move2024 กาลครั้งหนึ่ง คุกลับ เรือนจำกวนตานาโม

20 ปี “เรือนจำอ่าวกวนตานาโม” คุกสุดฉาวของสหรัฐอเมริกา

พื้นที่หลุมดำทางกฎหมายที่ถูกกล่าวว่า "กฏหมายเหมือนกับอวกาศ รู้ว่ามีแต่ไม่มีโอกาสไปถึง"

Home / TELL / 20 ปี “เรือนจำอ่าวกวนตานาโม” คุกสุดฉาวของสหรัฐอเมริกา

“กฎหมายก็เหมือนกับอวกาศ
รู้ว่ามี แต่กี่คนที่ได้สัมผัส”

นั่นคือคำกล่าวที่ผู้ถูกคุมขังในเรือนจำกวนตานาโมแห่งนี้บอกเล่า สิ่งที่เกิดขึ้นในเรือนจำแห่งนี้

คุกแห่งอ่าวกวนตานาโม เป็นหนึ่งในสถานที่สุดฉาวของสหรัฐอเมริกา ที่ถูกสร้างขึ้นโดยอ้างว่า เพื่อใช้ในการกักกัน คุมขังนักโทษระดับ “อันตรายสูงที่สุดในโลก” ในสงครามต่อสู้กับการก่อการร้าย ในช่วงหลังเหตุการณ์ 9/11 โดยคำสั่งของอดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช เพื่อใช้ในการคุมตัวผู้ถูกคุมขัง และคุกแห่งนี้ เปิดใช้งานเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2002 เหรือเมื่อ 20 ปีก่อน

ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี คุกแห่งนี้ ถูกกล่าวถึงในเรื่องของความอื้อฉาวอย่างต่อเนื่อง จากเจ้าหน้าที่ที่ควบคุมดูแลผู้ถูกคุมขังที่เข้าถูกนำตัวมายังสถานที่แห่งนี้

หลายรายเป็นผู้ต้องสงสัยที่ถูกนำมาขัง โดยไม่มีการไต่สวน
หลายรายถูกทรมานให้รับสารภาพในความผิดต่าง ๆ
หลายคนฆ่าตัวตาย

ที่มาที่ไป และความลักลั่นของคุกที่ถูกเรียกว่า “หลุมดำของกฎหมาย”

หลังจากจบสงครามปลดปล่อยคิวบา จากสเปน ในช่วงปี 1868 ซึ่งสหรัฐฯ เข้าไปมีบทบาทในการแทรกแซงสถานการณ์ในคิวบา และลุกลามเป็นสงครามระหว่างสหรัฐฯ กับสเปน ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วสเปนก็ปราชัยในศึกนี้ และช่วยให้คิวบาเป็นเอกราช แลกมาด้วยการที่ให้สหรัฐฯ สามารถเช่า-ซื้อ ดินแดนบางส่วนในบริเวณอ่าวกวนตานาโม ซึ่งต่อมากลายเป็นสัญญาเช่าแบบถาวร ที่ชาวคิวบาเอง ไม่พอใจมากทีเดียว แต่ก็ไม่สามารถที่จะทำอะไรได้

ทหารสหรัฐฯ กำลังนำธงชาติสหรัฐฯ ขึ้นสู่ยอดเสา
บริเวณอ่าวกวนตานาโม, คิวบา เมื่อปี 1898
(ภาพ – Library of Congress)

พื้นที่อ่าวกวนตานาโม จึงถูกใช้เป็นฐานทัพเรือของสหรัฐฯ นับตั้งแต่นั้นมาอย่างถาวร และเป็นพื้นที่คิวบา มีสิทธิในอำนาจในตัวของพื้นที่อ่าวกวนตานาโมแห่งนี้ แต่ในขณะเดียวกัน ข้อตกลงกลับระบุให้ สหรัฐฯ “มีอำนาจศาล” เป็นของตัวเองในพื้นที่นี้ด้วยเช่นกัน พูดง่าย ๆ คือ ตัวที่ดิน ยังคงเป็นพื้นที่ของประเทศคิวบา แต่ขอบเขตอำนาจศาล กลับเป็นของสหรัฐฯ

