ENDEMIC THE OPINION โควิด-19 โอมิครอน

โอมิครอน แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ จุดสิ้นสุดของการระบาด จริงหรือ?

ประเด็นที่น่าสนใจ สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นจากสายพันธุ์โอมิครอน ทำให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก แต่ในขณะเดียวกัน หลายประเทศก็รายงานตรงกันว่า ผู้ป่วยอาการหนัก – ผู้เสียชีวิตไม่มากดั่งที่ผ่าน ๆ มา ทำให้หลายคนตั้งความหวังว่า หรือนี่ อาจจะเป็นจุดสิ้นสุดของการระบาด ทำให้โควิด-19…

Home / TELL / โอมิครอน แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ จุดสิ้นสุดของการระบาด จริงหรือ?

ประเด็นที่น่าสนใจ

  • สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นจากสายพันธุ์โอมิครอน ทำให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก
  • แต่ในขณะเดียวกัน หลายประเทศก็รายงานตรงกันว่า ผู้ป่วยอาการหนัก – ผู้เสียชีวิตไม่มากดั่งที่ผ่าน ๆ มา
  • ทำให้หลายคนตั้งความหวังว่า หรือนี่ อาจจะเป็นจุดสิ้นสุดของการระบาด ทำให้โควิด-19 เปลี่ยนจากโรคระบาด เป็นโรคประจำถิ่นที่ไม่น่ากังวลอีกต่อไป
  • แล้วเราควรรับมืออย่างไร ปล่อยให้ระบาดหรือไม่?

สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในสายพันธุ์โอมิครอนในขณะนี้กำลังทำให้ยอดผู้ป่วยในหลายประเทศโดยเฉพาะในสหรัฐฯ และยุโรป กำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะนี้ ทำให้หลายประเทศต้องมีการยกระดับมาตรการในการป้องกันการแพร่โควิด-19 เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็น การออกมาตรการบังคับให้มีการสวมหน้ากากอนามัย, สั่งให้มีการทำงานที่บ้าน, ปิดกิจการ/กิจกรรมบางประเภท รวมถึงแผนการฉีดวัคซีนกระตุ้นให้กับประชาชนไม่ว่าจะเป็นเข็มที่ 3 หรือ 4

แต่ในขณะเดียวกัน สถานการณ์การระบาดที่เกิดขึ้น กลับทำให้มีผู้เชี่ยวชาญจำนวนไม่น้อย เริ่มมองเห็นแววของการสิ้นสุดของโรคโควิด-19 ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการมาของสายพันธุ์โอมิครอนที่ระบาดอยู่ในขณะนี้

ทำไมนักวิชาการ-นักวิจัยบางท่านจึงมองแบบนั้น ?

สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในสายพันธุ์โอมิครอนในหลายประเทศ ที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยอดผู้ป่วยที่จะต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล รวมถึงยอดผู้เสียชีวิต ไม่ได้พุ่งสูงขึ้นเหมือนระลอกที่ผ่านมา เหมือนครั้งที่สายพันธุ์เดลต้าระบาดหนักไปทั่วโลก ในช่วงกลางปี 2564

ซึ่งหากเราเปรียบเทียบจำนวนอัตราการติดเชื้อ, การเข้ารักษาตัว, ผู้ป่วยหนัก และอัตราการเสียชีวิต จะเห็นว่า มีจำนวนน้อยกว่าในการระบาดในระลอกที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด

ช่วงปลายปี 2020 – 2021 เป็นการระบาดของเชื้อสายพันธุ์อัลฟ่า จะเป็นว่า อันตราการติดเชื้ออยู่ที่ไม่ถึง 1,000 ราย ต่อประชากร 1 ล้านคน แต่กลับมีอัตราการป่วยหนักป่วยหนักราว 100 ราย ต่อประชากร 1 ล้านคน และมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 10-15 รายต่อประชากร 1 ล้านคน

แต่ในขณะนี้ที่มีการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน จะเป็นว่า ยอดอัตรการติดเชื้อต่อประชากร 1 ล้านคน พุ่งขึ้นไปถึง 2,500 ราย มากกว่าช่วงสายพันธุ์อัลฟ่า, เดลต้าระบาดราว 2.5 เท่า แต่อัตราการป่วยหนักกลับยังไม่สูงมากนัก รวมถึงอัตราการเสียชีวิตด้วยเช่นกัน

