“วัคซีนที่หมดอายุแล้ว แม้ว่าจะบอกว่ามันใช้ได้ แต่นั่นไม่ได้ช่วยอะไรเลย ในความเป็นจริงไม่ต่างจากการนำของเหลือไปบริจาค”
– ดร. Ayoade Alakija ผู้ประสานงานการจัดส่งวัคซีนในแอฟริกา
…
ตลอดเวลาปีกว่าที่ผ่านมา ชื่อของ COVAX เป็นที่คุ้นหูของคนไทยและคนทั่วโลกอีกจำนวนไม่น้อย กับโครงการความร่วมมือเพื่อให้ประเทศที่มีรายได้น้อย สามารถเข้าถึงวัคซีนได้มากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายในช่วงองการเปิดโครงการเมื่อปี 2020 โดยระบุว่า จะจัดหาและกระจายวัคซีนให้ได้ 2 พันล้านโดสในปี 2021 โดยจะเน้นจัดส่งวัคซีนไปยังประเทศที่มีรายได้น้อยให้ได้ 1.3 พันล้านโดส ใน 92 ประเทศ
แต่สุดท้ายสิ้นปีรายงานอย่างเป็นทางการ ณวันที่ 14 ธ.ค. ได้มีการจัดส่งวัคซีนไปแล้วราว 635 ล้านโดส มีบางส่วนที่อยู่ในระหว่างการเตรียมส่งมอบอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งคาดว่าจะสามารถส่งได้เพิ่มเติมในโค้งสุดท้ายของปีอีกส่วนหนึ่ง รวมแล้วราว 900 ล้านโดส
ซึ่งในรายงานล่าสุด ( 15 ม.ค. 2565) องค์การอนามัยโลกระบุว่า ได้มีการจัดส่งวัคซีนป้องกันโควิด-19 ผ่านโครงการ COVAX นี้แล้ว ครบ 1 พันล้านโดส ใน 144 ประเทศทั่วโลก
…
ประเทศรายได้ต่ำยังเข้าวัคซีนต่ำกว่า 20%
ซึ่งในรายงานถึงสิ้นปี 2021 จะเห็นว่า COVAX พลาดเป้าหมายในการจัดส่งไปจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ค่อนข้างมากทีเดียว โดยรายงานในขณะนี้พบว่า ประชากรกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำ จำนวน 100 คน จะมีผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วไม่ถึง 20 คนเท่านั้น
ส่วนในประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง ประชาชนจำนวน 80 กว่าคนจาก 100 คน เข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้ว
ซึ่งเมื่อดูเป็นรายประเทศแล้วจะเห็นว่า ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ของทวีปแอฟิกาเป็นกลุ่มที่ได้รับโอกาสในการเข้าถึงถึงได้น้อยมาก ในขณะที่ประเทศในกลุ่มร่ำรวย หรือมีรายได้สูง ประชาชนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงวัคซีนกระตุ้นในโดสที่ 3 แล้วในอัตราที่ค่อนข้างสูงอย่างมาก
ดังนั้นหากคิดอย่างง่าย ๆ จะพบว่า COVAX สามารถจัดส่งวัคซีนและกระจายวัคซีนได้ไม่ถึง 20% จากเป้าหมายที่ตั้งไว้คือ 70% ในกลุ่มประเทศที่ที่มีรายได้ต่ำ
ในขณะที่กลุ่มประเทศในแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ไม่ต่างกัน โดยในขณะนี้ ส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนในปริมาณราว 20% ของจำนวนประชากรในประเทศเท่านั้น ซึ่งหลายประเทศยังคงจำเป็นต้องจัดหาวัคซีนจากแหล่งอื่นมาชดเชยในส่วนที่ยังคงไม่ได้รับตามจำนวนโควต้าที่ตั้งไว้
…
[EDITOR NOTE]
- โครงการ COVAX นั้นมีการแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มประเทศ คือ
- Self-financing participant (SFP)
กลุ่มนี้จะเป็นการ “สั่งซื้อ” วัคซีนผ่าน COVAX - Advance Market Commitment (AMC)
กลุ่มนี้จะเป็นการ “สั่งจอง” วัคซีนกับทาง COVAX
- Self-financing participant (SFP)