ปัญหาความลักลั่นที่เกิดขึ้น ทำให้พื้นที่แห่งนี้ ถูกมองว่า “หลุมดำของกฎหมาย” จากความคลุมเครือของอำนาจอธิปไตยและอำนาจศาลที่เกิดขึ้น และต่อมาเมื่อ13 พ.ย. 2001 อดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ได้ประกาศคำสั่งให้กองทัพสหรัฐฯ ดำเนินการสร้างสถานที่ควบคุมตัว รักษา และพิจารณาคดีของผู้ที่ไม่ใช่พลเมืองสหรัฐฯ ในสงครามการต่อต้านการก่อการร้าย หลังจากเหตุการณ์ 911 หรือ เหตุการณ์ก่อวินาศกรรมครั้งประวัติศาสตร์ 11 กันยา 2001

และสาเหตุที่สหรัฐฯ เลือกพื้นที่แห่งนี้ เพราะความคลุมเคลือในแง่ของข้อกฏหมาย อำนาจศาล และอธิปไตย ที่ทำให้สหรัฐฯ สามารถดำเนินการบ้างอย่างโดยไม่ต้องมีประเด็นทางด้านกฏหมายเหมือนกับการสร้างเรือนจำในแผ่นดินสหรัฐฯ เนื่องจาก ดินแดนดังกล่าว “ไม่ใช่แผ่นดินสหรัฐฯ” นั่นเอง

ภาพถ่ายดาวเทียม บริเวณฐานทัพสหรัฐฯ ที่อ่าวกวนตานาโม

และวันที่ 11 มกราคม 2002 ผู้ถูกคุมขัง 20 รายแรกของสหรัฐฯ ก็เดินทางมาถึงค่ายกักกันแห่งนี้ ภายใต้ข้อยกเว้นทางกฎหมายต่าง ๆ นานา เช่น ไม่ถือว่าเป็นเชลยศึก, ไม่มีสิทธิภายใต้อนุสัญญาเจนีวา, ไม่อยู่ภายใต้กฎหมายของสหรัฐฯ เพราะไม่มีดินแดนของสหรัฐฯ

แต่สหรัฐฯ มีอำนาจศาลในดินแดนแห่งนี้ที่จะควบคุม คุมขัง สอบสวนผู้ถูกคุมขัง-ผู้ต้องสงสัย ท่ามกลางข้อครหาต่าง ๆ มากมายโดยเฉพาะประเด็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน

พื้นที่ของคุกอ่าวกวนตานาโมแห่งนี้ แบ่งออกเป็นโซนต่าง ๆ เช่น

Camp X-Ray

ซึ่งเป็นพืนที่แรก จำนวน 311 ห้องขัง มีรั้วลูกกรง ลวดหน้ามหลายชั้นและมีทางเดินทางที่ซับซ้อน เพื่อป้องกันการหลบหนี ชิงตัวผู้ถูกคุมขัง และมันถูกเปรียบเทียบว่า สภาพไม่ต่างจากกรงขังสุนัข

Camp DELTA

เป็นพื้นที่ได้รับการปรับปรุงเพิ่มเติมสำหรับใช้เป็นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ถูกคุมขัง โดยในบริเวณจะมีประกอบไปด้วย แคมป์ 1-2-3 โดยพื้นที่นี้นอกจากจะเป็นพื้นที่กักกัน – คุมขังผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยแล้ว ยังเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ใช้เป็นห้องพูดคุยระหว่างผู้ถูกคุมขังและทนายอีกด้วย

โดยจะเรียงลำดับตามระดับความปลอดภัย-ความมั่นคง โดยแคมป์ 3 สำหรับผู้ที่ให้ความร่วมมือต่าง ๆ กับการสอบสวน ก็จะถูกย้ายไปยังแคมป์ 2 และหากยังคงประพฤติตัวดี ก็จะได้รับการย้ายไปยังบริเวณแคมป์ 1

