move2024 กาลครั้งหนึ่ง ขุนส่า บ้านหินแตก

39 ปี “ยุทธการบ้านหินแตก” ทลายที่มันขุนส่า ราชายาเสพติด

ที่มาที่ไปของปฏิบัติการทลายฐานที่มั่น ขุนส่า ราชายาเสพติดเมือเกือบ 40 ปีก่อน

Home / TELL / 39 ปี “ยุทธการบ้านหินแตก” ทลายที่มันขุนส่า ราชายาเสพติด

ปฏิบัติการลับที่เกิดขึ้นเมื่อราว 40 ปีก่อน ในยุครุ่งเรื่องของขุนส่า ราชายาเสพติดระดับโลก ผู้มีกองกำลังหลายพันนาย และอิทธิพลกว้างขวางไปทั่วพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ นำไปสู่ภารกิจลับนอกประเทศ ของ “นักรบนิรนาม” และ “กองกำลังไม่ทราบฝ่าย” ที่เข้าทำลายโรงงานผลิตเฮโรอีนของขุนส่า และนำไปสู่การเปิดปฏิบัติการเต็มรูปแบบ “ยุทธการบ้านหินแตก” ทำลายฐานที่มั่นหลักของขุนส่า

ท่ามกลางความวุ่นวายของในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ลัทธิคอมมิวนิสต์กำลังแพร่กระจายเข้าสู่ภูมิภาคอินโดจีน ตั้งแต่จีนลงมาจนถึงประเทศลาว – ไทย – เวียดนาม รวมถึงพม่า หรือเมียนมาในปัจจุบัน ส่งผลให้สถานการณ์ในประเทศในแถบนี้ มีความวุ่นวาย จากการสู้รบของกลุ่มต่าง ๆ ในแนวคิดทางการเมืองการปกครองที่ต่างกัน

สามเหลี่ยมทองคำ แหล่งผลิตฝิ่นแหล่งใหญ่

ตั้งแต่ในช่วงปี พ.ศ. 2243 ชาวจีนรู้จักฝิ่น และสูบฝิ่นจากการนำเข้าผ่านทางพ่อค้าชาวโปรตุเกสที่นำฝิ่นมาจากทางแถบเปอร์เซีย อินเดีย ทำให้ฝิ่นในประเทศจีนได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ และแพร่กระจายในภูมิภาคอย่างรวดเร็ว จนทำให้หลายประเทศประกาศ “สงครามฝิ่น” จึงทำให้การปลูกฝิ่นกลายเป็นสิ่งเรื่องต้องห้าม และต้องลักลอบปลูกในพื้นที่ห่างไกล

ความขัดแย้งระหว่าง ขั้วอำนาจเก่า-ใหม่ ในจีน, ลาว จากกระกระจายของลัทธิคอมมิวนิสต์ และการที่พม่า ได้รับเอกราชจากอังกฤษ ก่อให้เกิดการต่อสู้ กองกำลังต่าง ๆ ในสามเหลี่ยมทองคำเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การเพาะปลูกและค้าฝิ่น เฟื่องฟูขึ้นอย่างมากตังแต่ช่วงก่อนปีพ.ศ. 2500

(ภาพ – UNODC)

ฝิ่นกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่ที่สร้างรายได้ให้กับกองกำลังของชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นเงินทุนในการต่อสู้ที่เกิดขึ้น และสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำอย่างมาก ชนเผ่าต่าง ๆ หันมาปลูกฝิ่นกันเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากรายได้ดี ปลูกง่ายกว่าข้าว ทำให้ผลผลิตฝิ่นในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ เพิ่มขึ้นจาก 30 ตัน เป็น 300 – 600 ตัน

