New Normal ชีวิตวิถีใหม่

“NEW ABNORMAL” ความผิดปรกติใหม่ ของการทำงานที่บ้าน

จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้หนึ่งในมาตรการที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกันคือ การรักษาระยะห่าง การเลี่ยงการอยู่ในที่ชุมชน ซึ่งนั่นกลายเป็นหนึ่งในตัวเร่งให้หลายออฟฟิศ ปรับตัวให้ทุกคนเริ่ม “ทำงานที่บ้าน” หรือ “Work from Home” ผ่านมาเป็นระยะเวลากว่า ครึ่งปีแล้วที่โควิด-19 ยังคงระบาดอยู่…

Home / TELL / “NEW ABNORMAL” ความผิดปรกติใหม่ ของการทำงานที่บ้าน

จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้หนึ่งในมาตรการที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกันคือ การรักษาระยะห่าง การเลี่ยงการอยู่ในที่ชุมชน ซึ่งนั่นกลายเป็นหนึ่งในตัวเร่งให้หลายออฟฟิศ ปรับตัวให้ทุกคนเริ่ม “ทำงานที่บ้าน” หรือ “Work from Home”

ผ่านมาเป็นระยะเวลากว่า ครึ่งปีแล้วที่โควิด-19 ยังคงระบาดอยู่ และแนวทางการทำงานที่ผ่านกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของหลายๆ คนไปแล้ว ทำให้แนวทางการทำงานที่เปลี่ยนไป

หลายคนรู้สึกว่า การทำงานที่บ้านเป็นทางเลือกที่ดีเนื่องจาก ไม่ต้องเสียเวลาการเดินทาง จากเดิมที่ต้องเคยตื่นตีห้า เพื่อไปให้ทันเข้างาน 09.00 น. กลายเป็นสามารถตื่น 07.00 น. และทำงานได้เหมือนเดิม เป็นต้น

แต่…

ในระยะเวลากว่า 3 เดือนหลังการประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และให้ประชาชนลดการเดินทาง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่หลายคนทำงานที่บ้านมากขึ้น จากการพูดคุย-สัมภาษณ์ พนักงานหลายคนที่เปลี่ยนชีวิตมาทำงานที่บ้านในหลายๆ บริษัทเราก็พบว่า

การทำงานที่บ้านไม่ได้เหมาะเสมอไป

ความโดดเดี่ยวเข้าครอบงำ

สิ่งแรกที่พบหลังจากพูดคุยกับหลายๆ คน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่พักอาศัยอยู่ในคอนโดฯ คนเดียว จะให้ข้อมูลว่า ส่วนใหญ่จะมีความรู้สึกแปลกๆ และจำนวนไม่น้อยรู้สึกเหงามากขึ้น ไม่ได้เจอเพื่อนร่วมงาน เหมือนเช่นเดิม

ส่งผลให้หลายคนบอกตรงกันว่า “คิดงานไม่ออก” โดยเฉพาะในกลุ่มบรรดาสายงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ที่มักจะใช้การนั่งล้อมวงคุยงาน และเสนอไอเดียกัน

ในการเก็บข้อมูลในหลายๆ ที่ของเราพบ 1 เคสที่น่าสนใจ

“ภาวะซึมเศร้ากำเริบ”

เราเป็นโรคซึมเศร้าอยู่แล้ว ซึ่งปรกติก็กินยามาหลายเดือนแล้ว ซึ่งก็ไม่ได้มีอะไร ธ.ค.ที่ผ่านมาเราก็ยังไปดี๊ด๊า เค้าท์ดาวน์ปรกติ ไม่มีอะไร

พอมีให้ทำงานอยู่บ้านเมื่อช่วงปลายเดือน มี.ค. ก็ยังไม่มีอะไร แต่พอเม.ย. เริ่มรู้สึกว่าความรู้สึกเราดิ่งลงมากขึ้น นอนไม่หลับ จน พ.ค. คุณหมอตัดสินใจเพิ่มยา รวมถึงให้คำแนะนำมา เพื่อนๆ ก็ช่วยด้วย ทำให้ดีขึ้นแล้ว

