คดีค้ามนุษย์ ค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ โรฮิงญา

6 ปี คดีค้ามนุษย์ ‘ชาวโรฮิงญา’ กับความอำมหิตของขบวนมืด

ประเด็นคดีค้ามนุษย์ "โรฮีนจา" ถูกพูดถึงอีกครั้งหลัง รังสิมันต์ โรม ส.ส. พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายทั่วไปถึงคดีดังกล่าว ถึงความไม่ชอบธรรม

Home / TELL / 6 ปี คดีค้ามนุษย์ ‘ชาวโรฮิงญา’ กับความอำมหิตของขบวนมืด

ประเด็นน่าสนใจ

  • ประเด็นคดีค้ามนุษย์ “โรฮีนจา” ถูกพูดถึงอีกครั้งหลัง รังสิมันต์ โรม ส.ส. พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายทั่วไปถึงคดีดังกล่าว ถึงความไม่ชอบธรรม
  • มีการเปิดเผยข้อมูลของทาง พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 และอดีตหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮีนจา จนนำไปสู่การข้อลี้ภัย
  • ตำรวจสรุปคดีค้ามนุษย์ “โรฮีนจา” ผู้ต้องหาในคดีนี้ จำนวน 155 ราย จับกุมตัวได้แล้ว จำนวน 120 ราย เสียชีวิต จำนวน 2 ราย และหลบหนี อยู่ระหว่างติดตามจับกุมเพิ่มเติม จำนวน 33 คน
  • ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกา

ย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 7 ปีที่แล้ว หรือ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2558 ศพผู้เสียชีวิตและศพที่ถูกฝังไว้อย่างอเนจอนาถรวมกว่า 30 ศพ ของ ‘ชาวโรฮิงญา’ ที่ถูกพบบริเวณแคมป์คนงานกลางป่าบนเขาแก้ว ในพื้นที่ หมู่ 8 บ้านตะโล๊ะ ตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ซึ่งข้อมูลจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่า มีการลักลอบนำชาวโรฮิงญามาหลบซ่อนบริเวณค่ายกักกันดังกล่าว เพื่อรอส่งต่อไปยังประเทสที่สาม ซึ่งผู้อยู่เบื้องหลังก็คือ ‘ขบวนการค้ามนุษย์’

ภายหลังจากนั้นไม่กี่วันทางเจ้าหน้าที่ได้ปูพรมตรวจค้นพื้นที่โดยรอบของเทือกเขาแก้ว ซึ่งพบหลุมศพเพิ่มอีกเป็นจำนวนมาก จากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ร้อนไปถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และรัฐบาล คสช. ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

ซึ่งผู้ที่ดำรงตำแหน่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ณ ขณะนั้น นั่นก็คือ พลตำรวจเอกสมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้เซ็นคำสั่งย้ายผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสตูล และ 5 เสือ สภ.ปาดังเบซาร์ รวมทั้งตำรวจตระเวนชายแดน ที่ตั้งอยู่ใกล้พื้นที่ค่ายกักกันดังกล่าว มาช่วยราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

นอกจากนี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจยังพบผู้อยู่เบื้องหลังของกระบวนการดังกล่าว มีความเชื่อมโยงไปถึง ตำรวจ ทหาร ผู้นำท้องถิ่น ข้าราชการ และนักการเมืองท้องถิ่น ทั้งในพื้นที่จังหวัดสงขลาและจังหวัดสตูล จนนำไปสู่การออกหมายจับผู้ต้องหาในขบวนการดังกล่าว

การเข้ามอบตัวของ พลโทมนัส คงแป้น

เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2558 พลโทมนัส คงแป้น ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ กองทัพบก (ยศตำแหน่ง ณ ขณะนั้น) ซึ่งเป็นผู้ต้องหาคนสำคัญในคดีนี้ ได้เดินทางเข้ามอบตัวกับ พลตำรวจเอกสมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ภายหลังถูกออกหมายจับในคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา

ต่อมาทางพลเอกอุดมเดช สีตบุตร ผู้บัญชาการทหารบก ได้ออกคำสั่งพักราชการ พลโทมนัส คงแป้น หลังถูกดำเนินคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา นอกจากนี้ทาง ป.ป.ง. ได้ยึดทรัพย์ในบัญชีอีก 4 ล้านบาท รวมทั้งมีการตรวจสอบเส้นทางการเงินพบว่ามีการโอนเงินเข้าออกหลายครั้งมีเงินหมุนเวียนมากถึง 20-30 ล้านบาท ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับขบวนการค้ามนุษย์ในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง

สำหรับกระบวนการในชั้นศาลพลโทมนัส คงแป้น พร้อมพวกรวม 103 คน ถูกพิจารณาพิพากษาแล้วทั้งในศาลชั้นต้นและศาลชั้นอุทธรณ์ โดยพลโทมนัส ถูกดำเนินคดีค้ามนุษย์และฟอกเงิน ซึ่งศาลได้ตัดสินทั้ง 2 คดีให้จำคุกเป็นเวลา 40 ปี และ 80 ปี ตามลำดับ

อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2564 ทางกรมราชทัณฑ์ได้เปิดเผยว่าพลโทมนัส คงแป้น ได้เสียชีวิต ซึ่งในประเด็นนี้ทางด้านนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ชี้แจงถึงกรณีดังกล่าว โดยเปิดเผยถึงผลชันสูตรจากสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ ได้ระบุสาเหตุการเสียชีวิต ว่า เกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และยืนยันว่าไม่ได้เป็นการเสียชีวิตอย่างปริศนาแต่อย่างใด

รังสิมันต์ โรม ชำแหละคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา ปี 2558

นายรังสิมันต์ โรม ส.ส. พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 ในประเด็นเกี่ยวกับคดีการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาเมื่อปี 2558 กรณี พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 และอดีตหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา ที่ถูกกลั่นแกล้งและถูกขัดขวางในกระบวนการสืบสวนสอบสวน

ซึ่งได้มีการเผยแพร่เอกสารคำให้การ หรือ Statutory Declaration ของ พล.ต.ต.ปวีณ ต่อทางการของประเทศออสเตรเลียเพื่อใช้ในการขอลี้ภัย เป็นกระบวนการตามกฎหมายของออสเตรเลีย ให้การโดยสาบานว่าเป็นความจริง และได้รับการยอมรับจากประเทศปลายทางแล้ว

ข้อมูลในเอกสารคำให้การพบว่า พล.ต.ต.ปวีณ ในขณะทำคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา เมื่อปี 2558 ถูกขัดขวางกระบวนการสืบสวนสอบสวน มีการปิดบังพยานหลักฐานต่าง ๆ แม้กระทั่งการออกหมายจับนายทหารบกเพิ่มอีก 3 นาย ทหารเรืออีก 1 นาย แต่เมื่อรายงานผู้บังคับบัญชา กลับถูกตำหนิและสั่งให้เก็บหมายจับทหารไว้

มิหนำซ้ำ พลตำรวจเอก เอก อังสนานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บังคับบัญชาสายตรงของ พล.ต.ต.ปวีณ ที่รับผิดชอบคดีค้ามนุษย์ กลับถูกย้ายออกนอกสังกัดตำรวจไปเป็นปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่มีคุณสมบัติเป็น แคนดิเดต ขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ลำดับถัดไป ณ เวลานั้น

แม้ทีมงานสืบสวนคดีค้ามนุษย์ของ พล.ต.ต.ปวีณ จะถูกกดดันรอบทิศทาง แต่ก็สามารถสรุปสำนวนและส่งฟ้องศาลได้สำเร็จภายในเวลาอันจำกัด โดยมีเอกสาร 699 แฟ้ม เกือบ 3 แสนแผ่นกระดาษ สามารถออกหมายจับผู้ต้องหาได้ถึง 153 คน

คดีนี้เหมือนจะจบลงด้วยดี แต่…..