สิงโตคู่เหยียบโลก

“เฮโรอีน” เป็นหนึ่งในผลิตที่เกิดขึ้นจากการกรีดเอาน้ำจากจากฝิ่นสุก เป็นวัตถุดิบหลัก ร่วมกับกระบวนการทางเคมี นำไปสู่การสกัดเป็นมอร์ฟีน และสังเคราะห์เป็นเฮโรอีน ตามรายงานการนำเข้าสารเคมีบางชนิดที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตเฮโรอีน ในช่วงปี 2504 พบว่า ประเทสไทยมีการเหล่านี้ เป็นจำนวนหลายแสนกิโลกรัม ทั้งที่ก่อนหน้านั้นอยู่ในระดับเพียงไม่กี่พันกิโลกรัมเท่านั้น และส่วนใหญ่ถูกส่งขึ้นไปยังพื้นที่เชียงราย เชียงใหม่ ก่อนเล็ดลอดออกไปยังโรงงานยาเสพติด

เฮโรอีนที่มีความบริสุทธิ์ต่างกัน

เฮโรอีนในยุคแรก ๆ ที่ผลิตได้นั้น ส่วนใหญ่เป็นเฮโรอีนในเบอร์ 3 บางครั้งถูกเรียกว่า “แป้งเทา” เนื่องจากมีสารแปลกปลอมเจือปนอยู่มาก จากข้อจำกัดในด้านของกระบวนการผลิต-วัตถุดิบต่าง ๆ แต่ในภายหลัง ได้มีการนำนักเคมีจากไต้หวันเข้ามายังโรงงานผลิตในสามเหลี่ยมทองคำ และสามารถผลิตเฮโรอีนเบอร์ 4 ที่เป็นเกรดสูงกว่า มีความบริสุทธิ์มากกว่า และเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก

ในช่วงปี 2524 มีรายงานระบุว่า การผลิตเฮโรอีนในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำนี้ คิดเป็นปริมาณมากกว่าปีละ 30 ตัน และในจำนวนนี้ เกิดขึ้นจากโรงงานผลิตของขุนส่าเป็นส่วนใหญ่ ว่ากันว่าราว 70% ที่ผลิตได้ในสามเหลี่ยมทองคำ คือ “ตราสิงโตคู่เหยียบโลก” จากอิทธิพลของขุนส่า และกองกำลังจำนวนมากในพื้นที่ ทำให้สามารถผลิตได้มาก ขนส่งได้สะดวก

จากการตียี่ห้ออย่างชัดเจน และเฮโรอีนที่ส่งออกไปนั้นมีคุณภาพดี มีความบริสุทธิ์สูง เป็นผงแป้งสีขาว ผงละเอียด ราวกับแป้งทำอาหารที่พบเห็นได้ในปัจจุบัน ทำให้เป็นที่ต้องการจากพ่อค้ายาเสพติดทั่วโลก ในช่วงที่ขุนส่ารุ่งเรืองนั้น คาดการกันว่า เฮโรอีน ราว 1/4 ที่ขายอยู่ทั่วโลกคือ ตรา “สิงโตคู่เหยียบโลก” ของขุนส่านั่นเอง

“ขุนส่า” จึงกลายเป็น ราชายาเสพติดที่หลายประเทศต้องการตัวมากที่สุดคนหนึ่งเลยทีเดียว

เส้นทางการค้าฝิ่น ช่วงปี 2531
(ภาพ – Central Intelligence Agency, United States.)

ก่อนจะเป็นราชายาเสพติด

ขุนส่า มีชื่อภาษาจีนว่า “จาง ซีฟู” เกิดทางตอนเหนือของรัฐฉาน ภายหลังเกิดได้ราว 4 ปี พ่อของขุนส่าก็เสียชีวิตลง ต้องไปอยู่กับปู่ และต่อมา ญี่ปุ่น เข้ายึดพม่าเกิดการต่อสู้ขึ้นไปทั่วประเทศ ขุนส่าจึงต้องออกจากโรงเรียน เข้าร่วมกองกำลังเพื่อต่อสู้กับญี่ปุ่น