นิรนาม-01

จากการพูดคุยพบว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจาการเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างกระทันหัน ทำให้เธอ ปรับตัวไม่ทันกับสิ่งที่เปลี่ยนไป จากเดิมที่เคยใช้ชีวิตในออฟฟิศ มีกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆ ที่ทำงาน ทั้งการออกไปกินข้าว เล่น พูดคุย หรือการที่รู้สึกดีๆ เวลาแต่งหน้าและสวมชุดสวยๆ ออกไปทำงานในทุกๆ วัน

สิ่งเหล่านั้นหายไป กลายเป็นตื่นมาเพื่อเปิดโน้ตบุ๊ก ทำงานอยู่คนเดียวในคอนโดฯ เพียงคนเดียว สิ่งเหล่านี้ทำให้ “ความรู้สึกดิ่งลง” ได้เพิ่มมากขึ้น อาการปวดหัวบ่อยขึ้น ความรู้สึกอยากอยู่ในห้องมืดๆ เพิ่มมากขึ้น แทบไม่อยากเปิดผ้าม่าน

(Photo by Yuris Alhumaydy)

หลังจากที่เธอได้ออกไปพบหมอ ได้รับคำแนะนำ รวมถึงเพื่อนร่วมงานที่เข้ามามีส่วนช่วยในการลดความเครียด เช่น เปลี่ยนจากการประชุมออนไลน์เพียงอย่างเดียว เป็นกินข้าวออนไลน์ ร่วมกันบ่อยขึ้นในหลายๆ กิจกรรมมากขึ้น ทำให้ชีวิตมีสีสันมากขึ้นกว่าการอยู่ในห้องนอน ทำงานเงียบๆ คนเดียว

ต้องบอกว่า เพื่อนๆ มีส่วนช่วยเยอะเหมือนกัน ทุกคนนัดกันมา join online meeting กันทุกเที่ยง หรือไม่ก็เย็นๆ ทุกวัน แม้ว่า มันจะไม่เหมือนบรรยากาศที่ออกไปกินข้าวด้วยกัน แต่อย่างน้อยมันก็มีอะไรให้เราทำ แบบตื่นเช้ามาแต่งหน้าเข้ากล้องอะไรงี้ 5555+

นิรนาม-01

ความเครียดสะสมมากขึ้น

“ใน 2-3 อาทิตย์แรกที่เริ่มทำงานที่บ้าน เรารู้สึกโอเคมากๆ กับการที่ไม่ต้องตื่นเช้า ฝ่ารถติดไปทำงาน รู้สึกว่ามีเวลาทำงานมาขึ้น

แต่ผ่านไปพอเริ่มเข้าเดือนที่สอง ยิ่งปลายเดือนด้วยแล้ว รู้สึกว่า เริ่มเบื่อสภาพแวดล้อมในห้อง ที่ต้องอยู่, ทำงาน, ประชุม กินข้าว ฯลฯ อยู่ ที่เดิมๆ ตลอด มันรู้สึกอึดอัดมาก

นิรนาม – 02

เราต้องยอมรับกันก่อนคือ “มนุษย์ถือเป็นสัตว์สังคม” ดังนั้นการพูดคุยและปฏิสัมพันธ์กัน จึงเป็นเรื่องสำคัญทีเดียว ดังนั้นในการทำงานที่บ้าน โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่อยู่คนเดียวในคอนโดฯ หรือในอพาร์ทเม้นต์ จึงเป็นเรื่องที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตมากกว่า คนที่อาศัยอยู่บ้านร่วมกับผู้อื่นมากกว่า

สถานการณ์ที่คนเราจะต้องทำงาน ทานข้าว ประชุม อยู่ ณ จุดเดิมซ้ำๆ จึงกลายเป็นเรื่องซ้ำๆ ที่ทำให้หลายคนได้รับผลกระทบคือ รู้สึก Burn Out ได้ง่ายขึ้น สาเหตุหลักๆ เนื่องจากการที่ไม่ต้องออกเดินทาง จึงสามารถเริ่มงานได้ตั้งแต่เช้า จึงทำให้ระยะเวลาของการทำงาน ยาว และต่อเนื่องมากขึ้น

ยิ่งการใช้พื้นที่เดียวกันทั้งการพักผ่อน และทำงาน จึงทำให้หลายคนรู้สึกว่า มีการทำงานมากขึ้น ส่งผลให้รู้สึกเหนื่อยมากขึ้น ซึ่งพบว่า 41% ของพนักงานแบบ มีความเครียด เมื่อเทียบกับการทำงานที่ออฟฟิศที่มีเพียง 25% เท่านั้น

ซึ่งเมื่อเกิดภาวะความเครียดสะสมจะเกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว และกว่าจะรู้ตัวก็เริ่มมีอาการเช่น นอนไม่หลับตามมาในที่สุด

วิถีการทำงาน ปะทะ วิถีชีวิตในครอบครัว

ทำงานไปด้วย ดูลูกไปด้วย เรียกว่า วิกฤติทีเดียว ลูกก็กวน งานก็ด่วน ต้องจัดการได้ยากทีเดียว

นิรนาม -03

ในส่วนของคนที่อยู่บ้าน ร่วมกับสมาชิกในครอบครัวคนอื่น กลับมีปัญหาต่างไป จากคนอยู่คนเดียวในคอนโดฯ ซึ่งจะพบปัญหาการถูกรบกวนจากสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีลูกและต้องเลี้ยงลูกเล็กไปด้วย เนื่องจากโรงเรียนยังไม่เปิดการเรียนการสอน หรือบางโรงเรียนที่มีการสลับกันเรียน

ซึ่งเด็กเล็ก ยังคงมีความยากเนื่องจากจะมีความไม่เข้าใจและแยกไม่ออกว่า ทำไมพ่อ-แม่ ไม่เล่นด้วยแม้จะอยู่บ้าน

ในขณะที่กลุ่มวัยที่เพิ่งเริ่มทำงาน กลับเจอปัญหาที่ต่างไป เมื่อเราเจอเคสที่ทางบ้านไม่เข้าใจในระบบของการทำงานที่บ้าน

แม่ถามทุกวันเลยแอด ว่าทำไมไม่ไปทำงาน? เค้าไล่ออกหรือยัง? เค้าไม่ได้จ้างออกแน่นะ?

ฯลฯ ซึ่งต้องใช้เวลาในการอธิบายเยอะเหมือนกันว่า #WFH คืออะไร เราทำงานยังไง ยังไม่นับในส่วนที่จะต้องบอกแม่ไว้ว่า ตอนไหนประชุม ตอนไหนทักได้-ไม่ได้ เพราะบางทีพอเราโดนทัก เราหลุดโฟกัส พอกลับมานั่งไล่ตัวเลขไหม นี่ใช้เวลาเพิ่มอีกนานเลยว่าเราทำถึงไหนแล้ว

นิรนาม – 04

เป็นอีกหนึ่งปัญหาในชีวิตวิถีใหม่ที่ทำงานที่บ้านแบบเต็มรูปแบบ ซึ่งการอธิบายให้ผู้ใหญ่ที่บ้านที่เป็นคนในยุค Baby Boom เข้าใจในการทำงานที่บ้านที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในยุคโควิด-19 นี้

ปัญหาอื่นๆ ที่พบจาก Work from Home

ในปัญหาใหญ่ๆ ที่ได้จากการสัมภาษณ์พูดคุยกับกลุ่มคนที่ต้องปรับเปลี่ยนไปทำงานที่บ้านยังคงพบปัญหาย่อยๆ ที่แม้ว่าไม่เครียดมากนัก แต่ก็ทำให้วิถีใหม่ไม่ราบรื่นอย่างที่คิด

