sexual Harassment คุกคามทางเพศ

รอยร้าวในใจของเหยื่อ “คุกคามทางเพศ”

TELL : เรื่องราวของผู้เป็นเหยื่อการคุกคามทางเพศ ที่เรานำอยากนำมาเล่าให้ฟัง

Home / TELL / รอยร้าวในใจของเหยื่อ “คุกคามทางเพศ”

ทุกวันนี้ ก็ใช้ชีวิตได้ตามปรกตินะ แต่หลายครั้งที่อ่านข่าวมันก็ยังคงเป็นภาพจำขึ้นมาในหัวแว๊บขึ้นมาตลอด ยิ่งช่วงหลังมีลูกด้วย ภาพเหตุการณ์นั้นมันยิ่งชัดขึ้นกว่าเดิม

และเครียดกว่าเดิม เพราะเรากลัวเกิดซ้ำขึ้นกับลูกเรา

หญิงนิรนาม #01

คำพูดข้างต้นเป็นคำพูดจากแหล่งข่าวรายหนึ่งที่ได้พูดคุยกันผ่านแชท และเธอยินดีนำเรื่องราวของเธอมาเป็นหนึ่งเรื่องราวของเราในวันนี้ถึงเรื่องราวที่เป็นภาพสะท้อนถึง รอยร้าวในจิตใจที่เกิดขึ้น ของผู้ที่เป็นหนึ่งในผู้ที่เคยถูกล่วงละเมิดโดยเพื่อนสนิทที่ไว้ใจ และไม่ได้เฉลียวใจว่าจะเกิดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเลยแม้แต่น้อย โดย “ผู้กระทำ” กล่าวขอโทษและบอกเพียงว่า

“แค่อารมณ์ชั่ววูบ”


อะไรคือการคุกคามทางเพศ

จริงๆ แล้วการคุกคามทางเพศหรือ Sexual Harassment นั้นหลายคนอาจจะนึกถึงการแตะเนื้อต้องตัวกัน การแอบจับ / แต๊ะอั๋ง หรือมองไปถึงการล่วงละเมิดที่มีระดับความรุนแรงเช่น ข่มขืน

แต่จริงๆ แล้ว การคุกคามทางเพศนั้นหมายถึงการแสดงออกทางเพศไม่จะโดยตรง หรือโดยอ้อมกระทำต่ออีกฝ่ายหนึ่งโดยที่อีกฝ่ายหนึ่ง “ไม่ยินยอม” หรือ “ไม่ชอบ” ดังนั้นการคุกคามทางเพศจึงไม่ใช่แค่เพียงการถูกเนื้อต้องตัวเท่านั้น การจ้องมองรูปร่าง สัดส่วน จนทำให้ผู้ถูกมองรู้สึกไม่สบายใจ

หรือการพูดจาแทะโลม แซวที่ส่อไปในเรื่องเพศ ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการคุกคามทางเพศด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการแซวเล่นทั่วไป เช่น “มีแฟนหรือยังจ๊ะ คนสวยให้พี่ไปส่งบ้านไหมจ๊ะ” , “หล่อแบบนี้ หุ่นแบบนี้ มีแม่ของลูกไว้บ้างหรือยัง” ที่หลายคนเคยพบเจอ หรือลามไปถึงพูดที่หนักขึ้นอย่างเช่น “ห้าวแบบนี้ เจอสักทีก็หายห้าว” ฯลฯ

การคุกคามทางเพศเกิดได้ใกล้ตัวมาขึ้น, ง่ายขึ้น

เรายังคงสัมผัสได้ถึงวัฒนธรรมเก่าๆ ที่เคยพบ เห็นและรู้จักกันเช่น “สามแยกปากหมา” ที่มักจะมีการจับกลุ่มของหนุ่มๆ วัยคะนองมานั่งมองหญิงสาว แล้วก็แซวกันไปตามความคึกคะนอง ในที่ต่างๆ เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไป แต่ล้วนแล้วทำจะทำให้ผู้ถูกกระทำ ก็จะสามารถเลี่ยง หรือหนีออกมาจากจุดนั้นๆ ได้

แต่เมื่อโลกแคบขึ้นด้วยเทคโนโลยีอย่างมือถือที่ทุกๆ คนมีใช้งานกัน ทำให้การคุกคามทางเพศทำได้ง่ายขึ้น พบเห็นได้ง่ายขึ้น รวมถึงพฤติกรรมเลียนแบบที่เกิดตามๆ กันมาได้ง่ายขึ้น บนโซเซียลมีเดีย

