ล่าเสือดำ วิเชียร ชิณวงษ์ เปรมชัย กรรณสูต

คดีล่าเสือดำเป็นอันสิ้นสุด – ศาลฏีกาพิพากษาจำคุก – ไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ

ย้อนรอยเหตุการณ์ในคดีล่าเสือดำ

Home / TELL / คดีล่าเสือดำเป็นอันสิ้นสุด – ศาลฏีกาพิพากษาจำคุก – ไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ

ประเด็นสำคัญ

  • จากเหตุการณ์ในคดีล่าเสือดำ ในพื้นที่เขตฯ ทุ่งใหญ่นเรศวรซึ่งเป็นคดีดังมากเมื่อ 3 ปีก่อน
  • ศาลชั้นต้นตัดสิน นายเปรมชัย 16 เดือน โดยไม่รอลงอาญา, นายยงค์ สั่งจำคุก 13 เดือน , นางนที สั่งจำคุก 4 เดือน ปรับ 1 หมื่นบาท (รอลงอาญา 2 ปี) และนายธานี สั่งจำคุก 2 ปี 17 เดือน และให้จำเลยที่ 1-4 ชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 2 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5
  • ศาลชั้นต้นพิพากษาแก้ เพิ่มจำคุกโทษจำเลยทั้ง 4 ราย โดยนายเปรมชัย เพิ่มโทษจำคุกเป็น 2 ปี 14 เดือน ไม่รอลงอาญา
  • โดยที่ผ่านมา นายเปรมชัยและพวกได้ยื่นประกันตัว เพื่อขอสู้คดี
  • ศาลฏีกานัดฟังคำพิพากษาวันนี้ ( 8 ธ.ค.)

[อัปเดต – 8 ธ.ค. 10.30 น.]

ศาลฏีกา พิพากษา คดีล่าเสือดำ “ฏีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น”

โดยคำพิพากษาศาลฏีกาได้ตัดสิน โดยฏีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น และไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ

อย่างไรก็ดีในภายหลังได้มีการแก้ไข พ.ร.บ. คุ้มครองสัตว์ป่า เมื่อปี 2562 ในมาตรา 55 จึงมีผลให้ยกฟ้องในกรณีที่เกี่ยวข้องกับ มาตรา 55 นี้

และได้แก้ไขโทษของจำเลยทั้ง 3 ราย โดย

  • นายเปรมชัย กรรณสูต จำคุก 2 ปี 14 เดือน
  • นายยงค์ โดดเครือ จำคุก 2 ปี 17 เดือน
  • นายธานี ทุมมาส 2 ปี 21 เดือน

และยังคงให้จำเลยชดเชยค่าเสียหาย 2 ล้านบาท และให้ปรับอัตราดอกเบื้ยเป็นไปตามกฎหมายใหม่


หนึ่งในเหตุการณ์ที่เป็นข่าวดังในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในคดีล่าเสือดำที่เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อ 3 ปีก่อน กว่าจะมาถึงคำตัดสินศาลฏีกาในวันนี้ จึงจะพาไปย้อนรอยทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าที่ผ่านมา เกิดอะไรขึ้นบ้าง

จำเลยในคดีเสือดำ

  • นายเปรมชัย กรรณสูต
  • นายยงค์ โดดเครือ คนขับรถ
  • นางนที เรียมแสน แม่ครัว
  • นายธานี ทุมมาศ นายพราน 

ย้อนรอยเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุล่าเสือดำ 4 ก.พ. 2561

◾️4 ก.พ. 2561 – นาย เปรมชัย กรรณสูต และพวกเข้า รวม 4 คน เข้าไปยังพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ก่อนเจ้าหน้าที่พบว่า มีการล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์ฯ จึงได้จับควบคุมตัวไว้ เก็บหลักฐานต่าง ๆ เช่น ปืน ซากสัตว์ และอุปกรณ์อื่น ๆ

