UCEP UCEP COVID กระทรวงสาธารณสุข สิทธิรักษาโควิด โควิด-19

UCEP COVID คืออะไร หากยกเลิกยังรักษาฟรีได้หรือไม่…?

ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวจากทางกระทรวงสาธารณสุข จะปรับให้โรคโควิด-19 เป็น 'โรคประจำถิ่น' ไม่อยู่ในสถานะโรคระบาด พร้อมยกเลิกระบบ UCEP COVID

Home / TELL / UCEP COVID คืออะไร หากยกเลิกยังรักษาฟรีได้หรือไม่…?

ประเด็นน่าสนใจ

  • ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวจากทางกระทรวงสาธารณสุข จะปรับให้โรคโควิด-19 เป็น ‘โรคประจำถิ่น’ ไม่อยู่ในสถานะโรคระบาด พร้อมยกเลิกระบบ UCEP COVID
  • มติประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มอบให้กระทรวงสาธารณสุขทบทวนเรื่องนี้อีกครั้ง
  • ทำให้ปัจจุบันระบบ UCEP COVID สามารถรักษาได้ทุกที่ สถานพยาบาลโดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนไม่สามารถปฏิเสธการรับผู้ป่วยได้
  • เพิ่มการให้บริการแบบผู้ป่วยนอก (OPD) ด้วยความสมัครใจ หรือ “เจอ-แจก-จบ”

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย ที่มีแนวโน้มอัตราเพิ่มสูงขึ้น เนื่องมาจากเชื้อกลายพันธุ์ ‘ไอไมครอน’ ที่มีลักษณะการติดเชื้อได้ง่ายและแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลทำให้เกิดการติดเชื้อที่เป็นคลัสเตอร์ หรือ กลุ่มก้อน สะสมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมตั้งแต่ปี 2563 แล้วกว่า 2.9 ล้านราย ในขณะที่จำนวนผู้หายป่วยจากโควิด-19 สะสมตั้งแต่ 2563 แล้ว 2,692,739 ราย

อย่างไรก็ตามสำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากข้อมูล ณ ปัจจุบันพบว่า มีการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 120 ล้านโดส ซึ่งมีทั้งฉีดเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 รวมถึงเข็มที่ 3 และ 4 ตามลำดับ ซึ่งถึงแม้การฉีดวัคซีนจะไม่ได้เป็นการรับประกันว่าจะไม่มีโอกาสติดเชื้อโควิค-19 แต่เป็นการป้องกัน ลดอาการรุนแรง และลดการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ได้

โดยที่ผ่านมาทางรัฐบาลได้มีการออกมาตรการป้องกัน รวมถึงการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 พร้อมทั้งปรับมาตรการป้องกันตามสถานการณ์ที่เป็นอยู่ให้เหมาะสมในแต่ละช่วง ซึ่งการติดเชื้อย่อมเกิดขึ้นได้กับทุกคน หากไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันที่ถูกต้อง ก็อาจได้รับเชื้อและแพร่สู่คนรอบข้าง และคนในครอบครัวได้เช่นกัน

สำหรับโควิด-19 นั้น รัฐบาลได้จัดอยู่ในโรคฉุกเฉิน ซึ่งทางรัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขได้ออกหลักเกณฑ์การรักษาผู้ป่วย จัดอยู่ในการรักษาฟรีตามสิทธิของ UCEP COVID ซึ่งเป็นสิทธิการรักษาฉุกเฉินแก่คนไทยทุกคน

ทำความเข้าใจเกี่ยวกับ UCEP

UCEP หรือในชื่อเต็มคือ Universal Coverage For Emergency Patients คือ สิทธิการรักษาตามนโยบายรัฐเพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตให้สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุดได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจนพ้นวิกฤตและสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัยแต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง ซึ่งแบ่งการใช้สิทธิได้ 3 กองทุน

  • กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ บัตรทอง
  • กองทุนประกันสังคม
  • กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ

โดยผู้ที่จะใช้สิทธินี้ได้จะต้องเป็นผู้ป่วยที่เจ็บป่วยฉุกเฉิน อาทิ หมดสติไม่รู้สึกตัวไม่หายใจ หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรงหายใจติดขัดมีเสียงดัง / ซึมลง เหงื่อแตก ตัวร้อน หรือ มีอาการชักร่วม / เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง / แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกพูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วนหรือชักต่อเนื่องไม่หยุด / มีอาการอื่นร่วมที่มีผลต่อการหายใจระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต

ซึ่งเมื่อรักษาครบ 72 ชั่วโมงแล้ว และผู้ป่วยพ้นวิกฤต ทางโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่นอกคู่สัญญาของกองทุน จะประสานไปยังโรงพยาบาลต้นสังกัดที่ผู้ป่วยมีสิทธิรักษาต่อไป

UCEP COVID คืออะไร

โควิด-19 ถูกจัดเป็นโรคฉุกเฉินสามารถรับการักษาฟรีได้ทุกที่ หรือเรียกอีกอย่างว่า UCEP COVID ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2563 โดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และค่าใช้จ่าย ในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคโควิด-19 เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินการกับผู้ป่วยฉุกเฉินดังกล่าว

ซึ่งสถานพยาบาลโดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนไม่สามารถปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยได้ แต่สามารถนำเบิกค่าใช้จ่ายทั้งหมดกับทาง สปสช. ตามระเบียบกฎเกณฑ์ข้อบังคับ

อาทิ ผู้ป่วยที่มีสิทธิบัตรทอง ของทาง สปสช. เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนเนื่องจากมีภาวะฉุกเฉิน สำหรับผู้ป่วยที่ลงทะเบียนไว้ทางหน่วยงานจะเข้าไปดูแลค่าใช้จ่ายทั้งหมด เป็นต้น ซึ่งการใช้ระบบ UCEP COVID ทำให้คัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด ให้เข้าสู่ระบบการรักษาได้อย่างทันท่วงที และเป็นการควบคุมการแพร่เชื้อได้

ในปัจจุบันได้มีการปรับหลักเกณฑ์ ให้เป็นไปตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่มีนโยบายการดูแลผู้ติดเชื้อโควิดกลุ่มไม่มีอาการหรือมีอาการไม่มากด้วยระบบการดูแลที่บ้านหรือในชุมชน รวมถึงการตรวจคัดกรองโควิดด้วยชุดตรวจ ATK เป็นวิธีแรก (HI-CI-ATK first) เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐ

โดยเป็นการลดภาระงบประมาณ ภาระงานด้านสาธารณสุขของประเทศ รวมถึงการประชุมหารือร่วมระหว่าง 4 กองทุนภาครัฐ ที่เห็นชอบในหลักการจ่ายชดเชยค่าบริการสำหรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 (กลุ่มอาการสีเขียว) ที่รักษาในโรงพยาบาล, HI/CI, Hotel Isolation, รพ.สนาม และ Hospitel ทั้งในหน่วยบริการในระบบ และกรณีการเข้ารับบริการในระบบเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตโรคโควิด (UCEP COVID) เป็นการจ่ายแบบเหมาจ่ายในอัตราเดียวกัน

หลักเกณฑ์และแนวทางอัตราจ่ายใหม่

1.การจ่ายค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 โดยกรณีดูแลรักษาผู้ป่วยอาการสีเขียว จะจ่ายชดเชยเช่นเดียวกับบริการ HI/CI ไม่ว่าจะเป็นการรักษาในโรงพยาบาล (ไม่จ่าย DRGs) รวมถึงการรักษานอกโรงพยาบาล เช่น HI/CI, Hotel Isolation, รพ.สนาม และ Hospitel

