720 ปี 60 รอบนักษัตรสถาปนาเวียงเชียงใหม่ ปัจจุบันไม่มีประเพณีนี้แล้ว

โดยในประเพณีแห่พระเจ้าเข้าเวียงนี้ วัดอินทราวาสถือเป็นสถานที่สำคัญสำหรับสรงน้ำพระธาตุ ที่อัญเชิญมาจากวัดพระธาตุศรีจอมทอง อ.จอมทอง ไปยังเมืองเชียงใหม่ ที่อยู่ห่างกันราว 60 กิโลเมตร ต้องใช้เวลา 1 วัน การเดินทางระหว่างกันของสองเมืองในอดีตใช้ช้าง ม้า ล้อเกวียน ผ่านทางหน้าวัด จากวัดถึง วัดสวนดอก เมืองเชียงใหม่ห่างกันประมาณ 10 กิโลเมตร กว่าจะเข้าเมืองก็พักที่ต้นเกว๋น 1 คืน อาบน้ำ แต่งตัวเพื่อจะเข้าเมือง การเดินทางพระธาตุเข้าเมืองไม่ใช่มีทุกปี จะมีวันสำคัญของเจ้าครองเมือง เช่น วันบวชลูกชาย วันแต่งงาน หรือเฉลิมฉลองงานสำคัญในเมือง ก็จะอัญเชิญพระธาตุจอมทองมาให้เจ้าเมือง และประชาชนได้สรงน้ำ

ซึ่งพระธาตุที่สามารถเคลื่อนที่ได้ในประเทศไทยมีเพียงพระธาตุจอมทององค์เดียวเท่านั้นที่สามารถอัญเชิญเข้าขบวนแห่ไปไหนมาไหนได้ พระธาตุองค์อื่น เช่น พระธาตุดอยสุเทพ พระธาตุหริภุญชัย ล้วนแต่ฝั่งใต้ดิน ส่วนพระธาตุที่สามารถเคลื่อนที่ได้อีกองค์ คือ พระเขี้ยวแก้ว ในประเทศศรีลังกา พระธาตุจอมทองจึงมีความสำคัญมากกับประชาชาชนในพื้นที่และชาวเชียงใหม่

โบราณสถานศิลปกรรมล้านนาหาชมยาก

โครงสร้างของศาลาจตุรมุข และวิหารแบบล้านนา สร้างด้วยเครื่องไม้ โดยใช้ระบบเสาและคานในการรับน้ำหนัก โครงสร้างที่ถ่ายทอดน้ำหนักแบบนี้เรียกว่า ทางเหนือจะเรียกว่า ระบบม้าต่างไหม พบเห็นได้ทั่วไปในวัดเชียงใหม่ จัดเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของศิลปะล้านนาที่เป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่น่าภูมิใจ

วิหารไม้โบราณ

วัดต้นเกว๋น

วิหารสร้างขึ้นจากไม้ทั้งหลัง เมื่อ จ. ศ. 1220 (พ. ศ. 2401) ซึ่งได้บันทึกไว้ที่ใต้เพดานด้านเหนือด้วยอักษรไทยยวน (ตั๋วเมือง) นายช่างผู้สร้างวิหารมีความสามารถและชำนาญการแกะสลัก เช่น ลวดลายดอก ลายรูปสัตว์ที่หน้าจั่ว และช่อฟ้า ฐานชุกชีเป็นลายรูปปั้นดอกกูด ฝาหนังด้านหลังพระประธานเป็นซุ้มและมีพระพิมพ์โลหะติดฝาผนัง โดย ครูบาอินทร์ ซึ่งมีฝีมือด้านเชิงช่างดีและมีส่วนในการสร้างวิหารของวัด
พระพิมพ์แบ่งได้ 2 แบบคือ
1.แบบใบโพธิ์ปางมารวิชัยขนาด 2×4 ซม.
2.แบบนาคปรก ขนาด 3×5 ซม.