◾️5 ก.พ. 2561 – นายวิเชียร ชิณวงศ์ นำตัวทั้ง 4 ราย ควบคุมตัวไว้ที่สำนักงานเขตฯ ก่อนลงพื้นที่เก็บหลักฐานต่าง ๆ เพิ่มเติม จนพบซากเสือดำ หลังจากนั้นในช่วงบ่าย ได้นำตัวผู้ต้องหาทั้ง 4 รายรวมถึงนายเปรมชัย นำส่งสภ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ซึ่งในช่วงบ่ายวันเดียวกันนั้น ทนายประจำตัวของนายเปรมชัย ได้ยื่นขอประกันตัว ด้วยวงเงินรายละ 1.5 แสนบาท

◾️6 ก.พ. 2561 – ข่าวการจับกุมนายเปรมชัย ถูกเผยแพร่เป็นครั้งแรก ทำให้หลายฝ่ายออกมาแถลงการประนามการกระทำดังกล่าว กระแสวิพากวิจารณ์เกิดขึ้นทั้งตัวนายเปรมชัยเอง รวมไปถึงบริษัท ในขณะเดียวกัน เสียงชื่นชม นายวิเชียร ชิณวงศ์ หัวหน้าชุดจับกุมก็ดังไปทั่วเช่นกัน พร้อมกับเกิด #เสือดำต้องไม่ตายฟรี

◾️7 ก.พ. 2561 – เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าค้นบ้านนายเปรมชัย ที่ย่านห้วยขวาง พบปืนไรเฟิล ปืนยาว และปืนสั้น รวม 43 กระบอก แต่ไม่พบตัวนายเปรมชัย นอกจากนี้ ยังพบงาช้างจำนวน 4 กิ่งที่ไม่มีใบอนุญาตครอบครอง นำมาซึ่งการฟ้องร้องในเรื่องคดีงาช้างอีก 1 คดี

◾️2 มี.ค. 2561 – นายเปรมชัย และพวกเดินทางไปให้ปากคำครั้งแรก ที่ สภ.ทองผาภูมิ

◾️13 มี.ค. 2561 – อัยการสั่งฟ้องใน 9 ข้อหาในคดีล่าเสือดำ

◾️20 มี.ค. 2561 – ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหานายเปรมชัยเพิ่ม ในข้อหาติดสินบนเจ้าพนักงาน / ภรรยานายเปรมชัย กรรณสูต เข้ารับทราบข้อกล่าวหา มีซากสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 (งาช้าง)

◾️30 เม.ย. 2561 – อัยการแถลงผลงานการสั่งฟ้อง นายเปรมชัย 6 ข้อหา ส่วนผู้ต้องหารายอื่นๆ คนละ 5-8 ข้อหา เนื่องจากต้องการให้คดีมีความรัดกุมมากขึ้น (อ่านรายละเอียดประเด็นการยกฟ้องในบางข้อหา)

◾️6 มิ.ย. 2561 – ทนายของนายเปรมชัย ยื่นคำร้องขอโอนคดีล่าเสือดำไป ไปยังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 โดยกล่าวอ้างถึงประเด็นเรื่องการติดสินบน หลายฝ่ายมองว่า เป็นเทคนิคในทางคดีเพื่อเบี่ยงประเด็น – ยื้อคดี

◾️27 ส.ค. 2561 – ประธานศาลฯ มีคำวินิจฉัยว่า คดีเสือดำอยู่ในอำนาจศาลทองผาภูมิ ทำให้คดีล่าเสือดำเดินหน้าต่อ

◾️27 พ.ย. 2561 – สืบพยานโจทย์ครั้งแรก หัวหน้าวิเชียร และ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ขึ้นเบิกความครั้งแรก จากพยานโจทย์ทั้งหมดจำนวน 32 ปาก

◾️19 ธ.ค. 2561 – นายเปรมชัย ขึ้นสืบพยานจำเลยเป็นปากแรก จากทั้งหมด 17 ปาก พร้อมกันนี้ ทนายจำเลย ขอลดจำนวนพยานลง เหลือเพียง 6 ปาก ท่ามกลางกระแสข่าวต่างๆ และท้ายที่สุด เหลือผู้ที่เดินทางมา และขึ้นนำสืบพยานเพียง 4 ปากเท่านั้น โดยทนายจำเลยระบุ ประสงค์จะยื่นแถลงการณ์ปิดคดี