ในขณะเดียวกัน กองกำลังพรรคก๊กมินตั๋ง ที่พ่ายสงครามให้พรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ถอยร่นจากทางยูนนานลงมายังบริเวณรัฐฉาน และทำให้เข้ามาพัวพันกับการปลูกฝิ่น เฮโรอีนในพื้นที่บริเวณสามเหลี่ยมทองคำแห่งนี้ ด้วยเหตุที่ต้องต่อสู้กับกองทัพปลดแอกของจีน รวมถึงกองทัพพม่า

ขุนส่า (ภาพ – Stephen Rice)

แม้ว่า ญี่ปุ่นจะยอมแพ้สงคราม และจบการรบกับญี่ปุ่นแล้ว แต่การมาของพรรคก๊กมิตั๋งที่เข้ายึดเมืองลอยมอ ทรัพย์สินของปู่ถูกยึด จึงได้นำกำลังเข้าต่อสู้กับสมาชิกพรรคก๊กมินตั๋ง แม้ว่าจะชนะในการรบ แต่ก็ถูกไล่ล่า จนต้องหลบหนีและซ่อนตัวในเมืองอื่น ๆ ก่อนเข้าร่วมกับ พันเอกหม่อง ฉ่วย ผู้บัญชาการภาคตะวันออกของกองทัพพม่า ในฐานะกองกำลังอาสา ต่อสู้กับพรรคก๊กมินตั๋ง เนื่องจากพม่ามองว่า การมาของกองกำลัง พรรคก๊กมินตั๋งนั้น เป็นภัยคุกคามในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา โดยขุนส่า เข้าร่วมในกองกำลังต่อสู้ แลกกับสิทธิ์ในการค้าในพื้นที่โดยมี ฝิ่นเป็นสินค้าหลัก ของภูมิภาคนี้

จากการกระจายของลัทธิคอมมิวนิสต์ ทำให้สหรัฐฯ มีบทบาทในภูมิภาค กองกำลังของพรรคก๊กมินตั๋งนี้ ได้รับการสนับสนุนจาก CIA เพื่อเป็นแนวรบต่อต้านการขยายอำนาจของลัทธิคอมมิวนิสต์ รวมถึงในสงครามเวียดนาม มีความต้องการในใช้เฮโรอีนมีมากขึ้นจากความต้องการของทหารอเมริกัน ทำให้การค้าฝิ่น-เฮโรอีนมีความต้องการมากขึ้น โดยเฉพาะเฮโรอีนเบอร์ 4 ที่มีความบริสุทธิ์สูง ทำให้มีการนำนักเคมีที่มีความเชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ เพื่อผลิตเฮโรอีนบริสุทธิ์ตามที่ตลาดต้องการ และการค้าฝิ่น-เฮโรอีน จึงกลายเป็นธุรกิจหลักของสามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งผลผลิตฝิ่นในตลาดโลก เกินครึ่งมาจากที่นี่ ในขณะที่นักเคมีกลายเป็นบุคคลสำคัญ ที่มีกองกำลังคุ้มกันเป็นการเฉพาะ และเมื่อใดก็ตามที่มีการปะทะ นักเคมีเหล่านี้ จะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับการคุ้มครองและพาหลบหนี

จากเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่ได้มา ถูกใช้ในการจัดหาอาวุธ ในการสู้รบจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ทั้งจากปัญหาด้านการเมือง ชนชาติ ถิ่นที่อยู่ และเป็นเหตุผลหลักที่หลายกลุ่มอ้างเป็นเหตุผลหนึ่งที่ถูกใช้อ้างถึงความจำเป็นการการผลิตยาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ และนำไปสู่ “สงครามฝิ่น” ในพื้นที่ระหว่างกลุ่มต่าง ๆ

กองกำลัง Shan United Army
(ภาพ – Burma/Myanmar Library)

