น้ำท่วมกรุงเทพ วัดดุสิดาราม วัดดุสิดารามวรวิหาร

200 กว่าปี วัดดุสิดารามวรวิหาร วัดสวยฝ่าภัยสงครามโลกและน้ำท่วม กทม.

ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 วัดดุสิดารามและวัดน้อยทองอยู่ได้รับความเสียหายจากระเบิด แต่วัดน้อยทองอยู่เสียหายหนัก เหลือเพียงกำแพงอุโบสถ

Home / กรุงเทพมหานครฯ / 200 กว่าปี วัดดุสิดารามวรวิหาร วัดสวยฝ่าภัยสงครามโลกและน้ำท่วม กทม.

วัดดุสิดารามวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี เดิมชื่อว่า วัดเสาประโคน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ พระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ได้ทรงสถาปนาขึ้น ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ได้ทรงสร้างกุฏิด้านหน้า 1 คณะ หอสวดมนต์ ศาลาการเปรียญ เจดีย์ และบูรณปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุอื่น ๆ ทรงบรรจุอัฐิเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ ซึ่งเป็นพระเชษฐภคนี ในบริเวณกุฏิที่สร้างใหม่ และพระราชทานนามวัดว่า “วัดดุสิดาราม”

วัดดุสิดารามวรวิหาร

วัดดุสิดารามวรวิหาร

ปี พ.ศ. 2456 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้เสด็จตรวจวัดดุสิดาราม วัดภุมรินราชปักษี และวัดน้อยทองอยู่ ซึ่งมีอาณาเขตที่ดินติดต่อกัน ทรงรับสั่งให้รวมวัดภุมรินราชปักษี ซึ่งมีพระสงฆ์จำพรรษาเพียงรูปเดียวเข้ากับวัดดุสิดาราม

พระอุโบสถ

ต่อมาในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 วัดดุสิดารามและวัดน้อยทองอยู่ได้รับความเสียหายจากระเบิด แต่วัดน้อยทองอยู่เสียหายหนัก เหลือเพียงกำแพงอุโบสถ ดังนั้น ในวันที่ 5 มีนาคม 2488 เจ้าอาวาสวัดดุสิดารามจึงได้ยื่นหนังสือกับทางการขอรวมวัดน้อยทองอยู่เข้าด้วยกันกับวัดดุสิดาราม ทำให้การรวมพื้นที่ของ 3 วัดเป็นวัดเดียวนั้นมีเนื้อที่อาณาเขตขยายออกในวงกว้าง ซึ่งเจ้าอาวาสก็สามารถดูแลจัดการบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามสืบต่อมาเป็นอย่างดี

พระอุโบสถ

พระอุโบสถ

เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนมีระเบียงทั้งด้านหน้าและด้านหลัง หลังคาลด 3 ชั้นมุงกระเบื้อง ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันจำหลักรูปเทพพนม และรูปพระนารายณ์ทรงครุฑปิดทอง บานประตู หน้าต่าง เขียนลายรดนํ้าทรงพุ่มข้าวบิณฑ์

พระอุโบสถ
พระอุโบสถ
พระประธาน

ภายในพระอุโบสถมีพระประธาน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีพระอัครสาวกนั่งประนมมืออยู่ข้างซ้ายขวาข้างละองค์ นั่งพับแพนงเชิงอยู่บนแท่นบัวคว่ำบัวหงายผินหน้าเข้าหาพระประธาน จิตรกรรมฝาผนังภายในเป็นภาพเทพชุมนุม เป็นเรื่องทศชาติและพุทธประวัติตอนผจญมาร และตอนเสด็จลงจากดาวดึงส์ เป็นภาพที่ยกย่องกันว่างามยอดเยี่ยมของยุครัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นฝีมือของช่างที่มีชื่อเสียงในรัชกาลที่ 3