◾️19 มี.ค. 2562  – ศาลชั้นต้น พิพากษา “จำคุก”

ศาลจังหวัดทองผาภูมิ ได้อ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้น ในคดีล่าเสือดำโดยจำคุกนายเปรมชัย จำเลยที่ 1 รวม 16 เดือน ไม่รอลงอาญา พร้อมชำระค่าเสียหาย 2 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย ตามข้อหาคือ

  • พาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาติ จำคุก 6 เดือน
  • สนับสนุนให้ผู้อื่นล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จำคุก 8 เดือน
  • ร่วมกันมีซากสัตว์ป่าคุ้มครอง (ไก่ฟ้าหลังเทา) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 2 เดือน

โดยยกฟ้องข้อหาครอบครองซากเสือดำให้ยกฟ้อง ส่วนจำเลยอีก 3 คน ถูกลงโทษข้อหาครอบครองซากเสือดำแทน โดยนายยงค์ ศาลสั่งจำคุก 13 เดือน นางนที ศาลสั่งจำคุก 4 เดือน ปรับ 1 หมื่นบาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี และนายธานี ศาลสั่งจำคุก 2 ปี 17 เดือน

ซึ่งในศาลชั้นต้น นายเปรมชัยและพวก ขอประกันตัวสู้คดี ซึ่งศาลอุทธรณ์ เห็นว่าไม่มีพฤติการหลบหนี จึงอนุญาตให้ประกันตัว พร้อมตั้งเงื่อนไข ห้ามออกนอกประเทศ



◾️12 ธ.ค. 2562 – ศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้ “เพิ่มโทษจำคุก”

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำพิพากษาแก้โทษจำคุก ในข้อหาร่วมกันพกพาอาวุธปืน ไปในทางสาธารณะ, ครอบครองซากสัตว์ป่าคุ้มครอง (เสือดำ) , ครอบครองซากสัตว์ป่าคุ้มครอง (ไก่ฟ้าหลังเทา) และร่วมกันล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ส่วนเงินค่าปรับศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้น โดยให้ชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 2 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี

(รายละเอียด – ศาลอุทธรณ์แก้โทษ เพิ่มคุก ‘เปรมชัย’ 2 ปี 14 เดือน คดีเสือดำ)

โดยก่อนหน้านี้ ศาลชั้นต้นตัดสินยกฟ้องนายเปรมชัย ในข้อหาครอบครองซากสัตว์ป่าคุ้มครอง (เสือดำ) แต่หลังจากมีการนำข้อมูลเพิ่มเติม สามารถนำสืบได้ จึงนำไปสู่การเพิ่มโทษ

  • นายเปรมชัย เพิ่มเป็น 2 ปี 14 เดือน ไม่รอลงอาญา
  • นายยงค์ เพิ่มโทษเป็น 2 ปี 17 เดือน
  • นางนที เพิ่มโทษเป็น 1 ปี 8 เดือน ปรับ 4 หมื่น โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี
  • นายธานี เพิ่มโทษเป็น 2 ปี 21 เดือน

โดยหลังศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษานาย เปรมชัย กับพวกได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสด 6 เเสนบาท เพื่อขอประกันตัวชั่วคราวเพื่อต่อสู้ในชั้นฎีกาครบ เวลาราชการคำสั่งศาลฎีกายังไม่ลงมา จึงคุมตัวจำเลยทั้งหมดเข้าเรือนจำทองผาภูมิ


◾️13 ธ.ค. 2562 – ศาลฏีกา อนุญาตให้ประกันตัว

ศาลฎีกาได้มีคำสั่งให้ประกันตัว นายเปรมชัย กรรณสูต, นายยงค์ โดดเครือ, นายธานี ทุมมาศ จำเลยในคดีล่าเสือดำ แล้ว โดยศาลฎีกา พิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ได้ตีราคาประกัน คนละ 1 ล้านบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขให้ติดกำไลข้อเท้า EM และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล

◾️13 ม.ค. 2562 –

นายเปรมชัย กรรณสูต จำเลยที่ 1 ในคดีฆ่าเสือดำได้เดินทางไปยังศาลจังหวัดทองผาภูมิ ยื่นคำร้องต่อศาลขอถอดกำไล EM ที่ข้อเท้า หลังถูกติดไว้จากการที่ถูกสินจำคุก อ้างกำไลทำให้เกิดแผล หวั่นกระทบต่อโรคเบาหวานที่เป็นอยู่ ศาลพิจารณาแล้วไม่อนุญาติให้ถอด เพราะกำไล EM อยู่คนละข้างกับแผล

◾️11 มิ.ย. 2561 – ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 พิพากษา จำคุก เปรมชัย 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา ในคดีติดสินบนเจ้าพนักงาน ทนายจำเลยได้ขอยื่นประกันตัว สู้คดีต่อไปในชั้นศาลอุทธรณ์ ซึ่งศาลอนุญาติให้ประกันตัวในวงเงินประกันตัว 2 แสนบาท พร้อมทั้งสั่งห้ามออกนอกประเทศก่อนได้รับอนุญาต


◾️11 มิ.ย. 2562 – ตัดสินคดีติดสินบน จำคุก 1 ปีไม่รอลงอาญา

ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 พิพากษา จำคุก เปรมชัย 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา ในคดีติดสินบนเจ้าพนักงาน ทนายจำเลยได้ขอยื่นประกันตัว สู้คดีต่อไปในชั้นศาลอุทธรณ์ ซึ่งศาลอนุญาติให้ประกันตัวในวงเงินประกันตัว 2 แสนบาท พร้อมทั้งสั่งห้ามออกนอกประเทศก่อนได้รับอนุญาต



◾️20 ส.ค. 2562 – ตัดสินคดีติดสินบน จำคุก 1 ปีไม่รอลงอาญา

ศาลพิพากษา ให้ลงโทษจำคุก 1 ปีตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 7 , 72 วรรคหนึ่ง ซึ่งจำเลยให้การรับสารภาพจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 6 เดือน แต่เนื่องจากจำเลย ยังมีโทษคดีอาญาจำคุกอีก 2 คดีในศาลจังหวัดทองผาภูมิและศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 พฤติการณ์จึงไม่รอการลงโทษ

โดยทนายได้ยื่นประกันตัวสู้คดีต่อในชั้นศาลอุทธรณ์ ซึ่งศาลได้พิจารณาแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ต้องหาประกันตัวไป โดยตีราคาประกัน 200,000 บาท และไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใดๆ



◾️11 ส.ค. 2563 – คดีอาวุธปืน – จำคุก 6 เดือน ไม่รอลงอาญา

ศาลอุทธรณ์ยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำคุก 6 เดือน นายเปรมชัย กรรณสูต ในคดีครอบครองปืน โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งทนายได้ยื่นประกันตัว และยื่นฏีกาต่อ



◾️8 ธ.ค. 2564 – ศาลฏีกา พิพากษา “ฏีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น”

โดยคำพิพากษาศาลฏีกาได้ตัดสิน โดยฏีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้นในทุกประเด็น และไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ อย่างไรก็ดีในภายหลังได้มีการแก้ไข พ.ร.บ. คุ้มครองสัตว์ป่า เมื่อปี 2562 ในมาตรา 55 จึงมีผลให้ยกฟ้องในกรณีที่เกี่ยวข้องกับ มาตรา 55 นี้

และได้แก้ไขโทษของจำเลยทั้ง 3 ราย โดย

  • นายเปรมชัย กรรณสูต จำคุก 2 ปี 14 เดือน
  • นายยงค์ โดดเครือ จำคุก 2 ปี 17 เดือน
  • นายธานี ทุมมาส 2 ปี 21 เดือน