แคมป์เดลต้า เมื่อปี 2002

Camp Echo

เป็นพื้นที่คุมตัวผู้ถูกคุมขังที่ไม่สามารถนำไปขังร่วมกับโซนอื่น ๆ ได้ เป็นห้องขังขนาดเล็กที่มีห้องน้ำในตัว ซึ่งสาเหตุที่แยกขังนั้นมาจากสาเหตุบางประการ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ต้องขังมีอาการป่วย, ผิดปรกติ หรือมีความพยายามฆ่าตัวตาย หรืออาจจะเป็นเรื่องอื่น ๆ ที่ให้ผู้ต้องขังสามารถพูดคุยกับผู้คุม – ทนายได้ง่าย แต่แน่นอนมันก็มีประเด็นอื่น ๆ ของการละเมิดสิทธิของนักโทษด้วยเช่นกัน

แคมป์เอคโค่

แคมป์ 4

เป็นพื้นที่ควบคุมตัวก่อนที่จะมีการปล่อยตัว หรือเป็นผู้ถูกคุมขังที่มีอัตรายน้อยที่สุด

พื้นที่บริเวณแคมป์ 4
(ภาพ – Defense Visual Information Distribution Service)

แคมป์ 5

พื้นที่คุมขังที่ถูกสร้างเสร็จในปี 2004 มูลค่าเกือบ 60 ล้านบาท และเป็นพื้นที่ความมั่นคงสูงสุด สำหรับผู้ถูกคุมขังที่ถูกระบุว่า อันตรายมากที่สุด หรือผู้ถูกคุมขังคนสำคัญมากที่สุด มีเจ้าหน้าที่เฝ้าหนาแน่นมากที่สุด

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กำลังพูดคุยกับผู้ที่ถูกควบคุมตัวใน Camp 5 เกี่ยวกับเรื่องอาหาร
(ภาพ – Defense Visual Information Distribution Service)

Camp 5 Echo

เป็นพื้นที่ลงโทษทางวินัยสำหรับผู้ต้องขับที่ฝ่าฝืนข้อตกลงในการควบคุมตัวจากแคมป์ที่ 5 และ 6 หรือพูดง่าย ๆ คือ พื้นที่ลงโทษสำหรับผู้ต้องขังที่ไม่ปฏิบัติตาม

Camp 6

เป็นพื้นที่สำหรับผู้ถูกคุมขังทั่วไป โดยพื้นที่นี้จะมีความปลอดภัย ความเข้มข้นต่ำกว่าแคมป์ 5 อยู่ในระดับกลาง เทียบเท่ากับเรือนจำระดับกลางของสหรัฐ มีพื้นที่ส่วนกลางที่ให้รับประทานอาหารร่วมกัน ร่วมกันทำพิธีทางศาสนาได้ มีลานนันทนาการให้ได้เล่นกีฬา หรือออกกำลังกายได้ รวมถึงการมีหนังสือ DVD ให้ดูได้อีกด้วย

พื้นที่ในแคมป์ 6
(ภาพ – Defense Visual Information Distribution Service)

เรือนจำกวนตานาโมอ่าวกวนตานาโม กับข่าวฉาวกระฉ่อนโลก

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผู้ถูกคุมขังหรือผู้ต้องสงสัยที่ถูกส่งมากักกันไว้ ณ ที่แห่งนี้ ถูกจัดอันดับให้เป็นกลุ่มผู้ถูกคุมขังที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงในระดับสูง ส่วนใหญ่เป็น ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายการก่อการร้าย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม อัลกอิดะห์ ตาลิบาน ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่ถูกระบุว่า “ผู้ก่อการร้าย”

แต่อีกหลายคนกลับมีสถานะเป็นเพียง “ผู้ต้องสงสัย” ที่อาจจะมีชื่ออยู่ในเอกสารสักชุดหนึ่งที่ถูกค้นพบในที่พักของผู้ต้องสงสัยรายอื่นในการก่อการร้าย และเมื่อเดินทางมาถึง สิ่งที่ได้รับ ไม่ใช่การสอบสวน แต่เป็นการกักกันโดยไม่มีการสอบสวน

หากการถูกคุมตัวข้ามน้ำข้ามทะเลมากักขังเป็นเรื่องที่รุนแรงแล้ว แต่การถูกกักขัง “โดยไม่มีการสอบสวน” กลับเป็นเรื่องที่ถือว่าละเมิดสิทธิ์ แต่ในทางกลับกัน การสอบสวนที่เกิดขึ้นใน คุกกวนตานาโมแห่งนี้ กลับเป็นเรื่องที่อื้อฉาวไม่แพ้กัน