ขุนส่า เคยถูกทางการพม่าจับกุมตัวไปไว้ที่เรือนจำมัณฑะเลย์ เป็นเวลา 5 ปี ก่อนที่คนสนิทของขุนส่าจับตัวแพทย์ ชาวรัสเซีย 2 คน และใช้เป็นเหตุผลต่อรองแลกตัวเชลย กับการปล่อยขุนส่า ในครั้งนั้น สหรัฐฯ เข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยกับทางการพม่า ผ่านทางการไทย ผลสรุปในครั้งนั้น ทางการพม่าได้ตัดสินใจใช้การกักบริเวณขุนส่า แทนโทษจำคุกแลกกับการปล่อยตัวแพทย์ชาวรัสเซีย

หลังจากกักบริเวณได้ไม่นาน ขุนส่าก็หนีออกมา และก่อตั้งกองกำลัง Shan United Army โดยระบุเป้าหมายว่า เพื่อการปลดปล่อยรัฐฉาน และในครั้งนี้ ขุนส่า ได้แผ่ขยายอิทธิพลไปอย่างมากในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ มากขึ้นทั้งในแง่ของกองกำลัง แนวร่วม จากชนกลุ่มน้อยทั้งภายในและภายนอกประเทศไทย เม็ดเงินที่ได้ส่วนหนึ่งนำมาใช้ในบทบาทของพ่อพระ ที่ช่วยพัฒนาความเจริญในด้านต่าง ๆ ในพื้นที่ที่อาศัยอยู่ด้วย ส่งผลให้ชาวบ้านที่ได้รับประโยชน์กลายเป็นมวลชนที่คอยปกป้องขุนส่าไปในตัว ไม่นับการจ่ายเงินใต้โต๊ะให้กับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็น ไทย ลาว พม่า เพื่อเปิดทางในการขนส่ง ลำเลียงวัตถุดิบและยาเสพติดได้อย่างสะดวกสบาย ในการลำเลียงยาเสพติดและวัตถุดิบต่าง ๆ

เฮโรอีนตรา สิงโตคู่เหยียบโลก
(ภาพ – Australian Federal Police)

ปฏิบัติการลับนอกประเทศ

การพูดคุยหารือในระดับผู้บัญชาการระดับสูง ตั้งแต่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี หลังจากมีการหารือกับต่างประเทศ (ภายหลังข้อมูลระบุว่า เป็นสหรัฐฯ ) ในการจัดการปัญหายาเสพติดในสามเหลี่ยมทองคำ โดยมี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นคนรับคำสั่ง ก่อนประสานกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงในหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กระทรวงการต่างประเทศสภาความมั่นคง ป.ป.ส. ฯลฯ เพื่อหาแนวทางในการดำเนินการ โดยข้อยุติที่ได้ว่า มีทางเดียวที่จะดำเนินการได้คือ “ต้องใช้ปฏิบัติการทางทหาร” เข้าไปแก้ไขที่ต้นตอของปัญหา คือโรงงานผลิตเฮโรอีนในฝั่งประเทศพม่า และฝั่งในประเทศไทย ซึ่งหากปฏิบัติการในประเทศเพียงอย่างเดียว ก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ซึ่งสหรัฐฯ จะมีการสนับสนุนช่วยเหลือในด้านของอาวุธ, อุปการณ์ต่าง ๆ รวมถึงทุนดำเนินการที่ทำเป็นในปฏิบัติการครั้งนี้ ผ่านหน่วยปราบปรามยาเสพติดของสหรัฐฯ หรือ DEA (ไม่นับหน่วยอื่นที่ปฏิบัติการอยู่เบื้องหลัง)

ซึ่งปฏิบัติการในครั้งนี้ ผลการประเมินการดำเนินการนั้น พบว่าการส่งกำลังทหารในลักษณะที่เป็นทางการ หรือการเคลื่อนย้ายกำลังแบบปรกตินั้นเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากเป็นที่ตั้งของโรงงานยาเสพติดอยู่หลายจุดนอกประเทศ และหากมีการเคลื่อนย้ายกำลังพลเข้าพื้นที่ ไม่มีทางที่ขุนส่าจะไม่รู้ จากบรรดาเครือข่ายของขุนส่าที่ได้จ่ายเงินไว้

