move2024 ประเทศตองกา ภูเขาไฟใต้น้ำระเบิด เกาะฮังกา ตองกา

ครบ 7 ปี เกาะฮังกา ตองกาฯ จากการกำเนิดสู่การระเบิดครั้งใหญ่ และสึนามิ

เกาะแห่งนี้เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ 16 ม.ค. 2015 และนับตั้งแต่วันนั้นเป็นเวลา 7 ปีเต็ม สู่การระเบิดครั้งใหญ่

Home / TELL / ครบ 7 ปี เกาะฮังกา ตองกาฯ จากการกำเนิดสู่การระเบิดครั้งใหญ่ และสึนามิ

ประเด็นที่น่าสนใจ

  • เกาะฮังกา ตองกาฯ ที่ปะทุขึ้นและกลายเป็นสึนามิพัดถล่มประเทศตองกานั้น เป็นเกาะที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 16 ม.ค. 2015 หรือเมื่อ 7 ปีก่อนนี่เอง
  • การระเบิดที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น ทำให้เกิดเกาะแห่งนี้ขึ้น แตกต่างจากการระเบิดที่เกิดขึ้นล่าสุดนี้
  • สาเหตุของการปะทุ และระเบิดรุนแรงนั้นคาดว่าเกิดจากการระเบิดของการสะสมตัวของแก๊ส และแม็กม่ากระจายออกมาเจอกับน้ำทะเลที่เย็นกว่าอย่างรวดเร็ว
  • ส่งผลให้เกิดสภาวะคล้ายปฏิกิริยาเคมีแบบลูกโซ่กลายเป็นการระเบิดของไอน้ำขนาดใหญ่
  • นักธรณีวิทยาคาดว่า นี่อาจจะเป็นการระเบิดใหญ่ตามวงรอบ 1 พันปี

เกาะฮังกา-ตองกา กลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลกอีกครั้ง หลังจากเกิดเหตุการณ์ปะทุครั้งใหญ่ ที่สามารถจับภาพได้จากดาวเทียมที่ลอยผ่านจากนอกโลก สามารถเก็บภาพวินาทีของการระเบิดครั้งสำคัญ และแรงระเบิดที่เกิดขึ้นกลายเป็นสึนามิพัดเข้าถล่มชายฝั่งประเทศตองกาที่อยู่ใกล้เคียง ก่อนที่จะมีรายงานสึนามิพัดเข้าที่ญี่ปุ่น เมื่อคืนที่ผ่านมา และถึงในขณะนี้ ( 16 ม.ค. 65 – 11.00 น.) ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น สหรัฐฯ นิวซีแลนด์ยังคงการแจ้งเตือนสึนามิที่เกิดขึ้นในครั้งนี้อยู่

แต่ก่อนหน้านี้ เกาะฮังกาตองกา เคยมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก เมื่อราว 7 ปีก่อนในฐานะของ “เกาะเกิดใหม่” ที่มีอายุน้อยที่สุด และไม่เคยปรากฎในแผนที่มาก่อน

ภาพถ่ายดาวเทียมของเกาะแห่งนี้เมื่อปี 2015 โดย Pléiade-1A high resolution satellite ของฝรั่งเศส
(ภาพ – 2015 CNES Distribution Airbus DS)

การปะทุและถือกำเนิด

ในช่วงเดือนธันวาคม 2014 มีรายงานการระเบิดของภูเขาไฟใต้ทะเล บริเวณนอกชายฝั่งประเทศตองกา และการระเบิดในครั้งนั้นได้พ่นเถ้าถ่านต่าง ๆ ออกมา จนกระทั่งมีรายงานในช่วงเดือน มกราคม ปี 2015 ว่า มีการพบเกาะกำหนดใหม่ที่เกิดขึ้นจากการระเบิดของภูเขาไฟใต้ทะเล กลายเป็นเกาะขนาดใหญ่ ที่เกิดขึ้นจากกองเถ้าถ่าน ลาวาต่าง ๆ ระหว่างเกาะดั้งเดิม 2 เกาะ มีชายหาดสีดำเชื่อมไปยังเกาะที่อยู่ทางทิศตะวันออกและตก กลายเป็นผืนเดียวกัน

