ญี่ปุ่น โควิด-19 โอมิครอน

โควิด-19 ในญี่ปุ่น จาก 500 สู่ 2 หมื่นราย/วัน หลังโอมิครอนระบาด เกิดอะไรขึ้น

ในระยะเวลาเพียงครึ่งเดือน ยอดผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นราว 50 เท่าตัว

Home / TELL / โควิด-19 ในญี่ปุ่น จาก 500 สู่ 2 หมื่นราย/วัน หลังโอมิครอนระบาด เกิดอะไรขึ้น

ประเด็นน่าสนใจ

  • (อัปเดต – 19 ม.ค.) ล่าสุด ยอดผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศญี่ปุ่น พบเพิ่มอีก 32,197 ราย หรือเพิ่มขึ้นราว 70 เท่าเมื่อเทียบกับยอดเมื่อวันที่ 1ม.ค.
  • ญี่ปุ่นเผชิญการระบาดใหญ่ในระลอกที่ 6 ใหม่ที่มีผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก
  • ยอดผู้ป่วยโควิด-19 จากวันที่ 1 ม.ค. อยู่ที่ราว 400 กว่ารายเท่านั้น
  • ในระยะเวลาเพียง 16 วัน ยอดผู้ป่วยรายใหม่พุ่งสูงขึ้นกว่า 2.5 หมื่นราย
  • สาเหตุจากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน
  • ญี่ปุ่นตั้งข้อสังเกตว่า การระบาดเกิดขึ้นจากการติดเชื้อภายในฐานทัพสหรัฐฯ ในประเทศก่อนระบาดสู่ภายนอก
  • เมื่อมีการเดินทางในช่วงปีใหม่ และสภาพอากาศทำให้เกิดการระบาดในประเทศอย่างต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 ประเทศญี่ปุ่นรายงานยอดผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่จำนวน 456 ราย จากการทั้งยอดผู้ป่วยในประเทศ และผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ แต่หลังจากนั้นเพียง 4 วัน ยอดผู้ป่วยโควิด-19 ขยับเพิ่มขึ้นสู่หลัก พันกว่าราย และ 7 วันหลังจากนั้น พบเพิ่มขึ้นแตะระดับเกือบ 8 พันกว่าราย อีก 7 วันถัดมา ยอดผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ของญี่ปุ่น ก็พุ่งสูงเกิน 25,000 รายอย่างรวดเร็ว

เพียงช่วงเวลา 16 วัน กราฟรายงานผู้ป่วยรายใหม่ของญี่ปุ่น พุ่งสูงขึ้นดั่งหน้าผา เกิดอะไรขึ้น ?

รายงานยอดผู้ป่วยรายใหม่ของญี่ปุ่น (ภาพ – Our World in DATA)

สถานการณ์ก่อนปีใหม่

ในช่วงเดือนสุดท้ายของปี 2564 สถานการณ์ผู้ป่วยรายใหม่ของญี่ปุ่น อยู่ที่ราว 2-3 ร้อยรายต่อวัน อย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ผ่านการระบาดในระลอกที่ 5 ในช่วงระหว่างเดือน กรกฏาคม 2564 และเข้าสู่ช่วงการระบาดสูงที่สุดในช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2564 และค่อย ๆ ลงอย่างต่อเนื่อง จนเหลือราว 200 – 300 ราย ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ต่อเนื่องจนถึงเดือนสุดท้าย

แม้ว่าในช่วงต้นเดือน ธันวาคมที่เริ่มพบการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ในหลายประเทศ และทำให้ญี่ปุ่น ประกาศยกระดับมาตรการป้องกันการระบาดโดยการสั่งยกเลิกการเดินทางเข้าประเทศ เช่นเดียวกับหลาย ๆ ประเทศ

