ประเด็นน่าสนใจ
- ราคามะนาวจะมีการปรับตัวสูงขึ้นในช่วงหน้าร้อน เนื่องจากผลผลิตจากมะนาวจะลดน้อยลงถึง 60-70%
- รองอธิบดีกรมการค้าภายใน ได้แนะนำให้ประชาชนหาสินค้าชนิดอื่นที่ทดแทนมะนาวมาใช้ก่อน อาทิเช่น มะม่วง และมะขามเปียก
- ปัญหามะนาวแพง ส่งผลทำให้มีเกษตรกรบางส่วนหันมาปลูกมะนาวแบบนอกฤดูมากขึ้น
หลายคนคงเกิดข้อสงสัย ว่าทำไมช่วงนี้ราคามะนาวถึงแพง? ทำไมพอถึงช่วงหน้าร้อนราคามะนาวมีการปรับตัวที่สูงขึ้น? คำถามเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นในทุก ๆ ปี
จริงอยู่ที่ราคามะนาวจะมีการปรับตัวสูงขึ้นในช่วงหน้าร้อน ถึงแม้จะเป็นช่วงระยะสั้นก็ตาม แต่มันย่อมส่งผลกระทบไปถึงผู้บริโภค พ่อค้าแม่ค้า หรือประชาชนทั่วไป ที่ใช้วัตถุดิบจากมะนาวในการประกอบอาหารและเครื่องดื่ม เราจะเห็นได้ว่าพอถึงช่วงหน้าร้อนราคามะนาวปรับตัวสูงขึ้น ราคาในท้องตลาดค่าเฉลี่ยเกือบลูกละ 5 บาท หรือมากกว่านั้น แล้วแต่ต้นทุนการขนส่งในแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัด
ซึ่งประเด็นราคามะนาวแพงในปีนี้ ถูกพูดถึงอีกครั้งหลังทางกรมการค้าภายใน โดยนายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับราคามะนาวที่ปรับตัวสูงขึ้น ณ ขณะนี้ พร้อมแนะนำให้ผู้ประกอบการพ่อค้าแม่ค้า หันมาใช้วัตถุดิบอื่นแทนมะนาว อาทิเช่น การใช้มะขามเปียก มะม่วง ที่มีรสชาดเปรี้ยว ใช้แทนมะนาว จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์
ทำไม ‘มะนาว’ ถึงแพง
โดยเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูร้อน ประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน ของทุกปี มะนาวมีราคาสูงกว่าปกติถึง 5-10 เท่า เนื่องมาจากเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูร้อนส่งผลทำให้มะนาวมีผลผลิตสู่ตลาดน้อยลง กระทบไปถึงผู้บริโภคที่มีความต้องการทำให้ราคามะนาวในช่วงดังกล่าวนี้มีการปรับตัวสูงขึ้น
นอกจากนี้ยังรวมไปถึงต้นทุนทางการเกษตร ทั้งค่าปุ๋ย ค่ายา ที่เกษตรกรต้องใช้ หรือไม่ว่าจะเป็นต้นทุนด้านการขนส่ง ย่อมเป็นอีกปัจจัยสำคัญี่ส่งผลำให้ราคามะนาวสูงขึ้นในช่วงนี้ อย่างไรก็ตามจากข้อมูลพบว่า ในช่วงหน้าแล้งนี้ผลผลิตจากมะนาวจะลดน้อยลงถึง 60-70%
ปัญหาดังกล่าวทำให้เกษตรกรบางส่วนหันมาปลูกมะนาวแบบนอกฤดูมากขึ้น เพิ่มลดปัญหามะนาวขาดตลาดในช่วงหน้าแล้ง
แนวทางการแก้ปัญหา ‘มะนาวแพง’ ที่ผ่านมา
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีปัญหาราคามะนาวแพง ระบุว่า ปัญหาดังกล่าวยอมรับว่าแพงมาทั้งชาติ เพราะเริ่มเข้าสู่ฤดูแล้ง จึงได้เสนอแนะให้ประชาชนหันมาปลูกมะนาวไว้ที่บ้าน โดยนำมาปลูกลงในกระถางเพื่อเก็บไว้กินเอง
และล่าสุดกลับสถานการณ์ราคามะนาวแพงในปีนี้ (2565) โดยนายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้แนะนำให้ประชาชนหาสินค้าชนิดอื่นที่ทดแทนมะนาวมาใช้ก่อน อาทิเช่น มะม่วง และมะขามเปียก