โดยการปะทุครั้งใหญ่เกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงปี 2009 ทำให้เกิดกลุ่มไอน้ำ และควันลอยขึ้นไปบนอากาศ แต่ในครั้งนั้นยังไม่เกิดเป็นเกาะแต่อย่างใด

ภาพเกาะฮังกา ตองกาฯ อายุ 2 ปี
(ภาพ – NASA/Damien Grouille/Cecile Sabau , มิถนายน 2017 )

ในบันทึกการค้นพบเกาะแห่งใหม่นี้ ถูกบันทึกไว้ในช่วงวันที่ 16 ม.ค. 2015 หรือเรียกได้ว่า ครบ 7 ปีเต็ม ของการถือกำเนิดเกาะแห่งนี้ โดยเกาะที่ถือกำเนิดขึ้น มีชื่อเรียกโดยคนท้องถิ่น ว่า Hunga Tonga-Hunga Ha’apai หรือ เกาะฮังกา ตองกา-ฮังกา ฮาปาย ( ในบทความนี้จะขอเรียกสั้น ๆ ว่า เกาะฮังกา ตองกาฯ )

ขนาดของเกาะนี้กวางราว 1 กิโลเมตร ยาว 2 กิโลเมตร. และสูงจากระดับน้ำทะเล 100 เมตร โดยนักธรณีวิทยาส่วนใหญ่คาดว่า เกาะแห่งนี้ น่าจะถูกกระแสน้ำ – ลม กัดเซาะหายไปในเวลาไม่กี่เดือน

การปะทุเกิดขึ้นต่อเนื่องอีกไม่กี่วัน ก็สงบลง และ และการถือกำเนิดของเกาะฮังกา ตองกาฯ ในครั้งนี้ถือว่าเป็นเกาะแรกที่เกิดขึ้นในยุคสมัยใหม่ ที่มีดาวเทียมที่สามารถเก็บภาพและดูการเปลี่ยนแปลงของเกาะแห่งนี้ได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการกำเนิด และอาจจะทำให้มนุษย์เข้าใจกระบวนการต่าง ๆ ในการเกิดโลกรวมถึงดาวอื่น ๆ ได้ดีขึ้น

ภาพเกาะฮังกา ตองกาฯ อายุ 3 ปีหลังถือกำเนิด
(ภาพ – Sea Education Association / SEA Semester)

ซึ่งในการสำรวจในครั้งแรกพบว่า สภาพของเกาะยังไม่มีความเสถียรมากนัก ยังคงมีการกัดเซาะของกระแสคลื่นบริเวณด้านที่เป็นหน้าผาฝั่งทิศตะวันออกเฉียงใต้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามเศษหินกรวดที่ถูกกัดเซาะเหล่านั้น ก็ถูกพัดไปกองรวมกันในแนวด้านตะวันออก เชื่อมกับเกาะอีกเกาะหนึ่งในที่สุด และแน่นอนก็มีผู้ท้าทายอย่าง Ian Argus Stuart นักผจญภัยรายแรกที่ได้ไปค้างบนเกาะแห่งนี้ เป็นระยะเวลา 11 คืน (ดูคลิป) โดยอาศัยการกินไข่นกที่อยู่บนเกาะเป็นอาหาร

และในช่วงปี 2016 พบว่า สภาพของตัวเกาะมีความเสถียรมากยิ่งขึ้นเรื่อย ตัวเกาะแห่งนี้มีฐานของเกาะอยู่ลึกลงไปในทะเลราว 1 กิโลเมตร ระยะจากชายฝั่งถึงปล่องภูเกาไฟราว 5 กิโลเมตร