- ซึ่งกลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อยส่วนใหญ่จะจัดอยู่ใน AMC โดยได้รับสนับสนุนเงินทุนในการจัดหาวัคซีนตามที่สั่งจองไว้ให้
- กลุ่ม SFP คือกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูงกว่าจะต้องจ่ายเงินสนับสนุนในการจัดหาวัคซีน
- ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ มีประเทศที่อยู่ในกลุ่ม SFP คือ บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์
- ส่วนไทยนั้นถูกจัดอยู่ในกลุ่ม SFP ที่จะต้องสั่งซื้อ จึงไม่ได้มีการเข้าร่วมโครงการ
เมื่อโลกไม่ได้สวยงามอย่างที่คิด
โครงการ COVAX ตั้งขึ้นเพื่อระดมเงินทุน และวัคซีนในการกระจายให้กับประเทศที่มีรายได้ต่ำ หรือให้ประเทศที่มีรายได้สูงกว่าเข้าร่วมโครงการโดยเป็นการสั่งซื้อวัคซีน ซึ่งหากมองย้อนกลับไป ปัญหาเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ปีแรกของการก่อตั้งคือ 2020
โครงการ COVAX ตั้งเป้าในการรับบริจาคเงินทุนในการจัดซื้อ-จัดหาวัคซีนมูลค่ามากกว่า 2.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ในขณะเดียวกัน สิ้นปี 2020 โครงการมีเงินสดหมุนใช้จ่ายในการจัดหาวัคซีนไม่ถึง 1 พันล้านเหรียญ ซึ่งหลายฝ่ายระบุว่า ตัวเลขจริง ๆ อาจจะอยู่ที่ราว ๆ 400 ล้านเหรียญเท่านั้น
ถ้าได้เงินตามเป้าจะสำเร็จหรือไม่?
คำตอบคือ “ไม่” ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โลกไม่ได้สวยงามอย่างที่ COVAX ประเมินไว้ แม้ว่าจะสามารถจัดหาเงินทุนได้เพียงพอ แต่การ “จัดหาวัคซีนจริง ๆ ” นั้นยากกว่า เมื่อหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศที่เป็นผู้ผลิต ผู้ลงทุน ต่างจัดสรรโควต้าวัคซีนไปก่อนแล้วทั้งสิ้น ท่ามกลางปริมาณวัคซีนที่ยังมีไม่มากนัก โดยเฉพาะวัคซีนในกลุ่มแรกอย่าง mRNA ที่ถูกจองเต็มยาวเหยียด ตั้งแต่สารตั้งต้นยังไม่ทันถึงโรงงาน
ทำให้ในช่วงต้นปี 2021 ที่ผ่านมา วัคซีนป้องกันโควิด-19 ในกลุ่ม mRNA ในโครงการนี้จึงเป็นเสมือนด “ยอดในกระดาษ” เท่านั้น วัคซีนอย่าง AstraZeneca ที่ดูจะเป็นความหวังในการที่ COVAX จะได้วัคซีนเพิ่มขึ้น
แต่นั่นก็เป็นเพียงความหวังเพียงไม่นาน หลังจากที่โควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าเกิดการระบาดในอินเดีย และยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้อินเดีย “จำเป็น” ที่จะต้องสั่งระงับการส่งวัคซีนเข้าสู่โครงการ และนั้นหมายถึงวัคซีนมากกว่า 300 ล้านโดสในโครงการของโคแวกซ์หายไปในทันที ที่รัฐบาลอินเดียประกาศคำสั่งออกมา ไม่นับที่มีในส่วนที่มีการจัดส่งล่าช้าในช่วงเดือน มี.ค. – เม.ย. 64
ทำให้วัคซีนหลัก ๆ อย่าง AstraZeneca ในโครงการต้องมีการปรับแผนการจัดหา – จัดส่งใหม่อีกครั้งต่อเนื่อง จนกระทั่งในช่วงเดือน ต.ค. 2564 ที่อินเดียกลับมาส่งออกวัคซีนเข้าโครงการนี้อีกครั้ง
ในช่วงครึ่งปีหลัง ของปี 2564 มีการเพิ่มโรงงานผลิต-บรรจุขวดของวัคซีนในกลุ่ม mRNA มีเพิ่มขึ้น วัคซีนบางส่วนที่หลายประเทศจัดหาไว้ เริ่มมีของในคลังมากขึ้น ทำให้การบริจาคจากประเทศต่าง ๆ เข้าสู่โครงการมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคโดยตรงผ่านโครงการ หรือส่งวัคซีนให้กับโครงการเป็นผู้ประจายต่อ และทางโคแว็กซ์เองก็ได้มีการนำวัคซีนเชื้อตายอย่าง Sinopharm, Sinovac มาเข้าร่วมโครงการด้วย ก็ทำให้สถานการณ์การกระจายวัคซีนเริ่มดีขึ้นต่อเนื่องตามลำดับ
