ENDEMIC THE OPINION สายพันธุ์โอมิครอน โควิด-19

3 เดือนหลังการพบ “โอมิครอน” ยังไม่ใกล้จุดสิ้นสุด ไม่เหมือนไข้หวัด และไม่ใช่วัคซีน

หลายคนบอกว่า โอมิครอนจะเป็นจุดสิ้นสุดการระบาด แต่ผ่านมาแล้ว 3 เดือนหลังการค้นพบ สถานการณ์ดีขึ้นแต่ยังไม่ใกล้คำว่า ENDEMIC

Home / TELL / 3 เดือนหลังการพบ “โอมิครอน” ยังไม่ใกล้จุดสิ้นสุด ไม่เหมือนไข้หวัด และไม่ใช่วัคซีน

KEY :

  • สถานการณ์โควิด-19 ในขณะนี้ ยังคงมีการระบาดในระดับที่สูงต่อเนื่อง
  • แม้ว่าอัตราการป่วยหนัก – เสียชีวิตจะน้อยกว่าที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่ใช่จุดสิ้นสุดการระบาด
  • อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิด-19 ยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าไข้หวัดใหญ่
  • และสูงอย่างมากเกินไปที่จะใช้บอกว่า “โอมิครอนเป็นวัคซีนตามธรรมชาติ”

การมีการพบโควิด-19 สายพันธุ์จากตัวอย่างในจังหวัดกัวเต็งจำนวนไม่กี่ตัวอย่างที่ทางการแอฟริกาใต้พบรหัสพันธุกรรมที่ต่างไปจากโควิด-19 สายพันธุ์อื่น ๆ ที่ค้นพบก่อนหน้านี้ และทำให้มีการตรวจสอบซ้ำ จนมีการประกาศอย่างเป็นทางการของทางการแอฟริกาใต้ นำไปสู่การประกาศให้ โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน จัดเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล หรือ VOC ขององค์การอนามัยโลก

ซึ่งในเวลาต่อมามีการรายงานหลายฉบับด้วยกันที่พบว่า เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนนี้ มีอาการเบา และผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง อัตราการตายไม่สูงมากเหมือนที่ผ่านมา จนทำให้หลายคนมองว่า “หรือโอมิครอนจะเป็นจุดสิ้นสุดของการระบาด”

ผ่านมา 3 เดือนเรารู้อะไรบ้าง

นับตั้งแต่ปลายเดือน พ.ย. 2564 ที่มีรายงานและประกาศให้ โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนนั้นเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล ด้วยความสามารถในการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว ทำให้อัตราการติดเชื้อโควิด-19 พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศ

ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา สถานการการพบผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสูงกว่าระลอกใด ๆ ที่ผ่านในตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งยอดสูงสุดของการระบาดในระลอกนี้ มีผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้นทั่วโลก เกือบ 3.5 ล้านราย ในวันเดียว

สูงกว่าการระบาดในสายพันธุ์อื่น ๆ อย่างเดลต้า อัลฟ่า หลายเท่าตัว ในช่วงเวลาเพียง 2 เดือนเท่านั้น

นอกจากนี้ ในสายพันธุ์โอมิครอนยังพบว่า มีความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดี ทำให้มีอัตราการติดเชื้อสูงขึ้นทั้งในกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว รวมถึงการติดเชื้อซ้ำในกลุ่มที่ติดเชื้อโควิด-19 ในสายพันธุ์อื่น ๆ ก่อนหน้านี้อีกด้วย

อัตราการตายที่ต่ำกว่าเดลต้า

แม้ว่ายอดอัตราการติดเชื้อโควิด-19 ในสายพันธุ์โอมิครอนจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และสร้างความน่ากังวลให้กับหลายคน แต่สิ่งที่เกิดขึ้น กลับแตกต่างออกไปจากระลอกอื่น ๆ ก่อนหน้า ที่พบว่า อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิด-19 ในสายพันธุ์โอมิครอนนี้ มีน้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้าอย่างเห็นได้ชัด

ในหลาย ๆ ประเทศพบว่า อัตราการเสียชีวิต หรืออัตราการป่วยหนักมีจำนวนน้อยลง ภาพของการที่ผู้ป่วยต้องมานอนรอรับการรักษา ภาพของตู้คอนเทนเนอร์ที่ถูกนำมาใช้เก็บร่างของผู้เสียชีวิตในช่วงก่อนหน้านี้ หายไปแม้ว่าจะมียอดการติดเชื้อที่สูงขึ้นก็ตาม