ในกระบวนชั้นศาลคดีนี้สามารถพิจารณาไปจนถึงศาลอุทธรณ์ พิพากษาลงโทษไปถึง 75 คน แต่นั้นกลับเป็นจุดเริ่มต้นของความไม่ปลอดภัยในชีวิตของ พล.ต.ต.ปวีณ ซึ่งเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2558 ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน ได้อนุมัติให้ย้าย พล.ต.ต.ปวีณ จากรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ไปรักษาราชการอยู่ที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้

นั้นหมายความว่าเป็นการส่ง พล.ต.ต.ปวีณ กลับไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่เสี่ยงจากขบวนการค้ามนุษย์ ที่สำคัญคือเป็นเขตอิทธิพลของทหารที่ไม่พอใจ และกลุ่มผู้มีอิทธิพลที่เสียผลประโยชน์จากคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา

ภายหลังมีคำสั่งย้าย พล.ต.ต.ปวีณ พยายามขอผู้บังคับบัญชาให้ทบทวนคำสั่งย้าย แต่ก็ไม่เป็นผล ยังคงยืนยันคำสั่งเดิมคือให้ย้ายไปรักษาราชการอยู่ที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ นั้นจึงป็นเหตุทำให้ พล.ต.ต.ปวีณ ยื่นใบลาออกเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 จนนำไปสู่การขอลี้ภัยไปยังประเทศออสเตรเลีย เพื่อความปลอดภัยในชีวิต

เสียงจาก พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์

“นานแล้วกว่า 6 ปี กับอีก 3 เดือน ที่ผมต้องหลบหนีออกนอกประเทศ จากการปฏิบัติหน้าที่ จนถูกกลั่นแกล้งและปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม” คำพูดของ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตหัวหน้าทีมสืบสวนคดีค้ามนุษย์ ที่ต้องลี้ภัยออกจากประเทศไทยไปเมื่อปี 2558

จากเหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้ แม้จะถูกกล่าวหาว่าเป็นการสร้างเรื่องวางแผนเพื่อจะไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ แต่ในความเป็นจริงแล้ว พล.ต.ต.ปวีณ ต้องยื่นเอกสารทำการลี้ภัยไปยังประเทศออสเตรเลีย ต้องมาใช้ชีวิตในต่างแดน อีกทั้งต้องเรียนรู้การใช้ภาษา การหาอาชีพเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในออสเตรเลียให้ได้

ถ้าวันนั้นประเทศไทยมีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และผู้บริหารประเทศทุกระดับมองเห็นผลประโยชน์ของประเทศชาติมากว่านี้ ปล่อยให้กระบวนยุติธรรมดำเนินการไปอย่างเที่ยงตรง ประกอบกับอายุราชการอีก 3 ปี ในช่วงเวลานั้น มั่นใจว่าจะสามารถสาวไปถึงผู้อยู่เบื้องหลังตัวการใหญ่ของขบวนการค้ามุษย์ได้อีกหลายคนอย่างแน่นอน

พร้อมอยากฝากไปถึงเพื่อน พี่น้อง ข้าราชการตำรวจ จะต้องประสบพบเจอระบบการบริหารจัดการที่เลวร้าย ไม่เป็นธรรม เช่นเดียวกับสมัยที่ตนเคยปฏิบัติหน้าที่ข้าราชการอยู่นั้น ซึ่งเชื่อว่า ณ ปัจจุบันนี้ ก็ยังคงไม่มีความแตกต่างจากครั้งนั้นมากหนัก โดยมองว่าอาจจะเลวร้ายกว่าในยุคก่อนเสียอีก

“ขอให้ทุกคนพึงตระหนักในหน้าที่ ที่ทำเพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชนจริง ๆ ไม่ใช่ทำเพื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือ ผู้มีอำนาจ โดยยึดหลักทางกฎหมาย และสิ่งสำคัญที่อยากฝากถึงพี่น้อง ข้าราชการตำรวจ คือ ต้องมีความซื่อสัตย์และเที่ยงตรงต่อวิชาชีพของตนเอง ทุกสิ่งต้องกระทำอยู่ในความถูกต้องของกฎหมาย การสืบสวนสอบสวน การหาพยานหลักฐานต่าง ๆ ต้องได้มาอย่างถูกต้อง ไม่เป็นการกลั่นแกล้งใคร

หากไม่ยึดปฏิบัติสิ่งเหล่านี้ ความน่าเชื่อถือต่อตัวบุคคลและองค์กรตำรวจ ก็จะลดน้อยถอยลงไปเรื่อย ๆ เกียรติยศ ศักดิ์ศรี จะก็ไม่มีคุณค่า”

