พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระแก้วมรกต วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระแก้ว

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระแก้ว พระอารามคู่บ้านคู่เมืองของไทย

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เรียกกันอย่างสามัญโดยทั่วไปว่า วัดพระแก้ว ด้วยเหตุที่เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นพร้อมพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่พุทธศักราช 2325

Home / กรุงเทพมหานครฯ / วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระแก้ว พระอารามคู่บ้านคู่เมืองของไทย

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เรียกกันอย่างสามัญโดยทั่วไปว่า วัดพระแก้ว ด้วยเหตุที่เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นพร้อมพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่พุทธศักราช 2325 เพื่อให้เป็น วัดในเขตพระบรมมหาราชวังที่ไม่มีเขตสังฆาวาสและไม่มีพระภิกษุสามเณรจำพรรษา เช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ ในเขตพระราชวังกรุงศรีอยุธยา โดยตั้งพระราชหฤทัยจะให้เป็นพระอารามที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรหรือพระแก้วมรกตที่อัญเชิญกลับมาจากเมือง เวียงจันทน์ และประดิษฐานอยู่ที่วัดแจ้งหรือวัดอรุณราชวรารามในสมัยกรุงธนบุรี และจะให้เป็นพระอารามที่ใช้ในการบําเพ็ญพระราชกุศล รวมทั้งพิธีกรรมทางศาสนาที่สำคัญ ซึ่งยังคงปฏิบัติเช่นเดียวกันนี้ สืบต่อกันมาจนในปัจจุบัน

วัดพระแก้ว

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ฤาษี

ภายในพระอารามมีปูชนียสถาน ปูชนียวัตถุที่สำคัญเป็นอันมากด้วยเหตุที่เป็นพระอารามคู่บ้านคู่เมือง และได้รับการก่อสร้างศาสนสถานเพิ่มเติมเป็นระยะๆ รวมทั้งมีการบูรณปฏิสังขรณ์มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีประวัติการบูรณะ ครั้งใหญ่ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อพุทธศักราช 2375 คราวสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ครบ 100 ปีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อพุทธศักราช 2425 ครบ 150 ปีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพุทธศักราช 2475 และ 200 ปี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อพุทธศักราช 2525

พระอุโบสถ
พระอุโบสถ

พระอุโบสถ

สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 หลังคาประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ แสดงออกถึงฐานานุศักดิ์ ชั้นสูงในสถาปัตยกรรมไทย ภายในเป็นที่ตั้งบุษบกยกฐานสูง ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรหรือ พระแก้วมรกต ภายในพระอุโบสถยังได้ประดิษฐานพระพุทธรูปที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นพระพุทธรูป ฉลองพระองค์ ปางห้ามสมุทรโดยมีนามในภายหลังว่า พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ส่วนจิตรกรรมฝาผนังภายในเป็นแบบไทยประเพณี เขียนภาพพุทธประวัติระหว่างช่องหน้าต่างเป็นภาพทศชาติ

พระแก้วมรกต

พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร

พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกต เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ แกะสลักจากหินหยก แม้ว่าจะมีพุทธศิลป์แบบศิลปะล้านนา แต่ปรากฏตํานานและพงศาวดารที่กล่าวถึงที่มาและอายุในการสร้างอย่างหลากหลาย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องทางปาฏิหาริย์ ในตํานานกล่าวว่า เคยประดิษฐานที่เมืองละโว้ อยุธยา กําแพงเพชร เชียงราย ภายหลังจะอัญเชิญไปเชียงใหม่ แต่เกิดปาฏิหาริย์ต้องประดิษฐานที่วัดพระแก้วดอนเต้า เมืองลําปาง และไปประดิษฐานที่วัดเจดีย์หลวงเมืองเชียงใหม่ ภายหลังถูกอัญเชิญไปยังอาณาจักรล้านช้าง ครั้นถึงสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (รัชกาลที่ 1) ได้อัญเชิญกลับมา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อรัชกาลที่ 9 ทรงสถาปนากรุง รัตนโกสินทร์แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐาน ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยจะมีพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร เป็นเครื่องทรง 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว โดยเครื่องทรงแรกเริ่มจัดสร้างขึ้นด้วยพระราชศรัทธาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งพระบรมราชวงศ์จักรีวงศ์

องค์ประกอบของเครื่องทรงชุดปัจจุบัน
ฤดูหนาว – ใช้อัญมณีในการจัดสร้างเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรฤดูหนาว ชุดใหม่ รวมทั้งหมด 15,868 เม็ด น้ำหนัก 2,863.44 กะรัต น้ำหนัก 572.68 กรัม น้ำหนักลงยา 27.69 กรัม น้ำหนักทองสุทธิ 5,579.50 กรัม รวมน้ำหนักเครื่องทรงพระพุทธมณีรัตนปฏิมากรฤดูหนาวชุดใหม่ 6,179.87 กรัม

