EXIM BANK  สยายปีก ดัน 4 สำนักงานผู้แทน ใน CLMV หนุนทุนไทยบุกตลาดใหม่ เดินเกมเปลี่ยนประเทศไทย

EXIM BANK มุ่งมั่นเป็นผู้นำพากิจการไทยไปปักธงในตลาด CLMV และตลาดใหม่ที่มีศักยภาพและอัตราการเติบโตสูง  พร้อมรับความเสี่ยงที่มากกว่าธนาคารพาณิชย์

Home / TELL / EXIM BANK  สยายปีก ดัน 4 สำนักงานผู้แทน ใน CLMV หนุนทุนไทยบุกตลาดใหม่ เดินเกมเปลี่ยนประเทศไทย

ในจำนวน 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน คือ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม หรือที่เรียกกันว่ากลุ่มประเทศ CLMV  มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์  และมีจุดแข็งทางเศรษฐกิจที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก รัฐบาลของประเทศ CLMV  มีการปฏิรูปกฎหมายให้ทันสมัย มีนโยบายส่งเสริมการค้าเสรี มีประชากรในวัยแรงงานมาก และค่าจ้างแรงงานยังอยู่ในระดับต่ำ

ภาครัฐและภาคเอกชนไทยให้ความสำคัญกับกลุ่มประเทศ CLMV อย่างต่อเนื่อง เพราะนอกจากประเทศไทยจะตั้งอยู่ในศูนย์กลางของ CLMV  มีพรมแดนที่เชื่อมต่อกัน ทำให้สามารถเดินทางและสร้างระบบโลจิสติกส์ทางบกได้ สะดวกต่อการขนส่งสินค้า อีกทั้งการเข้าไปลงทุนและทำการค้าในกลุ่มประเทศนี้ จะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ในกรณีที่ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกาและ สหภาพยุโรป (EU) 

นอกจากนี้ ประเทศในภูมิภาคนี้ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลกค่อนข้างน้อย ขณะที่ผู้ประกอบการไทยที่ค้าขายใน CLMV มีความได้เปรียบกว่าคู่แข่งชาติอื่นด้านทำเลที่ตั้งของไทย ความคล้ายคลึงของขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรม และความนิยมในสินค้าไทย  ทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยไปยัง CLMVเติบโตอย่างต่อเนื่อง  โดยกิจการที่ผู้ประกอบการไทยนิยมเข้าไปลงทุนใน CLMV  คือลงทุนผลิตอาหารและเครื่องดื่ม  ส่วนสินค้าที่ส่งออกได้ดี คือสินค้าทุน  เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบเครื่องจักรกลการเกษตร  วัตถุดิบ อาทิ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก และวัสดุก่อสร้าง ส่วนสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ เครื่องดื่ม ผลไม้สด อาหารสำเร็จรูป เสื้อผ้า เครื่องสำอาง และเครื่องประดับ

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร  กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า  ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา  EXIM BANK  ให้ความสำคัญกับการขยายการค้าและการลงทุนไปสู่ตลาดใหม่ ที่เรียกว่า New Frontiers  โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่สำคัญ  เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงการคลัง เพื่อส่งเสริมให้ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยสามารถแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจในตลาดต่างประเทศได้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจอยู่มาก  ที่ผ่านมาแม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะมีทิศทางชะลอตัวลง แต่เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ CLMV ยังเติบโตได้อย่างโดดเด่นโดยเฉพาะเวียดนามที่เศรษฐกิจขยายตัวมากสวนกระแสการแพร่ระบาดของโควิด-19 

ภายใต้นโยบาย  Dual-track Policy  ในการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยภายใต้บทบาท “ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (Thailand Development Bank)” ควบคู่กับการทำหน้าที่ “ศูนย์บริการครบวงจรเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศให้แก่ SMEs (One Stop Trading Facilitator for SMEs)”  ทำให้ EXIM BANK เปิดสำนักงานผู้แทนในกลุ่ม  CLMV ครบทุกประเทศ เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศไทยกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน

ทั้งนี้ EXIM BANK เปิดดำเนินการสำนักงานผู้แทนแห่งแรกในเมืองย่างกุ้ง เมียนมา เมื่อปี 2560 จากนั้นจึงเปิดสำนักงานผู้แทนในนครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ในปี 2561 และกรุงพนมเปญ กัมพูชา ในปี 2562  และได้เปิดสำนักงานผู้แทนในนครโฮจิมินห์  เวียดนาม อย่างเป็นทางการในเดือนมิถุนายน 2565 นี้ 

