จักรพันธุ์ โปษยกฤต พระพุทธนวราชบพิตร วัดตรีทศเทพวรวิหาร

กราบ พระพุทธนวราชบพิตร วัดตรีทศเทพวรวิหาร ชมจิตรกรรมฝาผนังสุดชิค

นับเป็นพระพุทธนวราชบพิตรที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเป็นขนาดพระประธานองค์เดียวของไทย

Home / กรุงเทพมหานครฯ / กราบ พระพุทธนวราชบพิตร วัดตรีทศเทพวรวิหาร ชมจิตรกรรมฝาผนังสุดชิค

วัดตรีทศเทพวรวิหาร

วัดตรีทศเทพวรวิหาร
พระอุโบสถ

วัดตรีทศเทพวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหารโดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร (พระองค์เจ้าสุประดิษฐ์ – ต้นราชสกุลสุประดิษฐ์ ณ อยุธยา) พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงสร้างขึ้นใกล้วังของพระองค์ หลังจากทรงกำหนดที่จะเริ่มงานเพียงเล็กน้อยก็สิ้นพระชนม์เสียก่อนในปี พ.ศ. 2405 รัชกาลที่ 4 จึงทรงมีพระบรมราชโองการให้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส (พระองค์เจ้านพวงศ์ – ต้นราชสกุลนพวงศ์ ณ อยุธยา) ซึ่งเป็นพระเชษฐาร่วมพระมารดาเดียวกันคือ เจ้าจอมมารดาน้อย เจ้าจอมองค์แรกในรัชกาลที่ 4 ทรงสร้างต่อแต่ยังไม่ทันสำเร็จก็สิ้นพระชนม์อีกพระองค์หนึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2410 รัชกาลที่ 4 ทรงสร้างเพิ่มเติมจนสำเร็จ และพระราชทานนามว่า วัดตรีทศเทพ มีความหมายว่า วัดที่เทพสามองค์สร้าง ซึ่งหมายถึง พระองค์และพระราชโอรสทั้งสองที่ได้ร่วมกันสร้างวัด ได้ทำพิธีผูกพัทธสีมาเมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2492

พระอุโบสถเดิม

พระอุโบสถเดิมเป็นพระอุโบสถขนาดย่อม และเมื่อวันเวลาผ่านไปก็ชำรุดทรุดโทรมลง ดังนั้น เมื่อ พ.ศ. 2529 พระเทพวัชรธรรมาภรณ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดตรีทศเทพ ได้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามทั้งหมด และได้สร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้นแทนหลังเดิม ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2529 และทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์

ในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ คือ พระประธานหล่อด้วยโลหะผสมปางสมาธิ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพักตรพิมลพรรณ ทรงสร้างและพระพุทธรูปยืนอุ้มบาตรซึ่งรัชกาลที่ 4 ทรงสร้างอุทิศ เป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร และ อีกองค์หนึ่ง เป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส

พระอุโบสถ
ประตู

พระอุโบสถหลังใหม่

พระอุโบสถหลังใหม่มีขนาดกว้าง 19 เมตร ยาว 21 เมตร เป็นอาคารทรงไทยตรีมุข ก่ออิฐถือปูน ประดับหินอ่อนทั้งหลัง หลังคามุงกระเบื้อง ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันด้านทิศตะวันออกประดิษฐานพระพระมหาพิชัยมงกุฎ ในรัชกาลที่ 4 ด้านทิศเหนือ ประดิษฐานพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. ด้านทิศใต้ประดิษฐานพระนามาภิไธยย่อ ส.ก. และด้านทิศตะวันตก ประดิษฐานพระปรมาภิไธยย่อ ส.ธ.

