cryptocurrency move2024 กรมสรรพากร คริปโตเคอร์เรนซี ภาษีคริปโต

‘ภาษีคริปโต’ กับสิ่งที่ต้องรู้สำหรับนักลงทุน

'ภาษีคริปโต' นั้นขณะนี้เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น การจัดประเภทเงินได้ ครอบคลุมกำไร/รายได้จากการโอน/ผลประโยชน์อื่นใดจากสินทรัพย์ดิจิทัล

Home / TELL / ‘ภาษีคริปโต’ กับสิ่งที่ต้องรู้สำหรับนักลงทุน

ประเด็นน่าสนใจ

  • ‘ภาษีคริปโต’ นั้นขณะนี้เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น การจัดประเภทเงินได้ ครอบคลุมกำไร/รายได้จากการโอน/ผลประโยชน์อื่นใดจากสินทรัพย์ดิจิทัล
  • การคำนวณต้นทุนใช้วิธีมาตรฐานการบัญชีรับรอง โดยสามารถทำได้ 2 วิธี คือ วิธีเข้าก่อนออกก่อน (FIFO) หรือวิธีต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average Cost)
  • ในอนาคตทางกรรมสรรพากร เตรียมศึกษาเพิ่มเติม อาทิ การแก้ประมวลรัษฎากรมาตรา 50 ที่เกี่ยวกับภาษีหัก ณ ที่จ่าย

กรณีการจัดเก็บ ‘ภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล’ หรือ ‘ภาษีคริปโต’ นั้นขณะนี้เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น ภายหลังทางกรมสรรพากร ได้เปิดรับฟังมุมมอง ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ จากทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน สำหรับการกำหนดรูปแบบของภาษีเงินได้ ภายใต้กฎหมายปัจจุบัน ทางกรมสรรพากรได้มีแนวทางดังนี้

ทำให้ชัด

  • 1.การจัดประเภทเงินได้ให้ชัดเจน โดยระบุประเภทเงินได้และผลประโยชน์ให้ครอบคลุมกำไร/รายได้จากการโอน/ผลประโยชน์อื่นใดจากสินทรัพย์ดิจิทัล
  • 2. วิธีการคำนวณต้นทุนโดยใช้วิธีมาตรฐานการบัญชีรับรอง โดยสามารถทำได้ 2 วิธี คือ วิธีเข้าก่อนออกก่อน (FIFO) หรือวิธีต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average Cost) โดยสามารถเปลี่ยนวิธีคำนวณในปีถัดไปได้
  • 3.การวัดมูลค่าสินทรัยพ์ดิจิทัล ณ เวลาที่ได้มา หรือราคาถัวเฉลี่ยในวันที่ได้มา

ผ่อนปรน

กรมสรรพากรได้มีแนวทางในการดำเนินการผ่อนปรนหลาย ๆ ประการ ภายใต้กฎหมาย ปัจจุบัน และยังอยู่ภายในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของกรมสรรพากรที่สามารถดำเนินการได้ โดยแบ่งออกเป็นใน เรื่องของภาษีเงินได้ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามรายละเอียด ดังนี้

  • 1. การคำนวณภาษีเงินได้พึงประเมิน (กำไร) นั้น ทางกรมสรรพากรจะดำเนินการเสนอให้มีการออกกฎกระทรวงเพื่อให้สามารถนำผลขาดทุนมาหักกลบกับกำไรได้ในปีภาษีเดียวกัน ซึ่งจะสามารถเข้าเงื่อนไขนี้เฉพาะ ผู้ประกอบธุรกิจ หรือ Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เท่านั้น
  • 2. ภาษีหัก ณ ที่จ่ายนั้น กรณีธุรกรรมที่กระทำผ่าน Exchange ที่อยู่ภายใต้การก ากับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะไม่สามารถระบุตัวตนผู้รับเงิน และไม่ทราบจำนวนเงินได้ที่ต้องหัก ณ ที่จ่าย ทำให้ไม่ครบองค์ประกอบการหักภาษี ณ ที่จ่าย จึงไม่จำเป็นต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แต่อย่างใด
  • 3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรมสรรพากรจะเสนอพระราชกฤษฎีกาให้ยกเว้น VAT สำหรับธุรกรรม
    ที่กระทำผ่าน ผู้ประกอบธุรกิจ หรือ Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสินทรัพย์ดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย

มองอนาคต

กรมสรรพากรจะพิจารณาหารือร่วมกับชุมชนสินทรัพย์ดิจิทัล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาความเป็นไปได้เชิงนโยบายในอนาคต เพื่อแก้ไขกฎหมายที่จำเป็นและเหมาะสม อาทิ การแก้ประมวลรัษฎากรมาตรา 50 ที่เกี่ยวกับภาษีหัก ณ ที่จ่าย โดยให้ผ่าน ผู้ประกอบธุรกิจ หรือ Exchange เป็นผู้หัก และนำส่งกรมสรรพากร

การเปลี่ยนประเภทการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีธุรกิจเฉพาะ (Financial Transaction Tax) สำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีลักษณะเป็นหลักทรัพย์ เป็นต้น ทั้งนี้ต้องดูความเหมาะสมและบริบทต่าง ๆ โดยรอบอีกครั้ง

ภาษีสำหรับคริปโตเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัล

  1. การจำหน่าย จ่าย โอน หรือแลกเปลี่ยนคริปโตเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัล
  2. การขุดคริปโตเคอร์เรนซี
  3. การได้รับคริปโตเคอร์เรนซีเป็นเงินเดือนหรือค่าจ้าง
  4. การได้รับคริปโตเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัลจากการให้ หรือได้รับเป็นรางวัล
  5. ได้รับผลประโยชน์หรือผลตอบแทนจากการถือครอง
    5.1 โทเคนดิจิทัล
    5.2 คริปโตเคอร์เรนซี

>>>วิธีการคำนวณ<<<

ตัวอย่าง : กรณียื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90 (ผ่านอินเทอร์เน็ต)

คริปโตเคอร์เรนซี

หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์โดยมีความประสงค์ที่จะใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าบริการ หรือสิทธิอื่นใด หรือแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัล และให้หมายความรวมถึงหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

โทเคนดิจิทัล

หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบ หรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

  1. กำหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ
  2. กำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการหรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง ทั้งนี้ ตามที่กำหนดใน

ข้อตกลงระหว่างผู้ออกและผู้ถือ และให้หมายความรวมถึงหน่วยแสดงสิทธิอื่นตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต.
ประกาศกำหนด

*อ้างอิงตามพระราชกำหนด การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561

การขุดคริปโตเคอร์เรนซี

Q & A เกี่ยวกับภาษีคริปโต

Q : ทำไมถึงต้องเก็บ ‘ภาษีคริปโต’

A : เดิมเงินได้จากการขายคริปโตเคอร์เรนซี ถือเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากรอยู่แล้ว ดังนั้น ผู้มีกำไรจากการขายคริปโทเคอร์เรนซี จึงมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร

อย่างไรก็ดี พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปลายปี 2561 เป็นเพียงการจัดประเภทเงินได้ใหม่ จากเดิมเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) ไปเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) เพื่อให้สะท้อนลักษณะของเงินได้

เนื่องจากเงินได้จากการขายคริปโตเคอร์เรนซี มีลักษณะเป็นเงินที่ได้รับจากการลงทุน ภายหลังจากออกพ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว กรมสรรพากร ก็ได้ประชาสัมพันธ์ประเด็นนี้มากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้เสียภาษีไม่ได้รับโทษในภายหลังอันเนื่องจากการไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ทางภาษีอย่างถูกต้อง

Q : ใครมีหน้าที่ยื่นแบบภาษีเงินได้จากคริปโตเคอร์เรนซี

A : ผู้มีเงินได้ ดังนี้ 1. เงินได้จากการโอนหรือขายคริปโตเคอร์เรนซี เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน / 2. เงินได้จากการขายคริปโทเคอร์เรนซี ที่ได้จากการขุด / 3. เงินได้จากผลตอบแทนใด ๆ จากการนำคริปโตเคอร์เรนซี ไปหาประโยชน์

Q : การเก็บภาษีจากมูลค่าคริปโตเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล ที่ถืออยู่ หรือต้องเปลี่ยนเป็นเงินบาทก่อน หรือไม่

A : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น เก็บจากผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโตเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล ทั้งนี้ เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน

ดังนั้น หากเป็นถือคริปโตเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลไว้โดยไม่มีการโอนยังไม่ถือว่ามีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ฌ) แห่งประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด

สำหรับการแลกเปลี่ยน คริปโตเคอร์เรนซี เป็นเงินบาท นั้น หากมีเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร (ตัวอย่าง : นำเงินบาทจำนวน 100 บาท ไปซื้อ คริปโตเคอร์เรนซี ได้ 1 เหรียญ ต่อมานำเหรียญดังกล่าวมาแลกเปลี่ยนกลับเป็นเงินบาทได้ 150 บาท ถือเป็น
เงินได้เกินกว่าส่วนที่ลงทุน 50 บาท)

Q : กรณีที่มีกำไรจากการซื้อขาย แต่ไม่ได้ยื่นแบบหรือไม่ได้ระบุในแบบ จะมีโทษอย่างไร

A : กรมสรรพากรมีการตรวจสอบการมีเงินได้ หากผู้มีเงินได้ไม่ยื่นแบบแสดงรายการหรือยื่นแต่เป็นเท็จนั้น
ผู้มีเงินได้ย่อมรับโทษดังนี้

  • กรณีไม่ชำระภาษีภายในกำหนดเวลา จะต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน (เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน) ของเงินภาษีที่ต้องชำระนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการจนถึงวันชำระภาษี
  • กรณีเจ้าพนักงานตรวจสอบออกหมายเรียก และปรากฏว่ามิได้ยื่นแบบแสดงรายการไว้หรือยื่นแบบแสดงรายการไว้แต่ชำระภาษีไม่ครบถ้วน นอกจากจะต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มแล้ว ยังจะต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีก 1 เท่าหรือ 2 เท่าของภาษีที่ต้องชำระแล้วแต่กรณี
  • กรณีไม่ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90, 91 หรือ 94 ภายในกำหนดเวลา ต้องระวางโทษปรับทางอาญาไม่เกิน 2,000 บาท
  • กรณีจงใจ แจ้งข้อความเท็จ หรือแสดงหลักฐานเท็จหรือฉ้อโกง เพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท
  • กรณีเจตนาละเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาทหรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

ข้อมูล : กรมสรรพากร / สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)