ขอพรค้าขาย วัดนางนอง วัดนางนองวรวิหาร วัดสวย กรุงเทพ

กราบพระพุทธมหาจักรพรรดิ ขอพรค้าขาย ร่ำรวย วัดนางนองวรวิหาร

วัดนางนองวรวิหาร วัดสวย กรุงเทพ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ในเขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้าง แต่สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา ประมาณสมัยพระเจ้าเสือ (ขุนหลวงสรศักดิ์) ราวปี (พ.ศ. 2245–2252) จุดเด่นของวัด คือ องค์พระประธานนามว่า พระพุทธมหาจักรพรรดิ ที่คนมักจะมาขอพรค้าขาย เงินทอง โชคลาภ

Home / กรุงเทพมหานครฯ / กราบพระพุทธมหาจักรพรรดิ ขอพรค้าขาย ร่ำรวย วัดนางนองวรวิหาร

ขอพรค้าขาย ร่ำรวย วัดนางนองวรวิหาร

วัดนางนองวรวิหาร

วัดนางนองวรวิหาร วัดสวย กรุงเทพ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ในเขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้าง แต่สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา ประมาณสมัยพระเจ้าเสือ (ขุนหลวงสรศักดิ์) ราวปี (พ.ศ. 2245–2252) จุดเด่นของวัด คือ องค์พระประธานนามว่า พระพุทธมหาจักรพรรดิ ที่คนมักจะมาขอพรค้าขาย เงินทอง โชคลาภ ขอให้มั่งมี การงานสำเร็จราบรื่น นอกจากนี้ความวิจิตรของพระอุโบสถก็ทรงคุณค่าและเปี่ยมด้วยความหมายอันเป็นมงคลในศิลปะแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 อีกด้วย

อุโบสถวัดนางนอง

ลวดลายหน้าบันพระอุโบสถศิลปะแบบพระราชนิยม

วัดนางนองนี้ เดิมอยู่ริมคลองด่าน อันเป็น คลองสำคัญทางประวัติศาสตร์เนื่องด้วยมีการเก็บภาษีกันที่คลองเส้นนี้ที่เชื่อมกับแม่น้ำท่าจีน การสัญจรไปมาใช้เส้นทางคลองด่านเป็นหลัก หน้าวัดจึงได้หันสู่คลอง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกมิได้หันไปทางทิศตะวันออก แต่ต่อมาเมื่อมีการตัดถนน การสัญจรทางน้ำลดความสำคัญลง สภาพของก็เปลี่ยนไป ทางเข้าวัดได้เปลี่ยนมาเป็นทางด้านถนนวุฒากาศ

วัดนางนอง

คลองด่าน

คลองด่าน

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ราชวงศ์จักรีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้โปรดให้ปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งพระอาราม เมื่อปี พ.ศ. 2375 ดังปรากฏงานศิลปกรรมแบบพระราชนิยมในพระองค์ที่พระอุโบสถและพระวิหารคู่ และเพราะในแขวงบางนางนอง เดิมเป็นนิวาสถานของสมเด็จพระศรีสุลาลัย หรือเจ้าจอมมารดาเรียม พระราชชนนี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งต่อมาตระกูลของสมเด็จพระศรีสุลาลัย ย้ายข้ามฟากไปอยู่บริเวณวัดหนัง จึงทรงบูรณะวัดนางนอง เนื่องในสมเด็จพระราชมารดาที่ว่าศิลปแบบพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นศิลปกรรมที่เลียนแบบศิลปะจีน การบูรณปฏิสังขรณ์ใช้เวลาหลายปีจึงแล้วเสร็จได้สถาปนาเป็นพระอารามหลวง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ประกอบพิธีผูก พัทธสีมาพระอุโบสถเมื่อ พ.ศ. 2384