อย่างไรก็ตามราคามะนาวที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้น จะเ็นในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ช่วงหน้าแล้ง ซึ่งเมื่อเข้าสู่ช่วงหน้าฝน ผลผลิตจะเพิ่มสูงขึ้นจนล้นตลาด ทำให้ราคามะนาวตกต่ำสุดในช่วงนี้ ซึ่งเราจะเห็นได้จากข่าวที่เกษตรกรชาวสวนมะนาวต้องตัดใจโค่นต้นมะนาวทิ้ง เพราะแม้แต่จะเก็บเกี่ยวนำไปขายก็ยังไม่คุ้มทุน
สถิติการปลูก ‘มะนาว’ ทั่วประเทศ
จากข้อมูลสถิติการปลูกมะนาวทั่วประเทศในปี 2563 พบว่ามีจำนวนผู้ปลูกมะนาว ทั่วประเทศประมาณ 20,156 ราย แบ่งเป็นภาคเหนือ 5,674 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,475 ราย พักกลาง 11,086 ราย และภาคใต้ 1,921 ราย
โดยจังหวัดที่มีการเพาะปลูกมะนาวมากที่สุดมัน 5 อันดับคือ จังหวัดเพชรบุรี มีจำนวนผู้ปลูกมะนาว 4,901 ราย รองลงมาอยู่ในพื้นที่จังหวัดพิจิตร มีจำนวนผู้ปลูกมะนาว 2,335 ราย จังหวัดราชบุรี มีจำนวนผู้ปลูกมะนาว 1,417 ราย จังหวัดสมุทรสาคร มีจำนวนผู้ปลูกมะนาว 1,384 ราย และจังหวัดกำแพงเพชร มีจำนวนผู้ปลูกมะนาว 1,285 ราย
ผลผลิตจากทั่วประเทศ เนื้อที่ยืนต้น 108,213 ไร่ เนื้อที่ให้ผล 101,787 ไร่ ให้ผลผลิต 148,359 ตัน ซึ่งในประเทศไทยมี 5 สายพันธุ์ที่นิยมปลูกกันคือ
1.มะนาวแป้น
2.มะนาวนิ้วมือ
3.มะนาวหวาน
4.มะนาวตาฮิติ
5.มะนาวยักษ์
ผลผลิตของ ‘มะนาว’ และการส่งออก
สถานการณ์การผลิต การผลิตมะนาว (ทุกสายพันธุ์) ปี 2563 มีปริมาณผลผลิต 483,930 ตัน เพิ่มขึ้น จากปี2562 ที่มีปริมาณผลผลิต 366,362 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.09 เนื่องจาก สภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมทำให้มีผลผลิตมากขึ้น
ราคามะนาวที่เกษตรกรขายได้ ในปี 2563 ราคามะนาวเฉลี่ยที่เกษตรกรขายได้อยู่ที่กิโลกรัมละ 26.81 บาท ซึ่งลดลงจากปี 2562 ที่ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 41.13 บาท หรือลดลงร้อยละ35 เนื่องจาก ปริมาณผลผลิตปี 2563 มีปริมาณสูงจึงส่งผลให้ราคาลดลงจากปีก่อนหน้า
การส่งออกจากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ พบว่า มะนาว(HS:080550) ปี 2564 (ม.ค. -ส.ค. 2564) มีปริมาณการส่งออก 1,413ตันมูลค่า 24.55 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ที่ส่งออกได้ 5,866 ตัน มูลค่า 194.29ล้านบาท หรือปริมาณลดลงร้อยละ 75.91 และมูลค่าลดลงร้อยละ 87.3ตามลำดับ โดยประเทศคู่ค้าที่สำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่
- ลาว
- มาเลเซีย
- ฮ่องกง
- เมียนมา
- บาร์เรน
มาตรฐานของผลผลิต
การแบ่งชั้นคุณภาพมะนาวตามมาตรฐานสินค้าเกษตรนี้ แบ่งเป็น 3 ชั้นคุณภาพ ดังนี้