ก่อนที่ในวันที่ 12 ธ.ค. 2564 จะรายงานการพบผู้ป่วยโควิด19 สายพันธุ์โอมิครอน รายแรกในประเทศ ในผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ก่อนที่ในวันที่ 22 ธ.ค. ญี่ปุ่นรายงานการพบผู้ป่วยโควิด-19 สายพันธ์ุโอมิครอน ที่คาดว่าเป็นการติดเชื้อในประเทศเป็นเคสแรก

ในคลัสเตอร์แรกของสายพันธุ์โอมิครอน ในประเทศญี่ปุ่น นี้ พบที่โอซาก้า ซึ่งผู้ป่วยทั้ง 3 รายนี้ “ไม่มีประวัติการเดินทางไปต่างประเทศ ไม่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ”

เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องระบุว่า นี่เป็นสัญญาณของการระบาดในชุมชนแล้ว และไม่สามารถสืบสวนหาที่มาที่ไปได้ ซึ่งสร้างความกังวลให้กับผู้เกี่ยวข้องอย่างมาก เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา ในเคสแรก ๆ ของผู้ป่วยโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในประเทศญี่ปุ่นนั้น เชื่อมโยงกับการเดินทางมาจากต่างประเทศเป็นหลัก และยังสามารถหาความเชื่อมโยงกับเคสต่าง ๆ ได้ชัดเจน หรือพูดง่าย ๆ ตามภาษาในบ้านเราคือ “ยังจำกัดวงได้”

28 ธ.ค. 2564 มีรายงานยืนยันผลตรวจจีโนม ของผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มอีกที่จังหวัด โอกินาวา และผู้ป่วยในโอกินาว่าที่พบนั้น “ไม่มีประวัติการเดินทางไปต่างประเทศ ไม่มีประวัติสัมผัสผู้ติดเชื้อรายใด” ในญี่ปุ่นมาก่อน ยิ่งสร้างความกังวลใจให้กับทางการญี่ปุ่นมากยิ่งขึ้น แต่ประวัติของผู้ป่วยรายนี้ พบว่ามีอาการตั้งแต่ในช่วงราว 20 ธ.ค. และเข้ารับการตรวจหาเชื้อ พบว่า ติดเชื้อโควิด-19 ก่อนที่ผลตรวจสายพันธุ์จะออกตามหลังมาและเป็นสายพันธุ์โอมิครอน

และจากในผู้ป่วยรายนี้เอง ทำให้ทางการญี่ปุ่น ตั้งข้อสังเกตถึงการติดเชื้อโควิด-19 ภายในฐานทัพสหรัฐฯ ในเมืองโอกินาวา มากขึ้น

เริ่มปะติดปะต่อความเชื่อมโยงได้

จากการที่ผู้ป่วยไม่มีประวัติการเดินทาง ไม่มีประวัติสัมผัสเสี่ยงกับผู้ป่วยรายใดที่มีรายงานในญี่ปุ่น แต่พบว่า ผู้ป่วยรายนี้ ทำงานในฐานทัพอากาศคาเดนา ของสหรัฐฯ ในโอกินาวา จึงได้มีการสืบสวนโรคเพิ่มเติมและพบผู้ป่วยโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในจังหวัดเพิ่มเติมอีก 12 ราย และในจำนวนนี้ มี 9 รายที่ทำงานอยู่ในฐานทัพดังกล่าว

รายงานยอดผู้ป่วยโควิด-19 ใน Kadena Airbase ที่หยุดรายงานตั้งแต่ 6 ม.ค. 65
(ข้อมูล/ภาพ – kadena.af.mil)

ซึ่งในขณะเดียวกัน ในฐานทัพแห่งนี้ พบว่า มีทหารสหรัฐฯ จำนวน 277 ราย ที่มีรายงานการป่วยโควิด-19 แต่ไม่มีรายงานที่ชัดเจนว่าเป็นสายพันธุ์ใด