เมื่อ ข่าวรั่ว” การย้ายโรงงาน วัตถุดิบ นักเคมีหนีไปตั้งโรงงานแห่งใหม่ ก็จะเกิดขึ้นและการสืบสวนก็ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ ดังนั้นข้อสรุปจึงอยู่ที่ “การจัดกองกำลังจู่โจม ชุดพิเศษ ขนาดเล็ก” ลักลอบผ่านแนวของกองกำลังขุนส่าเข้าไปยังพื้นที่เป้าหมาย เพื่อทำภารกิจ

หลังผลการประชุมได้ข้อสรุป กองทัพบก จึงได้รับนโยบายลงมาเพื่อดำเนินการต่อในด้านของการนำกำลังพลที่มีความพร้อม และมีความสามารถ จากหลาย ๆ หน่วย นำมาฝึกในภารกิจลับ และเสี่ยงตายในครั้งนี้ โดยกำลังพลที่มาเข้าร่วมนั้น ไม่มีใครรู้ว่า จะต้องไปสู้กับใคร ที่ไหน อย่างไร และเมื่อไหร่ รู้เพียงว่า เป็นภารกิจที่เสี่ยงตาย ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนก็จะทราบรายละเอียด “เฉพาะ” ที่จำเป็นเท่านั้น

กองกำลังไม่ทราบฝ่าย ทลายรังขุนส่า

ในการดำเนินปฏิบัติงาน ได้มีการจัดเตรียมกองกำลังรบในชุดจู่โจม คัดเลือกและนำมาฝึกอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลาหลายเดือนของการเตรียมตัว มีการฝึกเจ้าหน้าที่ด้านการข่าว เพื่อทำหน้าที่เป็น “สาย” เข้าไปแฝงตัวในพื้นที่ ซึ่งสายที่ส่ง แฝงตัวเข้าไปเก็บรวบรวมข้อมูล ซึ่งสามารถได้รับความไว้วางใจให้ร่วมกับกองกำลังในการขนยาเสพติดอยู่หลายครั้ง สามารถชี้เป้าหมายสำคัญ ๆ ไม่ว่าจะเป็น เส้นทางลำเลียงยาเสพติด โรงงานผลิต จุดกบดานของขุนส่า และกองกำลังคุ้มกัน รวมถึงข้อมูลด้านยุทโธปกรณ์ของกองกำลังขุนส่าอีกด้วย

เมื่อได้ข้อมูลที่จัดเจนแล้ว ก็ได้ส่งชุด หน่วยลับ ชค.514 ออกปฏิบัติภารกิจ ในปลายปี พ.ศ. 2524 โดยมีเป้าหมายคือ “เข้าไปทำลายโรงงานยาเสพติด” ในฐานะ “กองกำลังไม่ทราบฝ่าย” เนื่องจากเป็นปฏิบัติการนอกประเทศไทย ลึกเข้าไปในฝั่งพม่ากว่า 10 กม. จึงไม่สามารถเปิดเผยสังกัด หรือแม้แต่ให้การสนับสนุนใด ๆ อย่างเป็นทางการได้

โดยทั้งหมดขึ้นรถ ออกจากค่ายปักธงชัย ทั้งหมดอยู่ในชุดเหมือนคนทั่วไป มุ่งหน้าสู่จังหวัดเชียงราย โดยไปถึงในช่วงราว 23.00 น. ก็ได้เปลี่ยนชุดออกปฏิบัติการ ข้ามลำน้ำไปยังฝั่งประเทศพม่า มุ่งหน้าโรงงานยาเสพติดของขุนส่า ใช้การเดินทางในช่วงกลางคืน หลบซ่อนตัวในช่วงกลางวัน เพื่อหลบกองกำลังของขุนส่าหลายกองร้อย เข้าสู่พื้นที่เป้าหมาย

ลักษณะของโรงผลิตยาเสพติด
(ภาพ – FB / ตำนานนักรบดำทหารพรานจู่โจมค่ายปักธงชัย)