หลังจากนั้นในปี 2017 ทีมงานของนาซาได้ลงพื้นที่สำรวจบนเกาะฮังกา ตองกาฯ แห่งนี้ โดยระบุว่า สภาพของชายหาดที่เห็น ไม่ได้เกิดขึ้นจากทรายเหมือนแบบชายหาดอื่น ๆ ทั่วไป แต่มีลักษณะเป็นก้อนกรวดมากกว่า มีขนาดราวเม็ดถั่ว ร่วมกับดินเหนียวที่เป็นโคลน

พบร่องรอยของนกอาศัยอยู่ เช่นนกแสก, นกนางนวลแกลบดำ ร่วมกับพืชอย่างผักบุ้งทะเล อย่างไรก็ตามในการสำรวจครั้งแรกทีมสำรวจไม่ได้ใช้เวลานานมากนัก เนื่องจากข้อจำกัดต่าง ๆ ของการลงพื้นที่

แม้เป็นเกาะเกิดใหม่ แต่เรื่องขยะในทะเลไม่ใช่เรื่องใหม่

การสำรวจครั้งถัดมาของทีมจากนาซาเกิดขึ้นในปี 2019 ทีมสำรวจได้ลงพื้นที่สำรวจเกาะแห่งนี้ พร้อมกับความเห็นที่ว่า “เหมือนอยู่บนดาวดวงอื่น” ซึ่งในระหว่างการสำรวจในครั้งนี้ ทีมสำรวจยังพบขยะจำนวนไม่น้อย ที่ถูกกระแสน้ำทะเลพัดลอยมาขึ้นฝั่ง ไม่ว่าจะเป็นขวดพลาสติก โฟม รองเท้า ทุ่นต่าง ๆ

ภาพ – SEA จาก NASA Earth Expeditions

7 ปีให้หลังการค้นพบ กับการปะทุครั้งใหญ่

กระแสข่าวของเกาะฮังกา ตองกาฯ แห่งนี้ เงียบหายไปเป็นเวลาหลายปี จากการรายงาน จนกระทั่งเมื่อวานนี้ ( 15 ม.ค.) ก็เกิดเหตุการณ์ปะทุครั้งใหญ่ เป็นข่าวดังไปทั่วโลก และชื่อของเกาะฮังกา ตองกาฯ กลับมาถูกกล่าวถึงอีกครั้ง

โดยเมื่อวานที่ผ่านมา ในช่วงเวลาประมาณ 13.40 น. ได้มีรายงานการเกิดภูเขาไฟในทะเลปะทุขึ้น ซึ่งภาพการปะทุในครั้งนี้ สามารถจับพบได้จากดาวเทียมที่ลอยผ่านในขณะนั้น โดยเฉพาะจากดาวเทียม Himawari-8 ของประเทศญี่ปุ่น ที่ลอยผ่านและเก็บภาพเหตุการณ์พอดี

โดยระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมามีรายงานการปะทุขนาดเล็กเป็นระยะ ๆ ซึ่งในการลงพื้นที่สำรวจจากรายงานของนาซา ระบุว่า มีบางจุดที่พบว่า มีน้ำและโคลนที่มีอุณหภูมิอุ่นกว่าจุดอื่น ๆ

จากข้อมูลของการปะทุใหญ่ที่มีการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า ภูเขาไฟมักจะมีการปะทุใหญ่ทั้ง 1 พันปี แต่ในขณะเดียวกัน หลายคนอาจจะตั้งคำถามว่า ทำไมในการปะทุในครั้งนี้จึงดูรุนแรงมากกว่า และสามารถเห็นได้จากดาวเทียมเลยทีเดียว