ทางการโอกินาวา เรียกร้องให้กองทัพสหรัฐฯ เปิดเผยรายงานผลตรวจสายพันธุ์ของโควิด-19 ในฐาน แต่ได้รับคำตอบว่า “ไม่มีเครื่องมือที่สามารถตรวจสอบสายพันธุ์ได้” รวมถึงระบุว่า หากจะมีการตรวจสอบสายพันธุ์ ก็จำเป็นจะต้องตรวจสายพันธุ์ ต้องตรวจในสหรัฐฯ หลังจากทางการโอกินาวา เสนอตัวในการตรวจหาสายพันธุ์ให้

นั่นยิ่งทำให้ชาวโอกินาวาเริ่มไม่พอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น เนื่องจากมีรายงานการพบเคสผู้ป่วยโควิด-19 ในฐานทัพสหรัฐฯ ต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ธ.ค. 2564 แต่กลับไม่มีความชัดเจนใด ๆ เกิดขึ้นเลย

ช่องโหว่ของการเดินทางเข้าประเทศ

จะเห็นว่า หลังจากที่มีการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในประเทศแอฟริกา และเริ่มมีการระบาดในประเทศอื่น ๆ ทางการญี่ปุ่นได้ตอบสนองต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ในการยกระดับต่าง ๆ ตั้งแต่ต้น แม้ว่าจะยังคงมีพบเคสที่หลุดเข้ามาอยู่บ้าง แต่ยังคงสามารถจำกัดวง หรือ สอบสวนโรคได้ แต่สถานการณ์ในโอกินาวาต่างไป

เจ้าหน้าที่ของกองทัพสหรัฐฯ รวมถึงทหารสหรัฐฯ ได้รับการยกเว้นมาตรการตรวจ PCR เข้าประเทศญี่ปุ่นมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 ด้วยสาเหตุของ “ข้อตกลงทางการทหาร” ที่กองทัพสหรัฐฯ ในญี่ปุ่น จะไม่อยู่ในข้อกฎหมายของญี่ปุ่น และนั่น ทำให้ทหารสหรัฐฯ ที่เดินทางมาด้วยเครื่องบินของกองทัพ ตรงสู่ฐานทัพอากาศต่าง ๆ ได้โดยตรง และไม่ได้มีมาตรการควบคุมโรคต่าง ๆ เหมือนผู้ที่เดินทางโดยสายการบินพลเรือนแต่อย่างใด

“หากเมืองทรอยแตกด้วยม้าไม้ของชาวโทรจัน, โอกินาวา ก็ไม่ต่างกัน”

ยังไม่นับรวมมาตรการควบคุมโรคที่ไม่ได้เป็นไปตามที่ทางการญี่ปุ่นต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการกักตัว การสวมหน้ากากอนามัย เป็นต้น

(ภาพ – @suzm4film)

สถานการณ์หลังปีใหม่

หลังจากนั้นยอดผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศญี่ปุ่นก็เริ่มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในวันที่ 4 ม.ค.2565 ญี่ปุ่นรายงานยอดผู้ป่วย 1,149 ราย และ ในวันที่ 7 ม.ค. 65 พบเพิ่ม 6,070 ราย เกิน 6 พันรายเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน และหลายฝ่ายระบุว่า ญี่ปุ่นกำลังเผชิญการระบาดในระลอกที่ 6 และคาดว่า ในเดือน มีนาคม 2565 จะมีผู้ป่วยโควิด-19 สูงเกิน 2.5 หมื่นรายต่อวัน

และนั่นทำให้ทางการญี่ปุ่น ประกาศภาวะกึ่งฉุกเฉินใน 3 จังหวัด คือ โอกินาว่า ยามากุจิ และฮิโรชิม่า ซึ่งทั้ง 3 จังหวัดมีแนวโน้มการพบผู้ป่วยที่เพิ่มสูงขึ้น และเป็นพื้นที่ที่มี ฐานทัพสหรัฐฯ ตั้งอยู่อีกด้วย

หลังจากนั้นในวันที่ 12 ม.ค. 2564 ญี่ปุ่นรายงานยอดผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 13,044 ราย ทะลุหมื่นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 2564 และถัดมาอีก 2 วัน 14 ม.ค. 65 ญี่ปุ่นพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มทะลุ 2 หมื่นราย ถัดมาในวันที่ 15 และ 16 ม.ค. 65 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยเกิน 25,000 ราย และรายงานล่าสุด 17 ม.ค. ยังคงอยู่ที่ 2 หมื่นกว่าราย เร็วกว่าที่คาดไว้อย่างมาก

สาเหตุของการพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น มีการคาดการณ์ว่า สาเหตุหลักคือ การเดินทางในช่วงปีใหม่ ที่มีเทศกาลวันหยุดที่ชาวญี่ปุ่นจำนวนมาก เดินทางไปยังที่ต่าง ๆ มากขึ้น และเกิดการแพร่กระจายเชื้อจากการเดินทางนี้ ไปทั่วญี่ปุ่น

ซึ่งรายงานของทางการญี่ปุ่นระบุว่า ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม 2565 ผู้ป่วยโควิด-19 กว่า 70% ในเมืองโอกินาว่านั้นเป็น “สายพันธุ์โอมิครอน” เป็นหลัก และกว่า 90% ที่พบเป็นผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเบา

หิมะตกในประเทศญี่ปุ่น (ภาพ – Sora Sagano)

ในขณะที่เมืองโอซาก้า ก็ใกล้เคียงกัน โดยพบผู้ป่วยโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนราว 60% ของผู้ป่วยโควิด-19 ในขณะที่โตเกียวพบเพียง 34% เท่านั้น

ซึ่งจากการติดเชื้อและไม่มีอาการ ร่วมกับการเดินทาง มีการพบปะกันในช่วงปีใหม่ จึงทำให้ยอดผู้ป่วยโควิด-19 ในญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอีกหนึ่งเหตุผลคือ ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ประเทศญี่ปุ่นมีสภาพอากาศที่หนาวเย็นในช่วงที่ผ่านมา ผู้คนส่วนใหญ่จึงไปรวมตัวกันในพื้นที่ในร่ม ในอาคารเป็นส่วนใหญ่ จึงกลายเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการระบาดอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาอันสั้น

สถานการณ์ปัจจุบัน และอนาคต

จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ในญี่ปุ่นที่มีรายงานในวันนี้ (18 ม.ค. 2565) ยอดผู้ป่วยรายใหม่อยู่ที่ 20,991 ราย ซึ่งในหลายจังหวัดของญี่ปุ่น แนวโน้มการระบาดเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ “พุ่ง” สูงขึ้นต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงหลังปีใหม่ที่ผ่านมา และไม่ต่างจากภาพรวมของประเทศญี่ปุ่นเท่าใดนัก

ซึ่งยอดล่าสุด อย่างไม่เป็นทางการ คาดว่า จังหวัดโอกินาว่าจะมีผู้ป่วยเพิ่มในวันนี้ สูงกว่า 6,000 ราย และในขณะนี้ ยังคงไม่มีแนวโน้มของการชะลอตัว จึงคาดว่า ญี่ปุ่น น่าจะยังต้องเผชิญการระบาดอย่างต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง จนกว่าจะเห็นสัญญาณของการชะลอตัว

แนวทางในขณะนี้ มีแนวโน้มว่า รัฐบาลญี่ปุ่นจะมีการประกาศ “ภาวะกึ่งฉุกเฉิน” เพิ่มขึ้นอีกในหลายจังหวัด จากสถานการณ์ที่มีผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น เช่นในโตเกียว ไซตามะ ชิบะ คานากาวา กิฟู เป็นต้น

นอกจากนี้ ก็น่าจะการปรับมาตรการโดยในการให้ร้านอาหาร บาร์ ลดเวลาในการให้บริการลงไปอีก และให้มีการหยุดการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน ส่วนเรื่องของการเดินทางข้ามจังหวัดก็คาคว่า จะมีการจำกัดการเดินทางเพิ่มด้วยเช่นกัน

