ข้าวหมาก

ลุงไล กว่า 30 ปีในการขายข้าวหมาก

ข้าวหมากหนึ่งในขนมที่อุดมไปด้วยประโยชน์ที่มีมาแต่นาน

Home / TELL / ลุงไล กว่า 30 ปีในการขายข้าวหมาก

ประเด็นน่าสนใจ

  • ลุงไล อายุ 74 ปี อาชีพขายข้าวหมากกว่า 30 ปี
  • ปัจจุบันลุงไล ยังหาบขายอยู่บริเวณท่าพระจันทร์ ม.ธรรมศาสตร์ ผ่านใต้สะพานปิ่นเกล้า ผ่านวัดชนะสงคราม และย่านบางลำภู ไปจนถึงวัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร
  • ข้าวหมาก ถึงเป็นหนึ่งในขนมโบราณที่มีประโยชน์ เนื่องจากมีโปรไบโอติกส์ จุรินทรีย์ที่มีประโยชน์ไม่ต่างจาก โยเกิร์ต หรือนมเปรี้ยวที่วางจำหน่ายในยุคปัจจุบัน

ลุงไล หวังเขตกลาง อายุ 74 ปี จากอำเภอขามสะแกแสง จ.นครราสีมา ยึดอาชีพแบกข้าวหมากขายหาเลี้ยงตัวเองมาตั้งแต่สมัยพลเอกเปรมฯ เป็นนายกฯ โดยเริ่มขายที่แรกที่วัดเจ้ามูล เมื่อก่อนรับเป็นข้าวหมากถ้วย แต่ดูไม่น่ากิน เลยเปลี่ยนมารับแบบที่เอาใบบอนมาห่อ และมีข้าวเหนียวตัดที่เอาไว้กินคู่กันด้วย สมัยก่อนเค้าใส่ถั่วใส่งาด้วย แต่สูตรคนอีสานทำเป็นข้าวเหนียวตัดเปล่า ๆ

ข้าวหมากห่อใบบอน
ข้าวเหนียวตัด สำหรับกินร่วมกัน ช่วยตัดให้ข้าวหมากหวานอร่อยมากยิ่งขึ้น

ข้าวหมาก หนึ่งในรากเหง้าวัฒนธรรม

ต้นกำเนิดของข้าวหมากนั้น ไม่ชัดเจนมากนักว่าเริ่มต้นที่ใดกันแต่ แต่พบอยู่ใน “ขนม” พื้นถิ่นในหลายประเทศด้วยกันในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นจีน ซึ่งเรียกว่า จิ่วเหนียง เป็นหนึ่งในขนมหวานที่กินดับคาว

ในเวียดนาม เรียกว่า Cơm rượu หรือในทางใต้ของไทย รวมไปถึงมาเลเซีย – อินโดฯ เรียกว่า ตาแป โดยมีที่มาจากใบต้นตาแปที่ถูกใช้ห่อข้าวหมาก และนิยมทำกันในวันฮารีรายอ หรือวันเทศกาลสำคัญ ๆ ต่าง ๆ

ในขณะที่ในประเทศไทยมีพบวางขายอยู่ทุกภาคของประเทศไทย


วันๆหนึ่งลุงไลจะมารับข้าวหมากไปขายประมาณตี 4 ของแต่ละวัน ไปรับมาขายทีละ 200 ห่อ นำมาใส่ถุงๆละ 2 ห่อ ขายถุงละ 20 บาท และจะขายให้หมด โดยลุงไลไปรับข้าวหมากมาจากแถวศาลาน้ำร้อน ย่านบางกอกน้อย ใกล้ที่พักซึ่งเป็นห้องเช่าที่ลุงไลพักอยู่ และแบกหาบเดินขายมาเรื่อยๆ จนมานั่งเรือข้ามฝากลงที่ท่ามหาราช หรืออาจจะเป็นท่าพระจันทร์บ้างแล้วแต่วัน จากนั้นก็เดินผ่านเส้น ม.ธรรมศาสตร์ ผ่านใต้สะพานปิ่นเกล้า ผ่านวัดชนะสงคราม และย่านบางลำภู ไปจนถึงวัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร

“ลุงไม่ท้อหรอกนะ ที่ในทุกๆวันต้องหาเลี้ยงตัวเอง เพราะลุงยินดีกับของที่มีอยู่ กับการที่ต้องหากข้าวหมากขายไปเรื่อยๆ หลายคนที่เคยเห็นลุงหาบ เข้ามาช่วยอุดหนุนลุงก็เยอะ บางคนก็ใจดีจ่ายเงิน แต่ไม่รับข้าวหมากไป เพราะเค้าทานไม่เป็นลุงก็ขอบคุณมาก

ในแต่ละวันลุงก็มีแบ่งปันให้คนที่เค้าไม่มีบ้าง ข้าวหมากที่แบกมาขายคนที่เค้าอยากกินไม่มีเงินลุงก็ให้ บางครั้งก็ช่วยแบ่งเงินให้เค้าบ้าง เพราะลุงถือว่า เงินทองเป็นของนอกกาย เรามีพอมีพอใช้ ที่เหลือก็แบ่งให้คนอื่นเค้าบ้าง ช่วยๆกันไป”


ประโยชน์ของข้าวหมาก

ในตัวของข้าวหมากเองนั้น เกิดขึ้นจากกระบวนการหมักโดยใช้ลูกแป้งที่เป็นเชื้อในการหมัก มีบางพื้นที่ใช้น้ำที่ได้จากน้ำข้าวหมากเป็นหัวเชื้อในการหมักแทนลูกแป้งเช่นกัน (เรียกว่า น้ำต้อย)

ผลที่ได้จากกระบวนการหมักที่เกิดขึ้น ทำให้มีแบคทีเรีย และจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ หรือที่เรียกกันว่า โพรไบโอติกส์ (Probiotics) แบบในนมเปรี้ยวที่วางขายกันทั่วไป ซึ่งช่วยให้ร่างกายผลิตกรดอินทรีย์ช่วยในการ “ขับถ่าย” ทำให้กระดูก และเม็ดเลือดแข็งแรง

แก้อาการท้องเสีย อีกทั้งช่วยบำบัดโรคเรื้อรังต่างๆ อาทิ โรคกระเพาะอาหาร โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เป็นต้น ในกลุ่มวัยทอง ยังช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น

วิธีการรับประทาน

เนื่องจากข้าวหมากเกิดจากกระบวนการหมักข้าวเหนียว ทำให้มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่บาวส่วน แม้ไม่มากนัก แต่ด้วยกลิ่นที่เกิดขึ้นทำให้หลายคนอาจจะไม่ชอบ จึงแนะนำทางเลือกเพิ่มเติมในการรับประทาน

  • แบบดั้งเดิมคือ รับประทานร่วมกับข้าวเหนียวตัด ซึ่งจะช่วยตัดรสเลี่ยน/เปลี่ยน/ลดกลิ่นลงได้บ้าง
  • ผสมนมสด รสจืด ทำให้รสชาติที่ได้ออกไปคล้ายคลึงกับนมเปรี้ยวที่รับประทานกัน
  • บีบน้ำออก เพื่อลดกลิ่นแอลกอฮอล์

ภาพ : ธนโชติ ธนวิกรานต์