ขอพรค้าขาย ความเป็นมงคลที่รวมอยู่ในพระอุโบสถ

พระพุทธมหาจักรพรรดิ

พระพุทธมหาจักรพรรดิ

“พระพุทธมหาจักรพรรดิ” พระประธานในพระอุโบสถ คือ พระพุทธรูปสำริดปิดทอง เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัย พระพักตร์ เป็นศิลปะสมัยสุโขทัย หน้าตักกว้าง 2 เมตร 25 เซนติเมตร เครื่องทรงที่ประดับทุกชิ้นแยกออกจากองค์พระ สวมทับลงไว้ ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีปั้นลายปิดทองประดับกระจก เป็นงานประติมากรรมชิ้นเยี่ยมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มีความงามวิจิตรอลังการ จนได้มีการนำพระมหาพิชัยมงกุฎของพระพุทธมหาจักรพรรดิที่วัดนางนองไปประดิษฐานยังยอดของตรีศูลพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามวรวิหารภายหลังจึงมีการสร้างถวายคืนให้ในรัชกาลของพระองค์

เคล็ดขอพร พระพุทธมหาจักรพรรดิ

โดยในปี 2567 ครบรอบ 200 ปีแห่งการสร้างพระประธาน ภายในอุโบสถได้บรรจุความเป็นมงคลแห่งจักรพรรดิราช อันหมายถึงพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ การมากราบพระพุทธมหาจักรพรรดิที่วัดนางนอง ก็เท่ากับว่า มากราบขอพรความสำเร็จอันยิ่งใหญ่สมกับความมุ่งมาตรปรารถนาทุกๆ ประการ ดังคำที่ว่า พระมหาจักรพรรดิอยู่หนใด ก็ตักใช้ไม่พร่อง ด้วยพระมหาจักรพรรดิ คือพระที่ยิ่งใหญ่ สมบูรณ์พูนสุข โดยให้สวดคาถาพระมหาจักรพรรดิ เมื่อสวดจบ ขณะกราบขอพรให้เพ่งจิตมองไปที่ พระมหาพิชัยมงกุฎ ด้วยเคยประดิษฐานยังยอดของตรีศูลพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามวรวิหารมาก่อน เพื่อให้พรสำเร็จสูงสุด เป็นที่ประจักษ์สายตาชนทั้งผอง ดั่งความงามสง่าของพระปรางค์วัดอรุณนั่นเอง

เกร็ดความหมายมงคลแต่ละจุดภายในพระอุโบสถ

  • ลอดซุ้มประตูพระอุโบสถ ด้านบนภายนอกลงรักปิดทองเป็นลายเพชร ความหมายคือ ให้เก็บเพชร เก็บทองก่อนเข้าประตู ส่วนด้านบนของซุ้มประตูในพระอุโบสถ เป็นลายมังกร 5 เล็บเล่นแก้วชิงดวงแบบจีน เสมือนกับว่าได้ทะลุมิติมาขึ้นสวรรค์ภายในพระอุโบสถเพื่อกราบพระพุทธมหาจักรพรรดิแล้วนั่นเอง
  • กราบพระบรมฉายาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระบิดาแห่งการค้า ด้วยในยุครัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ การค้าขายกับชาวต่างชาติเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด มีเงินทองในท้องพระคลังจำนวนมาก จึงนับถือพระองค์เป็นพระบิดาแห่งการค้าขาย โดยนิยมมากราบขอโชคลาภ ค้าขายร่ำรวย การงานสำเร็จ เมื่อกราบเสร็จสามารถทำบุญ แล้วรับถุงแดงไปเป็นเงินขวัญถุง บูชาหน้าหิ้งพระเป็นขวัญกำลังใจในการค้าขายต่อไปส่วนด้ายแดงในถุงคือความมงคลให้นำไปผูกข้อมือ หยิบจับสิ่งใดให้เป็นเงินเป็นทอง
  • กราบเทวดารักษาพระประธาน เมื่อกราบ พระพุทธมหาจักรพรรดิ แล้วเดินไปหลังองค์พระจะมีเจ็ดรูปเทพยดา กราบขอพรเทวดาท่าน เพื่อขออนุญาตให้พรที่ขอสำเร็จสัมฤทธิ์ผล
  • จุดมู ฮก ลก ซิ่ว ภาพเขียนสีอายุกว่า 200 ปีด้วยฝีมือช่างจีน
    ฮก หมายถึง ความร่ำรวย มั่งคั่ง ไม่อดไม่อยาก ลูกหลานเต็มบ้านเต็มเมือง
    ลก หมายถึง ยศฐาบรรดาศักดิ์ เกียรติยศ ชื่อเสียง
    ซิ่ว หมายถึง อายุยืนนานไม่เจ็บ ไม่ป่วย
    3 สิ่งนี้ผู้ใดมีครบ ชีวิตจะสมบูรณ์แบบ สมปรารถนาทุกๆ ประการ ดังนั้นการมากราบขอพรจากภาพเขียนสีนี้ ก็จะได้พรอันเป็นมงคลครบทุกประการกลับบ้านไปด้วย