ตลอดการเดินทางหลายวัน ก็พบกับกองกำลังขุนส่า ที่เป็นยามรักษาการครั้งแรก ซึ่งมีหลบหนีไปได้ 1 ราย ทำให้พื้นที่โรงงานมีการยกระดับการป้องกันเพิ่มขึ้น มีการเคลื่อนย้ายนักเคมีที่ผลิตยาออกไปจากพื้นที่ หน่วยกล้าตายของไทย จึงตัดสินใจกระจายกำลังเข้าตีในช่วงค่ำ ซึ่งผลการปะทะกัน ทำให้โรงงานผลิตเฮโรอีน ถูกเผาทำลายทั้งหมด แม้ว่าจะมีบางส่วนที่ถูกขนย้ายออกไป แต่ก็เชื่อว่า ไม่มากนัก

หลังเสร็จสิ้นภารกิจทำลายโรงงานเรียบร้อย กองกำลังในจุดนี้ถูกตีแตกกระจายออกไป หน่วยทพ.จู่โจมก็ได้ถอนตัวกลับ เมื่อมาถึงบริเวณสันปันน้ำที่ชายแดนไทย-พม่า กองกำลังของขุนส่า ได้วางกำลังดักรออยู่ ด้วยชัยภูมิที่ดีกว่า อยู่บนสันเขา ความชำนาญพื้นที่ รวมถึงจำนวนที่มากกว่า ทำให้ได้เปรียบในการสู้รบในครั้งนี้ และเป็นฝ่ายไล่ล่า หน่วยแซปเปอร์ ทพ.จู่โจม ของไทย ที่ต้องหลบหนีตามลำน้ำแม่คำ ซึ่งในขากลับนี้เอง ที่ทำให้หน่วยทหารของไทย เสียชีวิต 7 นาย และบาดเจ็บอีกหลายนาย โดยเฉพาะ ร.ท. อัครพล จิตรพรหมมา ซึ่งเป็นหัวหน้าชุด ได้เสียชีวิตในภารกิจนี้ด้วย

หลังจากนั้นได้มีการจัดชุด ช.ค. 514 ขึ้นมาใหม่ เป็นชุดปฏิบัติการลับ ย้ายค่ายฝึกจากที่จ.นครราชสีมา ไปยัง ที่ค่ายประตูผา จ.ลำปาง และเป็นหน่วยลับที่ในขณะนั้น ในภารกิจแทรกซึมและทำลายแหล่งผลิตยาเสพติดอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2524 – 2529

กองทัพเมืองไต ในรัฐฉานเมื่อปี 2533 หลังยุทธการบ้านหินแตก
(ภาพ – Patricia W. Elliott)

D-Day : ยุทธการบ้านหินแตก

หลังจากปฏิบัติการของหน่วยกล้าตาย ชค.514 เข้าตีโรงงานได้สำเร็จประสบผลสำเร็จ กองกำลังขุนส่าส่วนหนึ่งกลับมารวมกันที่บ้านหินแตกอีกครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นฐานที่มั่นของกองกำลังขุนส่า ทำให้รัฐบาลไทย ตัดสินใจเปิดปฏิบัติการอีกครั้ง เพื่อจับกุมขนส่า ที่บ้านหินแตก ตำบลแม่คำ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นจุดที่ระบุแน่ชัดจากสายลับที่แฝงตัวเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ว่า ขุนส่าได้มาอาศัยอยู่ในพื้นที่ และครั้งนี้เป็นปฏิบัติการในพื้นที่ของประเทศไทย จึงได้มีการวางแผนปฏิบัติการแบบเต็มรูปแบบ โดยมีการสนธิกำลังจากหลายหน่วยด้วยกัน รวมถึงชุดชค. 514 จากค่ายปักธงชัยด้วย