โดยกำหนดอัตราการจ่ายแบบเหมาจ่ายต่อการให้บริการผู้ป่วย 1 ราย รวมค่าอาหาร อยู่ที่ 12,000 บาท สำหรับการรักษา 7 วันขึ้นไป และ 6,000 บาทสำหรับการรักษาตั้งแต่ 1-6 วัน ส่วนกรณีไม่รวมค่าอาหารจะเหมาจ่ายที่ 8,000 บาท และ 4,000 บาทตามลำดับ

2.การตรวจคัดกรองและตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการติดเชื้อโควิด-19 โดยวิธีตรวจ ATK โดยผู้เชี่ยวชาญ (ATK Professional) จะปรับอัตราจ่ายให้เหมาะสมกับราคาในปัจจุบัน และสอดรับนโยบาย ATK First และอ้างอิงราคาตามประกาศกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

โดยแบบ Chromatography จะจ่ายที่ 250 บาท จากเดิม 300 บาท และแบบ FIA จะจ่ายที่ 350 บาท จากเดิม 400 บาท ขณะที่การตรวจคัดกรองด้วยวิธี RT-PCR ประเภท 2 ยีน จะปรับการจ่ายเป็น 900 บาท จากเดิม 1,300 บาท ส่วนประเภท 3 ยีน จ่ายเป็น 1,100 บาท จากเดิม 1,500 บาท

3.อัตราจ่ายค่าห้องสำหรับการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในโรงพยาบาล ได้ปรับอัตราจ่ายค่าห้องที่ดูแลการรักษา โดยแบ่งระดับเตียงใหม่ตามความรุนแรงของโรคเพื่อการบริหารจัดการที่เหมาะสม ตามที่กรมการแพทย์กำหนดเป็น 5 ระดับ

และปรับลดอัตราจ่ายอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) จากเดิมชุดละ 600 บาท เหลือ 550 บาท สำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วยสีเหลือง/แดง และลดจำนวนชุดที่ใช้ต่อวันของเตียงระดับอาการรุนแรง ตามสถานการณ์ปัจจุบันที่ทีมบุคลากรทางการแพทย์สามารถเข้าไปดูผู้ป่วยครั้งละหลายคน

4.การสนับสนุนชุดตรวจ ATK-self test สำหรับประชาชนคนไทยทุกสิทธิ โดย สปสช.จะเป็นกลไกกลางในการประสานผู้จำหน่าย โดยเฉพาะผู้จำหน่ายที่อยู่ในบัญชีนวัตกรรมในการกระจายชุดตรวจให้หน่วยบริการเพื่อให้ได้ราคาที่เหมาะสม และจำนวนตามความต้องการของหน่วยบริการ

ส่วนหน่วยบริการที่เข้าร่วม ได้แก่ ร้านยา คลินิกการพยาบาลฯ คลินิกกายภาพบำบัด หน่วยเทคนิคการแพทย์ฯ หรือหน่วยบริการอื่นที่สนใจ จะได้รับค่าใช้จ่ายเป็นเงินในอัตรา 55 บาทต่อชุดตรวจ สำหรับเป็นค่าชุดตรวจและค่าบริการให้คำแนะนำการตรวจ ATK การอ่านผล และการปฏิบัติตัวของประชาชน

5.อัตราจ่ายค่าพาหนะรับ-ส่งต่อ กรณีใช้รถโดยสารประเภทอื่น ซึ่งเป็นการจ่ายชดเชยในลักษณะเหมาจ่ายต่อวัน ในอัตรา 1,900 บาทต่อวัน กรณีใช้รถโดยสารประเภทอื่น เช่น TAXI เสริมหรือทดแทนการใช้รถพยาบาล (Ambulance) ของโรงพยาบาล โดยต้องมีระบบที่ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อที่ถูกหลักวิชาการ เพื่อแบ่งเบาภาระงาน และเป็นทางเลือกของหน่วยบริการในการรับ-ส่งต่อผู้ป่วยโควิด-19 สำหรับผู้ป่วยไม่มีอาการ หรืออาการเล็กน้อย

หากยกเลิก UCEP COVID ยังรักษาได้ฟรีหรือไม่?

ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวจากทางกระทรวงสาธารณสุข จะปรับให้โรคโควิด-19 เป็น ‘โรคประจำถิ่น’ ไม่อยู่ในสถานะโรคระบาด พร้อมยกเลิกระบบ UCEP COVID แต่ผู้ติดเชื้อในภาวะฉุกเฉินยังคงสามารถเข้ารับการรักษาโควิด-19 ได้ฟรีตามระบบ UCEP แต่หากไม่มีอาการ หรืออาการน้อยแต่อยากเข้าโรงพยาบาลโดยเฉพาะเอกชน ก็จะเหมือนโรคอื่น ที่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง

อย่างไรก็ตามแผนดังกล่าวของทางกระทรวงสาธารณสุขต้องถูกตีตกไป ภายหลังมติประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มอบให้กระทรวงสาธารณสุขทบทวนเรื่องนี้อีกครั้ง ดังนั้น ขณะนี้โรคโควิด-19 จึงยังเป็นโรคฉุกเฉินสามารถรักษาได้ทุกที่ (UCEP COVID) สถานพยาบาลโดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนไม่สามารถปฏิเสธการรับผู้ป่วยได้

ปัจจุบันทางกระทรวงสาธารณสุขได้เพิ่มแนวทางการรักษาสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 โดยการให้บริการแบบผู้ป่วยนอก (OPD) ด้วยความสมัครใจ หรือ “เจอ-แจก-จบ” ที่คลินิกโรคทางเดินหายใจ (ARI Clinic) ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ เพื่อรับการรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้ หากพบผลเป็นบวก แพทย์จะพิจารณาความเสี่ยงและโรคประจำตัว

หากไม่มีความเสี่ยงจะให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอกและกลับไปแยกกักตัวที่บ้าน ซึ่งเป็นไปตามความสมัครใจ โดยได้รับยาตามระดับอาการ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มยาตามอาการ เช่น ลดไข้ แก้ไอ เจ็บคอ ขับเสมหะ เป็นต้น, ยาฟ้าทะลายโจร และยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ และจะติดตามอาการหลังครบ 48 ชั่วโมง

เรียกว่า เจอ-แจก-จบ หมายถึง เมื่อเจอว่าติดเชื้อ จะแจกยา แจกเอกสารให้ความรู้การกักตัวเองที่บ้าน (Self Isolation) ข้อแนะนำการรับประทานยาและผลข้างเคียง และจบด้วยการลงทะเบียนอยู่ในระบบบริการหรือรับไว้ดูแลแบบครบวงจร

ทั้งนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขวางแผนในการบริหารจัดการโรคโควิด-19 ในแนวทางที่กำลังเข้าสู่การเป็น ‘โรคประจำถิ่น’ ซึ่งปัจจุบันเป็นสายพันธุ์โอไมครอนที่มีความรุนแรงน้อย ผู้ติดเชื้อกว่า 95% ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย ต่างจากสายพันธุ์เดลตาที่ผู้ป่วยอาการเปลี่ยนแปลงจากสีเขียวเป็นสีเหลืองได้มาก แต่สายพันธุ์โอมิครอนเบื้องต้นพบว่าอาการเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลือง น้อยกว่า 1%

ข้อสรุปก็คือยังคงใช้ระบบ UCEP COVID ในการรักษาฟรีแก่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 สำหรับผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ สามารถเข้าระบบรักษาแบบ HI หรือ CI , Hotel Isolation, รพ.สนาม และ Hospitel ภายใต้ระบบการรักษาของทางโรงพยาบาลได้ตามปกติ


ข้อมูล

  • www.moph.go.th
  • www.nhso.go.th
  • https://dhes.moph.go.th