แอฟริกาใต้ ประเทศแรกที่รายงานการพบสายพันธุ์โอมิครอน ประกาศการผ่านพ้นการระบาดในระลอกนี้ไปแล้ว ซึ่งจากตัวเลขของผู้ป่วยที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จะเห็นว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ

  • อัตราการติดเชื้อสูงเกือบ 400 รายต่อประชากร 1 ล้านคน สูงกว่าระลอกก่อนหน้าที่สายพันธุ์เดลต้าระบาด
  • อัตราการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลอยู่ที่ราว 150 รายต่อประชากร 1 ล้านคน ในขณะที่ระลอกก่อนหน้าสูงเกือบ 250 รายต่อประชากร 1 ล้านคน
  • อัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

ซึ่งประเทศแอฟริกาใต้ในขณะนี้ อัตราการได้รับวัคซีนยังไม่ถึง 30% ของประชากร ด้วยซ้ำ ทำให้หลายฝ่ายจึงค่อนข้างมั่นใจว่า สายพันธุ์นี้ไม่น่าเป็นห่วงเท่าสายพันธุ์เดลต้าที่ระบาดก่อนหน้า

ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้น หรือเชื้ออ่อนลง ?

จากรายงานที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ระบุไปในทิศทางเดียวกันว่า เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในสายพันธุ์กลายพันธุ์โอมิครอนนั้น เชื้อส่วนใหญ่จะยังพบในระบบทางเดินหายใจส่วนบน และลำคอ แต่ในปอดพบได้น้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งนั่นทำให้อาการปอดอักเสบเกิดขึ้นได้น้อยกว่า ส่งผลต่ออัตราการป่วยหนัก และเสียชีวิต

จากการกลายพันธุ์ของโควิด-19 ในสายพันธุ์โอมิครอน แม้ว่าจะสามารถหลบเลี่ยงแอนตี้บอดี้ , ภูมิคุ้มกันของมนุษย์ไปได้ แต่เมื่อต้องไปเผชิญกับ T-cell ที่ทำหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายและก่อให้เกิดอาการรุนแรง เชื้อโควิด-19 ก็ไม่สามารถฝ่าด่านนี้ไปได้ นั่นจึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ความรุนแรงของโรคลดลง แม้จะมีการติดเชื้อมากขึ้น

ในประเทศสหราชอาณาจักร ที่มีการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนและมีอัตราผู้ป่วยพุ่งสูงขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ก็มีจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารักษาตัวไม่มากนัก รวมถึงผู้ป่วยที่มีอาการหนักและผู้เสียชีวิต มีขยับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ซึ่งในสหราชอาณาจักรเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงลำดับต้น ๆ ของโลก และวัคซีนป้องกันโควิด-19 นี้เอง เป็นตัวกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนตี้บอดี้ และ T-cell ที่ใช้ในการต่อสู้กับเชื้อได้ ดังนั้นทำให้ ร่างกายมี T-cell ที่ถือเป็นกำลังหลักในต่อกำจัดเชื้อไวรัสโควิด-19 นี้ได้นั่นเอง

ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า มาจาก 2 สาเหตุหลัก ๆ ร่วมกันคือ

  • จากตัวเชื้อโอมิครอนเอง ที่ไม่ลงไปยังปอด และถูก T-cell ดักจับเอาไว้ได้
  • ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว แม้ว่าจะมีการติดเชื้อแต่ก็ลดการป่วยหนักและเสียชีวิต

แล้วทำไมถึงมองว่า โอมิครอนจะกลายเป็นจุดจบของการระบาด?

จากทั้งสองปัจจัยที่กล่าวก่อนหน้านี้ จะเห็น แม้เชื้อสายพันธุ์โอมิครอนสามารถหลบเลี่ยงเข้าสู่ร่างกาย หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันทั้งจากการฉีดวัคซีน และการติดเชื้อซ้ำได้ในผู้ที่เคยติดเชื้อมาก่อน แต่ก็ไม่ได้รุนแรงเหมือนที่ผ่านมา รวมถึงการที่ผู้ที่ติดโควิด-19 ในสายพันธุ์โอมิครอน ยังสามารถระตุ้นการสร้างภูมิคุ้นกัน และ T-cell ที่ใช้ในการป้องกันโควิด-19

จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้หลายฝ่ายมองว่า

“นี่อาจจะจุดสิ้นสุดของการระบาด และเป็นสร้างภูมิคุ้มกันหมู่
อย่างกว้างขวางมากขึ้น ไม่ว่าคุณจะฉีดวัคซีน หรือไม่ก็ตาม”

สำหรับในโลกของเราที่ผ่านมาโรคต่าง ๆ มากมายแต่เกิดขึ้นก่อให้เกิดการระบาดและมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แต่ในปัจจุบันอัตราการเสียชีวิตลดลงมาก เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ ที่ปัจจุบันยังคงมีอยู่ ในประเทศไทยยังคงมีผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่อยู่ แต่ไม่มากนัก ในขณะที่ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกามีผู้เสียชีวิตหลักหมื่นรายต่อปี

ซึ่งในช่วงแรกของการระบาดนั้นมีรายงานผลผู้เสียชีวิตเท่าที่มีบันทึกไว้หลายสิบล้านราย แต่ในปัจจุบัน ด้วยการที่คนมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น มีวัคซีนใช้ และมียารักษาจึงทำให้ โรคอย่างไข้หวัดใหญ่ ไม่ได้น่ากลัวอีกเหมือนเช่นอดีตแล้ว

ดังนั้นในขณะ โควิด-19 ที่กำลังระบาดอยู่ แม้เกิดขึ้นจำนวนมาก แต่โลกมีวัคซีนแล้ว และยารักษาก็เริ่มกำลังมีผลวิจัย และจะได้ใช้กันในปีนี้ ซึ่งนั่นจะทำให้โรคโควิด-19 เปลี่ยนจากโรคระบาดเป็นโรคประจำถิ่นเช่นเดียวกัน แม้จะไม่ใช่ในเร็ววันนี้ก็ตาม

ป้ายอนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากการระบาดของไข้หวัดสเปน เมื่อปี 1918 ในโอ๊คแลนด์, นิวซีแลนด์
( ภาพ : Russellstreet)

ควรออกไปใช้ชีวิต ติดโอมิครอนกันดีไหม?

แน่นอนว่า หลายคนอ่านมาถึงจุดนี้ เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนนี้ ระบาดได้เร็ว แต่ไม่รุนแรง วัคซีนก็ฉีดแล้ว อาจจะคิดว่า

“งั้นเราก็ออกไปใช้ชีวิต ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนกันดีไหม
จะได้ติด ๆ จบไป”

สิ่งที่เราอยากบอกคือ “อย่าหาทำ” แม้ว่า จำนวนผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการเบา หรือไม่มีอาการ แต่สิ่งที่ต้องพึงระลึกไว้ว่า

  • ยังมีผู้ป่วยบางส่วนที่ยังคงต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล
  • ผู้ป่วยบางส่วนมีภาวะเชื้อลงปอดได้เช่นกัน แม้มีจำนวนไม่มากก็ตาม
  • มีรายงานผู้ป่วยที่เสียชีวิต แม้ไม่มากนัก แต่ในขณะนี้พบว่า เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ, ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง

ดังนั้น แม้ว่าส่วนใหญ่ไม่มีอาการรุนแรง แต่นั่นไม่ได้เป็นการการันตีว่า คุณจะโชคดีที่ติดแล้วเชื้อจะไม่ลงปอด และจะไม่แพร่สู้ผู้สูงอายุในบ้าน จนนำไปสู่การเสียชีวิต

ในสหรัฐฯ ที่ขณะนี้กำลังมีการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนอย่างหนักหน่วงไม่ต่าง และทำลายสถิติผู้ป่วยรายใหม่สูงสุดในรอบ 24 ชั่วโมงอย่างต่อเนื่อง จนมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทะลุวันเดียว 1 ล้านรายนั้น

แม้ว่า อัตราการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจะต่ำกว่า แต่เมื่อมีคนติดในระดับหลักแสน, ล้านรายต่อวัน ต่อเนื่อง ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ จึงเลี่ยงไม่ได้สิ่งที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบกับจำนวนเตียงในโรงพยาบาล

จากกราฟรายงานยอดผู้ป่วยในสหรัฐฯ จะเป็นว่า เมื่อผู้ป่วยมีจำนวนมากถึงจุดหนึ่งแล้ว อัตราการป่วยที่สูงมาก ๆ ก็จะดึงยอดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารักษาตัวสูงขึ้นตามไปด้วยเช่นไดัน