ปลายทางก็มีปัญหา รับ-จัดเก็บ-กระจาย-ทำลายทิ้ง
แน่นอนว่า เมื่อมีวัคซีนมากขึ้น มีการกระจายมากขึ้น นั่นทำให้หลายประเทศในกลุ่ม ได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้น แต่นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของปัญหาที่เกิดขึ้นอีกครั้ง จนทำให้วัคซีนจำนวนมากต้องถูกทิ้งไปอย่างไร้มูลค่า
ปัญหาการกระจายและจัดเก็บ
วัคซีนที่มีนั้นมีความจำเป็นต้องดำเนินการจัดเก็บในที่เย็นตลอดการจัดส่งและการเก็บรักษาก่อนที่จะถูกนำมาใช้งาน ซึ่งหลายประเทศเป็นเรื่องยากทีเดียว ทำให้วัคซีนบางส่วนเสียไประหว่างการจัดส่ง หรือการเก็บรักษา แต่นั่นก็เป็นเพียงบางส่วน
ติดต่อไม่ได้
ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลต้าในช่วงกลางปีที่ผ่านมา มีหลายประเทศระบุว่า ไม่สามารถติดต่อผู้ประสานงานในโครงการ COVAX ได้ เช่น อุรุกวัย ที่เคยพูดถึงประเด็นการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานของ COVAX ไม่ได้ในช่วงก่อนหน้านี้
วัคซีนใกล้หมดอายุ
ในหลายประเทศมีการรายงานว่า วัคซีนที่ได้รับ เป็นวัคซีนที่มีอายุเหลือไม่มากพอที่จะสามารถกระจายและจัดส่งได้ทันก่อนที่มันจะหมดอายุ จากการจัดส่งที่ล่าช้า และกระชั้นชิดอย่างมาก เมื่อได้รับก็พบว่า ใกล้หมดอายุแล้ว กลายเป็นปัญหาใหญ่มาในระยะหลัง
ที่ผ่านมา แม้ว่าในขณะนี้ยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนที่จัดเจน คาดว่ามีวัคซีนหลักล้านโดสที่ถูกนำไปฝังกลบเหลือเผาทำลาย เนื่องจากหมดอายุ เช่น กรณีวัคซีนของ AstraZeneca ในล็อตเดือน เมษายน 2564 ที่มีรายงานการหมดอายุ และถูกเผาทำลาย
- มาลาวี เผาทำลายจำนวนเกือบ 2 หมื่นโดส
- ซูดาน เผาทำลายวัคซีนเกือบ 6 หมื่นโดส
เหลือที่มีรายงานในประเทศไนจีเรีย ที่ฝั่งกลบวัคซีนนับล้านโดส ด้วยเหตุผลเดียวกัน บางประเทศในแอฟริกา เลือกที่จะส่งต่อวัคซีนที่ใกล้หมดอายุเหล่านั้น ไปยังเพื่อนบ้าน เพื่อให้ช่วยเร่งระดมกันฉีด “ก่อนที่มันจะหมดอายุ” แต่ก็ทำได้เพียงบางส่วน เนื่องจากต้องไม่ลืมว่า วัคซีนจะต้องมีเข็มที่ 2 และหากเข็มที่สอง ไม่มาจะต้องทำอย่างไร กลายเป็นปัญหาต่อเนื่องกับการจัดสรรวัคซีนในอนาคต
สาเหตุหนึ่งคือ วัคซีนที่บริจาคมานั้นอยู่ในสถานะ “ใกล้หมดอายุ” ซึ่งประเทศที่รายได้สูงและมีการสต็อควัคซีนไว้มาก ๆ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร แคนาดา อิสราเอล เยอรมนี ล้วนแล้วแต่มีรายงานการทิ้งวัคซีนที่หมดอายุเหล่านี้แล้วทั้งสิ้น ในช่วงกลางปี 2564
(ที่มา – How the world is (not) handling surplus doses and expiring vaccines)
ทำให้บางส่วนจึงมีการระบายสต็อกออกมาบริจาคไปยังหลายประเทศ และเมื่อมาถึงปลายทางที่ก็ต้องเผชิญปัญหาการจัดเก็บ กระจายวัคซีนที่กล่าวก่อนหน้านี้
“เฉพาะในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา หลายประเทศปฏิเสธการรับแล้ววัคซีนมากกว่า 100 ล้านโดส”