หน้าบัน

ด้านหน้าวิหาร บริเวณหน้าบันจะประดับตกแต่งด้วยการแกะสลักลาย โครงสร้างภายในเปิดให้เห็นหลังคาซึ่งมุงด้วยกระเบื้องดินขอ ส่วนตัวฐานวิหารจะมีการเทปูนเพื่อรองรับตัวไม้ ลักษณะของวิหารด้านหน้าเป็นหลังคาซ้อนกัน 3 ชั้น และด้านหลังซ้อน 2 ชั้นเป็นเอกลักษณ์การสร้างแบบล้านนา ราวบันไดที่ทอดสู่ตัววิหารเป็นประติมากรรมประดับรูปมกรคายนาคที่ค่อนข้างสมบูรณ์ เป็นนาคมีหงอนและมีเกล็ด

ภายในวิหารเป็นโครงสร้างเสาและคานมีผนังปิดล้อมโดยรอบ ส่วนฐานก่ออิฐฉาบ ปูน เสาทั้งหมดเป็นเสาไม้มีลวดลายวิจิตรแบบลายคำ (การลงรักปิดทองคำเปลวให้มีลวดลายสีทองบนพื้นสีแดงหรือพื้นสีดำ) อันเป็นเอกลักษณ์ของศิลปกรรมแบบล้านนา จุดเด่นของวิหารนี้อีกอย่างคือ การสร้างนั้นอาศัยการเข้าเดือยโดยไม่ใช่ตะปูแม้แต่เพียงดอกเดียว เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่โดดเด่นมาก

ราหูอมจันทร์

ก่อนเข้าไปภายในวิหาร เราจะพบราหูอมจันทร์ประจำประตูวิหาร คนล้านนามีความเชื่อกันว่า ราหูมีหน้าที่คอยปกปักรักษาและป้องกันภยันตรายให้กับวิหารและผู้อยู่ภายในวิหาร จึงติดราหูไว้ที่หน้าประตูวิหาร

พระพุทธรูป

ในพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยประดิษฐานอยู่บนชุกชีเป็นลายรูปปั้นดอกกูดสวยงามแบบล้านนา ฝาผนังด้านหลังพระประธานเป็นซุ้มและมีพระพิมพ์โลหะติดฝาผนัง และจากความงดงามของวิหารนี้ ได้เป็นแรงบันดาลใจให้สถาปนิกใช้เป็นต้นแบบในการออกแบบหอคำหลวง ซึ่งตั้งอยู่กลางอุทยานหลวงราชพฤกษ์ เชียงใหม่นั่นเอง

ความสำคัญของวิหารวัดอินทราวาส ชาวบ้านท้องถิ่นจะเรียกอีกชื่อว่า ” หอนอน ” ด้วยวัดแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานที่พักพระธาตุในประเพณีแห่พระเจ้าเข้าเวียงดั่งที่กล่าวไปตอนต้น หอนอน จึงเป็นชื่อที่ชาวบ้านท้องถิ่นเรียกเพื่ออัญเชิญพระธาตุเข้าพัก ด้วยเปรียบองค์พระธาตุเหมือนกับคนทั่วไป เมื่อถึงเวลาตอนเย็นก็จะเอาพระธาตุจอมทองเข้าที่พักในวิหาร แล้ววันรุ่งจึงค่อยอัญเชิญมาให้ประชาชนสรงน้ำอีกครั้งหนึ่ง

ศาลาจตุรมุขเพียงหนึ่งเดียวในภาคเหนือ

ศาลาจตุรมุข ซึ่งพบเพียงหลังเดียวในภาคเหนือ ถูกสร้างราวปีพ.ศ. 2399 – 2412 สันนิษฐานได้ว่าเป็นที่พักของพระธาตุจอมทอง และเป็นอาคารสำหรับสรงน้ำพระธาตุ ที่เรียกศาลาจตุรมุข เพราะหลักฐาน รางสำหรับสรงน้ำ บุษบกของพระธาตุจอมทองสำหรับสรงน้ำของพระธาตุจอมทอง ถ้าองค์พระธาตุเดินทางมาถึงก็อาจพักอยู่ 3-7 วัน เพื่อให้ประชาชนในย่านนี้ได้สรงน้ำ

ตัวอาคารเป็นศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมล้านนาแบบโบราณที่กล่าวกันว่าสมบูรณ์ที่สุดและเป็นแบบล้านนาแท้ๆ สร้างด้วยไม้และมุงกระเบื้องดินขอเผาแบบล้านนาโบราณอันเป็นเอกลักษณ์

