ประเด็นน่าสนใจ
- น้ำตาลปั้น เป็นขนมโบราณที่ใช้น้ำตาลทราบ เคี่ยวผสมแบะแซจนข้นเหนียว สามารถปั้นเป็นรูปร่าง รูปทรงต่าง ๆ ได้ เมื่อเย็นแล้วจะแข็งตัว
- ปัจจุบันเริ่มหายากขึ้นเรื่อย ๆ ตามกาลเวลา เนื่องจากต้องใช้ฝีมือในการปั้น
ลุงยุทธ ปัดชาศรี อายุ 51 ปี นักสู้จากจังหวัดร้อยเอ็ด เข้ากรุงเทพฯตั้งแต่สมัยหนุ่ม ทำมาแล้วหลายอาชีพ ทั้งรับจ้าง คนงานก่อสร้าง จนได้มารู้จักกับอาชีพทำ “น้ำตาลปั้น” ขายจากคนบ้านเดียวกันที่ได้ไปร่ำเรียนมา และนำวิชามาแบ่งปันให้ลุงยุทธนำมาประกอบเป็นอาชีพหลัก ทำมากว่า 30 ปีจนส่งลูกเรียนจบปริญญาได้
เชื่อว่า หลายคนมีความทรงจำกับขนมน้ำตาลปั้น ที่มักจะพบเห็นได้ทั่วไปโดยเฉพาะในงานวัด งานเทศกาลต่าง ๆ ที่จะมีคนขายขนมน้ำตาลมานั่งปั้น คนซื้อก็สามารถเลือกลวดลายต่าง ๆ ที่อยากได้
ลุงยุทธกล่าวว่า ในทุกๆวันลุงจะแบกอุปกรณ์ในการทำน้ำตาลปั้น ออกจากบ้านประมาณ 11 นาฬิกา และจะเริ่มไปหาที่ขายตามหน้าบริษัท และจะย้ายไปขายตามหน้าโรงเรียน หรือตามมหาวิทยาลัยตั้งแต่เวลา 15.00 – 18.00 น.
แบบที่ลุงยุทธปั้นได้ และถนัดส่วนใหญ่ก็เป็นรูปสัตว์ทั่วไป แต่ที่คนมาซื้อและสั่งให้ทำเยอะหน่อยก็คือรูปลิงตกปลา ส่วนตัวการ์ตูนแบบใหม่ๆ ไม่ถนัดที่จะทำเท่าไหร่
คือการยืนดูคนขายปั้นน้ำตาลตาม แบบที่เราอยากได้
“เดี๋ยวนี้ขายไม่ดีเหมือนเมื่อก่อน แต่อย่างน้อยก็เป็นอาชีพที่เราถนัด ทำมาหาเลี้ยงอาชีพมาอย่างยาวนาน และก็ยังเลี้ยงครอบครัวได้ บางวันอาจจะขายได้น้อยบ้าง แต่ก็กินใช้อย่างประหยัด วันไหนมีคนเหมาไปจัดตามงานเลี้ยงงานแต่งงานก็ถือว่าดีหน่อย และคงจะทำอาชีพนี้ไปเรื่อยๆ ตราบที่ยังมีแรงทำไหว”
◾️อดีตขนมหวานที่เปลี่ยนผ่านไปตามกาลเวลา
เมื่อเวลาเปลี่ยนผ่านไปจากขนมหวานที่เห็นได้ง่าย ทุกงานวัด หรือวิกหนังขายยา หน้าโรงลิเก หรือแม้กระทั่งโรงงิ้ว ก็ได้ค่อย ๆ หายไปเช่นเดียวกันตามกาลเวลาและยุคสมัย
ขนมน้ำตาลปั้นถูกมองภาพในความเชื่อสมัยใหม่ที่มองว่า ขนมเหล่านี้ กินแล้วฟันผุ, อาหารผสมสี รวมถึงความสะอาดของสินค้า ที่ทำให้พ่อแม่สมัยใหม่ เลือกที่จะเลี่ยง
แน่นอนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นบางส่วนเป็นความจริง แต่อีกครึ่งหนึ่งเป็นเพียงข้อกล่าวอ้างลอย ๆ เท่านั้น ขนมน้ำตาลปั้นเหล่านี้ ก็ไม่ต่างจากขนมสมัยใหม่ที่ผสมน้ำตาลอื่น ๆ ที่หากไม่ดูแลสุขภาพฟัน ก็ทำให้เด็ก ๆ ฟันผุได้
สีที่ใช้ก็เป็นเพียงสีผสมอาหารที่ใช้ในการทำอาหาร เช่นเดียวกับเค้ก หรือลูกอมที่มีวางขายกันทั่วไป
◾️กว่าจะเป็นน้ำตาลปั้น
ไม่เพียงแต่บริบทของสังคมที่เปลี่ยนไป โรงงิ้ว โรงลิเก หายไป งานวัดที่เปลี่ยนไป ทำให้ขนมน้ำตาลปั้นเหล่านี้ ก็เริ่มเลือนหายไปและหาได้ยากขึ้น แต่ยังคงเป็นในเรื่องของการทำที่มีหลากหลายขั้นตอน ตั้งแต่การทำน้ำตาลปั้น ที่ต้องนำน้ำตาลมาเคี่ยวจนเหนียว กว่าจะเป็นน้ำตาลที่ใช้ปั้นขายได้ ซึ่งกระบวนการเคี่ยวนั้นกินเวลาหลายชั่วโมงกว่าจะได้ น้ำตาลที่เหนียวพอจะปั้นได้ ไม่เหลวเกินไป และไม่หวานเกินไป
เมื่อนำมาวางขายก็จำเป็นต้องอุ่นร้อน สลับกับการกวนอยู่ตลอดเวลา เพื่อไม่ให้น้ำตาลแข็งจนปั้นไม่ได้
ความสุขของคนซื้อไม่ได้มีเพียงการได้ชิมรสหวานของขนม แต่ยังคงเป็นความสุขที่ได้จากการยืนดูคนขายปั้นให้ดู รวมทั้งความสนุกของการพูดคุย เลือกลายยาก ๆ ที่ท้าทายความสามารถของคนขายอีกด้วย ยิ่งหากไปเป็นกลุ่มแล้ว การเอาลวดลายต่าง ๆ มาอวดกันในกลุ่มเพื่อนก็สนุกไปอีกแบบ
ซึ่งอาจเรียกว่า เป็นความสุขและคุณค่าของการรอคอยก็ว่าได้
ในการปั้นแต่ละชิั้นมีความยากง่ายไม่เหมือนกัน ยิ่งลายยาก ๆ ก็จะใช้เวลานาน ทำให้จำนวนขายต่อวันลดลง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ต้องอาศัยฝีมือ ความชำนาญ และประสบการณ์ ทำให้นับวัน ก็จะมีผู้ที่เลือกประกอบอาชีพน้อยลงเรื่อย ๆ
ท่านใดที่สนใจอยากให้ลุงยุทธไปเปิดร้านน้ำตาลปั้น โทรไปได้ที่ 087-064-4216
ภาพ – ธนโชติ ธนวิกรานต์