ฤดูร้อน – ใช้อัญมณีในการจัดสร้างเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรฤดูร้อน ชุดใหม่ รวมทั้งหมด 6,297 เม็ด น้ำหนัก 2,132.81 กะรัต น้ำหนัก 426.56 กรัม น้ำหนักลงยา 166.24 กรัม น้ำหนักทองสุทธิ 7,145.00 กรัม รวมน้ำหนัก 7,737.80 กรัม

ฤดูฝน – ใช้อัญมณีในการจัดสร้างเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรฤดูฝน ชุดใหม่ รวมทั้งหมด 15,388 เม็ด น้ำหนัก 694.98 กะรัต น้ำหนัก 139.00 กรัม น้ำหนักลงยา 153.54 กรัม น้ำหนักทองสุทธิ 7,913.84 กรัม รวมน้ำหนัก 8,206.38 กรัม

สำหรับเครื่องทรงฯ ชุดเดิมได้รับการเก็บรักษาไว้เป็นโบราณวัตถุอันล้ำค่า และจัดแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และเครื่องทรงฯ ชุดใหม่ ชุดใดที่มิได้ทรง จะเก็บรักษาและจัดแสดงไว้ที่ศาลาเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญกษาปณ์ไทย ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อให้ประชาชนได้ชื่นชม ซึ่งเปิดให้บริการทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ ยกเว้นวันที่มีพระราชพิธี

คาถาบูชาพระแก้วมรกต
ตั้ง นะโม 3 จบ
วาละลุกัง สังวาสังวา (3 จบ)

พระปรางค์
จิตรกรรมฝาผนังรามเกียรติ์

จิตรกรรมฝาผนัง

พระระเบียงรอบพระอุโบสถ มีความโดดเด่นตรงที่มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง เรื่อง รามเกียรติ์ เขียนขึ้น ตั้งแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ 1 มีการซ่อมบูรณะเรื่อยมา ต่อมาในคราวบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่วาระสมโภชพระนคร ครบ 100 ปี ในสมัยรัชกาลที่ 5 ในการนี้ได้ทรงพระนิพนธ์โคลงประกอบภาพไว้จํานวนแปดห้อง

เบญกาย
นางยักษ์
รามเกียรติ์
นิลพันธ์
ปราสาทพระเทพบิดร

ปราสาทพระเทพบิดร

เดิมเรียกว่า พระพุทธปรางค์ปราสาท สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 ภายหลังมีการบูรณะใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า ปราสาทพระเทพบิดร นับเป็นอาคารทรงจตุรมุข ยอดปรางค์หลังเดียวในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ผนัง ฐานและเสา ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสี หน้าบันของจตุรมุขแต่ละทิศ จําหลักไม้ลงรักปิดทองรูปพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 4 ปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชในพระบรมราชจักรีวงศ์ รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 9

ปราสาทพระเทพบิดร
ปราสาทพระเทพบิดร
ปราสาทพระเทพบิดร
สถาปัตยกรรม

พระมณฑป

พระมณฑป ตั้งอยู่ด้านหลังปราสาทพระเทพบิดร สร้างแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ 1 สําหรับประดิษฐาน พระไตรปิฎกฉบับทองใหญ่ หลังคาย่อมุมและสอบขึ้นแบบทรงปราสาท ผนังภายนอกทั้งหมดทําเป็นลายเทพพนม ปิดทองประดับกระจกในกรอบลายพุ่มข้าวบิณฑ์

เจดีย์ทอง

พระศรีรัตนเจดีย์

พระศรีรัตนเจดีย์ หรือ เจดีย์ทอง ตั้งอยู่ด้านตะวันตกของพระมณฑป สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ตามแบบเจดีย์ทรงระฆังวัดพระศรีสรรเพชญ์ ในกรุงศรีอยุธยา ภายในประดิษฐานพระเจดีย์ขนาดเล็กที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ประดับด้วยกระเบื้องสีทองทั้งองค์

พระอัษฎามหาเจดีย์

พระอัษฎามหาเจดีย์

พระอัษฎามหาเจดีย์ หรือ พระปรางค์ 8 องค์ ลักษณะเป็นพระปรางค์ย่อมุมไม้สิบสองเหมือนกัน ทุกองค์ แตกต่างกันที่สีของกระเบื้องเคลือบสร้างครั้งสมัยรัชกาลที่ 1 ถวายเพื่อเป็นพุทธบูชา ตั้งเรียงกันอยู่ด้าน หน้าพระอารามจากทิศเหนือมาทิศใต้ จึงมีชื่อเรียกและลักษณะสีกระเบื้องต่างกัน อาทิ พระปรางค์สีเหลืองที่ ตั้งอยู่ทางทิศใต้สุด ชื่อ พระศรีอริยเมตตะมหาเจดีย์ สร้างอุทิศถวายแต่พระพุทธเจ้าในอนาคต