จิตรกรรมอันเลอค่าทางประวัติศาสตร์ในพระอุโบสถ

พุทธประวัติตอนชมพูบดีสูตร

จิตรกรรมฝาผนัง พุทธประวัติตอนชมพูบดีสูตร และภาพเขียนใต้กระจก อายุกว่า 200 ปี

จิตรกรรมฝาผนัง พุทธประวัติชมพูบดีสูตร อ้างว่าเป็นเรื่องพระพุทธประวัติ ปางเมื่อพระพุทธองค์ทรงกระทำปาฏิหาริย์ทรมานท้าวมหาชมพู ผู้มีฤทธานุภาพหาตัวสู้มิได้ ให้ละพยศยอมเป็นพุทธสาวก พวกจีนแลญวนที่ถือพระพุทธศาสนาตามลัทธิมหายานกล่าวกันว่า ท้าวมหาชมพูเป็นนายทหารเอกของจตุโลกบาล ครั้นพระพุทธองค์ทรงทรมานให้เลื่อมใสพระรัตนตรัยแล้ว แต่นั้นก็รับเป็นผู้รักษาพระธรรมวินัยต่อมา เพราะฉะนั้นจึงมักทำรูปไว้ตามวัดจีนแลวัดญวน จีนเรียกว่าอุยท่อเอี๋ย ญวนเรียกว่าหยีด้ายา แต่ตามเรื่องทางข้างไทยเราว่าท้าวมหาชมพูเป็นกษัตริย์ครองเมืองปัญจาลราษฐ แลเมื่อพระพุทธองค์ทรงทรมานให้เลื่อมใสแล้ว ท้าวมหาชมพูศรัทธาถึงขั้นสละราชสมบัติออกทรงผนวชเป็นภิกษุแล้วเพียรบำเพ็ญสมณธรรมจนได้บรรลุพระอรหันต์เป็นพระอริยสาวกพระองค์หนึ่งในครั้งพุทธกาล

ระหว่างหน้าต่างเป็นงานเขียนบนรักอย่างจีนที่เรียกว่าลายกำมะลอเรื่องสามก๊ก ถือเป็นวัดเดียวในไทยที่มีลายสามก๊กในพระอุโบสถ

ระหว่างบานประตูเป็นภาพลายกำมะลอสำคัญคือ ฮก ลก ซิ่ว พร้อมทั้งเครื่องมงคลตามสมัยรัชกาลที่ 3 ที่สมบูรณ์อีกแห่งหนึ่ง เป็นเคล็ดว่า ผู้ใดมากราบไหว้พระพุทธมหาจักรพรรดิที่นี่ เมื่อเดินผ่านบานประตูนี้ ก็จะมีสินทรัพย์พรั่งพร้อม เงินทองมากมี เปี่ยมบารมีและยศฐาบรรดาศักดิ์ นั่นเอง