คำตอบ คือ ตามปรกติ ในขณะที่แม็กมาที่มีอุณหภูมิสูงกว่า1200 องศาเซลเซียส ค่อย ๆ ไหลออกมาเจอกับน้ำทะเลที่มีอุณหภูมิที่เย็นกว่า ก็จะทำให้เกิดชั้นไอน้ำห่อหุ้ม ทำหน้าที่เป็นฉนวนกั้นอยู่ระหว่างน้ำ กับแม็กมา ที่ค่อยๆ เย็นตัวลง

แต่สถานการณ์นี้จะเปลี่ยนไป เมื่อเกิดการระเบิดออกมาจากพื้นดินที่อัดแน่นไปด้วยแก๊ส และเมื่อแม็กมาจำนวนมากกระจายออกมาสัมผัสกับน้ำโดยตรงด้วยเวลาอันรวดเร็ว ก่อนให้เกิดสภาวะคล้ายกับการเกิดปฏิกิริยาเคมี กลายเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ ที่เกิดการระเบิดของไอน้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่า ต่อเนื่องกัน กลายเป็นแรงอัดขนาดใหญ่ กระจายออกมาในระดับความเร็ว เหนือเสียง

(ภาพ – Wohletz, Kenneth, and Grant Heiken.
Volcanology and Geothermal Energy. Berkeley: University of California Press, 1992. )

และการระเบิดที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ทำให้สามารถบันทึกได้จากดาวเทียม รวมถึงทำให้เกิดสึนามิ เข้าพัดถล่มประเทศตองกา รวมถึงญี่ปุ่นนั่นเอง

อนาคตอาจจะเกิดขึ้นอีกครั้งใน 1 พันปีข้างหน้า

จากการระเบิดที่เกิดขึ้นที่เกาะฮังกา ตองกาฯ แห่งนี้ นักธรณีวิทยาได้ทำการสำรวจและทำแผนที่ใต้ผืนน้ำบริเวณเกาะแห่งนี้ โดยพบ แอ่งภูเขาไฟรูปกระจาด หรือ “caldera” ที่อยู่ลึกลงไป ราว 150 ม. โดยแอ่งภูเขาไฟนี้ มีขนาดราว 5 กม. ซึ่งเกิดขึ้นจากการระเบิดและยุบตัวลง

และจากหลักฐานพบในบริเวณเกาะอื่น ๆ ที่เป็นหลักฐานยืนยันการระเบิดของภูเขาไฟ Tongatapu ห่างจากบริเวณนี้ ทำให้คาดว่า การระเบิดของภูเขาไฟแห่งนี้ เกิดขึ้นครั้งใหญ่เมื่อกว่า 1 พันปีก่อน

และจากการระเบิดที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ก็อาจจะถือได้ว่า เป็นการระเบิดครั้งใหญ่ และมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นการระเบิดในรอบ 1 พันปี ตามรอบเวลาก็เป็นได้

แต่อย่างไรก็ตาม การระเบิดในครั้งนี้ ก็ไม่อาจจะมั่นใจได้ 100 เปอร์เซ็นต์ว่า นี่คือการปะทุขนาดใหญ่ในรอบ 1000 ปีนั้นจริงหรือไม่ ยังคงต้องใช้เวลาเฝ้าระวังต่อไปอีกสักระยะ เนื่องจากการระเบิดใหญ่ทุก ๆ 1 พันปีนั้นก็จะเชื่อมโยงกับการปะทุที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาได้อีกเช่นกัน

ภาพใต้น้ำของบริเวณเกาะฮังกา ตองกาฯ
(ภาพ – The Conersation)

ประมวลภาพขณะเกิดการปะทุเมื่อ 15 ม.ค. 2565

ภาพจาก NOAA’s GOES West satellite
ภาพจาก Himawari 8 Japanese weather satellite
NOAA’s GOES West satellite

ที่มา :

  • https://blogs.nasa.gov/earthexpeditions/
  • https://theconversation.com/why-the-volcanic-eruption-in-tonga-was-so-violent-and-what-to-expect-next-175035