นับจากวันแรกที่ “ดร. รักษ์ วรกิจโภคาทร” เข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 ก็ได้ประกาศชัดเจนว่าจะนำเอาจิตวิญญาณการเป็น “ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย” อันเป็นพันธกิจแรกเริ่มของการตั้งธนาคารแห่งนี้ เพื่อ “รับความเสี่ยง” ที่มากกว่าธนาคารพาณิชย์ “ให้กำเนิดอุตสาหกรรมใหม่” สนับสนุนโครงการลงทุนในอุตสาหกรรมสู่อนาคต และ “หนุนทุนไทยไปต่างแดน” ช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูธุรกิจไทย โดยทำหน้าที่ “เครื่องยนต์รุ่นใหม่” ผลักดันการพัฒนาประเทศไทยในมิติเศรษฐกิจ เชื่อมโยงกับสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยนโยบาย Dual-track Policy ชูบทบาท “ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย” ควบคู่กับการเป็น “ศูนย์บริการครบวงจรเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศให้แก่ SMEs”
การไม่ทิ้ง “คนตัวเล็ก” เป็นนโยบายสำคัญที่ EXIM BANK ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลัง ให้ดูแลผู้ประกอบการ SMEs ส่งออกและลงทุนในต่างประเทศ เพื่อเพิ่มบทบาททางเศรษฐกิจให้ธุรกิจ SMEs ที่แม้มีจำนวนมากถึง 3.1 ล้านราย แต่เป็นผู้ส่งออกเพียง 3 หมื่นราย เท่านั้น จึงต้องสร้างนักรบเศรษฐกิจไทยให้มีจำนวนมากขึ้น
ดร.รักษ์ กล่าวว่า SMEs ส่วนใหญ่ยังค้าขายอยู่ในประเทศ มีไม่ถึง 1% ของ SMEs ทั้งหมดที่สามารถเป็นผู้ส่งออกได้และสัดส่วนนี้แทบไม่ขยับเลยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การเน้นค้าขายในประเทศกำลังจะกลายเป็นจุดอ่อนของ SMEs ไทย เนื่องจากตลาดในประเทศเริ่มเข้าสู่ภาวะชะลอตัวจากข้อจำกัดต่างๆ จากปัญหาประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำ ทำให้การบริโภคในประเทศขยายตัวน้อย ในที่สุดแล้วผลิตสินค้าออกมาแล้วจะขายใคร การส่งออกจึงเป็นทางรอด ต้องวางแผนปรับตัวตั้งแต่เดี๋ยวนี้
“เรามักจะเทียบผู้ประกอบการ SMEs เป็นเรือเล็ก ที่มักจะแล่นเรือไปขายสินค้าในที่ใกล้ๆและชายฝั่ง ไม่กล้าออกไปไกล เพราะกลัวคลื่นลม แต่ปัจจุบันเรือเล็กต้องออกจากฝั่งแล้ว แต่การจะออกไปต้องเตรียมตัวให้พร้อม ดูแลบริหารจัดการความเสี่ยงให้ดีจะช่วยให้มั่นใจมากขึ้น ซึ่งการออกจากฝั่งที่เราเห็นว่าดีที่สุดคือการค้าขายด้วย E-Commerce” ดร.รักษ์ กล่าว
EXIM BANK เพิ่มบทบาทการไม่ทิ้งคนตัวเล็กอย่างชัดเจนด้วยการมี “ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า (EXIM Excellence Academy : EXAC) เป็นศูนย์บริการครบวงจรเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศให้แก่ SMEs ทั้งที่ยังไม่เคยส่งออกแต่ต้องการความรู้และคำแนะนำเพื่อส่งออก ทั้ง “บ่มเพาะ ต่อยอด สร้างโอกาส” ให้คำปรึกษา จัด Workshop การประชุมเชิงปฎิบัติการที่ผู้ประกอบการจะได้รับประสบการณ์จากการร่วมกันฝึกพัฒนาทักษะและการปฎิบัติจริง ในเรื่องของวิธีการจัดการ การวางแผนธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ ฯลฯ อบรมสัมมนา นำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมให้
นอกจากนี้ ยังช่วยเหลือในการหาพันธมิตรทางธุรกิจ จัด Business Matching จับคู่ธุรกิจ เป็นการหาพันธมิตรที่จะช่วยส่งเสริมการค้าและการลงทุนในต่างประเทศให้ผู้ประกอบการโดยใช้เครือข่ายของสำนักงานตัวแทนต่างประเทศของ EXIM BANK และ หน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