อเดย์ฟี กับหนังสือ
ภาพ – Mansoor Adayfi

มันซูร์ อเดย์ฟี หนึ่งในผู้ที่ถูกจับกุม และ CIA ได้นำถุงคลุมหัว ก่อนนำตัวไปยังคุกที่อ่าวกวนตานาโมแห่งนี้ ท่ามกลางผู้ถูกคุมขังที่ถูกควบคุมตัวอีกนับร้อยคน เนื่องจากเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ที่ทำงานร่วมกับกลุ่มอัลกออิดะห์ หลังจากนั้นเขาก็ถูกขังอยู่ที่นี่ 14 ปี โดยได้รับการปล่อยตัวเมื่อปี 2016

“ในฐานะนักโทษ ทำให้เราสูญเสียเวลาในชีวิตไปหลายปี ซึ่งนั่นไม่ใช่เพียงแค่เวลา แต่เราสูญเสียทุกสิ่งไปด้วย

ครอบครัวได้รับผลกระทบ และในกรณีของผม ครอบครัวไม่รู้เลยว่า ผมหายไปไหน จนกระทั่งเวลาผ่านไปเกือบ 5 ปี”

อเดย์ฟี กล่าวกล่าวกับสำหรับข่าว RT ของรัสเซีย โดยระบุว่า ผู้ถูกคุมขังส่วนใหญ่ในคุกแห่งนี้ ไม่ได้มีความสัมพันธุ์ที่แท้จริงกับกลุ่มก่อการร้ายที่สหรัฐฯ อ้างถึง แต่ส่วนใหญ่กลับเป็นเพียง “ผู้ต้องสงสัย” ที่มีผู้เข้าไปแจ้งกับทางการสหรัฐฯ เพื่อต้องการ “รางวัลนำจับ” เท่านั้น เพราะสหรัฐฯ ได้โปรยใบปลิวจำนวนมากที่ระบุว่า จะให้รางวัลกับผู้ที่ให้เบาะแสผู้ก่อการร้าย และ อเดย์ฟี ก็กลายเป็นหนึ่งในเหยื่อที่เกิดขึ้นจากการ “รางวัล” ที่ล่อตาล่อใจเหล่านั้น

และตลอดเวลา 14 ปีในห้องขังเล็ก ๆ ที่จะมีเสียงดังตลอดเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ถูกคุมขังพูดคุยกัน แม้กระทั่งเวลาพักนอกห้องขัง ก็ไม่ได้รับอนุญาติให้พูดคุยกัน อเดย์ฟีระบุถึงเพื่อนต่างสายพันธุ์อย่างอิกัวนา ที่เขามักจะไปนั่งคุยด้วยในช่วงเวลาพักผ่อนที่ได้รับอนุญาต

ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา มีผู้ถูกคุมขัง-ผู้ต้องสงสัยจำนวน 779 ราย ที่ถูกนำมาควบคุมตัวไว้ที่คุกกวนตานาโมแห่งนี้ แต่นั่นเป็นเพียงยอดที่มีการรายงานอย่างเป็นทางการเท่านั้น และยังไม่มีใครยืนยันได้ว่า มีผู้ที่ไม่อยู่ในรายชื่อนั้นหรือไม่?

มีผู้เสียชีวิตในระหว่างการถูกควบคุมตัวทั้งหมด 9 ราย ซึ่งถึงปัจจุบันนี้ ยังคงมีผู้ถูกคุมขังอีกราว 40 ราย ที่ยังถูกควบคุมตัวอยู่ในคุกกวนตานาโมแห่งนี้ โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นการฆ่าตัวตาย และในตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ก็มีรายงานอย่างต่อเนื่องถึงความพยายามในการฆ่าตัวตายของผู้ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่นี่

“หากถามว่า ช่วงอายุ 20 ปีคุณใช้ชีวิตอย่างไร ผมได้แต่สงสัยว่า อะไรคือช่วงวัยอายุ 20 ปี”

ผู้ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่คุกกวนตานาโมแห่งนี้ จำนวนไม่น้อยที่มีอายุ ไม่ถึง 20 ปี และเมื่อได้รับการปล่อยตัว ช่วงเวลาของวัยรุ่นของพวกเขาหลายนี้หายไปอย่างสิ้นเชิง สิ่งที่พวกเขาได้รับในช่วงวัยรุ่นคือ “การใช้ชีวิตในคุก” โดยที่ไม่มีความผิดใดๆ อาทิ