อัตราการเสียชีวิต 1% ของผู้ติดเชื้อ 1 หมื่นราย คือ 100 ราย
แต่ถ้าเป็น 1% ของ 1 ล้านราย นั่นคือ 10,000 ราย

นอกจากนี้ อัตราการติดเชื้อโควิด-19 ในสายพันธุ์โอมิครอนที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ พบมากในกลุ่มวัยทำงาน รวมถึงวัยรุ่น ซึ่งผู้ป่วยในกลุ่มนี้ มีสุขภาพที่แข็งแรงกว่าในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งหากเกิดการระบาดใหญ่และเข้าถึงกลุ่มผู้สูงอายุก็อาจจะมีอัตราของการป่วยเข้าโรงพยาบาล และเสียชีวิตได้มากขึ้นเช่นกัน และสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ จึงเป็นสิ่งที่ยังคงต้องเฝ้าติดตามต่อไป

แล้วคนไทยควรทำตัวอย่างไร

แม้ว่า การติดเชื้อจะเกิดขึ้นและมีอัตราการรุนแรงต่ำ ก็ยังไม่มีเหตุผลใดๆ ที่เราควรนำตัวเองไปเสี่ยง ในการติดเชื้อโควิด-19 ในขณะนี้ เพราะ

  • เชื้อที่พบในขณะนี้ 70-80% ยังคงเป็นสายพันธุ์เดลต้า
  • การออกไปใช้ชีวิตและติดพร้อมๆ กัน เสี่ยงต่อคนป่วยล้นโรงพยาบาลเหมือนที่ผ่านมา
  • หลายครอบครัวอยู่แบบครอบครัวใหญ่ โอกาสนำเชื้อสู่ผู้สูงอายุ, ผู้ป่วยโรคเรื้อรังได้ง่าย
  • ประเทศไทยยังมีผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนอีกหลักล้านคน

ดังนั้นสิ่งที่ควรทำตัวคือ รักษามาตรการป้องกันตัวเองต่อไป เพื่อยืดระยะของกราฟไม่ให้ชัน เพื่อให้ระบบสาธารณสุขรองรับไหว ให้เราไม่ต้องไปรอคิวเข้าโรงพยาบาลสนามเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งจะช่วยให้สถานการณ์ไม่พุ่งสูงขึ้นจนระบบสาธารณสุขรองรับไม่ไหว และเกิดผู้เสียชีวิตพุ่งสูงขึ้นตามมา ควบคู่ไปกับการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ไม่ว่าจะเป็นจากการได้รับวัคซีน หรือติดเชื้อตามธรรมชาติ ในระหว่างที่รอยารักษาโควิด-19 ที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย และมีประสิทธิภาพสูง

ภาพบรรยากาศเมื่อครั้งกรุงเทพฯ ต้องถูกล็อกดาวน์

แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

แม้หลายอย่างจะเป็นไปในทิศทางที่ดูดี แต่ก็ยังไม่มีใครกล้าฟันธงว่า ท้ายที่สุดแล้วโอมิครอนจะช่วยให้การระบาดถึงจุดสิ้นสุดได้จริงหรือไม่ ผู้เชี่ยวชาญจำนวนไม่น้อยจึงยังเผื่อใจไว้บางส่วน หากช่วงเวลาที่เหลือไม่เป็นไปดังคาดหวังไว้ เนื่องจากเชื้อไวรัส สามารถพัฒนาหรือกลายพันธุ์ได้ตลอด โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีเชื้อหลายชนิดระบาดในพื้นที่เดียวกันเป็นเวลานาน ๆ

แต่อย่างน้อย การที่สายพันธุ์โอมิครอนมีแนวโน้มที่ไม่รุนแรงมากนัก และอัตราการเสียชีวิตไม่มากดังที่คาดการณ์ไว้ สถานการณ์ของการเดินหน้าใช้ชีวิตในรูปแบบวิถีใหม่ ก็ดูจะมีความหวังมากขึ้น

ไม่ต้องกังวลที่จะต้องล็อกดาวน์ ก้าวเดินต่อไปกับชีวิตข้างหน้า และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับโรคนี้ไปอีกนานทีเดียว

อย่างน้อย เราก็ยังมีความหวัง