จุดต่างที่เกิดขึ้นระหว่างไทย – ญี่ปุ่น

สถานการณ์ในประเทศญี่ปุ่น กับไทย หากมองภาพในจำนวนของตัวเลขที่เกิดขึ้นนั้น มีสถานการณ์ใกล้เคียงกัน เกิดขึ้นในช่วงส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ เช่นกัน แต่ทำไม ยอดจึงต่างกันมากขนาดนั้น มีปัจจัยอะไรบ้าง

การจำกัดวง

การระบาดในบ้านเราที่มีการพบเชื้อ ในช่วงคลัสเตอร์ต่าง ๆ เช่นที่ อุบลฯ ขอนแก่นฯ มหาสารคาม หรือที่ พัทยา สิ่งหนึ่งที่พบคือ ในประเทศไทยยังคงสามารถจำกัดวง หรือ ติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูง – ผู้สัมผัสใกล้ชิดร่วมบ้านกับผู้ป่วยได้ แม้ว่าผู้ป่วยจะไม่มีอาการก็ตาม

ในขณะที่ญี่ปุ่น ในช่วงปลายปีที่พบ สิ่งที่เกิดขึ้นต่างไปคือ “การพบเคสที่สอบสวนโรคหาความเชื่อมโยงไม่ได้” และเมื่อไม่สามารถเชื่อมโยงได้ว่า การติดเชื้อเกิดขึ้นจากจุดใด หรือสถานที่ใด ก็จะทำให้การ “จำกัดวง” ของการระบาดทำได้ยากมาก เนื่องจากไม่รู้ว่า จะสั่งกักตัวใคร หรือ ออกประกาศว่า สถานที่ใดเป็นสถานที่เสี่ยง

ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการ

จากที่ได้กล่าวไปแล้วว่า จำนวนผู้ป่วยส่วนใหญ่ในสายพันธุ์โอมิครอนส่วนใหญ่ไม่มีอาการ นั่นยิ่งทำให้ “ผู้ป่วย” ไม่ทราบว่า ตนเองติดเชื้อแล้ว เมื่อไม่มีความเชื่อมโยงกับผู้ป่วยรายใด หรือไม่ทราบพื้นที่เสี่ยงการติดเชื้อ จึงทำให้หลายคนไม่ได้ระมัดระวังเท่าที่ควร และไม่ทราบว่าตนเองป่วย จึงไม่ได้แยกกักตัว

การเดินทางและวันหยุดยาว

ในจุดนี้ก็มีสภาพไม่ต่างกันกับประเทศไทย ที่มีการเดินทางไปมาหาสู่กัน ในช่วงวันหยุดปีใหม่ที่เกิดขึ้น แต่เป็นส่วนที่ได้รับการเสริม หรือกระตุ้นจากปัจจัยอื่น ๆ นั่นคือ สภาพอากาศ

สภาพอากาศที่เอื้อต่อการรวมกลุ่ม

ญี่ปุ่นในช่วงที่ผ่านมา เผชิญสภาพอากาศหนาวเย็น หลายพื้นที่มีหิมะตก ทำให้การออกไปใช้ชีวิตภายนอกบ้านมีน้อยลง ผู้คนส่วนใหญ่เมื่อเดินทาง และมีวันหยุดยาว ก็จึงไปมาหาสู่กัน และใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในห้อง

ดังนั้น เมื่อการเดินทาง วันหยุด และมาอยู่ร่วมกันในพื้นที่ปิดเป็นเวลานาน ยิ่งทำให้เชื้อโควิด-19 ในสายพันธุ์โอมิครอนที่สามารถแพร่เชื้อได้ง่าย จากการที่เชื้อส่วนใหญอยู่ในระบบทางเดินหายใจส่วนต้น สามารถแพร่กระจายต่อไปยังผู้ที่อยู่ร่วมห้องนั้นได้ง่ายขึ้น

ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า แม้ว่าจะเกิดขึ้นพร้อมกัน แต่สถานการณ์และปัจจัยต่าง ๆ ในรายละเอียดมีความต่างกันพอสมควร และทำให้จำนวนยอดผู้ติดเชื้อต่างกันได้นั่นเอง