จิตรกรรมฝาผนัง

พระระเบียงคด

พระระเบียงคด

พระระเบียงคด ล้อมรอบพระอุโบสถทั้ง 4 ด้าน ด้านในมีหลังคาพาไลคลุมเฉลียง ผนังด้านนอกก่อทึบผนังด้านในโปร่งเป็นระเบียงทางเดิน มีซุ้มประตูเข้าออกเป็นหลังคาทรงจั่วปั้นหยา โดยมีลักษณะเฉพาะคือผนังด้านในมีการเจาะช่องจระนำประดับพระพุทธรูปยืนปางถวายเนตรลงรักปิดทองรอบระเบียงคดจำนวน 64 องค์บนพื้นผนังเขียนจิตรกรรมภาพพระสาวกยืนและนั่งปลงกรรมฐานบนพื้นสีน้ำตาลที่เป็นฉากธรรมชาติลายดอกไม้ ใบไม้ และสัตว์นานาชนิด

พระระเบียงคด
พระระเบียงคด
พระระเบียงคด
พระระเบียงคด

พระเจดีย์

พระเจดีย์ประจำมุม

พระเจดีย์ประจำมุมภายในพระระเบียงคดวัดดุสิดาราม ประกอบด้วยพระเจดีย์ 2 รูปแบบ คือ พระเจดีย์ประจำมุมทรงปรางค์ย่อมุมไม้ยี่สิบ 2 องค์ ด้านหน้าซ้ายและขวาของพระอุโบสถ โดยมีทรงปรางค์เป็นรูปทรงดอกข้าวโพดประกอบด้วยส่วนฐานรองรับส่วนกลางที่เป็นเรือนธาตุ และส่วนยอดที่เป็นชั้นซ้อนลดหลั่นกันไป ส่วนเรือนธาตุปิดทึบตันไม่มีการเจาะช่องคูหาภายใน และพระเจดีย์ประจำมุมทรงเครื่องย่อมุมไม้สิบสอง 2 องค์ อยู่ตำแหน่งด้านหลังซ้ายและขวาของพระอุโบสถ เป็นพระเจดีย์ทรงเครื่อง มีการประดับลวดลายปูนปั้นที่บัวกลุ่มรองรับองค์ระฆัง รวมทั้งมีลวดลายบัวคอเสื้อที่ส่วนบนขององค์ระฆัง

วัดดุสิดาราม
พระอุโบสถ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2554 เกิดอุทกภัย น้ำท่วมกรุงเทพฯ ครั้งใหญ่ พระอุโบสถ พระเจดีย์ และ พระระเบียงคดได้รับความเสียหายอย่างหนัก ต้องได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์อย่างเร่งด่วน โดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ร่วมกับทางวัดจัดทำ “โครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดดุสิดาราม” ซึ่งได้เริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2556 บูรณะพระอุโบสถ ระเบียงคดรอบพระอุโบสถ และปรับปรุงภูมิทัศน์ในเขตพุทธาวาส จนกระทั่งเสร็จสมบูรณ์คงความงดงามมาจวบจนทุกวันนี้

ประตูวัด
วัดดุสิดาราม

นอกจากชมความงามของวัดดุสิดารามแล้ว หากเดินต่อไปอีกนิด สามารถไปขอพรเสด็จแม่ตะเคียนทอง ที่ศาลาเรือโบราณ อันเป็นที่เก็บเรือขุดโบราณจากไม้ตะเคียนขนาดความยาวหลายสิบเมตร โดยเป็นเรือขุดที่ยังไม่สำเร็จดี แต่มีความยาวอันเป็นเอกลักษณ์พิเศษ ลำหนึ่งมีป้ายแขวนไว้ว่า เสด็จแม่ตะเคียนทอง ยาวถึง 42 เมตร 10 เซนติเมตร เลยทีเดียว

ภาพโดย MTHAI TEAM

แหล่งอ้างอิง :
วัดดุสิดารามวรวิหาร
นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 180 พฤศจิกายน 2558 โดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ที่อยู่ : 7 เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า แขวงบางยี่ขัน เขตบางกอกน้อย กทม. 10700

Google map : https://goo.gl/maps/Gza11PVNnB3YzPybA

เวลาเข้าชม : 07.00 น. – 18.00 น.

เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ขอโชคต้นตะเคียนยักษ์ ขอพรซื้อขายที่ดินกับหลวงพ่อใหญ่ วัดปราสาท

เลขเด็ดฝันเห็นต้นตะเคียนให้เลข ทำนายฝันต้นตะเคียนให้เลข แม่นๆ

4 ลักษณะ โหงวเฮ้งใบหน้า คนอายุยืน ใครมีครบนี่ยิ้มเลย