จิตรกรรมประดับบานประตู หน้าต่าง และบานแผละ เป็นลายรดน้ำ
บานประตูเขียนเรื่องรามเกียรติ์
บานหน้าต่างเขียนภาพเทพในศาสนาฮินดูที่นำมาใช้เป็นงานประดับและทวารบาลอย่างไทย
บานแผละเขียนเป็นภาพมงคลที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ได้แก่ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ คือ พระมหามงกุฎ ธารพระกร พระแสงขรรค์ชัยศรี พัดวาลวิชนี พระแส้ และฉลองพระบาทเครื่องสูง

ภาพเขียนใต้กระจก เป็นเทคนิคสมัยราชวงศ์ชิง สันนิษฐานว่า อาจจะเป็นศิลปะนำเข้าหรืออาจจะมีช่างจีนมาเขียนงานในไทย โดยสีสันของภาพยังคงงดงามแม้จะผ่านกาลเวลามาถึง 200 กว่าปีแล้วก็ตาม

ศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมแบบพระราชนิยม

พระอุโบสถ

พระอุโบสถ

อาคารภายในวัดเป็นแบบไทยผสมจีน ได้แก่ พระอุโบสถ พระวิหาร งานศิลปกรรมจะอยู่ที่ส่วนหลังคา หน้าจั่วหรือหน้าบัน มีรูปแบบเป็นงานก่ออิฐถือปูนทำเลียนแบบจีน ที่ทนทานต่อสภาพภูมิอากาศ ที่เดิมมักใช้งานเครื่องไม้ และถึงแม้จะสร้างขึ้นเลียนแบบจีนก็ตาม แต่ก็ยังคงลักษณะความเป็นไทยไว้ เช่น การซ้อนหลังคาในส่วนที่เด่นของอาคาร และมุงกระเบื้องตามลักษณะของไทย

พระปรางค์

เขตพุทธวาส มีถาวรวัตถุ อย่างเช่น พระอุโบสถ พระวิหาร เจดีย์ทรงปรางค์ เจดีย์ทรงเครื่องโดยมีแผนผังตามแนวแกนหลักคือ พระอุโบสถเป็นประธานของวัดอยู่ด้านหลังสุด หน้าพระอุโบสถมีเจดีย์ทรงเครื่องขนาดใหญ่ ด้านซ้ายและขวาของเจดีย์มีวิหารคู่ ส่วนของวิหารทั้งสองหลังยังมีเจดีย์ทรงปรางค์ตั้งอยู่ด้านหลังและมีกำแพงแก้วล้อมรอบ ลักษณะของผังแบบนี้ ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของงานสร้างวัดในสมัยรัชกาลที่ 3

วัดสวย กรุงเทพ
เจดีย์
วัดสวย กรุงเทพ

วัดนางนอง จึงจัดเป็นโบราณสถานอันทรงคุณค่าทางศาสนาและประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่ควรแก่การอนุรักษ์และเผยแผ่ให้อนุชนรุ่นหลังได้เข้ามาสัมผัสและซึมซับความละเอียดลออทางศิลปะอันเชื่อมโยงกับศรัทธาแรงกล้าต่อพุทธศาสนาของพระมหากษัตริย์และบรรพชนไทย วัดอยู่ไม่ใกล้ ไม่ไกล ย่านจอมทอง กรุงเทพมหานคร ที่เรียกกันติดปากว่า ย่านฝั่งธนฯ นี่เองค่ะ

ภาพโดย แพรว

ที่อยู่ : 76 ถนนวุฒากาศ แขวงบางค้อ เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร 10150
Google map : https://maps.app.goo.gl/jVTrLvaP6WGshkHL8
เวลาทำการ : 08.00 น. – 17.00 น.

เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ขอพรการเงิน วัดราชโอรส วัดประจำรัชกาลที่ ๓ วัดสวยย่านฝั่งธน
ย้อนตำนาน วัดประจำรัชกาล พร้อมเรื่องราวที่มาและความสำคัญ
ดวงตก ชีวิตติดขัด แนะไหว้ เสาครู วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร