เขื่อน

แก้ปัญหาน้ำท่วม – ภัยแล้ง ไม่ใช่แค่ “เขื่อน”

ทุกครั้งที่เกิดน้ำท่วม-ภัยแล้ง เขื่อนเป็นสิ่งที่ถูกเอ่ยถึงและพูดถึงมากที่สุด แต่แท้จริงแล้ว เขื่อน แก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้จริงหรือไม่?

Home / TELL / แก้ปัญหาน้ำท่วม – ภัยแล้ง ไม่ใช่แค่ “เขื่อน”

ประเด็นน่าสนใจ

  • มีความเข้าใจผิด ของการสร้างเขื่อนโดยมีความเชื่อว่า จะมีการมีเขื่อนแล้วจะแก้ปัญหาน้ำได้
  • สถานการณ์น้ำในเขื่อนในบ้านเราในขณะนี้ หลายเขื่อนมีปริมาณน้ำน้อยมาก แม้ว่าจะมีฝนตกลงมาเป็นจำนวนมาก ยิ่งสะท้อนว่า การสร้างเขื่อนไม่ได้แก้ปัญหาน้ำแล้งได้อย่างแท้จริง

หลายคนเข้าใจ และคิดว่า “การสร้างเขื่อนจะช่วยให้เรามีน้ำใช้ในหน้าแล้ง และน้ำไม่ท่วมในยามหน้าฝน” แต่สิ่งเหล่านั้นเป็นข้อเท็จจริงส่วนหนึ่ง ซึ่ง “เขื่อน” มีข้อจำกัดอยู่หลายอย่างที่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบ หรืออาจจะยังไม่ทันได้นึกถึง

ซึ่งจากในช่วงที่น้ำท่วมเมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้มีหลายฝ่ายพูดถึงการสร้างเขื่อนอย่างเขื่อนแก่งเสือเต้น ที่มีที่ตั้งอยู่บริเวณลุ่มน้ำยมตอนบน โดยหลายฝ่ายระบุว่า จะช่วยป้องกันน้ำท่วมลงมายังพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่าง อย่างสุโขทัยได้

เข้าใจน้ำ-เข้าใจลุ่มน้ำ

ลุ่มน้ำ – พื้นที่ที่รองรับน้ำฝนจากตั้งแต่ต้นน้ำ คือบนยอดเขา รวมสายน้ำสายเล็กๆ ลงไปสู่พื้นที่ราบด้านล่าง รวมกันเป็นคลอง เป็นแม่น้ำ ออกสู่พื้นที่ปลายที่เป็นพื้นที่มีการใช้น้ำ และน้ำฝนทั้งหมดไหลออกไปรวมกัน

พื้นที่ลุ่มน้ำ ที่ประกอบไปด้วย พื้นที่ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ

ดังนั้นเมื่อเกิดฝนตกลงในพื้นที่ลุ่มน้ำ น้ำฝนที่ตกลงมาก็จะไหลลงไปรวมกันยังพื้นที่ด้านล่าง ของลุ่มน้ำ

เขื่อนเป็นเพียงหนึ่งเครื่องมือในการจัดการน้ำ

ในการจัดการลุ่มน้ำ หรือ Watershed Managements เพื่อให้สามารถจัดการน้ำที่มีอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำ อย่างมีประสิทธิภาพนั้นต้องใช้เครื่องมือ และข้อมูลหลายส่วนมาประกอบกัน ในการวางแผน ประเมิน และจัดการน้ำที่มี ซึ่ง “เขื่อน” เป็นเพียงหนึ่งเครื่องมือในการจัดการน้ำ

จากพื้นที่ลุ่มน้ำ เมื่อฝนตกลงในพื้นที่ต้นน้ำ ที่เป็นแนวด้านหลังเขื่อน น้ำจะไหลลงไปรวมกันในเขื่อน ซึ่งนั่นเป็นหลักการตามปรกติที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป ตามที่เราเข้าใจกัน และในกรณีนี้ จะทำให้เขื่อนมีประสิทธิภาพดีในการจัดการน้ำ สามารถกักเก็บน้ำได้ และลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปริมาณฝนที่เกิดขึ้นได้

ในขณะเดียวกัน หากเมฆฝนที่ตกลงมา ไม่ได้ตกบนพื้นที่เหนือเขื่อน แต่ย้ายไปตกในพื้นที่อื่นในลุ่มน้ำ ที่อยู่บริเวนใต้เขื่อน เมื่อนั้น “เขื่อนจะไม่สามารถช่วยอะไรได้”

เรามีน้ำใช้ได้เพียง 15% หรือ ราว 1 หมื่นล้าน ลบ.ม. เท่านั้น จากเขื่อนหลัก 36 เขื่อนทั่วประเทศไทย ที่ในวันนี้มีน้ำกักเก็บไว้ได้ราว 3.3 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร หรือราว 48% ของความจุเขื่อน

ข้อมูลจากเว็บไซต์สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ / 3 ก.ย. 63

น้ำท่วมน่าน เขื่อนแก่งเสือเต้นช่วยได้ไหม?

เมื่อช่วงกลางเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา หลังจากมีร่องมรสุม พาดผ่านทางภาคเหนือและภาคอีสาน ก่อให้เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในบริเวณภาคเหนือเช่น น่าน แพร่ สุโขทัย ซึ่งทำให้มีหลายฝ่ายพูดถึง “โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น” ขึ้นมา โดยระบุว่า จะช่วยป้องกันน้ำท่วมใน พื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่างได้

ซึ่งจากการตรวจสอบสอบข้อมูลของทางเอ็มไทยพบว่า ปริมาณน้ำฝนที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมานั้น ปริมาณฝนส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ “ด้านใต้” ของที่ตั้งโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น ไม่ว่าจะเป็นในช่วงของ ฤดูฝนที่ผ่านมา หรือปริมาณฝนสะสมในปีนี้ ก็ตาม

เส้นแนวของปริมาณฝนตกสะสม ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ
จะเห็นว่า ฝนส่วนใหญ่ตกใต้ที่ตั้งโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น

ดังนั้น จะเห็นว่า ปริมาณฝนที่เกิดขึ้นในช่วงเดือน ส.ค. 63 ที่ผ่านมา แม้ว่า มีโครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นเรียบร้อย ก็จะช่วยลดผลกระทบได้เพียงบางส่วนเท่านั้น แต่พื้นที่ปลายน้ำของลุ่มน้ำยม เช่น สุโขทัย ก็ยังคงมีความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมเช่นเดิม

สถานการณ์เขื่อน-อ่างเก็บน้ำในประเทศไทย

ในประเทศไทยมีเขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก-กลาง-ใหญ่ รวมกันมากกว่า 400 แห่ง ซึ่งจากข้อมูล่าสุด ( 3 ก.ย. 63 ) พบกว่า เขื่อนและอ่างเก็บน้ำเกินครึ่ง มีปริมาณน้ำที่เก็บไว้ได้ไม่ถึงครึ่ง มีเพียงไม่กี่แห่งที่มีปริมาน้ำมากกว่า 80% อีกทั้งในขณะนี้ กำลังเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของฤดูฝนประจำปี 2563 แล้ว

หากมองที่เขื่อนขนาดใหญ่ทั่วประเทศไทยจะพบว่า มีเพียง 9 เขื่อนเท่านั้นที่มีน้ำเกินครึ่ง และในจำนวน 9 เขื่อน มีเพียงเขื่อหนองปลาไหล อ.ปลวกแดง จ.ระยอง เพียงแห่งเดียว ที่มีระดับน้ำมากกว่า 70%

ปัญหาของทรัพยากรน้ำประเทศไทยอยู่ตรงไหน?

กว่า 400 แหล่งกักเก็บน้ำของประเทศไทย มีกระจายอยู่ที่ประเทศมีปริมาณน้ำที่สามารถกักเก็บได้ และใช้งานได้ไม่มากนัก ส่วนใหญ่มีน้ำไม่ถึง 80% ในขณะที่เรากำลังเข้าสู่ช่วงปลายฤดูฝนแล้ว

ปัญหาแรกที่เราพบในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาคือ “ความเป็นเอกภาพ” ในการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานต่าง ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำนั้นมีหลายหน่วยงานมากเกินไปหรือไม่ เนื่องจากเขื่อนมีทั้งที่อยู่ภายใต้การดูแลของกรมชลฯ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต, ประตูน้ำ ก็มีทั้งอยู่ภายใต้การดูแลของกรมชลประทาน และ ท้องถิ่น

หรือ “การบูรณาการ” ระหว่างหน่วยงานที่เกิดขึ้นไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ซึ่งหลายกรณีเราพบว่า การขุดลอก ซ่อมบำรุงไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างเรียบร้อย บางหน่วยงานระบุว่า การขุดลอกลำน้ำ เป็นหน้าที่ของกรมเจ้าท่า บางครั้งถูกระบุว่า เป็นพท.ของชลประทาน บางจุด ประตูระบายน้ำเป็นขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ฯลฯ

ทำให้การจัดการน้ำโดยเฉพาะเมื่อน้ำหลากลงไปมาเช่นเมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมานี้ เกิดปัญหา ที่ชัดเจนมาก เมื่อในบางจุดระดับน้ำท่วมสูงเกือบ 2 เมตร แต่ในพื้นที่อำเภอใกล้เคียง สภาพคลองชลประทานเต็มไปด้วยหญ้า และไม่มีน้ำสำหรับทำการเกษตร

แต่ท้ายที่สุดแล้ว กลายเป็นว่า การซ่อมบำรุงคันดิน คลองส่งน้ำ คลองผันน้ำต่าง ๆ ไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร จนส่งผลกระทบต่อการระบายน้ำนั่นเอง ยังไม่นับรวมปัญหาของการตัดถนน การวางผังเมืองทับเส้นทางน้ำ หรือการบุกรุกลำน้ำ ฯลฯ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขัง และเราจึงต้องแก้ปัญหาน้ำท่วม ซึ่งเป็นปัญหาเฉพาะหน้าเร่งด่วนแทน

ตารางรายงานสถานะของอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก จากรายงานสถานการณ์น้ำประจำวันของศูนย์บริหารจัดการน้ำอัจฉริยะ

จากที่ผ่านมาเรามักพบว่า ในช่วงฤดูฝน แนวคิดหลักในการจัดการน้ำของไทยคือ “การเร่งระบายน้ำ” เพื่อไม่ให้น้ำท่วม โดยมีภาพจำของน้ำท่วมปี 2554 เป็นที่ตั้ง

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราต้องคิดใหม่ว่า “เราจะทำอย่างไรถึงจะเก็บน้ำฝนไว้ให้ได้มากที่สุด” มากกว่าระบายทิ้งให้เร็วที่สุด