กินเยอะ-ปัญหาน้ำหนักขึ้น-เคลื่อนไหวน้อยลง

หนึ่งในปัญหาทางด้านสุขภาพของกลุ่มคนทำงานที่บ้านผ่านมา 3 เดือนพบว่าหลายคนพูดถึงเรื่องของน้ำหนัก-การออกกำลังกาย เป็นหลัก ซึ่งปัญหาจากการที่นั่งทำงานเพิ่มขึ้น สามารถลุกไปกินจุบกินจิบได้มากขึ้น และเคลื่อนไหวร่างกายที่น้อยลง

(Photo by Adeolu Eletu)

ความไม่พร้อมของอุปกรณ์

หลายคนพร้อมให้ข้อมูลคล้ายๆ กันว่า เมื่อต้องไปทำงานที่บ้าน ทำให้หลายๆ อย่างขาดหายไป เช่น การทำงานพร้อมกัน 2 จอ ต้องลดลงมาเป็นจอเดียวบนโน้ตบุ้กส่วนตัว ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานหลายลงไปอย่างมาก หรือการตรวจงาน/เอกสารบางอย่างที่จำเป็นจะต้องพริ้นต์ออกมาอ่านทวนซ้ำอีกครั้ง ทำให้สิ่งที่ขาดหายไป ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานลดลง

แรงบันดาลใจ/ความสร้างสรรค์ ที่ขาดหายไป

ในหลายกลุ่มงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ จะพบปัญหาของการที่จะต้อง “เค้น” ความคิดมากขึ้นเพื่อสร้างสรรค์งาน เนื่องจากเดิมสามารถจับกลุ่มพูดคุย-แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อหาไอเดียทำได้ยากขึ้น การพูดคุยผ่าน Video Call ก็ช่วยได้เพียงแก้ขัดบางอย่างเท่านั้น แต่ไม่ได้ง่ายเช่นเดิม

ซึ่งนอกจากนี้ ยังทำให้มีปัญหาการสื่อสารกันระหว่างทีมงานอีกด้วย แม้ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่ก็ยังมีปัญหาความเกรงใจที่จะต้องคิดเยอะกว่าปรกติในการ “โทร” หาใครสักคนนึงเพื่อคุยงาน

วันหยุดที่เปลี่ยนไป-ไลน์ที่เด้งตลอดเวลา

เมื่อการทำงานที่บ้านเกิดขึ้น ทำให้หลายคนพบว่า ปัญหาของวันหยุดกับวันทำงานเกิดความชุลมุนและสับสนกันไม่น้อย ทำให้หลายคนให้ข้อมูลตรงกันโดยเฉพาะไลน์ ที่พบว่า มีการเด้งมากกว่าปรกติ ในนอกเวลาการทำงาน ซึ่งแต่เดิมสมัยทำงานในออฟฟิศ จะไม่ค่อยมีไลน์เด้ง นอกเวลามากนัก แต่เมื่อเปลี่ยนวิถีมาทำงานที่บ้าน กลับพบว่า ไลน์ หรือแชทอื่นๆ ถูกทัก-ถาม-ทวงงานนอกเวลางานปรกติมากขึ้น

บทสรุป :

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเปลี่ยนในการทำงานที่บ้านนั้น ส่งผลกระทบต่อใครหลายๆ คน โดยเฉพาะปัญหาด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพจิต ที่เป็นประเด็นที่น่าสนใจ และส่งผลกระทบต่อใครหลายๆ คนได้ง่าย ดังนั้น การปรับตัวให้เข้ากับชีวิตวิถีใหม่ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเข้าใจ และร่วมกันแก้ปัญหา เพราะโควิด-19 ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของเราไปแล้ว และอาจจะไม่มีวันย้อนกลับมา


ข้อมูล :
http://www.ilo.org
Coronavirus Covid-19 Social Distancing Psychological Fallout
Working from Home Your Common Challenges and How-to tackle them