ชั้นพิเศษ (Extra class)
มะนาวในชั้นนี้ต้องมีคุณภาพดีที่สุด มีลักษณะตรงตามพันธุ์ เป็นสีเขียวทั้งผล ไม่มีความผิดปกติ ด้านรูปทรงและสีไม่มีตำหนิที่ผิว ยกเว้นเป็นความผิดปกติหรือตำหนิที่มองเห็นได้ไม่ชัดเจน และไม่มีผลกระทบต่อรูปลักษณ์ทั่วไป และคุณภาพของผลิตผล รวมถึงคุณภาพระหว่าง
การเก็บรักษา และการจัดบรรจุในหีบห่อ
ชั้นหนึ่ง (Class I)
มะนาวในชั้นนี้ต้องมีคุณภาพดี มีลักษณะตรงตามพันธุ์ อาจมีความผิดปกติด้านรูปทรงและสีหรือตำหนิที่ผิวได้เล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ความผิดปกติหรือตำหนิดังกล่าวต้องไม่มีผลกระทบ ต่อรูปลักษณ์ทั่วไป และคุณภาพของผลิตผล รวมถึงคุณภาพระหว่างการเก็บรักษา และการจัดบรรจุในหีบห่อ ความผิดปกติหรือตำหนิดังกล่าวที่ยอมให้มีได้ มีดังนี้
- ความผิดปกติเล็กน้อยด้านรูปทรง
- ความผิดปกติเล็กน้อยด้านสี เช่น สีผิวผลซีดเนื่องจากเป็นส่วนที่ไม่ได้รับแสงแดด
- ตำหนิเล็กน้อยที่ผิว ในกรณีที่เป็นแผลต้องเป็นรอยแผลที่สมานแล้ว เช่น รอยขีดข่วนรอยแผลตื้น และร่องรอยการทำลายของแมลง โดยขนาดของตำหนิที่ผิวโดยรวมต้องไม่เกิน 5% ของพื้นที่ผิวของผล
ชั้นสอง (Class II)
มะนาวในชั้นนี้รวมมะนาวที่มีคุณภาพไม่เข้าชั้นที่สูงกว่า แต่มีคุณภาพตามข้อกำหนดขั้นต่ำที่กำหนด อย่างไรก็ตาม มะนาวในชั้นนี้มีความผิดปกติหรือตำหนิได้หากยังคงลักษณะที่สำคัญในเรื่องคุณภาพ คุณภาพระหว่างการเก็บรักษา และการจัดบรรจุในหีบห่อ ทั้งนี้ความผิดปกติหรือตำหนิดังกล่าวที่ยอมให้มีได้ มีดังนี้
- ความผิดปกติด้านรูปทรง
- ความผิดปกติด้านสีเช่น สีผิวผลซีดเนื่องจากเป็นส่วนที่ไม่ได้รับแสงแดด
- ตำหนิที่ผิว ในกรณีที่เป็นแผลต้องเป็นรอยแผลที่สมานแล้ว เช่น รอยขีดข่วน รอยแผลตื้น และร่องรอยการทำลายของแมลง โดยขนาดของตำหนิที่ผิวโดยรวมต้องไม่เกิน 10% ของพื้นที่ผิวของผล
ถึงแม้ในช่วงนี้ราคามะนาวจะสูงขึ้น และแน่นอนย่อมส่งผลกระทบไปถึงผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งท้ายที่สุดเราต้องย้อนกลับไปที่กระบวนการทางเกษตร ว่าหน่วยงานภาครัฐควรมีการส่งเสริมให้ความรู้เกษตรกรผู้ปลูกมะนาว ถึงแนวทางการปลูกมะนาวให้ได้สัดส่วนที่พอดีต่อความต้องการของตลาดในช่วงหน้าแล้งนี้อย่างไร
รวมไปถึงมาตรการจากภาครัฐ ทั้งระยะสั้น และระยะยาว ที่จะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน รวมถึงช่วงผลผลิตตกต่ำ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ควรได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม เพิ่อไม่ให้เกิดคำถามที่ถูกตั้งมาในทุก ๆ ปี ว่า “ทำไมเข้าหน้าแล้งมะนาวจึงแพง”
บทความที่เกี่ยวข้อง : วิธีปลูกมะนาว ในกระถาง ปลูกผักสวนครัวสำหรับคนมีพื้นที่น้อย
ข้อมูล
- http://www.tpso.moc.go.th
- https://www.acfs.go.th