ศาลหลักเมืองถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ มีความหมายอันสื่อถึงการวางความมั่นคงของประเทศ ตามความเชื่อโบราณก็เพื่อให้ประเทศร่มเย็นเป็นสุข มีแต่ความเจริญรุ่งเรือง หากได้มีโอกาสเข้าไปกราบไหว้สักการะ ก็เสมือนเป็นการเพิ่มความเป็นสิริมงคล รับพรบริสุทธิ์จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ตัวเองอีกด้วย ซึ่งก็จะมีศาลหลักเมืองประจำแต่ละจังหวัด โดยในวันนี้เราจะขอแนะนำ ศาลหลักเมือง กรุงเทพฯ กันค่ะ
ศาลหลักเมือง กรุงเทพฯ
ศาลหลักเมือง กรุงเทพฯ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2325 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ได้โปรดเกล้า ฯ ให้มีพระราชพิธียกเสาหลักเมืองขึ้น เป็นเสาไม้ชัยพฤกษ์ มีไม้แก่นจันทน์ประกับนอก ยอดเสารูปบัวตูม เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 ณ ชัยภูมิใจกลางพระนครใหม่ที่พระราชทานนามว่า “กรุงรัตนโกสินทร์อินท์อโยธยา” หรือเรียกต่อกันมาว่า “กรุงเทพมหานคร” สถิตสถาพรเป็นมิ่งขวัญประชาชนชาวไทย
จนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเสาหลักเมืองต้นใหม่แทนต้นเดิมที่ชำรุดไปตามกาลเวลา เป็นเสาไม้สักเป็นแกนอยู่ภายใน ประกอบด้วยไม้ชัยพฤกษ์ ยอดเม็ดทรงมัณฑ์ และผูกดวงชะตาพระนครขึ้นใหม่ เพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนชาวไทยทั้งหลาย ที่อยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภารประสบความเจริญ รุ่งเรืองวัฒนาถาวรยิ่งขึ้น
ขั้นตอนการสักการะศาลหลักเมือง กรุงเทพฯ
การไปไหว้สักการะศาลหลักเมือง กรุงเทพฯ นั้น เมื่อไปถึงแล้วให้เข้าไปไหว้ตามจุดต่างๆ 5 จุด โดยแต่ละจุดจะมีขั้นตอนในการไหว้ ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 ไปที่อาคารหอพระพุทธรูป นำดอกบัวขึ้นไปสักการะพระพุทธรูป จากนั้นทำบุญใส่บาตรพระประจำวันเกิด
ซึ่งเชื่อว่าเป็นการสะเดาะเคราะห์ และช่วยหนุนดวงเสริมความมั่นคงในชีวิต
ขั้นตอนที่ 2 ไปที่ศาลาจำลอง ถวายธูปและเทียน กล่าวคำอธิษฐาน เสร็จแล้วนำผ้าแพรสีทั้ง 3 ผืน ผูกที่องค์หลักเมืองจำลองหลักใดหลักหนึ่ง และปิดทอง
ขั้นตอนที่ 3 ไปที่อาคารศาลหลักเมือง นำพวงมาลัยถวายองค์พระหลักเมือง โดยเสาหลักเมือง รัชกาลที่ 1 มียอดเสาเป็นรูปบัวตูม ส่วนเสาหลักเมือง รัชกาลที่ 4 ยอดเสาเป็นยอดเม็ดทรงมัณฑ์
ขั้นตอนที่ 4 ไปที่อาคารศาลเทพารักษ์ทั้ง 5 นำพวงมาลัยถวายเทพารักษ์ทั้ง 5 ประกอบด้วย พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระกาฬไชยศรี เจ้าเจตคุปต์ และเจ้าหอกลอง ซึ่งเทพารักษ์ทั้ง 5 ดูแลปกป้องบ้านเมืองในด้านการเมือง การปกครอง อริราชศัตรู และเหตุเภทภัยที่เกิดกับบ้านเมืองให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สุขสงบร่มเย็น
ขั้นตอนที่ 5 ไปที่จุดเติมน้ำมันตะเกียงพระประจำวันเกิด ธรรมเนียมปฏิบัติของศาลหลักเมือง คือ ให้เติมน้ำมันตะเกียงพระประจำวันเกิดครึ่งขวด เพื่อความสว่างไสวในชีวิต มีแต่ความเจริญรุ่งเรือง ส่วนที่เหลือให้นำไปเติมที่ตะเกียง
สะเดาะเคราะห์ เพื่อให้สิ่งที่ไม่ดีทุกข์โศกโรคภัยออกไปจากตัวเรา
คำกล่าวบูชาสักการะองค์พระหลักเมือง
ตั้ง นะโม 3 จบ
ศรีโรเม เทพเทวานัง พระหลักเมืองเทวานัง พระภูมิเทวานัง ที ปธูปจะบุปผัง
สักการะวันทนัง สูปพยัญชนะ สัมปันนัง
สารีนัง อุททะกัง วะรัง เตปิตุมเห อานุรักษ์ขันตุ อาโรขเยนะ สุเขนะจะ
ข้าพเจ้า ……ชื่อ…….นามสกุล……….. ขอถวายเครื่องสักการะและสิ่งต่างๆ แด่องค์พระหลักเมือง ขอองค์พระหลักเมืองจงรับเครื่องสักการะและสิ่งต่างๆ ของข้าพเจ้า ขอบารมีองค์พระหลักเมือง และเทพเทพารักษ์ที่สถิตอยู่ ณ ที่นี้ จงดลบันดาลให้ข้าพเจ้าทำการสิ่งใดได้สำเร็จ สมปณิธานที่ปรารถนาทุกประการ ขอให้ข้าพเจ้าและครอบครัว บริวาร ตลอดจนญาติสนิท มิตรสหาย จงแคล้วคลาดจากภัยพิบัติทั้งปวง ปราศจากอโรคาพยาธิ และจงมีแต่ความสุข ความเจริญ ตลอดกาลนานเทอญ
การแต่งตัวไปไหว้ศาลหลักเมือง กรุงเทพฯ
ศาลหลักเมือง กรุงเทพฯ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และบริสุทธิ์ ฉะนั้นการเข้าไหว้สักการะ จึงควรคำนึงถึงกาลเทศะเป็นสำคัญ แต่งกายให้เรียบร้อย งดสวมใส่เสื้อกล้าม เสื้อแขนกุด กางเกงขาสั้นหรือกระโปรงสั้นจะดีที่สุด
ที่ตั้ง : 2 ถนนหลักเมือง แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
Google map : https://goo.gl/maps/2qW7XNhCubtBrrEAA
เวลาทำการ : 06.30 – 18.30 น. ทุกวัน และเปิดบริการตลอดคืนในเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ และเทศกาลตรุษจีน
เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
มูของาน! 5 สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ขอพรการงาน พร้อมเทคนิคบูชาให้ขลัง
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระแก้ว พระอารามคู่บ้านคู่เมืองของไทย