พระอัษฎามหาเจดีย์
ประติมากรรมหินอ่อนแกะสลัก

ประติมากรรมหินอ่อนแกะสลัก

เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2564 ในการปรับปรุงเส้นทางเข้าชมภายในพระบรมมหาราชวัง บริเวณประตู มณีนพรัตน์ไปยังประตูสวัสดิโสภา ระหว่างการดำเนินการปรับปรุงก่อสร้างได้ขุดพบประติมากรรมหินสลักจำนวนมาก จึงได้ทำการเปิดการขุดค้นทางโบราณคดี จากหลักฐานพบว่าเป็นประติมากรรมรูปบุคคลหลากหลายเชื้อชาติ และสัตว์ในเทพนิยาย ซึ่งจารึกที่พบบนประติมากรรมหินสลักบางตัว ระบุเป็นภาษาจีน ว่าทำที่มณฑลกวางตุ้ง

รูปปั้นแกะสลัก

จากการสืบค้นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในเบื้องต้นพบว่า ประติมากรรมหินอ่อนแกะสลักเหล่านี้ปรากฏในภาพถ่ายเก่าในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประดับตกแต่งอยู่โดยรอบพระอารามและมีการโยกย้ายในรัชสมัยต่อๆกันมา ซึ่งมีหลักฐานจากภาพที่ตีพิมพ์ในหนังสือทั้งในประเทศและต่างประเทศ

รูปปั้นหินสลัก

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ทำการอนุรักษ์ซ่อมแซมประติมากรรมหินสลัก และนำมาประดับในวัดพระศรีรัตนศาสดารามบริเวณตำแหน่งเดิมหรือใกล้เคียงตามหลักฐานที่ปรากฏ

รูปปั้นหินสลัก
รูปปั้นหินสลัก

ซึ่งมีหลักฐานจากหนังสือ “บันทึกการเดินทางสู่ตะวันออกไกลของมกุฎราชกุมารนิโคลาส” ฉบับพิมพ์ ในปี ค.ศ. 1898 ทรงเล่าจากประสบการณ์ส่วนพระองค์ของ มกุฎราชกุมารนิโคลัส แห่งราชวงศ์โรมานอฟ ผู้เสด็จเข้ามาเยี่ยมเยือนกรุงสยาม ในปี ค.ศ. 1891 ได้ทรงบันทึกถึงวัดพระแก้ว เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 1891 ไว้ว่า…

“เช้าวันนี้ เราได้ไปเยือนวัดพระแก้ว ของพระเจ้าแผ่นดิน บริเวณทางเข้ามีรูปปั้นยักษ์ขนาดใหญ่ 2 ตน มือถือกระบอง เป็นทวารบาล หรือผู้เฝ้าประตู โดยรอบบริเวณลานของวัด มีรูปปั้นหุ่นของคนในลักษณะต่างๆ เช่น รูปผู้นำประเทศ แม่ทัพ และกะลาสี รวมทั้งบุรุษและสตรีเพศ วางเรียงรายอยู่มากมาย

เหตุใดรูปปั้นหินอ่อนเหล่านี้ จึงมาอยู่ที่นี่ ไม่มีใครให้คำตอบได้ มันถูกจัดแสดงไว้ที่นี่ สำหรับงานฉลองเมืองหลวง ก่อนที่จะถูกนำเข้าไปจัดแสดง ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ที่พระเจ้าแผ่นดินทรงมีพระราชดำริให้จัดสร้างขึ้น”

วัดพระแก้ว

ที่ตั้ง : พระบรมมหาราชวัง ถนนหน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

พิกัด : https://goo.gl/maps/Nb96gUEiCvtzoJUy5

เวลาทำการ : วัดพระแก้วเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมได้ทุกวันเวลาเยี่ยมชมคือ 8:30 น. ถึง 15:30 น. และสำนักงานขายตั๋วจะปิดเวลา 15:30 น.

ไหว้พระ


ค่าเข้าชม :
ชาวต่างชาติมีค่าธรรมเนียมในการเข้าชม 500 บาท/ท่าน
ชาวไทย เข้าชมฟรี ด้วยการแสดงบัตรประจำตัวประชาชน

วัด
วัดพระแก้ว
พระอาราม
วัด
วัดพระแก้ว


ข้อจำกัด :
1. อนุญาตให้ถ่ายภาพในและรอบ ๆ บริเวณ แต่ไม่สามารถถ่ายรูปภาพภายในพระอุโบสถ รวมถึง องค์พระแก้วมรกต ได้
2. กรุณาแต่งกายสุภาพ สวมเสื้อมีแขน กางเกงหรือกระโปรงยาวคลุมเข่า มิฉะนั้นจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าชม

แหล่งอ้างอิง

กรมศาสนา

หน่วยราชการในพระองค์ สำนักพระราชวัง

หนังสือ “บันทึกการเดินทางสู่ตะวันออกไกลของมกุฎราชกุมารนิโคลาส” ฉบับพิมพ์ ในปี ค.ศ. 1898

เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

วัยเบญจเพสมีกี่รอบ ? พร้อมแนะ วิธีแก้เคล็ดวัยเบญจเพส ที่ไม่ควรพลาด

24 มี.ค. ฤกษ์เปิดบัญชี อ. มิก แนะฤกษ์ดีเก็บทรัพย์กับธนาคารประจำวันเกิด

ทำไมต้อง ไข่ต้มแก้บน ความเชื่อมโยงของไข่กับขวัญจากความเชื่อทั่วโลก