‘บิ๊กตู่’ ชี้ หาก พล.ต.ต.ปวีณ ไม่ได้รับความเป็นธรรรม ในกลับมาพิสูจน์ความจริง

ภายหลังมีการพูดถึงคดีค้ามนุษย์โรฮิงญาอีกครั้ง รวมถึงการปรากฏข้อมูลของทาง พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 หัวหน้าชุดสืบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮีนจา ไม่ได้รับความเป็นธรรม ทางนายกฯ ได้ให้ความเห็นว่า ก็ขอให้กลับมาประเทศไทย กลับมาต่อสู้ตามกระบวนการกฎหมาย พร้อมยืนยันว่าที่ผ่านมา ไม่เคยบีบหรือบังคับให้ออกนอกประเทศ แต่เป็นการสมัครใจไปเอง

ถ้าหากมั่นใจว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือถูกกลั่นแกล้งในขณะปฏิบัติหน้าที่ ณ เวลานั้น ก็สามารถมายื่นร้องเรียนได้ตามกฎหมาย แต่หากไม่เป็นความจริงก็มีสิทธิ์ที่จะถูกฟ้องกลับได้เช่นกัน

ส่วนกรณีการตั้งข้อสังเกต ว่ามีผู้อยู่เบื้องหลังของพลโทมนัส คงแป้น เพิ่มเติมหรือไม่นั้น มองว่าควรมีหลักการและพยานหลักฐานในการระบุที่ชัดเจนได้ ไม่ใช่การพูดแต่ปากเปล่า ซึ่งคดีนี้ก็มีการตัดสิน และอยู่ในกระบวนการของชั้นศาลอยู่แล้ว

ตำรวจสรุปคดีค้ามนุษย์ ‘โรฮิงญา’ ปี 2558

คดีค้ามนุษย์ “โรฮีนจา” พื้นที่ สภ.ปาดังเบซาร์ จว.สงขลา เมื่อวันที่ 1 พ.ค.58 คดีนี้เป็นคดีที่เป็นความผิดนอกราชอาณาจักร ตาม ป.วิอาญา มาตรา 20 ซึ่งอัยการสูงสุดเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ต่อมาอัยการสูงสุดได้แต่งตั้งพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจและฝ่ายอัยการ เป็นคณะพนักงานสอบสวน ร่วมทำการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน พนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาในข้อหาค้ามนุษย์, อาชญากรรมข้ามชาติ และข้อหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งก่อนหน้านี้พนักงานสอบสวนได้ขอให้ศาลออกหมายจับผู้ต้องหาในคดีนี้ จำนวน 155 ราย จับกุมตัวได้แล้ว จำนวน 120 ราย เสียชีวิต จำนวน 2 ราย และหลบหนี อยู่ระหว่างติดตามจับกุมเพิ่มเติม จำนวน 33 คน ในส่วนของผู้ต้องหาที่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีแล้ว ศาลอาญาและศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไปแล้วหลายราย

ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกา อย่างไรก็ตาม หากท่านใดมีข้อมูลหรือเบาะแสเพิ่มเติมที่เป็นประโยชน์ ที่สามารถนำไปสู่การจับกุมผู้กระทำผิดเพิ่ม ก็ขอได้โปรดแจ้งมาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติขอยืนยันว่าจะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ทุกรายโดยไม่มีละเว้น

อย่างไรก็ตามคดีค้ามนุษย์โรฮิงญาในปี 2558 ถือได้ว่าเป็นคดีประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้ว่าการค้ามนุษย์ในประเทศไทยยังคงมีการถูกจับ ดำเนินคดีกันมาอย่างต่อเนื่อง ตามที่ปรากฏอยู่บนสื่อต่าง ๆ โดยขบวนการเหล่านี้จะไม่สามารถดำเนินการได้หากไม่ได้รับ หรือเปิดทาง จากทางเจ้าหน้าที่รัฐ หน่วยงาน และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการดังกล่าว เพียงเพื่อรับผลประโยชน์ หรือ ‘ส่วย’ ซึ่งไม่ได้มองถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ

ปัญหาเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด มิเช่นนั้นอาจจะไม่ได้รับความเชื่อมั่นจากสังคม รวมถึงนานาประเทศ

“มันคุ้มหรือ…. หากยอมทำที่สิ่งผิด เพียงเพื่อแลกกับ เงิน”


ข้อมูล

  • www.moveforwardparty.org
  • https://www.facebook.com/rangsimanrome
  • สำนักงานตำรวจแห่งชาติ