โดยปฏิบัติการในครั้งนี้ เกิดขึ้นในช่วง 20-29 มกราคม 2525 โดยมีเป้าหมายที่ กองบัญชาการกองกำลัง ซึ่งเป็นบ้านของขุนส่า , ที่ตั้งหน่วยอารักขา, บ้านพักเสนาธิการทางการทหาร, จุดสนับสนุนเช่น ที่ตั้งจุดวิทยุสื่อสาร คลังแสง เป็นต้น

ทพ. ยอดชาย อาจารย์ กับลูกสาวฝาแฝดของขุนส่า ภายหลังภารกิจบ้านหินแตกเสร็จสิ้น ซึ่ง ทพ.ยอดชาย เคยเป็นสายที่แฝงเข้ามาหาข่าว และสนิทกับหนึ่งในภรรยาของขุนส่า รวมถึงลูกสาวฝาแฝดทั้งสองนี้ด้วย
(ภาพ – FB / ตำนานนักรบดำทหารพรานจู่โจมค่ายปักธงชัย)

หน่วยทหารและตชด. ได้กระจายกำลัง ปิดล้อมพื้นที่บ้านหินแตก และมีความพยายามในการเจรจาให้วางอาวุธ และเข้ามอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ ผลการเจรจาไม่เป็นผล กองกำลังขุนส่าได้ใช้อาวุธยิงตอบโต้กลับมาแทนคำตอบ นำไปสู่การใช้กำลังเข้าปะทะ โดยในการปะทะกันนั้น ตชด. ซึ่งเป็นชุดที่เข้าพื้นที่บริเวณด้านหน้าของบ้านหินแตก ได้รับบาดเจ็บหลายนาย และมีรายงานผู้เสียชีวิต จากการปะทะกัน ซึ่งกองกำลังของขุนส่านั้น ถือว่า เป็นกองกำลังที่มีอาวุธสนับสนุนที่ทันสมัย มีทั้ง M-16, AK-47 รวมถึงเครื่องยิงลูกระเบิดต่าง ๆ

นอกจากนี้ สภาพที่ตั้งของบ้านขุนส่า อยู่บนพื้นที่สูง มีความชำนาญในพื้นที่ จึงทำให้ค่อนข้างได้เปรียบในเรื่องการรบในครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม ผลการปฏิบัติงานก็สามารถเข้ายึดพื้นที่เป้าหมายได้สำเร็จ สามารถยึดอาวุธได้เป็นจำนวนมาก กองกำลังของขุนส่าบางส่วนแตกพ่ายและล่าถอยออกไป บางส่วนปะทะกับกองกำลังของชุด ทพ.จู่โจม จากค่ายปักธงชัย ตรึงกำลังอยู่

ทางการไทยได้ตรวจยึดอาวุธต่าง ๆ ได้เป็นจำนวนมาก ทั้ง M-16, M-79, ระเบิดมือ และกระสุนอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งขุนส่า แม้ว่าจะหนีไปได้ แต่ก็มีความเสียหายทั้งในส่วนของฐานที่มั่นหลัก อาวุธ และยาเสพติด รวมถึงวัตถุดิบต่าง ๆ

แต่ก็ยังคงรวบรวมกองกำลัง และยังผลิตยาเสพติดในเวลาต่อมา ส่วนหน่วย ชค. 514 ก็ยังคงเดินหน้าออกปฏิบัติภารกิจต่อเนื่องในหลาย ๆ ครั้งในการเข้าทำลายแหล่งผลิตยาเสพติดของขุนส่า ในฐานะ “นักรบนิรนาม” หรือ “กองกำลังไม่ทราบฝ่าย” รวมถึงภารกิจ

ส่วนกองทัพสหฉาน (Shan United Army) เปลี่ยนชื่อเป็น “กองทัพเมืองไต” และเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสภาปฏิวัติไตย (Tai Revolutionary Council) เมื่อ พ.ศ. 2528