  • โอมาร์ คาดร์ ชาวแคนาดาถูกจับกุมในขณะที่อายุ 15 ปี และได้รับการปล่อยตัวในปี 2015 หรืออีก 13 ปีต่อมา
  • โมฮัมเหม็ด จาวาด ถูกจับกุมจากอัฟกานิสถานในขณะที่อายุ 12 ปี

“กฏหมายเปรียบเหมือนอวกาศ”

ในคุกกวนตานาโมแห่งนี้ เป็นพื้นที่หลุมดำแห่งกฏหมาย ผู้ถูกคุมขังเหล่านี้ไม่ใช่เชลยศึกในสงคราม จะไม่ได้รับสิทธิตามอนุสัญญาเจนีวา แต่หลายคนก็ถูกพิจารณาคดีในศาลทหารที่ตั้งขึ้น โดยไม่มีลูกขุน ไม่มีทนาย มีเพียงทหารและคำขู่ให้ยอมรับความผิด ความพยายามในการผลักดันไปสู่โทษขั้นสูงสุด อย่างประหารชีวิต

ซึ่งศาลนั้นเป็นศาลเดียวที่มีในกวนตานาโม มีผู้ถูกคุมขัง/ผู้ต้องสงสัย ที่ถูกนำตัวมาที่นี่แล้ว 780 ราย มาจาก 48 ประเทศทั่วโลก แต่มีผู้ถูกตัดสินให้มีความผิดเพียง 16 ราย และบางส่วนเป็นผลมาจากการเจรจาต่อรองที่เกิดขึ้นเพื่อแลกกับการได้รับการปล่อยตัว และเหลือ 2 รายที่ถูกตัดสินว่ามีความผิด และยังคงถูกกักขังอยู่ที่กวนตานาโม

หนึ่งในนั้นคือ คาลิด ชีค โมฮัมเหม็ด ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บงการเหตุโจมตี 11 กันยายน ซึ่งผ่านไปแล้ว 20 ปีแต่ในขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนในการดำเนินการลงโทษเขาแต่อย่างใด เนื่องข้อเท็จจริงที่มีการสอบสวนโดยการใช้วิธีการที่เรียกว่า การทรมานแบบสำลักน้ำ หรือ waterboarding โดยการให้ผู้เหยื่อตกอยู่ในสภาวะเหมือนกับการจมน้ำและกำลังขาดอากาศหายใจ

ภาพโดย Salim Virji

และผลจากการทรมานในรูปแบบดังกล่าวตั้งแต่เที่ยงวัน จนถึงเช้าของอีกวัน รวมทั้งหมด 65 ครั้ง ส่งผลให้ผู้ต้องสงสัยรายนี้ อยู่ในอาการทางจิตในที่สุด และหลักฐานการรับสารภาพที่เกิดขึ้นจากการทรมานนี้ ก็ไม่ได้รับการยอมรับในศาลของสหรัฐฯ อีกด้วย

อาบู ซูเบย์ดาห์ เป็นอีกหนึ่งผู้ถูกคุมขังของ CIA ในคุกกวนตานาโมแห่งนี้ โดยถูกจับที่ปากีสถาน ในปี 2002 โดย ซูเบย์ดาห์ ระบุว่าถึงการถูกทรมานในช่วง 4 ปีที่ถูกขังอยู่ที่คุกกวนตานาโม ผ่านภาพวาดในหนังสือ ที่มีพูดถึงประเด็นการถูกทรมานในหลายรูปแบบ เช่น

  • การให้นอนเปลือยกายในกล่องที่มีสภาพคล้ายกับโลงศพ เปิดน้ำใส่
  • การปล่อยให้นอนเปลือยในกล่องเป็นเวลานานจนต้องขับถ่ายในกล่องนั้น
  • การถูกขังไว้กับแมลงสาบ และแมลงอื่น ๆ ที่ ซูเบย์ดาห์กลัว
  • ให้เปลือยกาย อยู่ในห้องที่มีอากาศเย็น ๆ พร้อมทั้งฉีดน้ำให้เปียก
  • Waterboarding

และอีกหลายรูปแบบที่ ซูเบย์ดาห์ บรรยายไว้ในหนังสือ “The Longest War: The Enduring Conflict Between America and al-Qaeda”

ภาพ : Defense Visual Information Distribution Service

อดีตผู้ถูกคุมขังแห่งคุกกวนตานาโมได้กล่าวว่า มีเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ ได้บอกกับเขาว่า

“กฎหมายก็เหมือนกับอวกาศ
รู้ว่ามี แต่กี่คนที่ได้สัมผัส”

ซึ่งตลอดระยะเวลา 20 ของคุกอ่าวกวนตานาโมแห่งนี้ มีรายงานการทรมานผู้ถูกคุมขังอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการบังคับกินอาหาร, การปล่อยให้หิว, การปล่อยให้เปลือยกายและขังไว้ โดยไม่ได้ให้น้ำหรืออาหารเป็นเวลานาน รวมถึงหลายรายจำเป็นต้องขับถ่ายรดตัวเองเนื่องจากถูกมัดและไม่สามารถกลั้นไว้ได้ หรือแม้แต่การเปิดเสียงดังนาน ๆ เป็นเวลาต่อเนื่อง ทำให้ไม่ได้หลับ-นอน ไม่นับการทารุณโดยตรงเช่น การทุบตี หรือการทำให้อับอาย และอีกหลายเรื่อง

คุกแห่งกวนตานาโมยังคงอยู่

สถานการณ์ของเรือนจำกวนตานาโม หลุมดำแห่งข้อกฎหมาย ยังคงอยู่ถึงปัจจุบันนี้ โดยมีผู้ถูกคุมขังหรือผู้ต้องสงสัยอีกจำนวนหนึ่งที่ยังคงถูกขังอยู่ที่นั่นอีกจำนวนหนึ่ง ท่ามกลางความพยายามเรียกร้องให้มีการปิดเรือนจำกวนตานาโมแห่งนี้

แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สงครามต่อสู้กับการก่อการร้ายดูจะกลายเป็นเหตุผลหลังที่ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวอ้าง จนในช่วงปี 2009 ประธานาธิบดีโอบามา มีความชัดเจนมากขึ้นในความพยายามสั่งปิดคุกแห่งนี้ รวมถึงมีการสั่งย้ายผู้ถูกคุมขัง/ผู้ต้องสงสัยออกจากคุกดังกล่าว แต่ยังคงเหลืออีกบางส่วน โดยคณะทำงานการตรวจสอบในเรือ่งนี้ระบุว่า มีผู้ถูกคุมขังจำนวน 48 รายที่มีความอันตรายเกินกว่าจะย้ายไปขังยังสถานที่อื่น แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถจะดำเนินการทางคดีต่อ

ซึ่งแน่นอนว่า ตัวเลขที่ระบุในขณะนี้คือ 39 ราย ที่ยังคงถูกควบคุมตัวอยู่ในคุกแห่งอ่าวกวนตานาโมแห่งนี้ ยังไม่ได้มีการดำเนินคดีต่อ ไม่มีกำหนดว่าจะได้รับการปล่อยตัวเมื่อไหร่ และบางรายยังไม่ได้มีการตั้งข้อหาการก่ออาชญากรรมใดๆ

และรอยด่างในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นคงไม่สามารถลบล้างลงไปได้อย่างแน่นอน


อ้างอิง

  • https://www.justice.gov/sites/default/files/ag/legacy/2010/06/02/guantanamo-review-final-report.pdf
  • https://www.nytimes.com/interactive/2021/us/guantanamo-bay-detainees.html
  • https://www.miamiherald.com/news/nation-world/world/americas/guantanamo/article1939250.html
  • https://www.nytimes.com/2017/10/11/us/politics/guantanamo-hunger-strikes-force-feeding.html
  • https://www.mansooradayfi.com/taking-marriage-class-at-guantnamo
  • https://www.cage.ngo/guantanamo-bay-20-years-on
  • https://www.cage.ngo/detained-the-unending-legal-black-hole-of-guantanamo
  • https://humanrights.ucdavis.edu/resources/library/documents-and-reports/Torture_Report_Final_version.pdf