อย่างเช่น กรณีล่าสุดกับน้องมุก พิชานา อยู่สุข นักแสดงสาวในสังกัด MONOGROUP ถูกนำชื่อไปแอบอ้างใช้ในการโพสต์คลิปลามกอนาจาร และระบุชื่อว่าเป็นเธอ ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ ซึ่งหลังจากที่ทีมงานเอ็มไทยได้พูดคุยกับผู้ที่ทำงานร่วมกับน้อง สิ่งที่เกิดขึ้น แม้ว่าหลายคนก็เข้าใจว่า ไม่ใช่ตัวเธอ แต่ก็มีผลต่อภาพลักษณ์ในงานแสดงอยู่ไม่น้อยเช่นกัน

| ‘มุก พิชานา’ บุกทวงถาม ปอท. คดีโดนตัดต่อภาพใส่คลิปฉาวไม่คืบหน้า >>

ซึ่งจะเห็นได้ว่า รูปแบบการคุกคามในปัจจุบันนั้นมีหลายรูปแบบและเกิดขึ้นได้ง่าย เช่นการใช้คำพูด ข้อความ หรือภาพ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศผ่านทางโปรแกรมหรือ โซเซียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นการส่งข้อความโดยตรง, การส่งภาพอวัยวะเพศ, ภาพการสำเร็จความใคร่ ฯลฯ

การคุกคามทางเพศนั้นเกิดขึ้นได้ไม่จำกัดว่า เพศใด หรือมีเพศสภาพอย่างใดก็ตาม ล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงได้หมด ทั้งชายคุกคามหญิง, หญิงคุกคามชาย, กลุ่มคนรักร่วมเพศด้วยกันเอง หรือ กลุ่มผู้ไม่ชอบกลุ่มคนรักร่วมเพศ ก็ตาม

รู้สึกแปลกว่า ทุกครั้งที่อาบน้ำ จะได้ยินเสียงเหมือนคนอยู่ข้างนอกห้องน้ำ ก็ตะโกนถามไปว่าใคร แต่ไม่คำตอบ

จนกระทั่งมีอยู่วันนึง เห็นมือถือโผล่มาตรงขอบช่องลมระบายอากาศที่ห้องน้ำ ถึงรู้ว่า มีคนแอบถ่าย รีบออกไปดู ไม่พบคนแต่พบมือถือเหน็บไว้อยู่ ถึงรู้ว่าเป็นฝีมือพี่ชายลูกพี่ลูกน้องกันนี่เอง

หญิงนิรนาม #02 เล่าประสบการณ์ถูกละเมิด

ยิ่งใกล้ชิด ยิ่งเสี่ยงขึ้น

จากการวิจัยพบว่า การเกิดขึ้นของการคุกคามทางเพศ เมื่อบุคคลแปลกหน้า ไม่รู้จักกันมาก่อน มักจะพบส่วนใหญ่คือการคุกคามด้วยวาจา สัมผัส/จับต้องเป็นส่วนใหญ่

แต่แนวโน้มในประเทศไทยพบว่า ความถี่ ความรุนแรงของการคุกคามมีความสัมพันธ์กับระดับความใกล้ชิดกัน โดยแนวโน้มของการคุกคามจากคนใกล้ชิดในครอบครัว ในที่ทำงาน เพิ่มสูงขึ้น และมีระดับความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น

ยังจำได้ดี วันนั้นเป็นคืนวันก่อนมีกีฬาสี ซึ่งเราต้องเตรียมของจัดไว้เตรียมให้พร้อมพรุ่งนี้เช้าจะได้ไม่วุ่น ก็ขอให้ “มัน” อยู่ช่วยยกของ เพราะเราเชื่อใจ แล้วบ้านก็อยู่ทางเดียวกัน จะได้กลับด้วยกัน

พอเพื่อนกลับหมดอยู่กันสองคนเท่านั้นล่ะ ลายออก โชคดีที่ยังมีหนีออกมาได้ เพราะมีสีอื่นฯ เค้าแวะมาขนของ เลยรอดแบบโชคช่วยจริงๆ

หญิงนิรนาม #03

การคุกคามไม่เกี่ยวกับสถานที่

ผลการวิจัยในหลายๆ แหล่งระบุตรงกันว่า เหตุการละเมิด หรือ คุกคามทางเพศนั้นเกิดขึ้นได้ทุกที่ ต่างกันไปเพียงโอกาส เวลา และรูปแบบของการล่วงละเมิดเท่านั้น