เอเตวา กาดิลลี ผู้อำนวยการฝ่ายจัดหาของหน่วยงานยูนิเซฟขององค์การสหประชาชาติ ได้กล่าวถึงกรณีการที่ประเทศรายได้ต่ำเหล่านี้ “ปฏิเสธ” การรับวัคซีน เนื่องจากวัคซีนที่ถูกจัดส่งไปนั้นมีอายุที่เหลือไม่มากพอที่จะเก็บไว้ใช้งานได้ทัน วัคซีนจำนวนไม่น้อยถูกระบุว่า “เหลืออายุเพียงไม่กี่สัปดาห์” ก็จะหมดอายุแล้ว รวมถึงการเร่งการจัดส่งในช่วงปลายปีที่เกิดขึ้น ทำให้ประเทศผู้รับวัคซีน ไม่สามารถจัดหาสถานที่ในการจัดเก็บได้เพียงพอ
เมื่อปัญหาทั้งอายุการใช้งาน และการจัดเก็บมารวมกัน หลายประเทศจึงมองว่า การรับมากำลังจะกลายเป็น “ภาระ” ที่จะต้องทำลายทิ้ง มากกว่าได้ใช้งานจริง จึงเลือกเหตุผลที่จะไม่รับดีกว่า
ในขณะเดียวกัน หลายฝ่าย รวมถึง GAVI ระบุว่า วัคซีนที่ส่งมอบไปนั้นสามารถจัดเก็บได้หลายเดือน รวมถึงสามารถยืดอายุได้อีกระยะหนึ่งด้วย
“วัคซีนที่หมดอายุแล้ว แม้ว่าจะบอกว่ามันใช้ได้ แต่นั่นไม่ได้ช่วยอะไรเลย ในความเป็นจริงไม่ต่างจากการนำของเหลือไปบริจาค”
ดร. Ayoade Alakija ผู้ประสานงานการจัดส่งวัคซีนในแอฟริกา กล่าวกับสำนักข่าวเทเลกราฟ
…
ปัญหายังคงอยู่ , COVAX ก็เช่นกัน
แม้ว่าในไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 ที่ผ่านมา โครงการ COVAX จะสามารถจัดส่งวัคซีนให้กับประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มได้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามปัญหายังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังคงมีแนวโน้มไม่ต่างจากเดินมากนักในไตรมาสแรกของปี 2565 นี้
ท่ามกลางสถานการณ์การเร่งฉีดวัคซีนในเข็มกระตุ้น ของหลายประเทศ ที่มีการเข้าถึงวัคซีนได้เกือบ 70% ของจำนวนประชากรไปแล้ว แต่ประเทศในกลุ่มรายได้ต่ำ ยังคงรอวัคซีนอยู่อีกเป็นจำนวนมาก และการจัดส่ง “วัคซีนที่มีอายุสั้น” เหล่านี้ ก็ยังคงเป็นปัญหาต่อไป
เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ในสายพันธุ์โอมิครอน และความต้องการวัคซีนโดยเฉพาะในกลุ่ม mRNA มีเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง
แต่ความสำคัญของโครงการ COVAX ยังคงถือเป็นโครงการที่สำคัญ และเป็นความหวังสำหรับการเข้าถึงวัคซีนในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำ เพื่อเดินหน้าหาทางออกจากปัญหาเหล่านี้
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายมองว่า หาก COVAX จะจัดการปัญหาเหล่านี้ เพียงการระดมทุน หรือการมีเงิน คงไม่เพียงพอที่จะต่อรองกับประเทศผู้ผลิต-ผู้ลงทุนได้ ดังนั้น COVAX จำเป็นจะต้องมีผู้สนับสนุนที่มีพลังบนเวที “การเมืองระหว่างประเทศ” เพิ่มมากกว่านี้ เพื่อที่จะพอต่อรองวัคซีนให้ได้มากกว่านี้ และสามารถนำวัคซีนที่เพิ่งออกจากโรงงานผลิตมาจัดส่งได้ง่ายขึ้น
มากกว่าจะเป็นวัคซีนจากโกดังในประเทศไหนสักประเทศที่กำลังจะหมดอายุ
…
ข้อมูล :
- https://www.gavi.org/sites/default/files/covid/covax/COVAX-Supply-Forecast.pdf
- https://www.gavi.org/sites/default/files/covid/covax/Gavi-COVAX-sitrep13-20211214.pdf
- https://www.unicef.org/press-releases/covax-joint-statement-call-action-equip-covax-deliver-2-billion-doses-2021-0
- https://www.who.int/news/item/23-12-2021-achieving-70-covid-19-immunization-coverage-by-mid-2022
- https://www.bmj.com/content/374/bmj.n2062