ทำให้หลายคนตั้งความหวังไว้ว่า “สายพันธุ์โอมิครอนนี้ จะเป็นจุดสิ้นสุดของการระบาด” และทำให้เรากลับไปใช้ชีวิตตามปรกติได้อีกครั้ง จนมีหลายคนบอกว่า “ไม่ต่างจากไข้หวัดใหญ่”

โอมิครอน ยังไม่ใกล้เคียงไข้หวัด-ไข้หวัดใหญ่

จากอัตราการป่วยตายของจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้รับเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน ที่มีจำนวนน้อยลงทั่วโลกนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง แต่เราต้องทดไว้ในใจว่า

“โอมิครอนนั้นมีอาการเบากว่าเดลต้า แต่มันไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่และไม่ใกล้เคียง”

เนื่องจากในขณะนี้ เมื่อเทียบกับการระบาดที่เกิดขึ้นในระลอกก่อนหน้าจากสายพันธุ์อื่น ๆ นั้นมีอัตราการป่วยหนัก และเสียชีวิตค่อนข้างสูง และเมื่อโอมิครอนระบาด อัตราการตายก็ลดลงอย่างมาก แต่ระดับของอัตราการตายที่ลดลงนี้ ก็ยังสูงกว่า อัตราการเสียชีวิตด้วยไข้หวัดใหญ่อยู่ดี ดังนั้นจึงต้องทดไว้ว่า มันยังรุนแรงเกินไข้หวัดใหญ่ และยังห่างไกลจากการเทียบกับไข้หวัดธรรมดา และต้องไม่ลืมปัจจัยสำหรับอื่น ๆ นั่นคือ

วัคซีนที่ครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งเมื่อเทียบกับสถานการณ์ของการระบาดในระลอกก่อนหน้าที่เกิดขึ้นทั้งในอังกฤษ อินเดีย สหรัฐฯ ระดับของความครอบคลุมของวัคซีนยังไม่มากนักอย่างต่อเนื่อง และนั้นทำให้ ประชาชนส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันแล้วนั่นเอง แม้ว่าจะเกิดการติดเชื้อ แต่ก็ช่วยให้ไม่ป่วยหนัก หรือเสียชีวิต

นอกเหนือจากนี้ ยังมีภาวะ Long Covid ที่ยังคงมีรายงานในผู้ป่วยจำนวนไม่น้อย และเกิดขึ้นได้ในทุกวัย ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลต่อการใช้ในอนาคตของหลาย ๆ คนที่แม้ว่าจะหายจากโควิด-19 แล้ว แต่ร่างกายจะไม่เหมือนเดิมดังเช่นก่อนการติดเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีภาวะปอดอักเสบจากการที่เชื้อลงสู่ปอด

แต่โอมิครอน ไม่ใช่วัคซีน

จากรายงานที่พบว่า โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนนั้นมีอาการเบา และเป็นเหมือนวัคซีน นั่นถือเป็นความเข้าใจที่ผิดอย่างมาก เพราะอัตราการตายจากการติดเชื้อโควิด-19 นั้นยังสูงมากเกินกว่าที่จะยอมรับได้ว่ามันคือวัคซีนตามธรรมชาติ

ในประเทศไทย จากสถิติที่เอ็มไทยได้มีการเก็บและรายงานในขณะนี้ หากตีเป็นตัวเลขกลม ๆ ของผู้ติดเชื้อและการเสียชีวิตอยู่ที่ 10,000 : 20 นั่นคือทุก ๆ ยอด PCR 1 หมื่นราย จะมีผู้เสียชีวิต 20 ราย ดังนั้น หากมีผู้ติดเชื้อวันละ 1 แสนราย ก็จะมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 200 รายต่อวัน และสิ่งที่เกิดขึ้น

ในขณะที่รายงานเมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า จากพิจารณาเคสผู้เสียชีวิตหลังการได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำนวน 1,464 ราย จาก 2,081 ราย พบว่า

  • มีเพียง 4 รายที่เป็นการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับวัคซีน
  • ยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจน 177 ราย
  • เป็นเหตุการณ์ร่วมจำนวน 938 ราย

จากจำนวนวัคซีนกว่า 122 ล้านโดสที่มีการฉีดให้กับคนไทยแล้วกว่า 70% ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ดังนั้นจะเห็นว่า อัตราการเสียชีวิตหลังได้รับวัคซีน กับการติดเชื้อโควิด-19 นั้นยังห่างไกลจากคำว่า “วัคซีนธรรมชาติ” อย่างมาก

