ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นต้นไม้สำคัญในพระพุทธศาสนา ด้วยเป็นต้นไม้ที่ประทับและตรัสรู้สัมโพธิญาณของพระพุทธเจ้า ดังปรากฏในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาว่า ต้นโพธิ์เปรียบได้กับพุทธอุทเทสิกเจดีย์อย่างหนึ่ง ( อุทเทสิกเจดีย์ หมายถึง สิ่งที่สร้างขึ้นโดยเจตนาอุทิศแก่พระพุทธเจ้าหรือแทนองค์พระพุทธเจ้า เช่น เจดีย์ บัลลังก์ รอยพระพุทธบาท พระพุทธรูป พระพิมพ์ เป็นต้น) ทำให้พันธุ์ต้นโพธิ์กลายเป็นพันธุ์ไม้ที่เป็นที่เคารพนับถือของชาวพุทธเสมอมานับแต่สมัยพุทธกาล ต้นโพธิ์ในพระพุทธประวัติสองต้นคือ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ณ พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ และ ต้นอานันทโพธิ์ ณ วัดเชตวันมหาวิหาร ซึ่งอานันทโพธิ์ยังคงยืนต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยคำว่า “ต้นพระศรีมหาโพธิ์” นั้น อาจหมายถึงต้นที่อยู่ที่พุทธคยา ต้นโพธิ์ที่สืบมาจากหน่อโพธิ์ตรัสรู้ที่พุทธคยา หรือต้นโพธิ์ที่เป็นอุทเทสิกเจดีย์อื่น ๆ ก็ได้ เช่น ต้นโพธิ์ตามวัดต่าง ๆ
ความสำคัญของ ต้นพระศรีมหาโพธิ์
ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ณ เมืองอนุราธปุระ ประเทศศรีลังกา
เมื่อพระพุทธเจ้าประสูติ ต้นโพธิ์ ต้นนี้ก็เกิดขึ้นพร้อมกัน นับเป็น 1 ใน 7 สหชาติ (สหชาต, สหชาติ “ผู้เกิดร่วมด้วย” หมายถึง บุคคล (ตลอดจนสัตว์และสิ่งของ) ที่เกิดร่วมวันเดือนปีเดียวกัน , ผู้ที่เกิดร่วมปีกัน ) เป็นต้นโพธิ์ที่พระพุทธเจ้านั่งประทับบัลลังก์ในการที่จะบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นต้นที่อยู่ ณ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลคยา ประเทศอินเดีย ดังนั้นต้นโพธิ์นี้จึงถือว่ามีค่าสำคัญ ผ่านกาลเวลาไป 300 ปี ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชผู้ทรงรวบรวมสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับอินเดีย จนในที่สุดท่านก็ทรงเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา ประกาศตัวทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงอยากจะรู้ว่าที่ใดที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพาน จึงตามไปดูและได้นำสัญลักษณ์ของท่าน คือ เสาพระเจ้าอโศกปักลงไป ณ บริเวณต้นพระศรีมหาโพธิ์ในคยา ห้ามบุคคลทั้งหมดทั้งมวลในชมพูทวีปมาทำลาย ทำให้ศาสนาพุทธยังคงดำรงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้
จิตรกรรมฝาผนังวัด Kelaniya Temple กรุงโคลัมโบ ศรีลังกา พระสังฆมิตตาเถรีเชิญกิ่งพระศรีมหาโพธิ์
เดินทางโดยเรือไปศรีลังกา ขณะที่พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะเสด็จลงไปรอรับถึงในน้ำ
เมืองอนุราธปุระ ศรีลังกา
นอกจากนี้ พระเจ้าอโศกมหาราชยังทรงมองการณ์ไกล เกรงว่าศาสนาพุทธและต้นโพธิ์ต้นนี้จะหายไปจากโลก จึงทรงให้พระธิดาทรงออกผนวชเป็นพระภิกษุณี พระนาม พระนางสังฆมิตตาเถรี ได้รับพระราชบัญชาจากพระเจ้าอโศกให้นำกิ่งด้านขวาของต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยา ไปถวายแด่พระเจ้าเทวานัมปิยตัสสะแห่งลังกาทวีป พระเจ้าเทวานัมปิยตัสสะทรงรับมาปลูกไว้ ณ เมืองอนุราธปุระ และยังคงมีอายุยืนยาวนานมาจวบจนถึงทุกวันนี้ จึงได้ชื่อว่าเป็นต้นไม้ประวัติศาสตร์ที่มีอายุยืนยาวนานที่สุดนับกว่า 2,300 ปี และได้รับการดูแลอย่างดีจากรัฐบาลศรีลังกา มีการล้อมรั้วด้วยกำแพงทองคำ และมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจตราเฝ้าระวังรักษาความปลอดภัยด้วยถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองที่บรรพชนได้รักษาเอาไว้ด้วยชีวิต จนกระทั่งสามารถรอดพ้นจากการถูกทำลายล้างจากลัทธิศาสนาอื่น กลายเป็นมรดกตกทอดให้อนุชนรุ่นต่อๆ มาได้กราบไหว้บูชาเป็นสิริมงคล
3 ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ต้นสำคัญในอินเดียและศรีลังกา
ในปัจจุบันต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นสำคัญที่ยังคงยืนต้นอยู่ในปัจจุบันมี 3 ต้นด้วยกัน คือ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ตรัสรู้ที่พุทธคยา เป็นหน่อที่ 4 หลังจากต้นเดิมถูกทำลายและล้มไปตามกาลเวลา , ต้นพระศรีมหาโพธิ์เมืองอนุราธปุระ, และต้นอานันทโพธิ์วัดพระเชตวันมหาวิหาร แต่ต้นโพธิ์พระเจ้าอโศกแห่งเมืองอนุราธปุระ ที่นำหน่อพันธุ์มาจากพุทธคยา ได้รับการเคารพนับถือ และปฏิบัติบูชาด้วยความเคารพอย่างสูงมาตลอดตั้งแต่ 2,300 ปีที่ผ่านมา นับเป็นต้นไม้ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