และยังคงให้จำเลยชดเชยค่าเสียหาย 2 ล้านบาท และให้ปรับอัตราดอกเบื้ยเป็นไปตามกฎหมายใหม่

* เนื่องจากการแก้ไข พ.ร.บ. คุ้มครองสัตว์ป่า ได้มีการแก้ไข ยกเลิก ม. 55 ในประเด็นของการซ่อนเร้นอำพรางซากสัตว์ป่า ทำให้มีการปรับลดโทษในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการซ่อนเร้นนี้ คนละ 8 เดือน

** ส่วนนางนที เรียมแสน ไม่ได้ยื่นฏีกาต่อ คดีจึงสิ้นสุดไปตั้งแต่ชั้นศาลอุทธรณ์


ย้อนรอยเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุล่าเสือดำ 4 ก.พ. 2561

จากบันทึกการจับกุมของหัวหน้าวิเชียร ชิณวงศ์ ความยาว 7 หน้า เล่าถึงเหตุการณ์ในวันที่ 4 ก.พ. 2561 ไว้อย่างละเอียด พอให้เราสรุปเป็นไทม์ไลน์เหตุการณ์สั้นๆ ตามบันทึกดังกล่าว

13.00 น. มีกลุ่มคนจำนวน 4 คนด้วยกัน เป็นชาย 3 หญิง 1 กางเต็นท์พักแรมบริเวณริมลำห้วยปะชิ  จากการสอบถามของเจ้าหน้าที่ พบพิรุธหลายประการ ที่น่าสงสัยว่าจะทำอะไรบ้างที่อาจจะเกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศได้  จึงได้แจ้งตักเตือนให้หยุดดำเนินการ ก่อน จนท. จะขับรถเลี่ยงออกมาซุ่มสังเกตการณ์

14.00 น. จนท.ที่ซุ่มอยู่ได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด ก่อนหัวหน้าวิเชียร สั่งทีมเจ้าหน้าที่ สั่งชุดทำงานเข้าตรวจสอบทันที

16.00 น.  ชุดสายตรวจถึงจุดตั้งแคมป์ดังกล่าว พบชาย 2 หญิง 1 ซึ่งทราบชื่อภายหลังคือ นายเปรมชัย กรรณสูต, นายยงค์ โดดเครือ และนางนที เรียนแสน  อยู่ในจุดตั้งแคมป์ ที่จนท.ได้ตักเตือนให้ย้ายออก

ผลการตรวจสอบพบอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงอุปกรณ์จับสัตว์น้ำเช่น เบ็ดธง-เบ็ดตกปลา โดยมีการปิดอำพรางอยู่ ระหว่างนั้น จนท. ยืนยันให้ทั้งหมดย้ายออกจากจุดดังกล่าว

16.30 น. ชุดสายตรวจ เข้าตรวจจุดที่ได้ยินเสียงปืน พบชายคนหนึ่งพร้อมปืนติดลำกล้องในมือ สภาพพร้อมใช้งาน ทราบชื่อภายหลังคือ นายธานี ทุมมาศ จึงได้คุมตัวไว้

ระหว่างนั้น จนท. ได้ทำการตรวจสอบพื้นที่ พบปลอกกระสุนปืน ซากเครื่องในสัตว์สภาพสดใหม่ซุกซ่อนอยู่ ขนสัตว์ในบริเวณดังกล่าวด้วย

18.00 น. หน.วิเชียร ถึงจุดเกิดเหตุพร้อมชุดสายตรวจเข้าไปสมทบอีก จึงได้ทำการตรวจค้นอย่างละเอียด พบอุปกรณ์ ซากสัตว์ต่างๆ รวมทั้งปืนที่ซุกซ่อนอยู่ในบริเวณที่ตั้งแคมป์

หลังจากนั้น สั่งคุมพื้นที่ห้ามใครเข้าไปในบริเวณดังกล่าว

5 ก.พ. 2561

01.30 น. ของวันที่ ได้นำตัวผู้ต้องหาทั้ง 4 คน ไปยังสำนักงานเขตฯ ทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันตก

02.30 น. ผู้ต้องหาทั้งหมดถึงสำนักงานเขตทุ่งใหญ่ฯ ตะวันตก

เช้าวันที 5 ก.พ. 2561 หน.วิเชียร นำทีมเข้าตรวจสอบพื้นที่อีกครั้ง ซึ่งในครั้งนี้เองทำให้ตรวจพบซากเสือดำที่ชำแหละเรียบร้อยแล้ว ซุกซ่อนอยู่ ก่อนจะแจ้งข้อกล่าวหาให้ทั้ง 4 คนทราบ ซึ่งทั้งหมดเซ็นต์รับทราบข้อกล่าวหา ก่อนนำตัวส่งให้กับพนักงานสอบสวน

ประเด็นอัยการสั่งไม่ฟ้อง 5 ข้อหา

ในประเด็นคำสั่งไม่ฟ้องในบางข้อหาในคดีนี้ หลายฝ่ายวิพากวิจารณ์ว่า เป็นการหาช่องทางลดหย่อนผ่อนโทษให้กับนายเปรมชัยและพวกหรือไม่ ซึ่งในข้อเท็จจริงทางคดีแล้วพบว่า

ประเด็นแรก ร่วมกันมีอาวุธและเครื่องกระสุน โดยไม่ได้รับอนุญาต ข้อเท็จจริงพบว่า ปืนที่พบในที่เกิดเหตุเป็น “ปืนมีทะเบียน” ทั้ง 3 กระบอก ดังนั้นหากอัยการปล่อยให้สั่งฟ้องในประเด็นนี้ นั่นย่อมเป็นช่องโหว่ให้แก่คดีนี้ได้

ประเด็นที่ 2 ร่วมกันเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์ฯ โดยไม่ได้รับอนุญาต ในประเด็นนี้มีช่องให้แย้ง เนื่องจากมีข้อเท็จจริงที่ระบุว่า นายเปรมชัยและพวกได้ขออนุญาตเข้าพื้นที่แล้ว เนื่องจากผู้ที่ออกใบอนุญาตให้ระบุว่า “ไม่คิดว่าคนระดับนี้จะไปล่าสัตว์”

ประเด็นข้อหาร่วมกันมีเครื่องมือในการล่าสัตว์และ ร่วมกันพยายามล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เป็นคำฟ้องที่ไม่ได้มีระบุไว้ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ป่าฯ หรือกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง หากสั่งฟ้องในประเด็นนี้ เสมอกับการสั่งฟ้องโดยไม่มีข้อกฎหมายรับรอง และนั่นก็เป็นช่องให้หลุดได้อีกเช่นกัน

ประเด็นที่ 5 – ร่วมกันทารุณกรรมสัตว์ จากการที่พบรอยกระสุน 5 รูนั้น ดูจะเป็นการตีความว่าทารุณไม่ได้ ด้วยข้อเท็จจริงของกระสุนปืนที่ใช้เป็นกระสุนปืนลูกซอง ซึ่งในกระสุน 1 นัดที่ยิงออกไปนั้น ประกอบด้วยเม็ดหัวกระสุนอีกหลายเม็ดด้วยกัน ดังนั้นการมีรูกระสุนปืนหลายรูบนร่างของเสือดำ จึงไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันว่า ในขณะล่าเสือดำนั้นมีการทารุณเกิดขึ้นหรือไม่ และจะกลายเป็นช่องโหว่ในคดีให้ทนายจำเลยแย้งได้

จากทั้ง 5 ประเด็น หากเดินหน้าสั่งฟ้องต่อไปอาจจะเข้าในกรอบของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 227 “ให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริง และจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น

เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย” 

ซึ่งในประเด็นนี้ จึงคาดว่าน่าจะเป็นสาเหตุให้มีการถอนข้อหาบางข้อหาออกไป เพื่อให้คดีมีความรัดกุมมากยิ่งขึ้น และไม่เป็นช่องโหว่ให้หลุดรอดไปได้