อุโบสถ
ประตู
วิหารคด
เทพ
ประตู

เมื่อพระอุโบสถหลังใหม่แล้วเสร็จ แต่ยังไม่มีพระประธาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้หล่อพระพุทธนวราชบพิตร ขนาดหน้าตักกว้าง 61.9 นิ้ว สูง 89 นิ้ว พระรัศมี 14 นิ้ว ฐานถึงบัว 19 นิ้ว ส่วนกว้าง 32 นิ้ว เพื่อประดิษฐานเป็นพระประธานประจำพระอุโบสถหลังใหม่ และได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเททองหล่อพระประธานพระพุทธนวราชบพิตร เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2530 นับเป็นพระพุทธนวราชบพิตรที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเป็นขนาดพระประธานองค์เดียวของไทย

วัดตรี
พระพุทธนวราชบพิตร

พระพุทธนวราชบพิตร

วัดตรีทศเทพ

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริสร้างพระพุทธนวราชบพิตรพระราชทานเป็นพระพุทธรูปประจำจังหวัด ทั่วราชอาณาจักร เมื่อ พ.ศ. 2508 ทรงตรวจพระพุทธลักษณะที่นายช่างปั้นถวาย ด้วยพระองค์เองจนพอพระราชหฤทัยแล้ว จึงได้โปรดเกล้าฯให้เททองหล่อพระพุทธรูป เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2509 เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีขนาดหน้าตักกว้าง 23 ซม. สูง 40 ซม. ที่บัวฐานด้านหน้าบรรจุพระพิมพ์พระสมเด็จจิตรลดาไว้อีกองค์หนึ่ง พระพุทธนวราชบพิตรนี้ นอกจากจะเป็นนิมิตหมายแห่งคุณพระรัตนตรัยอันเป็นที่เคารพบูชาสูงสุดแห่งพุทธศาสนิกชนแล้ว ยังเป็นนิมิตหมายแห่งความผูกพันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างองค์พระมหากษัตราธิราชกับบรรดาพสกนิกรของพระองค์ ในทุกจังหวัดทั่วพระราชอาณาจักร

ท้าววิรุฬหก

ท้าววิรุฬหก

จิตรกรรมฝาผนัง
จิตรกรรมฝาผนัง
รูปช้าง
จิตรกรรมฝาผนัง
จิตรกรรมฝาผนัง

จิตรกรรมฝาผนัง โดย ศิลปินแห่งชาติ

จิตรกรรมฝาผนัง จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถนั้น เป็นภาพพุทธประวัติ ซึ่งอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(จิตรกรรม) เป็นผู้อำนวยการและออกแบบการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง โดยมีคณะทำงานเป็นผู้เขียน เริ่มตั้งแต่ปี 2533 ที่สำคัญ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงมีพระราชศรัทธาโปรดเกล้าฯพระราชทานทุนทรัพย์จำนวนห้าล้านบาทถ้วน เพื่อสมทบทุนการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังในครั้งนี้ด้วย

ภายในพระอุโบสถ
วัดตรีทศเทพ
อุโบสถ
นางเงือก
จิตรกรรมฝาผนัง
จิตรกรรมฝาผนัง
พระวิหาร

พระวิหาร

พระวิหาร กว้าง 12 เมตร ยาว 22 เมตร เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้อง ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันประดับลายปูนปั้น ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปหลายองค์ ทั้งนี้ พระวิหารหลังนี้ถือเป็นโบราณสถานที่สร้างขึ้นตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ที่ยังคงเหลืออยู่

วิหารคด
วิหารคด
วิหารคด

วิหารคด

วิหารคด เป็นวิหารคดรอบพระอุโบสถ ประดับด้วยหินอ่อน พร้อมด้วยซุ้มประตู และซุ้มประจำทิศ

วิหารคด
วิหารคด
หินอ่อน
พระธาตุเจดีย์

พระธาตุเจดีย์

พระธาตุเจดีย์ เป็นพระเจดีย์ใหญ่ทรงลังกา รายล้อมด้วยเจดีย์ขนาดย่อม 4 องค์ ตั้งอยู่หลังพระอุโบสถ ประดับโมเสกสีทองทั้งองค์ ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งได้รับประทานจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

พระพุทธนวราชบพิตร
แผนที่บางลำพู

ที่อยู่ : เลขที่ 167 ถนนประชาธิปไตย แขวงบ้านพานถม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
Google map : https://goo.gl/maps/LfGrsa4J2Udig3Xv9
เวลาทำการ : 06.00 น. – 18.00 น.
หมายเหตุ : พระอุโบสถ และพระวิหาร เปิดให้เข้าเฉพาะวันสำคัญทางพุทธศาสนาเท่านั้น

เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

28 ก.ค. วันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ พระสังฆราช องค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร เปิดตำนาน สระน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ แห่งกรุงธนบุรี