เมืองอนุราธปุระ
ทางศรีลังกาได้ก่อกำแพงทองคำล้อมรอบต้นพระศรีมหาโพธิ์ในเมืองอนุราธปุระเอาไว้ด้วยความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และยังคงมีชาวพุทธผู้ศรัทธาหลั่งไหลมาสักการะอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งต่างจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยาที่ถูกทำลายและล้มลงตามธรรมชาติหลายครั้ง และต้นอานันทโพธิ์ที่วัดเชตวันที่ขาดช่วงการดูแลจากชาวพุทธหลังจาก พระพุทธศาสนาเสื่อมไปจากอินเดีย
แม้ในประเทศไทย จะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับต้นพระศรีมหาโพธิ์เท่ากับชาวพุทธในศรีลังกา แต่ปรากฏตามความเชื่อในประเทศไทยว่า ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่พุทธคยา เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำปีเกิดสำหรับผู้ที่เกิดปีมะเส็ง สำหรับชาวล้านนายังมีความเชื่ออีกว่า ต้นโพธิ์เป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ช่วยขจัดความทุกข์ได้ จึงมีประเพณีถวายไม้ค้ำโพธิ์ และเครื่องประกอบพิธีกรรม ใต้ต้นโพธิ์ โดยผูกคติกับความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งไม่ใช่ความหมายเดิมของการบูชาต้นพระศรีมหาโพธิ์ตามคัมภีร์ในพระพุทธศาสนา
อย่างไรก็ตามต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่สืบหน่อมาจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ตรัสรู้ในประเทศไทยยังคงมีอยู่หลายต้น เช่น ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่วัดต้นศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี (ที่เชื่อว่านำเข้ามาปลูกสมัยทวาราวดี นับเป็นต้นศรีมหาโพธิ์ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยอายุราว 2,000 ปี เป็นหน่อเนื้อเชื้อไขต้นโพธิ์ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เป็นต้นไม้เพียงต้นเดียวที่กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานของชาติ ), วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร, วัดเบญจมบพิตร (ปลูกในสมัยรัชกาลที่ 5) เป็นต้น
ความแตกต่างระหว่างต้นโพธิ์ กับ ต้นพระศรีมหาโพธิ์
แม้การทำลายต้นโพธิ์ตามคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาจะระบุว่าเป็นบาปและถือว่าเป็นการลบหลู่พระรัตนตรัย แต่ในมหาสมณวินิจฉัย ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส กล่าวว่านับเฉพาะต้นโพธิ์ที่เป็นอุทเทสิกเจดีย์ เท่านั้น ส่วนต้นโพธิ์ที่งอกทั่วไป ก็ไม่ได้เป็นอุทเทสิกเจดีย์ คือไม่มีผู้เคารพบูชาในฐานะตัวแทนของพระพุทธเจ้า (เช่นเดียวกับพระพุทธรูป)
ในประเทศไทย สมัยราชวงศ์จักรี พระสมณฑูตไทยในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้เดินทางไปประเทศศรีลังกาและนำหน่อพระศรีมหาโพธิ์ที่เมืองอนุราธปุระมา 6 ต้น ในพ.ศ. 2357 ได้นำไปปลูกไว้ที่เมืองนครศรีธรรมราช 2 ต้น นอกนั้นปลูกไว้ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร , วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร, วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (ภูเขาทอง) และที่เมืองกลันตัน แห่งละ 1 ต้น ต่อมาในรัชกาลที่ 4 ประเทศไทยได้พันธุ์ต้นพระศรีมหาโพธิ์จากพุทธคยาโดยตรงเป็นครั้งแรกและได้ปลูกไว้ ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร และวัดอัษฎางคนิมิตร
ติดตามร่วมรับชมไลฟ์สด ชม “พิธีอัญเชิญ ต้นปรมตฺถสิริมหาโพธิ หน่อเนื้อพุทธางกูร จากศรีลังกา มาประดิษฐานปลูก ณ ลานธรรมหลวงปู่ทวด วัดแหลมแค จ.ชลบุรี “ อย่าลืมกดติดตามเพจ MTHAI เพื่อสาธุบุญร่วมกัน ที่ Fanpage FB : MTHAI ในวันศุกร์ที่ 12 พ.ค. 66 เวลา 6 โมงเช้าโดยประมาณเป็นต้นไป
ที่มาแหล่งข้อมูล
ถอดบทสัมภาษณ์สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย ธมฺมธโช)
สำนักการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ขอขอบคุณภาพประกอบต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่เมืองอนุราธปุระโดย
เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
รู้จัก ธงฉัพพรรณรังสี 6 รัศมีที่แผ่ออกมาจากพระวรกายของพระพุทธเจ้า
พิธีตักดินมหามงคล และตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ วัดต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิและวัดธรรมาราม
พิธีตักน้ำและดินศักดิ์สิทธิ์ เตรียมอัญเชิญ ต้นปรมตฺถสิริมหาโพธิ หน่อเนื้อพุทธางกูร