สำหรับผลการดำเนินงาน ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 EXIM BANK มียอดคงค้างสินเชื่อโครงการระหว่างประเทศรวมทั้งสิ้น 65,688 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 5,543 ล้านบาท หรือ 9.22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  เมื่อจำแนกเป็นรายตลาดพบว่า กลุ่มประเทศ CLMV และตลาด New Frontiers  มีสินเชื่อคงค้างจำนวน 51,554 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,069 ล้านบาท หรือ 18.56% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ สินเชื่อของกลุ่ม CLMV ที่ขยายตัวมากที่สุดคือประเทศเวียดนาม โดยธนาคารได้เปิดดำเนินการสำนักงานผู้แทนอย่างไม่เป็นทางการกลางปี 2464 มียอดสินเชื่อคงค้างจำนวน 13,843 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 65.65% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน   

ดร.รักษ์  กล่าวว่า  EXIM BANK ยังมุ่งมั่นเป็นผู้นำ (Lead Bank) พากิจการไทยไปปักธงในตลาด CLMV และ ตลาดใหม่ (New Frontiers)  ที่มีศักยภาพและอัตราการเติบโตสูง  และพร้อมรับความเสี่ยงที่มากกว่าธนาคารพาณิชย์  ให้กำเนิดอุตสาหกรรมใหม่โดยเฉพาะ Bio-Circular-Green Economy (BCG Economy)  เช่น สนับสนุนโครงการเขื่อนกักเก็บน้ำและโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังน้ำน้ำงึม 1 และ 2 ใน สปป.ลาว โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมในเวียดนาม

“จากการเปิดดำเนินการสำนักงานผู้แทนของ EXIM BANK  ครบทั้ง 4 ประเทศใน CLMV จะทำให้การค้าและการลงทุนระหว่างกันเพิ่มขึ้นอีกมาก โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ออกไปลงทุนและส่งออกสินค้าที่เป็นวัตถุดิบและชิ้นส่วนใน Supply Chain ของธุรกิจไทยที่ออกไปลงทุนก่อนหน้านี้” ดร.รักษ์ กล่าว 

การสนับสนุนให้ผู้ส่งออกไทยขยายการค้าและการลงทุนไปในตลาดเกิดใหม่  เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ “เกมเปลี่ยนประเทศไทย  (Thailand Game Changer) ” ของ EXIM BANK  ภายใต้นโยบาย “ซ่อม สร้าง เสริม และสานพลัง” การพัฒนาอย่างยั่งยืน

“ซ่อม” อุตสาหกรรมที่ประสบวิกฤต แต่ยังมีศักยภาพ เช่น สายการบิน พาณิชยนาวี  โดยสนับสนุนให้เกิดการ Transform ธุรกิจและพัฒนากิจการตอบโจทย์ลูกค้ายุค Next Normal

“สร้าง” อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ที่เป็น New Engine of Growth ในการสร้างความยั่งยืนให้แก่ประเทศและโลก โดยเฉพาะ การสนับสนุน BCG Economy และสร้างนักรบเศรษฐกิจหน้าใหม่ที่พร้อมบุกตลาดโลก ตลอดจนบ่มเพาะกลุ่มผู้ผลิตที่เป็น Supplier ของผู้ส่งออกที่เป็นผู้ประกอบการค้าออนไลน์ Indirect Exporters ให้ผันตัวมาเป็นผู้ส่งออกอย่างเต็มตัว โดยใช้ EXIM Thailand Pavilion ที่เชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มการค้าระดับโลก

“เสริม” การค้าการลงทุนของไทยในต่างประเทศ ทั้งตลาดหลักและตลาดใหม่ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม CLMV ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) 

“สานพลัง” กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเดินเกมเปลี่ยนแปลงประเทศไทย สร้างคุณค่าและผลลัพธ์การพัฒนาอย่างยั่งยืน

ปัจจุบันตลาด CLMV ได้เพิ่มบทบาทขึ้นมาเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 4 ของไทย รองจากสหรัฐอเมริกา อาเซียนเดิม 5 ประเทศ และจีน  ทั้งยังมีศักยภาพเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีความต้องการซื้อสินค้าและบริการของไทยอยู่มาก บทบาทของ EXIM BANK ใน CLMV จึงเป็นการสร้างโอกาสและสนับสนุนสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการและนักลงทุนไทยไปทำธุรกรรมและธุรกิจในประเทศเหล่านี้ ช่วยลดความเสี่ยงด้วยบริการประกันการส่งออก ประกันความเสี่ยงการลงทุน การสนับสนุนสินเชื่อเพิ่มเสริมสภาพในรูปแบบเงินทุนหมุนเวียนและเงินกู้ระยะปานกลาง-ระยะยาว รวมถึงการปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของไทย CLMV และโลกโดยรวม