กระเบื้องดินขอ ลักษณะจะเป็นกระเบื้องแบบโบราณแผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้าปั้นด้วยดินเหนียวแล้วเอามาเผาไฟ เป็นแผ่นเล็กๆ ปลายตัดเรียงซ้อนกัน ซึ่งดูแลยาก บางปีที่พายุเข้าเชียงใหม่กระเบื้องบนหลังคาจะถูกพายุพัดตกหล่นเสียหายต้องคอยบูรณะซ่อมแซมกันตลอด และกระเบื้องเก่าแบบนี้ก็ไม่มีผลิตแล้ว เนื่องจากทำยาก ทางวัดต้องหาซื้อดินเก่ามาใช้ การจ้างช่างทำก็ต้องมีความชำนาญเป็นพิเศษถึงจะอนุรักษ์หลังคาแบบนี้ไว้ได้ ที่กลางสันหลังคาจะมีซุ้มมณฑปเล็ก ๆ ทางภาคเหนือเรียกซุ้มแบบนี้ว่า “ปราสาทเฟื้อง”

รูปแบบของปราสาทเฟื้องเป็นการจำลองคติจักรวาล เขาพระสุเมรุ ที่มักจะปรากฎในศิลปทางล้านนาเป็นส่วนใหญ่ มณฑปแบบจตุรมุขนี้จึงเป็นศาลาไม้อันทรงคุณค่าด้วยสะท้อนความงามที่ช่างล้านนาโบราณได้ประดิดประดอยบรรจงสร้างขึ้นมา

“ศาลายาว” หรือ ระเบียงคต

ศาลายาว

สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักของข้าพระธาตุ เพราะการอัญเชิญพระธาตุจะมีขบวนช้าง ม้า มาถึงก็จะนอนค้าง 1 คืนเป็นอย่างน้อย บริเวณวัดจะมีบ่อน้ำ 2 แห่ง ตามที่คนแก่บอกไว้ในอดีต ถ้าข้าพระธาตุมาจะมีผู้หญิง ผู้ชาย เพื่อให้แต่งเนื้อแต่งตัว อาบน้ำบริเวณนี้ กลางคืนก็จะนอนบริเวณระเบียงคต หรือ “ศาลายาว”

ดร.ฮันส์ เพนธ์” ชาวเยอรมัน และ “พ่อหนานพวงคำ ตุ้ยเขียว” เคยมาอาศัยอยู่ที่วัดค้นคว้าประวัติศาสตร์ คัมภีร์ใบลาน จนทำให้วัดต้นเกว๋นเป็นที่รู้จักและสนใจจากของคนไทย จนนำไปสู่การอนุรักษ์ และขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี 2526

โดยในช่วงของการบูรณะ ไม่ได้ใช้งบประมาณส่วนราชการ หากแต่เป็นความศรัทธาของชาวบ้านช่วยกันดูแล รักษาอาคารสถานที่ไว้ทุกอย่างตั้งแต่ กำแพงวัด ศาลายาว ศาลาจตุรมุข วิหาร และพื้นที่โดยรอบ ถือเป็นสถาปัตยกรรมล้านนาที่ยังสมบูรณ์คงความเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของล้านนาจนได้รับรางวัลจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ยกย่องให้เป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่นเมื่อปี พ.ศ. 2532 ถือเป็นอีกหนึ่งวัดสวยเชียงใหม่ที่ควรแก่การไปชมความงามด้วยตาตัวเองสักครั้งในชีวิต

ที่ตั้ง : หมู่ที่ 4 ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่
Google map : https://goo.gl/maps/QQ9yoqNbygwDcZJ46
เวลาเข้าชม : 06.00 น. – 17.00 น.

เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

วัดผาลาด วัดสวยกลางป่า พิกัดดอยสุเทพ เชียงใหม่

5 จุดเช็กอินวัดสวยเชียงใหม่ มูเตลูเรื่องคู่ ปีนี้รักพี่ต้องปัง!

สวยดั่งต้องมนต์สะกด “วัดหลวงขุนวิน” วัดเก่าแก่กลางป่าลึกอายุกว่า 700 ปี