โรงเรียน/สถานศึกษา : มีรูปแบบที่พบบ่อยเช่น การจ้องมอง/แอบดู คุกคามด้วยคำพูด และการจับเนื้อต้องตัวเป็นส่วนใหญ่ หากความสัมพันธ์ของผู้กระทำกับเหยื่อมีความไว้วางใจในการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันเช่น ซ้อมกีฬา เรียนพิเศษ ซ้อมดนตรี ก็จะมีระดับความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

ที่ทำงาน : มักจะพบในรูปแบบของการพูดจาแทะโลม ร่วมกับการ “แต๊ะอั๋ง” เล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงการจับต้อง ซึ่งส่วนใหญ่มักจะพบในรูปแบบของเจ้านาย-ลูกน้อง และมีเพศหญิงเป็นผู้ถูกละเมิดเป็นส่วนใหญ่ ส่วนช่วงเวลามักจะเป็นช่วงนอกเวลางานเป็นส่วนใหญ่

ที่พัก : กลุ่มนี้ มักจะพบกับลักษณะของผู้ใกล้ชิด หรือสนิทกับผู้ถูกกระทำเป็นส่วนใหญ่ มีจำนวนไม่มากนักที่เป็นบุคคลภายนอก แต่แนวโน้มของระดับการคุกคามนั้น มีความรุนแรงกว่า และมีความถี่มากกว่า

ที่สาธารณะ : ในปัจจุบันมีรายงานของการคุกคามในพื้นที่สาธารณะมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะลักษณะของการแอบถ่าย/แอบดู แอบจับต้องสัมผัส/ลูบคลำ รวมถึงการโชว์ของลับ

ผลสำรวจการคุกคามทางเพศระหว่างการใช้บริการขนส่งสาธารณะ พบว่า

  • กว่า 1 ใน 3 ของผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะเคยถูกคุกคามทางเพศ
  • 45% เกิดในกับเพศหญิง
  • 18.8% เป็นการคุกคามด้วยสายตา
  • 15.4% เป็นการสัมผัส ถูกเนื้อต้องตัว ลูบคลำ
  • ครึ่งหนึ่งถูกคุกคามบนรถเมล์

วันนั้นผมโดนล็อคตัวเข้าไปในกลุ่มนั้น ก็ไม่รู้ใครเป็นใครอ่ะ แต่มันโดนจับแขนขา รูดซิบแล้วควักของผมออกมารูดเลยพี่ ซึ่งผมสู้ไม่ไหวไง เค้ากลุ่มใหญ่ หลายคน

คือเราก็ไม่คิดว่าเราจะเจออะไรแบบนี้ คนก็เยอะ หลังจากนั้นระแวงไปพักใหญ่เลย ทุกวันนี้เลิกไปเที่ยวสงกรานต์เลย

ที่รู้สึกเฟลที่สุดคือ เล่าให้เพื่อนฟังมันตลกอ่ะ แต่เราไม่ตลก

ชายนิรนาม #04

ความรู้สึกผิด รอยร้าวในใจของ “เหยื่อ”

หลายๆ เคสที่ได้มีการพูดคุยพบว่า ผลจากการถูกคุกคามทางเพศที่รุนแรงส่วนใหญ่ไม่ใช่อยู่ที่ผลกระทบทางด้านร่างกาย แต่กลับเป็น “สภาพจิตใจ”

ผู้ที่ถูกกระทำหรือเหยื่อรู้สึกว่า ความผิดดังกล่าว “เป็นความผิดของตน” ทั้งๆ ที่ในสถานการณ์ของการเกิดเหตุการณ์เหล่านั้น ไม่ได้เป็นความผิดที่เหยื่อเป็นผู้ก่อขึ้นแต่อย่างใด หลายคนรู้สึกว่า เพราะตนเองนำตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานที่เสี่ยง ในภาวะเสี่ยง โทษตัวเอง มากกว่าที่จะโทษผู้ก่อเหตุ

ระดับของความบอบช้ำทางจิตใจจะมากขึ้นตามระดับของความรุนแรงที่ถูกกระทำ เหยื่อจำนวนมากที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ จะมีสภาวะเช่น การนอนไม่หลับ ปวดหัว เห็นภาพเดิมซ้ำๆ หวาดระแวงกับสภาพแวดล้อมที่คล้ายกับที่เกิดเหตุ

ยิ่งเหยื่อถูกกระทำซ้ำๆ ระดับของความเครียดและสูญเสียความเป็นตัวเองจะยิ่งสูงขึ้นตามไปด้วย

  • เพราะเราแต่งตัวไปอยู่ในห้องกับเค้า
  • เราแต่งตัวไม่ดีเอง
  • เราไม่น่าไปที่นั่นเลย
  • เราไม่น่าเชื่อ/ไว้ใจเขาเลย
  • ฯลฯ