ประเทศไทยหลุดพ้นข้อกังขาแหล่งยาเสพติด

หลังจากปฏิบัติการบ้านหินแตก ทำให้ขุนส่าจึงหนีออกนอกประเทศไปได้ พร้อมกองกำลังบางส่วน ไปตั้งหลักในฝั่งพม่า และยังคงผลิตยาเสพติดส่งออกอย่างต่อเนื่อง และพื้นที่บริเวณสามเหลี่ยมทองคำยังคงถูกใช้เป็นฐานการผลิตยาเสพติดต่อ โดยอ้างความจำเป็นการการจัดหาอาวุธเพื่อต่อสู้กับรัฐบาลพม่า

ผลการปฏิบัติงานทลายแหล่งผลิตยาเสพติด และฐานที่มั่นของขุนส่าในครั้งนั้น ทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยบนเวทีโลกดีขึ้น จากการถูกมองว่า เป็นประเทศต้นทางของยาเสพติดจำนวนมาก และสหรัฐฯ ได้ชื่นชมทางการไทยเป็นอย่างมาก และข้อสงสัยต่าง ๆ ที่ไทยเกี่ยวข้องกับปัญหายาเสพติดไทยหมดไป ทำให้ไทย-สหรัฐฯ มีความสัมพันธ์อันดี และเดินหน้าความร่วมมือด้านต่างตลอดมา

ก่อนที่ในปี พ.ศ. 2532 สหรัฐฯ ออกหมายจับขุนส่า ในฐานลักลอบนำเข้ายาเสพติดเข้าสู่สหรัฐฯ จำนวนกว่า 1,000 ตัน พร้อมทั้งค่าหัวขุนส่า 2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ในปี พ.ศ. 2539 ขุนส่า ประกาศวางอาวุธ มอบตัวต่อรัฐบาลทหารพม่า และสลายกองกำลังทัพเมืองไต โดยในช่วงแรกมีรายงานว่า ขุนส่า ยังคงมีส่วนพัวพันกับการผลิตยาเสพติดบางส่วน ก่อนที่จะมาเสียชีวิตในช่วงปลายปี พ.ศ. 2550 ในวัย 74 ปี

ซึ่งในปัจจุบัน สามเหลี่ยมทองคำ ยังถือว่าเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตฝิ่นและเฮโรอีน ที่ยังคงดำเนินการโดยชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ รวมถึงเครือข่ายคนใกล้ชิดของขุนส่าเดิม ที่ยังคงผลิตยาเสพติดส่งออกไปจำหน่ายทั่วโลกก็ตาม ตามรายงานของ UNODC

ส่วนบ้านหินแตก ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบ้านเทอดไทย และฐานที่มั่นของกองกำลังขุนส่าได้เปลี่ยนพื้นที่พิพิธภัณฑ์ขุนส่า

ในขณะที่ หน่วยเฉพาะกิจ 514 หลังจากภารกิจที่บ้านหินแตกแล้ว ก็ยังคงได้รับหน้าที่ในภารกิจอื่น ๆ อีกหลายครั้ง ล้วนแล้วแต่เป็นภารกิจลับ เพื่อโดยเฉพาะการเข้าทำลายแหล่งผลิตยาเสพติดตามแนวชายแดนไทย และประเทศเพื่อนบ้าน ตั้งแต่เขตพื้นที่อ.แม่สาย จ.เชียงราย ยาวลงไปจนถึงจ.แม่ฮ่องสอน ก่อนที่จะมีการยุบหน่วย ช.ค. 514 ในช่วงต้นปี 2530

ซึ่งหลายคนได้ออกจากราชการ มาประกอบอาชีพต่าง ๆ และกำลังจะถูกลืมไปตามกาลเวลา… แต่ผลงานที่ในปฏิบัติการยังคงอยู่ และเป็นผลงานที่ทำให้นานาประเทศเชื่อว่า ประเทศไทยมีความมุ่งมั่น และมีความจริงใจในการปราบปรามยาเสพติดอย่างจริงจัง โดยมีทหาร-ตำรวจ เป็นผู้เสียสละในภารกิจที่เกิดขึ้น


ที่มา