“สิ่งที่ EXIM BANK กำลังดำเนินการและได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการ SMEs อย่างมากคือ การให้พื้นที่โพสต์ขายสินค้าบนแพลตฟอร์ม E-Commerce ระดับโลก ผ่านทาง EXIM Thailand Pavilion และเราจะขยายไปในแพลตฟอร์มอื่นอีกในอนาคต รวมทั้งจัดให้มี SME Export Studio ดูแลตั้งแต่การออกแบบบรรจุภัณฑ์ การเขียนเรื่องราวธุรกิจ การทำตลาดให้แก่ SMEs ที่พร้อมเริ่มต้นธุรกิจส่งออก” ดร.รักษ์ กล่าว
ผลจากนโยบาย Dual-track Policy ทำให้ในไตรมาส 1 ของปี 2565 EXIM BANK สามารถขยายสินค้าและสนับสนุนผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ได้มากขึ้น โดยมีวงเงินอนุมัติสินเชื่อใหม่ 14,973 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 74.37% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้เกิดผ้างออกป้ายแดงและธุรกิจใหม่มากขึ้น เป็นวงเงินลูกค้า SMEs จำนวน 4,541 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 215.67% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ธนาคารสามารถขยายฐานลูกค้าใหม่ได้มากถึง 11,041 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 361.86% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ธนาคารเติบโตแข็งแกร่งขึ้นในทุกมิติ มีกำไรสุทธิในไตรมาส 1 ปี 2565 เท่ากับ 411 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 346.05% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
อัตราการเพิ่มขึ้นของลูกค้าใหม่และลูกค้าผู้ประกอบการ SMEs ตลอดจนกำไรสุทธิที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด สะท้อนความสำเร็จของธนาคารในการเข้าถึงธุรกิจรายใหม่และ SMEs ได้เป็นอย่างดี ซึ่งปัจจุบันธนาคารเพิ่มช่องทางให้คนตัวเล็กๆ เหล่านี้เข้าถึงบริการทางการเงินของธนาคารที่หลากหลาย ทั้งผ่านทางโซเชียลมีเดีย และทาง EXIM Contact Center โทร 0 2169 9999
ดร.รักษ์ กล่าวว่า ในปีนี้ EXIM BANK ยังคงเดินหน้าขยายบทบาทการเป็น Thailand Development Bank ที่ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การค้าและการลงทุนของประเทศและเดินเกมเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูง โดยมุ่งผลักดันการพัฒนาประเทศในมิติเศรษฐกิจ เชื่อมโยงกับสังคมและสิ่งแวดล้อม ดำเนินภารกิจ “ซ่อม สร้าง เสริม และสานพลัง” กับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศผ่านการสนับสนุนโครงการลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) เพื่อยกระดับศักยภาพในการแข่งขันของไทยให้ผลิตและส่งออกสินค้า/บริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น พัฒนาภาคอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการรูปแบบใหม่รองรับความต้องการของผู้ประกอบการ เช่น พัฒนาระบบนิเวศของตลาดคาร์บอน สนับสนุนสินเชื่อเพื่อลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคา (Solar Orchestra) ออกผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่สอดคล้องกับนโยบายการเงินอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Finance) ซึ่ง EXIM BANK เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐแห่งแรกที่มีนโยบายดังกล่าว ประกอบกับสร้างโอกาสและความเข้มแข็งแก่ผู้ประกอบการ SMEs ให้เติบโตในต่างประเทศไปพร้อม ๆ กัน