หนูเป็นคนที่หน้าอกใหญ่ คือใส่เสื้อยืดธรรมดา สะพายกระเป๋าก็เห็นแล้ว เราโหนรถเมล์ยกมือจับราวก็เห็น สะพายกระเป๋าก็ชัดเลย

มันทำให้เราถูกจ้องมาโดยตลอด ถูกเพื่อนล้อมาตลอด เราขาดความมั่นใจในตัวเองมาตั้งแต่ ม.ต้น ออกไปยืนพรีเซ้นต์หน้าห้องก็ระแวง/ไม่มั่นใจ สั่น กลัว แล้วก็เครียดแล้วเราก็กินเยอะขึ้น เพราะมันไม่รู้จะทำอะไร แน่นอน

สุดท้ายเราอ้วน แต่เพราะความอ้วนนี่ล่ะ ทำให้คนเลิกมอง/จ้องหน้าอกเรา ทำให้เราเลิกเก็บตัว ออกไปใช้ชีวิตมากขึ้น

หญิงนิรนาม #05

ในขณะที่คนในสังคมบางส่วนกลับมีมุมมองต่อเหยื่อในรูปแบบที่เรียกว่า Victim Blaming หรือ การโทษสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็นความผิดผู้เป็นเหยื่อ โดยเฉพาะกับเหยื่อที่ถูกคุกคามทางเพศ มักจะถูกตั้งคำถามเช่น อยู่บ้านเฉยๆ ก็ไม่โดนแล้ว, แต่งตัวมิดชิดก็ไม่รอดแล้ว ฯลฯ

นอกจากหลายคนมองสถานการณ์และเสนอความคิดเห็นอย่างเช่น ทำไมไม่วิ่งหนี ทำไมไม่ร้องให้ใครช่วย เปิดประตูวิ่งหนีออกมาสิ ฯลฯ แล้วก็มักจะจบลงด้วยการโทษไปยังเหยื่อผู้ถูกกระทำ

วันนั้น นั่งรถเมล์เลยค่ะ คือเราก็นั่งตามปรกติตรงฝั่งที่เป็นเบาะนั่งคนเดียว มีผู้ชายคนนึงเดินขึ้นมา สะพายกระเป๋าแบบเกาะเป๋าเอกสารอ่ะ มายืนข้างๆ สักพักเอาเป้ามาถูไหล่เรา

เราก็เอียงหลบ เราคิดว่า เออคนจะลงรึเปล่ามันเลยเบียดกัน แต่ไม่ใช่ มันควักออกมาเลยจ้าาา แทบทิ่มหน้า บอกตรงๆ ตกใจมาก มือเย็น เท้าเย็นเลย คิดอะไรไม่ออกเลย ตกใจมากจริงๆ คือไม่เคยเจอไง รถจอดป้ายปุ๊บ วิ่งลงมาเลย

พอลงมาได้ กว่าจะตั้งหลักได้ ไอ้ที่เคยคิดไว้กับเพื่อนว่า ถ้าเจอจะถ่ายคลิป จะร้อง จะชกมัน ลืมหมดจริงๆ

หญิงนิรนาม #06

ซึ่งจากการพูดคุยกับผู้ที่เคยประสบเหตุการณ์การคุกคามทางเพศหลายรายให้ข้อมูลเหตุผลที่คล้ายคลึงกัน ว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะตั้งตัวไม่ทัน สิ่งที่เคยคิดไว้ลืม ทำได้เพียงป้องกันตัวเองเฉพาะหน้า และมีคำถามเกิดขึ้นในหัวมากกว่า คำตอบ เช่น หนีไปไหน, ทำไมถึงเกิดขึ้น ฯลฯ

ความผิดที่ไม่เป็นคนผิด

หลากหลายคำถามที่ถูกเกิดขึ้นในมุมมองของผู้ที่ถูกคุกคาม กลับเป็นคำถามในเชิงที่มองผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นว่า ตนเองผิดอะไร คำตอบที่เกิดขึ้นมักจะมองว่า ตนเองเป็นฝ่ายผิด

ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ หลายคนมองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาส่วนตัว และเลือกที่จะจัดการปัญหาด้วยตัวเองเงียบๆ จำนวนของเหยื่อที่ถูกคุกคามทางเพศที่แท้จริง จึงเป็นตัวเลขอีกมากที่ไม่ได้รับรายงาน ไม่มีการแจ้งความ หรือไม่เป็นข่าวให้ได้รับรู้กัน