อีกทั้งจำนวนผู้เสียชีวิตที่พบยังคงเป็นกลุ่มผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นการติดเชื้อในกลุ่มนี้ จะมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต-ป่วยหนักได้มากกว่า คนในวัยหนุ่มสาวอย่างมาก

“ดังนั้น โอมิครอน ไม่ใช่ วัคซีนตามธรรมชาติ”

ผ่อนคลาย = ยอมรับความเสี่ยง

ในขณะนี้หลายประเทศได้มีการปรับมาตรการผ่อนคลายอยู่ร่วมกับโควิด-19 แล้ว โดยเฉพาะประเทศในฝั่งยุโรปหลายประเทศ เช่น เดนมาร์ก – เนเธอร์แลนด์ จะเห็นว่า อัตรการติดเชื้อยังคงอยู่ระดับที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับระลอกที่ผ่านมา

และเมื่อมีอัตราการติดเชื้อ อัตราการครองเตียงในโรงพยาบาลก็จะเพิ่มสูงขึ้น แต่จากวัคซีนที่ครอบคลุมมากขึ้น ทำให้อัตราการตาย – ป่วยหนัก ต่ำกว่าในระลอกที่ผ่าน ๆ มา

และหากพูดง่าย ๆ คือ เป็นแนวทางผ่อนคลายและยอมรับผลกระทบที่จะตามมา เช่น อัตราตายที่ยังคงมีอยู่ และจะเพิ่มขึ้นหากมีอัตราการติดเชื้อที่สูงขึ้น เช่นเดียวกับอัตราการป่วยหนักที่จะเพิ่มสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว

แม้ว่า ยอดจะไม่พุ่งสูงขึ้นเช่นเดียวกับผู้ป่วยรายใหม่ในแต่ละวัน แต่ก็ยังคงเพิ่มสูงขึ้น และอยู่ในระดับที่สูงใกล้เคียงกับการระบาดในระลอกก่อนหน้าได้เช่นกัน

ในขณะเดียวกัน การผ่อนคลายก็จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาล ในการที่จะต้องดูแลผู้ป่วย การตรวจหาเชื้อ ฯลฯ โดยให้ผู้ป่วยเน้นการรักษาตัวที่บ้าน หรือใช้สิทธิการรักษาตามที่ตนเองมีอยู่ หากมีอาการป่วยรุนแรงมากขึ้นนั่นเอง

ดังนั้น คำถามที่จะต้องถามเมื่อเราอยากเดินหน้าต่อไป และผ่อนคลายมากขึ้นนั่นคือ

  • เรายอมรับความเสี่ยงในการติดเชื้อได้มากแค่ไหน
  • เรายอมรับกับยอดการเสียชีวิตที่จะมีขึ้นในแต่ละวันได้หรือไม่
  • เราพร้อมจะดูแลตัวเองทั้งในแง่ของการป้องกันการติดเชื้อ หรือรักษาพยาบาล หรือไม่

ความหวังที่มี แต่ยังไม่ใช่จุดสิ้นสุด

จากการมาของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในขณะนี้ แม้ว่า อัตราการป่วยหนัก และเสียชีวิตจะลดลงจากระลอกก่อนหน้า แต่หลายฝ่ายก็ยังมองว่า คงยังเร็วไปที่จะบอกว่า โอมิครอน คือจุดสิ้นสุดของการระบาด เนื่องจากในอนาคตยังไม่รู้ว่า จะมีการกลายพันธุ์ในสายพันธุ์อื่น ๆ อีกหรือไม่

ยิ่งเมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการ และมีการติดเชื้อกันมากขึ้น โอกาสในการกลายพันธุ์ก็มีมากขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะยังไม่สิ้นสุดการระบาด แต่จากอัตราการป่วยหนัก – เสียชีวิตที่ลดลง การฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมมากขึ้น หากร่วมกับมาตรการป้องกันตนเอง ใช้ความระมัดระวังเลี่ยงความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ อย่างที่เราพูดกันติดปากว่า “การ์ดอย่าตก”

ก็ดูจะช่วยให้สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ อยู่ในระดับที่ดีกว่าระลอกที่ผ่าน ๆ มาได้ในระดับหนึ่ง แม้ว่ามันอาจจะไม่ใช่วันที่ดีที่สุด แต่อย่างน้อยก็ยังคงพอมีหวังในการใช้ชีวิตต่อไป และอยู่ร่วมกับโควิด-19 อย่างเข้าใจที่กำลังจะเป็นไปได้นั่นเอง…