ยิ่งหากผู้กระทำและผู้ถูกกระทำมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจเช่น เจ้านาย-ลูกน้อง, ครู-ศิษย์, พี่-น้อง, พ่อ-ลูก ฯลฯ ในลักษณะนี้ การยอมจำนนต่อเหตุของการคุกคามจะเกิดขึ้น ส่งผลให้การคุกคามมีความรุนแรง ความถี่มากขึ้น

เนื่องจาก การมีอำนาจของผู้กระทำ ส่งผลให้เหยื่อต้องเก็บงำสิ่งที่เกิดขึ้นไว้เพราะ

  • กลัวพูดแล้ว ไม่มีใครเชื่อ
  • กลัวว่าจะได้รับผลกระทบที่ตามมา
  • กลัวอับอาย
  • ฯลฯ

ความกลัวเหล่านี้เอง ทำให้ความถี่ต่อการถูกกระทำเพิ่มขึ้น ตลอดจนหลายครั้งพบว่า นำไปสู่การถูกละเมิดซ้ำโดยผู้กระทำคนอื่นเพิ่มอีกนั่นเอง

ปัญหาการคุกคามทางเพศ ในเพศชายเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่เริ่มพบมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ยังคงเลือกที่จะ “ไม่พูด”

ทางออกของปัญหาที่ท้าท้ายสังคมไทย

การมองปัญหาการคุกคามทางเพศถือเป็นเรื่องที่ต้องเปลี่ยนวิธีคิดอย่างมากสำหรับสังคมไทย เพราะในหลายเคสที่พบเห็นในสังคมเมื่อเป็นข่าวหรือคดีเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศ เราจะได้ยินวลีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น

  • แต่งตัวยังไงล่ะ ถึงให้เค้าลวนลาม
  • ไปทำอีท่าไหนล่ะ ให้เค้าทำได้
  • โอ้ย เค้าไม่น่าจะทำอะไรอย่างงั้นหรอก เป็นคนดีจะตายไป
  • เค้ามีลูกมีเมียแล้ว จะไปทำอะไรใครให้เสี่ยง
  • อยากได้เงิน/ตำแหน่งล่ะสิ
  • เด็กดีขนาดนั้น ตั้งใจเรียนจะไปกล้าทำอะไรใคร
  • ฯลฯ

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นบันไดก้าวหนึ่งที่สังคมไทย จะต้องเปลี่ยนความคิดต่อเหยื่อ เพื่อให้ผู้ที่ถูกกระทำ “กล้า” ที่จะออกมาสู้กับสิ่งที่ตนเองไม่ได้มีความผิด ตราบาปที่ตนเองไม่ได้ก่อขึ้น

และในทางตรงกันข้าม ผู้ที่กระทำความผิดเหล่านั้น ควรจะละอายต่อสิ่งที่ตนเองกระทำ มากกว่าเป็นสิ่งที่จะนำมาอวดกันบนดังเช่นที่ พบเห็นบนโซเซียลมีเดียทุกวันนี้

หากเรายังไม่สามารถเปลี่ยนวิธีคิด มุมมอง ต่อปัญหาการคุกคามทางเพศได้ เราก็คงจะยังเห็นข่าวการคุกคามทางเพศเหล่านี้ต่อไปเรื่อยๆ และผู้เสียหายอีกจำนวนมากที่เราไม่รู้

เราโชคดีนะ แม้ว่าเราจะอยู่ในฐานะของเหยื่อผู้ถูกกระทำ แต่แฟนเรารับกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เพราะมันเป็นเรื่องที่เราไม่ได้ผิด ให้กำลังใจเราเสมอมา

สิ่งนี้เป็นกำลังใจที่ดีมากๆ เหมือนมือที่ฉุดเราออกจากขุมนรกที่เราเคยจม เคยเก็บตัวในห้องคนเดียวออกมาได้

แต่เราก็อดห่วงไม่ได้นะ เพราะว่าเรามีลูกนี่ล่ะ เราไม่รู้ว่า ลูกเราจะเจอแบบเราไหม และเค้าจะโชคดีอย่างเราไหม

หญิงนิรนาม #01

ปัจฉิมลิขิต :
ขอบคุณทั้ง 6 เคสที่ยินดีแบ่งปันประสบการณ์ที่ยังคงคิดค้าง มาเล่าให้เราได้นำมาส่งต่อ

อ้างอิง :
ภาคีเครือข่ายเมืองปลอดภัยฯ เสนอแนวทาง แก้ปัญหาการคุกคามทางเพศบนรถทัวร์
Photo by Aimee Vogelsang , Sharon McCutcheon , Aida L , Trym Nilsen , Marius Ciutacu